“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม "เล่ห์ลุนตยา"

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม "เล่ห์ลุนตยา"

“ลุนตยา” เจาะความหมาย “ลายคลื่น” บนตัวผ้าทอพื้นเมืองโบราณที่ได้ฉายาราชินีแห่งผ้าซิ่นพม่า แรงบันดาลใจที่มาแห่งซีรีส์นิยายวิญญาณแค้นในผืนผ้า “เล่ห์ลุนตยา”

ลุนตยา เป็นชื่อผ้าทอโบราณพื้นเมืองของประเทศ “พม่า” หรือเมียนมาในปัจจุบัน และเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของชื่อนิยายเรื่อง เล่ห์ลุนตยา ประพันธ์โดย พงศกร (นามปากกาของ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ) ซึ่งกำลังสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางทีวีดิจิทัลช่อง 8

เล่ห์ลุนตยา เป็นหนึ่งในซีรีส์นิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับ “วัฒนธรรมผ้าทอพื้นเมือง” ของประเทศต่างๆ ในจำนวน 9 เรื่องของ “พงศกร” ประกอบไปด้วยเรื่อง กี่เพ้า, รอยไหม, สาปภูษา, กลกิโมโน (เคยสร้างเป็นละครทางช่อง 3 ทั้งสี่เรื่อง) ลูกไม้ลายสนธยา, เลื่อมลวง (เคยสร้างเป็นละครช่อง 7 ทั้งสองเรื่อง) และ สิเน่หาส่าหรี, เล่ห์ลุนตยา, บุหงาบาติก

เล่ห์ลุนตยา เป็นนิยายแนวลึกลับสยองขวัญ ถือเป็นปฐมบทของนิยายผีผ้า “สาปภูษา” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันจากตัวละครที่ชื่อ “แทนไท” และ “ภุมรี” โดยเหตุการณ์ในนิยายเรื่อง “เล่ห์ลุนตยา” เกิดขึ้นก่อน “สาปภูษา” ประมาณ 20 ปี

"สาปภูษา" เล่าเรื่องราวของ “ผ้าตาดทองลายตาตั๊กแตน” ที่มีดวงวิญญาณของเจ้าหญิงเวียงจันทน์ผู้ทอผ้าตาดทองผืนนี้ด้วยความผูกจิตอาฆาตสิงอยู่ ขณะที่ เล่ห์ลุนตยา เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับ ผ้าทอ ผืนงามแห่ง ราชสำนักพม่า ที่เชื่อมโยงกับความรัก ความจงรักภักดี ความอิจฉาริษยา ถูกใส่ร้าย การทนทุกข์ทรมาน ความตายและแรงอาฆาต กลายเป็นวิญญาณแค้นในผืนผ้า

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\" อ.เผ่าทอง ทองเจือ ไลฟ์ขายผ้าลุนตยาโบราณทอลายสีชมพูที่สะสมไว้

ลุนตยา เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวพม่าที่มีเอกลักษณ์สวยงาม แสดงถึง วัฒนธรรม และ ความเชื่อ ของชาวพม่าอย่างชัดเจน และเป็นที่ต้องการของนักสะสมผ้าทอ

อ.เผ่าทอง ทองเจือ เคยนำผ้าลุนตยาโบราณของแท้ที่สะสมไว้มานานออกมาขายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์สุดฮือฮาเมื่อปี 2564 เพราะอาจารย์ใช้ชื่อการไลฟ์ครั้งนั้นว่า เผ่าทองกรุแตกแล้วจ้า ไลฟ์ขายสมบัติชนิด “โละให้หมดบ้าน ขายจริง ขอให้ซื้อจริง” เนื่องจากพิษ “โควิด” ระลอกสาม

นาทีที่ไลฟ์ขาย “ผ้าลุนตยา” อ.เผ่าทองไลฟ์เล่าว่า เมื่อตอนรื้อออกมาก็เสียดายผืนนี้ แต่เมื่อบอกแล้วว่าจะขายแล้วก็จะขายให้หมด พร้อมกับตรวจสภาพให้ชมสดๆ พบว่ามีความสมบูรณ์ สวยมาก สีสวย เฉพาะส่วน ‘หน้านาง’ มีการทอ และชี้ให้ดูว่าสีซึมเล็กน้อยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นปกติของผ้าพม่า ผืนนี้ตั้งราคาขายที่ 20,000 บาท และมีผู้จองซื้อไปอย่างรวดเร็ว

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\" ลักษณะ "ลายคลื่น" บนผ้าลุนตยาของ อ.เผ่าทอง ทองเจือ

ในการไลฟ์ครั้งนั้น อ.เผ่าทอง ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับลวดลายบนผ้าทอลุนตยาที่มีลักษณะเหมือน “ลายคลื่น” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้า ลุนตยา ไว้ว่า

“ลายคลื่นของผ้าลุนตยาผืนนี้เป็นผ้าที่มีความหมายดีมาก เป็นเรื่องเขาสัตตบริภัณฑ์ ผู้หญิงพม่าบวชไม่ได้ ก็จะนุ่งผ้าลุนตยาโบราณ ซึ่งเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ เมื่อนุ่งเข้าไปปั๊บในลำตัว ก็แปลว่าตัวเขาคือเชิงเขา แล้วมุ่นมวยผมก็คือเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์เทพสูงสุดในพุทธศาสนา ผู้หญิงพม่าเกล้ามวย จัดไรผมให้หอมเป็นพุทธบูชา ไม่ใช่เพื่อความงาม เอาดอกไม้เสียบมวยผมก็เป็นเครื่องบูชาพระอินทร์ที่อยู่บนยอดมวยผม” 

ตามคติในศาสนาพราหมณ์ พุทธ และเชน เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่สถิตของเทพยดา ล้อมรอบด้วยภูเขาวงแหวนเรียงซ้อนกันออกไปเป็นชั้นๆ และมีความสูงลดหลั่นกันไปเป็นหมู่เขาบริวาร เรียกว่าหมู่เขาสัตตบริภัณฑ์ ระหว่างภูเขาแต่ละลูกมีมหาสมุทรคั่นเป็นห้วงๆ รวม 7 ห้วงน้ำเช่นเดียวกัน

ลายคลื่นบนผ้าทอลุนตยาที่ซ้อนเป็นชั้นๆ จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ยอดเขาสัตตบริภัณฑ์และห้วงมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุบนมุ่นมวยผมที่อยู่สูงสุดของร่างกายนั่นเอง ถือเป็นลายทอที่ทอเพื่อบูชาเทพยดาโดยแท้

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\"

ลุนตยา ราคา 6 หลัก ในละคร "เล่ห์ลุนตยา"

นอกจาก "ลายคลื่น" ลวดลายอื่นๆ บน ลุนตยา ยังมีความสำคัญและความหมายในตัวเองอีกด้วย ซึ่ง "พงศกร" ผู้เขียน "เล่ห์ลุนตยา" เล่าแฝงไว้ผ่านตัวละครในบทประพันธ์ อาทิ

"ถ้าเห็นหงส์อยู่บนลุนตยาผืนใด ก็บอกให้เรารู้ว่าเจ้าของมีเชื้อสายมาจากหงสา เมืองของคนมอญ แต่ถ้าเห็นลวดลายนกยูงละก็ คนนุ่งนั่นเชื้อสายพม่าอังวะแท้ๆ เลยเชียวละ นอกจากลวดลายที่มีความหมายแฝงอยู่ สีสันของเส้นไหมที่ใช้ย้อมแต่ละสีก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ในสมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า สีสันบนผืนผ้าล้วนมาจากธรรมชาติและสิ่งรอบตัว เอลดาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าธรรมชาติจะมีความลับอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ซ่อนอยู่"

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\"

เจ้าหญิงมินพยู ผู้ครอบครองลุนตยาสีชมพูหวาน และ "เอละวิน" ผู้ทอลุนตยาผืนสุดท้ายในชีวิต

เว็บไซต์ มิวเซียมไทยแลนด์ ระบุว่า ชาวพม่าเรียกผ้าลุนตยาว่า ลุนตยา อะฉิก (Luntaya Acheik) โดยคำว่า ลุนตยา (Luntaya) ออกเสียงว่า "โลนตะหย่า" แปลว่า 100 กระสวย เนื่องจากเป็นผ้าทอเทคนิคพิเศษที่ต้องใช้กระสวยบรรจุเส้นไหมสีต่างๆ นับร้อยๆ กระสวยในการทอผ้าลักษณะนี้

ส่วน "อะฉิก" หรือ "อาฉิก" แปลว่า ลายคลื่น เรียกตามลวดลายลูกคลื่นซ้อนกันเจ็ดชั้นที่ปรากฏบนผ้าทอ  ลายลูกคลื่นนี้ไม่ใช่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้มีความงามพลิ้วไหวเท่านั้น แต่ยังซ่อนสัญลักษณ์คติจักรวาลทางพุทธศาสนา ซึ่งเวลาทอช่างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งด้วยเทคนิคการล้วงแบบพิเศษ เพราะไม่ใช่ลายเรขาคณิตเหมือนผ้าทอประเภทอื่น

ลุนตยา อะฉิก เป็นผ้าซิ่นของชาวพม่าที่ใช้กันแพร่หลายในราชสำนักอังวะ มัณฑะเลย์ อมรปุระ ย่างกุ้ง และเมืองตองคยีแถบรัฐฉาน ถือเป็นผ้านุ่งแห่งราชวงศ์อลองพญาที่ใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

จากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างล้านนากับพม่า ทำให้ ราชสำนักล้านนา ก็มีการนำเอาผ้าของพม่าใช้นุ่งเป็นเครื่องแต่งกายด้วย โดยเฉพาะเจ้านางหรือสตรีสูงศักดิ์ จะนุ่งผ้า "ลุนตยา อะฉิก" เพื่อแสดงถึงฐานะ

ลุนตยาบางผืนใช้เส้นไหมเงินหรือไหมคำ (ไหมทอง) ทอแทรกเข้าไปในเนื้อผ้า หรือปักด้วยดิ้นโลหะมีค่า นับเป็นผ้าที่ทอยากและใช้เวลาทอนาน ถือเป็นของดีและมีราคา

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\"

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงผ้าลุนตยา อะฉิก

สตรีสูงศักดิ์ล้านนานำ ‘ผ้าลุนตยา อะฉิก’ มาเย็บเป็นผ้าถุงแล้วต่อหัวซิ่นสีดำ  นุ่งแบบกรอมเท้า แต่สำหรับ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงโปรดนำ "เชิงซิ่นตีนจก" ซึ่งเป็น ‘ผ้าทออัตลักษณ์ล้านนา’ มาเย็บต่อด้านล่างของซิ่นลุนตยา

ในเชิงความสวยงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทออาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่นักเขียนนักประวัติศาสตร์เจ้าของนามปากกา ‘เพ็ญ ภัคตะ’ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ความว่า

“แม้ไม่มีหลักฐานบันทึกความในใจว่าเจ้าดารารัศมีต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึงคนในราชสำนักสยามบ้างหรือไม่ก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนารุ่นหลังๆ ตีความได้ว่า มูลเหตุแห่งการที่นำตีนจกมาต่อจากซิ่นลุนตยาของพม่านั้น มีวาระซ่อนเร้นทางเมืองระหว่างสยาม ล้านนา พม่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 แฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย”

“ลุนตยา” นามของผ้าทอที่มีบริบททั้งทางด้านวัฒนธรรม สังคม และวรรณกรรม

“ลุนตยา” ผ้าทอโบราณจากบริบทวัฒนธรรม สังคม สู่วรรณกรรม \"เล่ห์ลุนตยา\"

นักแสดงในละคร "เล่ห์ลุนตยา" ช่อง 8

  • ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม รับบทเป็น เจ้าหญิงมินพยู
  • ไนกี้-นิธิดล ป้อมสุวรรณ รับบทเป็น ติณโณ / ติณเทพ
  • วาววา-ณิชชา โชคประจักษ์ชัด รับบทเป็น เอละวิน / เอลดา
  • คาริสา สปริงเก็ตต์ รับบทเป็น  ยองตยา / เลเลยา
  • อองตวน ปินโต รับบทเป็น เดวิด / แอนโธนี

: credit photo : 
เฟซบุ๊กไลฟ์ เผ่าทอง ทองเจือ
มิวเซียมไทยแลนด์
ทีวีดิจิทัล ช่อง 8