เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร
เปิดเรือนและประวัติ พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) หนึ่งมือเศรษฐกิจคนสำคัญของชาติ เจ้าของเรือน "บ้านพระยา" ห้องอาหารไทยแห่งใหม่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
บ้านพระยา เป็นชื่อเรียกติดปากชาวบ้านร้านตลาดย่านฝั่งธนบุรีตั้งแต่พ.ศ.2440 สมัยธนบุรียังมีสถานะเป็น “เมือง” ชาวบ้านย่านนั้นเรียกบ้านหลังนี้ตามบรรดาศักดิ์ผู้เป็นเจ้าของเรือน นั่นก็คือ พระยามไหสวรรย์ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ปลูกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้าม โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ พอดิบพอดี
พ.ศ.2565 “บ้านพระยา” หรือ Baan Phraya พร้อมเปิดบ้านและเปิดครัวต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะ “ห้องอาหารไทย” แห่งใหม่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ้านของท่านเลย ระแนงไม้ตรงระเบียงนี้ยังเหมือนเดิม แต่เราทาสีใหม่โดยใช้โทนสีใกล้เคียงที่สุดกับสีเดิมของบ้านท่าน” ปทมา เลิศวิทยาสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ กล่าวพร้อมกับชี้ให้ชมระแนงไม้ของ บ้านพระยา และว่า สิ่งที่เพิ่มมาตรงระเบียงนี้มีเพียง “กันสาด” เพื่อใช้งานบังแดดและบังฝน
“ในอดีตเวลายามเย็น พระยามไหสวรรย์นั่งตรงนี้และเล่นดนตรีไทย ท่านเป็นนักดนตรี ตั้งวงดนตรีไทยชื่อ ‘วงหนุ่มน้อย’ ถือเป็นช่วงเวลาย่อยอาหารและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว”
ระเบียงหน้าเรือนและระแนงไม้ดั้งเดิม บริเวณที่พระยามไหสวรรย์และ “วงหนุ่มน้อย” นั่งบรรรเลงดนตรีไทยหลังรับประทานอาหาร
ตัวบ้านของ "บ้านพระยา" มีลักษณะเป็น เรือนไม้ 2 หลังเชื่อมถึงกัน มีใต้ถุนเรือน เรือนด้านหลังเป็นห้องรับประทานอาหาร เรือนด้านหน้าหรือเรือนฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนนอนและระเบียงอเนกประสงค์
หน้าเรือนและหลังคาตกแต่งคล้าย “เรือนขนมปังขิง” ที่ขุนนางและคหบดีในสมัย “รัชกาลที่ 5” นิยมปลูกเรือน แต่ไม่พบบันทึกแน่ชัดถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมและปีที่สร้าง
พระยามไหสวรรย์รับเสด็จรัชกาลที่ 9 ที่วัดเศวตฉัตรฯ และภาพของท่านในปี 2510 ที่บ้านพระยา
ต้นตระกูลพระยามไหสวรรย์เป็นคนจีนโพ้นทะเล เมื่อมาถึงแผ่นดินสยามได้ให้กำเนิดทายาทหลายรุ่น โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 บิดาพระยามไหสวรรย์ คือนาย “ฉาย แซ่ตั้ง” เข้ารับราชการเป็นนายอากรสุรา มีตำแหน่งเป็น “นายอากรฉาย”
ต่อมา รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล "สมบัติศิริ" ให้กับลูกพี่ลูกน้องพระยามไหสวรรย์ซึ่งรับราชการอยู่ก่อน พระยามไหสวรรย์ซึ่งมีนามเดิมว่า “กอ แซ่ตั้ง” จึงมีชื่อต่อมาว่า กอ สมบัติศิริ
บิดาพระยามไหสวรรย์มีบุตร-ธิดารวม 5 คน หนึ่งในห้าคนนี้ต่อมามีทายาทซึ่งสมรสกับท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ (เศรษฐบุตร)
“ในวัยเด็ก พระยามไหสวรรย์เคยถูกส่งตัวให้ญาตินำไปเลี้ยงดูที่พิษณุโลก ญาติคนนั้นทำมาค้าขาย ท่านก็ได้เรียนรู้การค้าขาย เมื่อบิดาเสียชีวิต ก็ได้กลับเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ กล่าวถึงประวัติชีวิตวัยเด็กของ พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) จากการสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ
เสาเรือน ช่องลม พื้นไม้กระดานดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างเรือน "บ้านพระยา"
พระยามไหสวรรย์ รับราชการใน “กรมเจ้าท่า” เป็นที่แรก ทำงานดีมากชื่อเสียงเลื่องลือ ตรวจสอบบัญชีเก่ง งบดุลใครทำมาผิดตรวจแก้เจอได้หมด เจ้าฟ้าที่ดูแลกรมต่างๆ แย่งตัวเพื่อมาช่วยทำเอกสาร
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น "นายกเทศมนตรีเมืองธนบุรี" ได้ทุ่มเทดำเนินการพัฒนาฝั่งธนบุรีให้มีความเจริญ โดยในปีพ.ศ.2482 ท่านได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างถนนแบบตะวันตกเป็นถนนคอนกรีตที่ทันสมัย กว้าง 30 เมตร
เมื่อสร้างถนนเสร็จ ท่านได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งชื่อถนน ในชั้นแรกกระทรวงมหาดไทยจะตั้งชื่อถนนว่า “ถนนมไหสวรรย์” ตามราชทินนามของท่าน
แต่ “พระยามไหสวรรย์” ขอให้ใช้ชื่อถนน เจริญนคร เพื่อล้อกับชื่อถนน “เจริญกรุง” ที่อยู่ในแนวขนานกันทางฝั่งพระนคร
ต่อมาเมื่อมีการถนนตัดใหม่เชื่อม "ถนนเจริญนคร" กับ "ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน" กระทรวงมหาดไทยจึงตั้งชื่อถนนเส้นนี้ว่า ถนนมไหสวรรย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน
ชานบ้านก่อนเข้าเรือนด้านหลัง ปัจจุบันเป็นที่รับรองก่อนเข้าห้องอาหาร “บ้านพระยา”
“หลายครั้งท่านขออนุญาตลาออก แต่ก็ถูกเรียกกลับมารับราขการใหม่ บางครั้งท่านก็ปฏิเสธตำแหน่ง แต่สุดท้ายก็ต้องรับ ซึ่งท่านเก่งการค้าขาย ประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เศรษฐกิจประเทศแย่ เปรียบได้กับช่วงต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นผลิตผลการเกษตรของไทยขายไม่ได้ เกลือที่เคยขายต่างประเทศ เขาไม่ซื้อ เกิดการบอยคอตทางการค้า เขาไปซื้อเกลือซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเรา เศรษฐกิจจึงเป็นขาลง
พระยามไหสวรรย์แต่งคณะเดินทางไปต่างประเทศ ไปเจรจากับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เพื่อให้เขากลับมาซื้อเกลือและข้าวจากประเทศเรา ชูข้อดีของเกลือเรา ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทยด้านเศรษฐกิจ ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากเมื่อเศรษฐกิจเราตกต่ำแล้วช่วยฟื้นฟูกลับมาให้การค้าขายระหว่างประเทศไปต่อได้” ปทมา กล่าวจากข้อมูลที่ได้ค้นพบ
พระยามไหสวรรย์เปิด "บ้านพระยา" ต้อนรับบุคคลเข้าอวยพรวันเกิดครบ 80 ปี
พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) สมรส 3 ครั้ง กับนางเอื้อ ถึงแก่กรรมเมื่อมีบุตร, คุณหญิงหลุย (สกุลเดิม บุนนาค) และ คุณหญิงเลื่อน (สกุลเดิม ตันตริยานนท์)
บ้านพระยา เป็นบ้านที่พระยามไหสวรรย์ใช้ชีวิตอยู่กับ คุณหญิงเลื่อน มไหสวรรย์ บ้านหลังนี้เป็นเสมือนห้องรับประทานอาหารของชนชั้นสูงทั้งไทยและต่างชาติ เจ้าของบ้านจัดเลี้ยงอาหารค่ำรับรองแขกเหรื่อต่างๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจาก คุณหญิงเลื่อน มีชื่อเสียงในเรื่องการทำอาหาร
ความจริง คุณหญิงเลื่อน หาได้มีฝีมือเฉพาะการครัว แต่ยังเป็นสตรีผู้มีทักษะและไหวพริบทางการค้าอย่างน่าอัศจรรย์
ร้อยปีก่อน ลูกสาวในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนมักไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือ คุณหญิงเลื่อนก็ไม่ได้เรียนหนังสือเช่นกัน เธอหัดเขียนหัดอ่านโดยนั่งฟังเพื่อนอ่านหนังสือสอบ
บ้านพระยา พ.ศ.2565
ความรู้ความสามารถของ "คุณหญิงเลื่อน" ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมา เมื่อบิดามอบหมายให้คุณหญิงดำเนินธุรกิจและดูแลเรือขนสินค้าของตระกูล สืบทอดกิจการได้อย่างรุ่งเรือง
ไม่เพียงแต่ปากท้องครอบครัว คุณหญิงเลื่อนยังมีเมตตาไปถึงชาวสวนชาวไร่รอบเรือน บ้านไหนขายผลผลิตไม่ได้ ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ หากนำมาขอความช่วยเหลือที่ “บ้านพระยา” คุณหญิงก็รับซื้อไว้ทั้งหมด
โดยเฉพาะในช่วง “สงครามมหาเอเชียบูรพา” คุณหญิงเลื่อน มองการณ์ไกล ถ้าปล่อยให้ญี่ปุ่นยึดเรือขนส่งสินค้าไปหมด คนไทยจะอดอยากยิ่งกว่าเดิม จึงลอบตกลงนำเรือขนส่งสินค้าบางส่วนให้รัฐบาลไทยเพื่อให้มีเรือขนข้าวและเกลือระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองที่ปลูกข้าวทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา
ภายในเรือนด้านหลัง เคยเป็นที่จัดเลี้ยงรับรองแขกชั้นผู้ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โครงบ้านดั้งเดิมทั้งหมด แม้แต่กระจกสีเขียวมรกตที่บานประตู
พระยามไหสวรรย์ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2430 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2518 สิริอายุรวมได้ 88 ปี รับราชการครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนสุดท้ายดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในสมัย รัชกาลที่ 9
ปัจจุบันเรือนไม้งามน่ารักหลังนี้อยู่ในครอบครองของทายาทพระยามไหสวรรย์ ในปีพ.ศ.2529 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เช่าและปรับพื้นที่บางส่วนของ “บ้านพระยา” เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทย (OHAP) ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทยแห่งแรกในประเทศไทย
และในปีพ.ศ.2565 บ้านพระยา ต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะ “ห้องอาหารไทย” แห่งใหม่ ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
บ้านเก่าที่ยังทรงคุณค่าทั้งประโยชน์ใช้สอยและเรื่องราวเจ้าของเรือน
ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร
ชานบ้านของเรือนด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พื้นที่เรือนด้านหลังของ "บ้านพระยา"
จัดที่นั่งรับประทานอาหารได้ตามจำนวนผู้จอง
ความสวยงามของหลังคา ระเบียงบ้าน อายุกว่าร้อยปีของ "บ้านพระยา"