“ควีนเอลิซาเบธ” พระมาลาองค์ประวัติศาสตร์คู่พระทัย บนราชบัลลังก์ 70 ปี
เปิดความหมายและความงามเบื้องหลัง “พระมาลา” คู่พระทัย “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” ตลอดการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ช่างทำหมวกในพระองค์เผยทำไมทรงรักพระมาลา ชมพระมาลาองค์ประวัติศาสตร์
ในขณะที่ “มงกุฎ” เป็นเครื่องสวมศีรษะที่แสดงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์มากที่สุด แต่สำหรับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร คงต้องรวม พระมาลา หรือ “หมวก” เข้าไว้เป็นภาพจำสุดประทับใจที่คนทั่วโลกจดจำและเฝ้าจับตา
เนื่องจากพระองค์จะทรง พระมาลา ทุกครั้งที่เสด็จออกต่อหน้าสาธารณชน แม้กระทั่งการเสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระมาลาแต่ละองค์ล้วนมีความงดงาม มีความหลากหลายทั้งรูปทรง การประดับประดา และสีสัน
สำนักข่าวเอบีซีประมาณว่า “ควีนเอลิซาเบธ” ทรงพระมาลาไม่ซ้ำแบบกันมากกว่า 5,000 องค์ ตลอดระยะเวลาทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปีที่ผ่านมา
“หมวก” มีทั้ง ความสวยงาม และ ประโยชน์ใช้สอย ตั้งแต่ป้องกันละอองฝน หิมะ แสงแดดแรงๆ แต่การสวมหมวกของบุคคลในราชวงศ์อังกฤษเป็นมากกว่าแฟชั่นและความสะดวกส่วนตัว
“ธรรมเนียมปฏิบัติราชสำนักอังกฤษบัญญัติไว้ว่า 'สตรีพึงสวมหมวกเมื่อเข้าร่วมงานพิธีทางการทุกโอกาส'ข้อกำหนดนี้ได้รับการตราไว้ก่อนทศวรรษปี 1950 เพื่อเก็บผมเผ้าให้เรียบร้อยและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยพระเกศาหรือ ‘เรือนผม’ ในที่สาธารณะ สำนักข่าวบีบีซี เขียนไว้ในบทความเรื่อง When the Queen will wear a hat.
พระมาลาคล้ายเส้นสปาเกตตี แต่ช่วยให้พระกรรณอุ่นระหว่างเสด็จเยือนเบอร์ลินตะวันตก พ.ค.1965
หนังสือชื่อ HRH: So Many Thoughts on Royal Style ซึ่ง เอลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์ รอเบิร์ต เลซีย์ (Robert Lacey) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อังกฤษ ระบุว่า
“ในยุคสมัยใหม่ สตรีน้อยคนนักที่จะสวมหมวกให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดใส่ไปทำงาน ยกเว้นสตรีทำงานในกองทัพ การที่ 'สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2' ยังทรงสวมหมวกทุกครั้งที่ทรงออกงาน ก็เพราะพระองค์ทรงตระหนักและทรงใช้เป็นเครื่องเตือนพระทัยว่า การออกงานทุกครั้งคือการที่พระองค์กำลังทรงงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ทรงให้พันธะสัญญาไว้”
ฉลองพระองค์และพระมาลาเมื่อครั้งเสด็จเยือนควิเบค ประเทศแคนาดา ปี 1967
หากสังเกตจากฉลองพระองค์ ควีนเอลิซาเบธทรงใส่พระทัยอย่างมากกับฉลองพระองค์ กล่าวได้ว่าทรงเป็นแฟนตัวยงของ “เครื่องแบบ” ก็ว่าได้
ภาพที่ช่างภาพจับได้ เป็นภาพที่พระองค์ทรง ฉลองพระบาทคัทชูสีดำแบบเรียบขัดเป็นมันเงา กระเป๋าทรงถือสีดำใบเล็กทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถุงพระหัตถ์สีดำ (หากไม่ใช่สีดำ ก็เป็นสีขาวเหมือนกันทั้งหมด) เสื้อโค้ทและหมวกเข้าชุดกันในสไตล์ที่มีสีสันสดใสและสง่างามอย่างสม่ำเสมอ
ฉลองพระองค์และพระมาลา "ควีนเอลิซาเบธ" เสด็จเยือนประเทศไทย ปี 2515
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2515 ขณะมีพระชนมายุ 46 พรรษา และครองสิริราชสมบัติได้ 20 ปี ดยุกแห่งเอดินบะระ และเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ โดยเสด็จ
ขณะเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานดอนเมือง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงแขนกุดสีขาวลายตารางสี่เหลี่ยมเล็กสีดำ และทรงพระมาลาสีเดียวกัน ทั้งยังทรงถุงพระหัตถ์สีขาว ทรงพระกระเป๋าและฉลองพระบาทสีขาว
ฉลองพระองค์สีเขียวและพระมาลาสีเดียวกันในปีพ.ศ.2539
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ในฐานะ “พระราชอาคันตุกะ” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
ครั้งนี้ ควีนเอลิซาเบธทรงเดินทางด้วย ฉลองพระองค์สีเขียวและพระมาลาสีเดียวกัน ทรงกระเป๋าถือ ถุงพระหัตถ์และฉลองพระบาทสีดำเข้าชุด
พระมาลาทรงกุ้ยเล้ย
พระมาลาของควีนเอลิซาเบธมีหลากหลายลักษณะ ทั้งหมวกปีกกว้าง หมวกปีกกว้างมากๆ หมวกทรงสูง หมวกสาน หมวกฟางที่มียอดแบน หมวกที่มีโบว์ขนาดใหญ่ หมวกทรงกุ้ยเล้ยแบบคนจีน ไปจนถึงหมวกที่มีเครื่องประดับสีสันฉูดฉาดหลากสี! พระองค์ก็เคยทรงมาแล้ว
เฟรเดอริค ฟอกซ์ (Frederick Fox) ชาวอังกฤษซึ่งเกิดในออสเตรเลีย คือหนึ่งในตำนาน "ช่างทำหมวกประจำพระองค์" ผู้อยู่เบื้องหลังพระมาลาที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เริ่มถวายงานตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960
พระมาลาองค์แรกที่ฟอกซ์ออกแบบ คือพระมาลาที่ควีนเอลิซาเบธทรงเพื่อเสด็จเยือนประเทศอาร์เจนตินาและประเทศชิลีในปี 1968
พระมาลาสีชมพูกับระฆังผ้า 25 ใบ
ฉลองพระองค์และพระมาลาฉลองครบรอบ Silver, 1977
ผลงานการออกแบบหมวกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของฟอกซ์ คือ พระมาลาสีชมพู ประดับผ้าสีเดียวกันที่ตัดเย็บเป็นทรงระฆังใบเล็กๆ 25 ใบ ที่ควีนเอลิซาเบธทรงเมื่อครั้งเสด็จไปยังมหาวิหารเซนต์พอลในกรุงลอนดอนเพื่อเข้าร่วมพิธีวันขอบคุณพระเจ้าในวาระฉลองทรงขึ้นครองราชย์ครบรอบ Silver หรือ ครบรอบ 25 ปี (Silver Jubilee) เมื่อปี 1977
เฟรเดอริค ฟอกซ์ ได้รับพระราชทานหมายแต่งตั้งเป็น “ช่างทำหมวกในพระองค์” ในปี 1974 และได้รับพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรีย” ในปี 1999 ฟอกซ์ถวายงานพระมาลาแด่ควีนเอลิซาเบธ จำนวน 350 องค์ ตลอดระยะเวลา 35 ปีจนกระทั่งเกษียณในปี 2002
“หมวกของเฟรดดี (เฟรเดอริค ฟอกซ์) มีความสมดุลและไม่เคยหนักเกินไป เขาสร้างสรรค์หมวกสำหรับสตรีที่ต้องสวมหมวกตลอดทั้งวัน ชนิดลืมไปได้เลยว่ากำลังสวมหมวก เขาทำหมวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนๆ นั้น” สตีเฟน โจนส์ ช่างทำหมวกชื่อดังคนสำคัญของอังกฤษ เขียนไว้ในคำอุทิศแด่การจากไปของฟอกซ์ในปี 2013 ในนิตยสารโว้ก
เสด็จไปประกอบพิธีฉลองครบรอบ Golden ยังโบสถ์เซนต์พอล (Photograph: Rebecca Naden/PA)
ปี 2002 เป็นปีมหามงคล "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" ทรงขึ้นครองราชย์ครบรอบ Golden หรือครบรอบ 50 ปี (Golden Jubilee) รัฐบาลอังกฤษจัดงานฉลองถวายเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน พ.ค.- ก.ค.
ในปีนั้น ควีนเอลิซาเบธทรงออกงานหลายครั้ง แต่ละครั้งล้วนทรงพระมาลาที่ผ่านการจัดทำอย่างสวยงามประณีต อาทิ การเสด็จไปประกอบพิธีร่วมกับสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ณ มหาวิหารเซนต์พอล ตามโบราณราชประเพณี, การเสด็จร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง, เสด็จทอดพระเนตรการสวนสนามทหารในสมเด็จพระราชินีฯ แห่งสหราชอาณาจักร จำนวน 6,000 นาย
ควีนเอลิซาเบธ ยังทรงพระกรุณาพระราชทานให้มีการจัด "งานเลี้ยงในสวน" ที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน และพระราชวังฮอลีรูดในสกอตแลนด์ ให้กับชาวอังกฤษซึ่งเกิดในวันที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ปี 1952 เข้าร่วมงานเลี้ยง
ฉลองพระองค์และพระมาลาในพิธีฉลองครบรอบ Diamond ณ มหาวิหารเซนต์พอล, 2012
ฉลองพระองค์และพระมาลา ในงานฉลอง Diamond Jubilee ที่เมือง Leicester
เช่นเดียวกับในปี 2012 ปีมหามงคลแห่งการเฉลิมฉลอง การครองราชย์ครบ 60 ปี (Diamond Jubilee) และทรงเจริญพระชนมายุ 86 พรรษา ควีนเอลิซาเบธทรงเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วประเทศ
ขณะที่วันที่ 3 มิ.ย. ชาวอังกฤษนับล้านคนได้ไปรวมตัวกันในพิธีรื่นเริงซึ่งจัดขึ้นที่ริมแม่น้ำเธมส์ ร่วมชมขบวนเรือเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,000 ลำ และการจัดงานรื่นเริงตามมาอีกหลายงานจนกระทั่งถึงเดือนธ.ค.ในปีนั้น
พระมาลาสีม่วงปีกหมวกซ้อนกันสองชั้น
ฟิลิป ซอมเมอร์วิลล์ (Philip Somerville) เป็นช่างทำหมวกชาวอังกฤษอีกหนึ่งคนซึ่งได้รับการคัดเลือกทำงานถวายในช่วงต้นทศวรรษปี 1980
ควีนเอลิซาเบธทรงเลือกสวม พระมาลาสีม่วงปีกหมวกซ้อนกันสองชั้น จากการออกแบบของฟิลิปในการเสด็จทอดพระเนตร “กำแพงเมืองจีน” เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ปี 1986
มร.ฟิลิปออกแบบพระมาลาถวายปีละกว่า 50 องค์ พร้อมทั้งเปิดเผยว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงรักการสวมหมวกมาก โดยเปิดเผยเนื้อความในจดหมายที่ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ถึงเขาในปี 2007 ผ่านการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลิเมลของอังกฤษ ฉบับแรกทรงเขียนว่า
“ขอบคุณสำหรับจดหมายที่เล่าให้ฉันฟังถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจของคุณ ฉันดีใจมากที่ได้ยินว่าคุณยังสามารถทำงานเพื่อฉันได้อยู่ ฉันรู้การทำงานยุคนี้ยากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาผ้าที่เหมาะและเข้ากับบุคคลอย่างฉัน ซึ่งเกือบจะเป็นคนเดียวที่ยังสวมหมวกสม่ำเสมอ”
ฉลองพระองค์ควีนเอลิซาเบธทรงแต่งตั้งพระราชโอรสเป็น "เจ้าชายแห่งเวลส์" ในปี 1969
หลังจาก มร.ฟิลิปเกษียณตัวเองจากการเป็น "ช่างทำหมวกในพระองค์" ในปี 2009 ควีนเอลิซาเบธทรงมีจดหมายถึงเขาอีกฉบับ ความว่า
“ฉันขอขอบใจอีกครั้งสำหรับความช่วยเหลือทุกอย่าง และหมวกอันประณีตของคุณที่ฉันได้ร้บตลอดหลายปีที่ผ่านมา”
ช่างทำหมวกในอังกฤษที่ได้รับพระราชทานตราตั้งยังมีอีก 2 คน คนแรก แอนเจลา เคลลี (Angela Kelly) เกิดที่ลิเวอร์พูล ปี 1957 มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสื้อผ้าและการทำหมวก ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลฉลองพระองค์และเครื่องประดับให้เหมาะสมกับพระราชกรณียกิจ
โดยในปี 2019 แอนเจลาเป็นผู้ประกาศว่าควีนเอลิซาเบธทรงฉลองพระองค์ด้วย "ขนสัตว์เทียม" เท่านั้น
วันทอดพระเนตรการสวนสนามฉลอง Diamond Jubilee ทรงพระมาลาออกแบบโดยแอนเจลา เคลลี
พระมาลาและฉลองพระองค์ในการเสด็จทางรถไฟ เพื่อร่วมพิธีรำลึกวัน D-Day
ในปี 2012 แอนเจลาเขียนหนังสือชื่อ Dressing the Queen: The Jubilee Wardrobe กล่าวว่า พระมาลาของ “ควีนเอลิซาเบธ” ไม่ได้ตัดเย็บขึ้นใหม่ทุกองค์เสมอไป พระมาลาหลายองค์สามารถใช้วิธีเปลี่ยนการตกแต่งเพื่อให้เข้าชุดกับฉลองพระองค์ที่ทรงเลือกไว้
ยกตัวอย่างในการเสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศสเพื่อทรงเข้าร่วม พิธีรำลึกครบรอบ 70 ปี วัน D-Day เดือน มิ.ย.2014 “ควีนเอลิซาเบธ” ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง ทรงเลือกฉลองพระองค์แจ๊คเก็ตสั้นสีขาวคลิปดำ
แอนเจลาตัดสินใจหยิบพระมาลาสีขาวที่เคยประดับดอกไม้ประดิษฐ์สีขาวขนาดใหญ่หลายดอกมาปรับใหม่ โดยนำดอกไม้ออกทั้งหมด เผยให้เห็นหมวกทรงสูงที่เรียบง่าย แล้วประดับแทนด้วยริบบินผ้าลวดลายเดียวกับฉลองพระองค์ ขลิบชายด้วยแถบสีดำ ให้ดูสุภาพเป็นทางการขึ้น
พระมาลา ออกแบบโดย เรเชล เทรเวอร์ มอร์แกน ในปี 2011 และปี 2012
คนที่สอง เรเชล เทรเวอร์ มอร์แกน (Rachel Trevor Morgan) เริ่มถวายงานในปี 2006 โดยได้รับการทาบทามจากคณะออกแบบพระมาลาควีนเอลิซาเบธให้ร่างแบบภาพหมวก จำนวน 6 แบบ
โดยมีอยู่ 1 แบบที่ได้รับการนำไปตัดเย็บให้เป็นพระมาลาองค์จริง ซึ่ง ควีนเอลิซาเบธทรงสวมเข้าร่วมพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ มหาวิหารเซนต์พอล และทรงเลือกอีก 1 แบบสำหรับสวมไปร่วมฉลองในการเสวยพระกระยาหารกลางวันซึ่งนายกเทศมนตรีลอนดอนจัดถวาย ณ ที่ทำการเมือง
ควีนเอลิซาเบธเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮม ฉลอง Platinum Jubilee, 5 มิ.ย.2565
สำนักพระราชวังบักกิงแฮม แถลงเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 8 ก.ย.2565 (ตามเวลาท้องถิ่น) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 เสด็จสวรรคต ที่ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา หลังจากทรงครองราชย์มา 70 ปี
อ้างอิง
- Wikipedia Frederick Fox (milliner)
- Wikipedia Rachel Trevor Morgan
- เว็บไซต์ Royal Hats
- เว็บไซต์ สำนักข่าว BBC
- เว็บไซต์ China Briefing
- เว็บไซต์ China Global Television Network
- เว็บไซต์ Library and Archives Canada