อุ่นเครื่อง - ลงทะเบียน ครั้งแรกงานประมูลผลงานศิลปะ ‘รามาฯ รักษาศิลป์’
ครั้งแรก ‘มูลนิธิรามาธิบดีฯ’ จัดประมูลผลงานศิลปะจากคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวของ ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ ผลงานศิลปินชั้นครูรุ่นลูกศิษย์ อ.ศิลป์ พีระศรี นำรายได้สมทบทุน ‘โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี’ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้
ครั้งแรกของ มูลนิธิรามาธิบดีฯ กับการจัดการประมูลผลงานศิลปะการกุศล ภายใต้ชื่องาน ‘รามาฯ รักษาศิลป์ : ส่งต่อความสุข สานต่อการ ‘ให้’ ผ่านงานศิลปะ’ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ เจ้าของผลงานศิลปะผู้มีจิตศรัทธา มอบผลงานทั้งภาพวาด และประติมากรรม รวม 67 ชิ้น มาจัดงานประมูล
นำรายได้จากการประมูลร่วมสมทบทุน ‘โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี’ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับคนไทย
(จากซ้าย) ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ และ ผศ.นพ.อิทธิรัตน์ วัชรานานันท์
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวในงานแถลงข่าว ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ความว่า
มูลนิธิรามาธิบดีฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ ได้ร่วมบริจาคผลงานศิลปะซึ่งเป็นของสะสมอันทรงคุณค่า มอบให้มูลนิธิฯ นำมาจัดประมูลในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธา และผู้รักในงานศิลปะได้ร่วมทำกุศลครั้งใหญ่ด้วยกัน ในการก่อสร้าง ‘โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี’
“สำหรับอาคารแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพของอาคารเดิมที่ได้ใช้งานมามากกว่า 50 ปี โดยมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งศักยภาพและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้านการบริการทางการแพทย์ เช่น ห้องพักผู้ป่วยใน ห้อง ICU ห้องผ่าตัด ห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก”
โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้ สูง 25 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม ขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยใน 55,000 รายต่อปี
“ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ซึ่งทางภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามยังขาดงบในส่วนค่าก่อสร้างอาคารอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท และยังมีอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการในการรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ ซึ่งขาดงบประมาณอีกกว่า 6,000 ล้านบาท
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมผ่านการให้บริการทางการแพทย์ในคลินิกต่าง ๆ และการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
แถลงข่าว รามาฯ รักษาศิลป์ฯ
ขณะที่นาย ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้มีจิตศรัทธานำผลงานศิลปะในคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวออกประมูล เผยถึงความตั้งใจในการบริจาคผลงานศิลปะทั้ง 67 ชิ้น ในครั้งนี้ว่า
“โรงพยาบาล เป็นสถานที่ที่ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จักและรู้สึกผูกพันเป็นอย่างดี เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นเหมือนบ้านหลังแรกตั้งแต่ทุกคนได้ลืมตาดูโลก สถานที่แห่งนี้ ยังเปรียบเหมือนสถานที่แห่ง ‘การให้’ ให้...การรักษา ให้...ชีวิตใหม่ ให้...ความสุข และขจัดความทุกข์ให้กับผู้ป่วย
โดยเฉพาะ ‘โรงพยาบาลรามาธิบดี’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่ไม่เพียงแต่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในทุกระดับ แต่ยังเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะและสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ รวมถึงมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้หายจากโรคภัยและความเจ็บป่วย
ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์
เมื่อไม่นานมานี้ ผมทราบว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีมีแผนงานที่จะก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมหาศาล ต่อทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคคลทั่วไป รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ ภายใต้ชื่อโครงการว่า ‘โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี’
ด้วยผมเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบผลงานศิลปะและสะสมผลงานศิลปะมาตลอดกว่า 20 ปี ได้ทราบถึงความสำคัญและความจำเป็นของโครงการดังกล่าว จึงมีความตั้งใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะบริจาคผลงานศิลปะที่ได้สะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัว จำนวน 67 ชิ้น ให้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด
รวมทั้งขอขอบพระคุณท่านผู้ใจบุญทุกท่านที่ร่วมประมูลผลงานศิลปะการกุศลในครั้งนี้ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสมทบทุน โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งจะเป็นการเติมเต็ม ให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” นายทัชชะพงศ์ กล่าว
พิชัย นิรันต์ กล่าวถึงผลงาน 'พุทธปฏิหาริย์'
พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
ในงานแถลงข่าวยังได้รับเกียรติจากหนึ่งในลูกศิษย์ อ.ศิลป์ พีระศรี พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้รังสรรค์ภาพ พุทธปฏิหาริย์ หนึ่งในไฮไลท์ของผลงานศิลปะซึ่งอยู่ในการประมูลครั้งนี้ กล่าวอุ่นเครื่องถึงผลงานชิ้นนี้ว่า
“ผลงานชิ้นนี้ เป็นการใช้สีคู่ตรงข้ามตัดกัน รูปทรงเรขาคณิตนามธรรม และองค์ประกอบที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น ภาพดอกบัว และพระพุทธรูป โดยจัดวางองค์ประกอบแบบงานจิตรกรรมไทยประเพณีตามคติไตรภูมิ
มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาลแทนภาพเขาพระสุเมรุ ขนาบข้างด้วยดวงดาว และวิมานลอย โดยพระพุทธรูปกำลังนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกึ่งกลางภาพ พร้อมกับแสดงท่าทางหงายพระหัตถ์ทั้งสองข้าง
เหนือองค์พระปรากฏภาพสัญลักษณ์ดวงตา ในขณะที่เบื้องล่างแสดงภาพดอกบัวตูมที่ค่อยๆ บานออกจนกระทั่งร่วงโรย รายล้อมด้วยเส้นแสง และรัศมีสาดส่อง แสดงให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ผ่านการตีความใหม่ตามจินตนาการ”
LOT05, ผลงาน : กาด, ศิลปิน : พรชัย ใจมา
เกณฑ์การประมูล
หลักเกณฑ์ในการตั้งราคาประมูล จะเป็นราคาการกุศล โดยคำนึงถึงราคาที่เหมาะสม ด้วยต้องการให้ผู้บริจาคที่ได้ร่วมประมูลผลงานศิลปะในครั้งนี้ ได้รับความสุขทั้งในแง่ของการได้ครอบครองผลงานศิลปะที่สวยถูกใจ และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยในคราวเดียวกัน
โดยเงินที่ได้ร่วมบริจาคจากการประมูลครั้งนี้ ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
LOT18, ผลงาน : ราตรีหนองคาย, ศิลปิน : สวัสดิ์ ตันติสุข
LOT03, ผลงาน : แห่เทียนพรรษา, ศิลปิน : เฉลิม นาคีรักษ์
ลงทะเบียนร่วมประมูล
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมประมูลครั้งนี้ สามารถกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนเข้าร่วมประมูลงาน "รามาฯ รักษาศิลป์" ตามลิงค์ แบบฟอร์มลงทะเบียนเข้าร่วมประมูลงาน "รามาฯ รักษาศิลป์" ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และชมภาพผลงาน ทั้ง 67 ชิ้นได้ที่ E-Book Catalog
LOT09, ผลงาน : วัฏจักรแห่งชีวิต, ศิลปิน : พิชัย นิรันต์
กำหนดวันประมูล
สำหรับนิทรรศการศิลปะทั้ง 67 ชิ้น อันเป็นผลงานทรงคุณค่า ที่ล้วนแต่เป็นผลงานเลื่องชื่อของศิลปินระดับปรมาจารย์ชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทย เช่น พิชัย นิรันต์ เฉลิม นาคีรักษ์ ปรีชา เถาทอง อินสนธิ์ วงศ์สาม รวมถึงศิลปินระดับตำนาน และศิลปินร่วมสมัย
กำหนดจัดแสดงให้ผู้มีใจรักงานศิลปะได้ชื่นชมโดยทั่วกัน ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนจะมีการจัดงานประมูลในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน กรุงเทพฯ