Gucci “Exquisite” แคมเปญคารวะผลงานผู้กำกับหนังชื่อดัง สแตนลีย์ คูบริก
Gucci (กุชชี่) และครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ อเลสซานโดร มิเคเล เปิดตัวแคมเปญ Gucci “Exquisite” ร่วมคารวะผู้กำกับภาพยนตร์ระดับปรมาจารย์ Stanley Kubrick
อิตาเลียนลักชัวรี่แบรนด์ Gucci (กุชชี่) สร้างความฮือฮาอีกครั้งหลังเปิดตัวคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2022 (Fall 2022) ในงาน มิลาน แฟชั่น วีค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ด้วยการเปิดตัวแคมเปญชื่อ Exquisite ให้กับคอลเลคชั่นนี้เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 25 สิงหาคม 2022
แคมเปญ Exquisite ออกแบบสร้างสรรค์โดย Alessandro Michele (อเลสซานโดร มิเคเล) ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ กุชชี่ มีทั้งภาพนิ่งและวิดีโอซีรีส์ อวดไอเท็มส์ชิ้นหลักจาก คอลเลคชั่น Fall 2022 ในงาน มิลาน แฟชั่น วีค กับไอเท็มส์ที่คอลลาบอเรชั่นกับ Adidas
พร้อมกับเสริมความน่าสนใจด้วยการคารวะฝีมือการทำหนังของ ผู้กำกับภาพยนตร์คนดัง Stanley Kubrick (สแตนลีย์ คูบริก) ด้วยการ จำลองฉากในภาพยนตร์เรื่องดังของคูบริก ที่สร้างตำนานและเป็นที่จดจำในโลกภาพยนตร์ มาไว้ในแคมเปญ Exquisite
แคมเปญ Exquisite ของกุชชี่ จึงเปรียบเสมือนการพาสาวกกุชชี่และคอหนัง ท่องไปในภายนตร์เรื่องดังของ "คูบริก" ที่หลายคนประทับใจ
ฉาก 2001: A Space Odyssey ในแคมเปญ Gucci Exquisite
เริ่มจาก “ฉากยานอวกาศ” ในหนังมหากาพย์ 2001: A Space Odyssey (1968) ทั้งยานอวกาศ การท่องอวกาศ และหนังเกี่ยวกับอวกาศ ถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในปีพ.ศ.2511 "ยานอะพอลโล 11" ลงจอดบนผิวดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกก็ในปีพ.ศ.2512
สแตนลีย์ คูบริก ไม่เพียงสร้างหนังท่องอวกาศ แต่ยังแฝงปรัชญาไว้มากมายในหนังเรื่องนี้ จนนักวิจารณ์ภาพยนตร์บอกว่า 2001: A Space Odyssey เป็นหนังที่ผู้ชมต้องเตรียมตัวรับมือก่อนออกจากบ้านเพื่อไปชมหนังเรื่องนี้ และเป็นหนึ่งในหนังคลาสสิกตลอดกาลที่อยู่ในดวงใจของ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ปรมาจารย์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ของไทย
2001: A Space Odyssey ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะแบบฉบับของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลออสการ์ สาขา Visual Effects ค.ศ.1968 และยังเป็นหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล จากการสำรวจของ Sight & Sound ในปี ค.ศ. 2002
ฉาก A Clockwork Orange ในแคมเปญ Gucci Exquisite
A Clockwork Orange (1971) เป็นหนังอีกเรื่องที่ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์กุชชี่เลือกมาไว้ในแคมเปญ Exquisite หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี พ.ศ.2514 เป็นภาพยนตร์ไซไฟดิสโทเปีย(dystopian sci-fi) สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ แอนโทนี เบอร์เกสส์ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505
เป็นเรื่องของสังคมในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยแก๊งอันธพาล โดยนำเสนอผ่านบทของอเล็กซ์ (รับบทโดยมัลคอล์ม แมคโดเวลล์ นักแสดงชาวอังกฤษ) เด็กหนุ่มเลือดร้อน หัวหน้าแก๊ง สวมเสื้อสีขาวกับหมวกสีดำ เป็นเอกลักษณ์ นิยมความรุนแรง ชอบทำลายข้าวของชาวบ้าน ภาพยนตร์ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา
เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายใหม่ ๆ ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรุนแรง เรื่องเพศ และการส่งเสริมความเลวร้ายต่อสังคม หนังถูกจัดเรตอยู่ในระดับเอ็กซ์เนื่องจากความรุนแรง และปรับเป็นระดับอาร์ในปีพ.ศ.2516 หลังจากคูบริกตัดหนังออกไป 30 วินาที!
ในเวลาต่อมา A Clockwork Orange กลับได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ไซไฟที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง
ฉาก Barry Lyndon (1975) ในแคมเปญ Gucci Exquisite
หนังอีกหนึ่งเรื่องที่ อเลสซานโดร เลือกคารวะฝีมือคูบริกคือ Barry Lyndon (1975) หนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องในเรื่องการถ่ายภาพแบบ “แหวกแนว” อย่างที่เรียกว่า long double shots, การซูมแบบถอยหลังอย่างช้าๆ, การใช้แสงจากเปลวเทียนทั้งหมดในการถ่ายหนัง และฉากหนังที่เซตขึ้นตามภาพวาดของ William Hogarth จิตรกรชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ.1697-1764
หนังเรื่องนี้เขียนบทและกำกับโดยคูบริก โดยเขียนขึ้นจากนวนิยายปี 1844 เรื่อง The Luck of Barry Lyndon (โชคดีของแบร์รี่ ลินดอน) ของ วิลเลียม เมคพีซ แธกเกอร์เร (William Makepeace Thackery) นำแสดงโดย Ryan O'Neal , Marisa Berenson , Patrick Magee , Leonard Rossiter และ Hardy Krüger
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงการหาประโยชน์ของนักโกงและนักฉวยโอกาสชาวไอริชในศตวรรษที่ 18 ซึ่งแต่งงานกับแม่ม่ายที่ร่ำรวยเพื่อไต่เต้าทางสังคมและรับสวมรอยเป็นขุนนางสามีผู้ล่วงลับของเธอ
Barry Lyndon (1975) คว้าออสการ์ไปได้ถึง 4 สาขา คือ เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 48
แม้นักวิจารณ์บางคนมีปัญหากับการดำเนินเรื่องที่เชื่องช้าและอารมณ์ที่ยับยั้งชั่งใจของภาพยนตร์ แต่ชื่อเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเช่นเดียวกับผลงานของคูบริกหลายเรื่อง ที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายคนยอมรับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคูบริกและเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ฉาก The Shining (1980) ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ต่อกันด้วยฉากในเรื่อง The Shining (1980) ภาพยนตร์สยองขวัญในปี พ.ศ.2523 ดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันของ สตีเฟน คิง นำแสดงโดย แจ็ก นิโคลสัน และมีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงของ แดนนี่ ลอยด์ นักแสดงเด็กวัย 6 ขวบที่แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวกับบทเด็กผู้มีสัมผัสที่หก
The Shining (1980) เป็นผลงานหนังสยองขวัญระดับ มาสเตอร์พีซของคูบริก ขนหัวลุกแบบไม่ต้องมีฉากแหวะสะอิดสะเอียน แต่เขย่าขวัญด้วยการเล่าเรื่องและเหตุการณ์ผิดปกติ จริงๆ หนังมีฉากฆ่ากันตายแค่เพียง 1 ครั้งเท่านั้น
เพราะเรื่องเกิดขึ้นในโรงแรมผีสิงอันเนื่องมาจากคดีฆาตกรรม ฉากจำของหนังเรื่องนี้จึงคือพื้นที่และห้องหับต่างๆ ในโรงแรม รวมทั้งผืนพรมลายกราฟิกสีสันฉูดฉาดตาผืนนั้น
ฉาก Eyes Wide Shut ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ฉากหนังอีกเรื่องที่ อเลสซานโดร เลือกคารวะคูบริก คือ Eyes Wide Shut (1999) หนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตการเป็นผู้กำกับของคูบริกในปีพ.ศ.2542 ได้รับการกล่าวขวัญให้เป็นหนังแนวระทึกขวัญอีโรติกยอดเยี่ยมในสายตานักวิจารณ์หนัง
Eyes Wide Shut เล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนเกี่ยวกับ “การแต่งงานและเรื่องเพศ” ของนายแพทย์หนุ่มซึ่งภรรยาสารภาพว่าเคยคิดทิ้งเขาและลูกสาวเพื่อแลกกับการมีเซ็กซ์แค่เพียงคืนเดียวกับทหารเรือหนุ่มที่เธอแอบพึงใจ ความสะเทือนใจนี้ผลักดันให้นายแพทย์หนุ่มเข้าไปค้นหาความดำมืดทางเพศเชิงจิตวิทยาใน “คลับลับสวมหน้ากาก” แห่งหนึ่ง
หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย ทอม ครูซ และ นิโคล คิดแมน สมัยที่ยังใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากันในชีวิตจริง สแตนลีย์ คูบริก เสียชีวิตในวัย 70 ปี ไม่กี่วันก่อนหนังเข้าฉายในปีนั้น
ฉาก 2001: A Space Odyssey ในแคมเปญ Gucci Exquisite
“ผมหลงเสน่ห์ภาพยนตร์มาตลอด หลงใหลในพลังของการเล่าเรื่องที่สามารถหยั่งเข้าไปในการผจญภัยของความเป็นมนุษย์และค้นหาความหมาย หลงใหลในพลังของการทำให้เป็นภาพเพื่อขุดหาความจริง และทำให้ความจริงนั้นสิ้นต้องสงสัย” อเลสซานโดร มิเคเล กล่าวไว้เป็นคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการสร้างสรรค์แคมเปญ Exquisite
“ถ้าคุณถามผม เครื่องแต่งกายไม่ใช่ และจะไม่มีวันเป็นเพียงแค่เป็นเสื้อผ้าชิ้นหนึ่ง แต่เครื่องแต่งกายทำให้เราสามารถอธิบายว่าเราอยากเป็นอะไร มีบุคลิกแบบไหน เครื่องแต่งกายคือวิธีที่เราทำให้สิ่งที่เราปรารถนาเป็นรูปเป็นร่างและอยู่กับมัน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมผมมักจินตนาการให้แต่ละคอลเลคชั่นของผมเป็นเหมือนภาพยนตร์ เพราะศาสตร์การถ่ายทำภาพยนตร์มีความสามารถในการทำเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความนิยมของเรื่อง การสรรหาสิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่ไม่เข้ากัน นี่คือความเป็นมนุษย์และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะ” อีกส่วนหนึ่งจากคำแถลงของอเลสซานโดร
CREDITS:
Creative Director: Alessandro Michele
Art Director: Christopher Simmonds
Photographers & Directors: Mert & Marcus
Make up: Thomas De Kluyver
Hair: Paul Hanlon
ฉาก A Clockwork Orange ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ฉาก The Shining (1980) ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ฉาก The Shining (1980) ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ฉาก The Shining (1980) ในแคมเปญ Gucci Exquisite
ฉาก Eyes Wide Shut ในแคมเปญ Gucci Exquisite