สูงวัย .. ขยาย(ความ) นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย สะท้อนสังคมผู้สูงวัยยุคดิจิทัล
หอศิลป์กทม. เชิญชมผลงานศิลปะร่วมสมัยสะท้อนสังคมผู้สูงวัยยุคดิจิทัล จาก พระไพศาล วิสาโล ศิลปินและคนทำงานศิลปะหลากหลายสาขา มัณฑนากร ผู้กำกับภาพยนตร์ เต็มอิ่มทั้งศิลปะจัดวาง วิดีโอ งานจิตรกรรม งานหัตถกรรม งานประติมากรรม
จากข้อมูลของกรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ประชากรไทยทั้งประเทศ มีจำนวน 66,090,475 คน ในจำนวนนี้มี ผู้สูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) จำนวน 12,519,926 คน แยกเป็นประชากรหญิงจำนวน 7,007,703 คน และ ประชากรชายจำนวน 5,512,223 คน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.94 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากร
ข้อมูลนี้อาจยังไม่ปรากฏประชากรสูงวัยที่ตกสำรวจ ซึ่งทำให้จำนวนสัดส่วนประชากรสูงวัยอาจมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากร
หากพิจารณาตามจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 21.48 เปอร์เซ็นต์ เชียงใหม่ 21.14 เปอร์เซ็นต์ และนนทบุรี 20.14 เปอร์เซ็นต์
ย้อนไปในปีพ.ศ.2506 เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ประชากรรุ่นเกิดล้าน’ พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดจำนวนมากถึง 1,000,000 คน/ปี
ดังนั้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2506-2526 จึงเกิดปรากฏการณ์ ‘สึนามิประชากร’ ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ฝั่ง ผู้สูงวัย หรือผู้ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 60 ปี
หากอยู่กันครบ ในปีพ.ศ.2566 นี้ถือเป็นปีที่ประชากรรุ่นเกิดล้านมีอายุครบ 60 ปีพอดี
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย สูงวัย... ขยาย(ความ)
จำนวนสัดส่วนประชากรสูงวัยข้างต้น อภิปรายสถานการณ์ของไทยที่กำลังเข้าใกล้ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) และเป็นที่มาของโครงการนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย สูงวัย... ขยาย(ความ) หรือ Blowing Up The Tale of Ageing Society
นิทรรศการศิลปะโครงการนี้เปรียบเสมือนกับการอภิปรายบริบทสังคมสูงวัยทั้งมิติเชิงความหมาย ความเข้าใจ ตลอดจนสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยในประเทศไทยผ่านสื่อศิลปะสร้างสรรค์แก่สาธารณะ พิจารณาการที่ผู้สูงวัยจะอยู่ร่วมกันกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยเก็บรวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทสังคมสูงวัย ผ่านกรอบคิด 4 มิติ ได้แก่
- สุขภาวะพลานามัย
- เศรษฐกิจและนวัตกรรม
- สังคมความเสมอภาค
- สภาพแวดล้อมทางกาย
ผ่านการใช้ งานศิลปะ และสื่อสร้างสรรค์ในการกระตุ้นความคิด การตั้งคำถาม การปรับประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ และการตีความหมายที่หลากหลายมิติทางสังคม
วิดีโอเทศนาโดยพระไพศาล วิสาโล
ภูมิปัญญาการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย
วิดีโอเทศนา 40 นาที
พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล ร่วมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบวิดีโอเทศนาธรรมทางพุทธศาสนา ความยาว 40 นาที พระคุณเจ้าเตือนสติถึงกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง สังขาร ร่างกายมีแต่จะเสื่อมสภาพลง สิ่งที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น คือประสบการณ์ชีวิต ภูมิปัญญาที่จะช่วยให้เข้าใจชีวิตและโลกมากขึ้น รวมทั้งความสามารถในการจัดการกับอารมณ์
ประสบการณ์ชีวิตทำให้มีภูมิต้านทานที่จะรับมือกับเหตุการณ์ไม่สมหวังไม่ถูกใจได้ มองชีวิตเป็นความธรรมดา มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน
เวลาเหลือน้อยลงบนโลกใบนี้ ไม่ควรเสียเวลากับความทุกข์ นี่คือภูมิปัญญาการใช้ชีวิต การปล่อยวาง การฝึกจิตปล่อยวาง อยู่กับกาย ใจ และตัวเราเองให้ได้
“ที่ผ่านมาในชีวิต ฉันเสียเวลาไปกับความทุกข์ หรือว่าเสียเวลาไปกับเรื่องที่มันไม่เป็นเรื่องมามากแล้ว ตอนนี้เวลาฉันเหลือน้อยแล้ว ไม่อยากเสียเวลาไปกับเรื่องนี้อีกต่อไป นี่เป็นภูมิปัญญาของผู้สูงวัย”
ผลงาน 'บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม'
บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม
สุทิน ตันติภาสน์
สุทิน ตันติภาสน์ มัณฑนากรซึ่งนำทักษะงานออกแบบและงานจิตรกรรมมารังสรรค์เชิงพาณิชย์ในการวาดผนังสูง ปัจจุบันเป็นศิลปินสูงวัยที่ยังคงทำงานศิลปะตกแต่งสถานที่ร่วมกับทีมงาน Art for Dec มีผลงานประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ
ในโครงการศิลปะร่วมสมัย สูงวัย... ขยาย(ความ) สุทินวาดภาพบนผ้าใบขนาดใหญ่ กว้าง 3 เมตร ยาว 9 เมตร แขวนลงมาจากผนังสูงกว่า 8 เมตร
สร้างสรรค์เรื่องราว ‘มนุษย์ต่างดาว’ ช่างสงสัยตนหนึ่ง โดยมีนั่งร้านที่ใช้เพ้นต์งานเป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะ ติดตั้งเพื่อประกอบการนำเสนอผลงานจำนวน 3 ชุด แวดล้อมไปด้วยผนังที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของทักษะและผลงานของเขาที่ยังคงยืนหยัดสร้างผลงานท้าทายประเด็นช่วงวัย ซึ่งศิลปินอธิบายไว้ว่า
“ชื่อภาพ บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม ผู้เดินทางมาเยือนและพำนักอยู่ในโลกช่วงระยะเวลาหนึ่ง วาดบันทึกบนผนังสูงของอาคารเก่าเพื่อบันทึกเรื่องราวที่เคยประสบพบเห็นมา
เป็นการวาดงานของทีมทำงานบนที่สูง ใช้วิชาชีพการออกแบบผสมผสานกับจิตรกรรมทัศนศิลป์ในรูปของศิลปะเชิงพาณิชย์ โดยมีกระบวนการสร้างสรรค์ออกแบบ-ขยายแบบ ใช้มาตราส่วนคำนวณสัดส่วนตามความเป็นจริงกับพื้นที่ และต้องตอบโจทย์บริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศิลปินและทีมช่างวาดจะต้องทำงานสอดคล้องกัน และสอดคล้องกับระยะเวลาที่ได้รับมอบหมาย เป็นงานที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น อดทน มีวินัยสูง ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ และทุกผลงานจะเป็นลักษณะของทีม”
ประยุกต์หัตถกรรมผูกมัดความสุข
ประยุกต์หัตถกรรมผูกมัดความสุข
กรกต อารมย์ดี
นักออกแบบมือรางวัลจากจังหวัดเพขรบุรี กรกต อารมย์ดี นำเสนอผลงานศิลปะจักสาน (wicker work) ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ผ่านการสืบสานทักษะภูมิปัญญาพื้นถิ่นบ้านเกิดจากบรรพบุรุษ โดยนำงานหัตถกรรมไม้ไผ่มาประยุกต์เป็นศิลปกรรมร่วมสมัย
นำไม้ไผ่มาจัดวางโดยใช้เทคนิคของการทำว่าว การขึ้นโครงสร้างแบบเครื่องจักสานไทย การโยงเชือก การดึงรั้ง รัดด้วยเชือก มาทำงานศิลปะที่เป็น โคมไฟประดับฝาผนัง โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ไข่กบ’
คือการใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่ ‘แสงสว่าง’ เป็นความงดงามที่เปรียบดังชีวิตทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่มีแสงสว่างสวยงามแตกต่างกันไป
งานแกะสลักแผ่นหินสำหรับโต๊ะน้ำชา
ศิลปะจากสิ่งทิ้งขว้าง
จุมพล อุทโยภาส
จุมพล อุทโยภาพ เป็นศิลปินและประติมากรทำงานกับวัสดุ ต้องใช้ความอุตสาหะผ่านประสบการณ์และความพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อปรับปรุงคุณภาพของรูปทรงวัสดุที่ทำงานด้วยทักษะความชำนาญเฉพาะตน แสดงออกถึงแนวคิดที่เป็นบทสรุปแนวทางการสร้างสรรค์ประติมากรรมแต่ละชิ้น นำเสนอศิลปะในทัศนะของประติมากร
การใช้ร่างกายอย่างตรากตรำยาวนานต่อเนื่อง ทุกขภาวะเริ่มสื่อสารกับจุมพลโดยตรงในลักษณะของสัญญาณทางสุขภาพหลายประการที่ร่วงโรยและเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่มากขึ้น แต่เขายังทำงานศิลปะที่รักและเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง
งานชุดนี้ส่วนหลักประกอบด้วย
- ผลงานประติมากรรมจากแผ่นไม้ที่ลอยน้ำมาจากทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 2 ชิ้น
- งานประติมากรรมปีกหิน จำนวน 2 แผ่น ติดตั้งโดยการวางพิงผนัง
- งานแกะสลักแผ่นหินสำหรับโต๊ะน้ำชา จำนวน 2 ชิ้น ขนาด 60 x 120 เซนติเมตร
- ผลงานจิตรกรรมนามธรรม สีอะคริลิค ขนาดเล็ก อีกจำนวนหนึ่ง สามารถผันแปรได้ตามขนาดพื้นที่จัดแสดง
สะท้อนการใช้มุมมองประสบการณ์ที่สั่งสมมากำกับทักษะ เพื่อลดทอนเทคนิคที่ใช้พลกำลัง เน้นความสูงวัยที่ให้ประโยชน์ต่อความเฉียบคมแม่นยำในการคัดสรรตามทัศนะของศิลปิน ดังที่ได้นิยามแนวคิดไว้ดังนี้
“ตัวผมเป็นประติมากร ทำงานแกะสลักไม้และหิน สร้างผลงานมา 34 ปี มีผลงานเป็นพันชิ้น ตลอดเวลาที่ทำงาน เทคนิคของผมเป็นการใช้แรงกายใจทำผลงาน โดยเฉพาะเวลาแกะสลักขัดเกลาไม้
เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนอายุผมมากขึ้น แรงกายย่อมถดถอยลง การสร้างผลงานมีอุปสรรค แต่ใจผมยังสู้และรักที่จะทำงานศิลปะต่อไป ผมจึงเปลี่ยนวิธีและแนวคิดให้สอดคล้องกับสภาพสูงวัยตามกาลเวลา
ผมจึงคิดถึงการทำงานที่ใช้แรงให้น้อยลง โดยเน้นไปใช้วัสดุที่มีความงามตามธรรมชาติ วัสดุที่คนทั่วไปไม่เห็นคุณค่า ผมนำวัสดุนั้นมาปรุงแต่งโดยเน้นให้ตัววัสดุได้ทำงานโดยที่ผมไม่ต้องทำลายหรือเปลี่ยนรูปทรงของวัสดุ เน้นการทำงานให้น้อย แต่ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาสามสิบกว่าปีทำงานแทน”
หนังสั้น "จุดประกายฉายฝัน"
จุดประกายฉายฝัน
หนังสั้น 15 นาที
ธนิตย์ จิตนุกูล
ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ธนิตย์ จิตนุกูล นำเสนอหนังสั้นธีมความฝันไม่มีวันหมดอายุเรื่อง "จุดประกายฉายฝัน" เมื่อโลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนหลายอาชีพไม่สามารถเดินต่อไปได้ เพราะก้าวตามยุคสมัยไม่ทัน ด้วยขาดการเรียนรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่
หนังสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของลุงผู้มีอาชีพฉายหนังกลางแปลงที่เคยได้รับความนิยมในอดีต เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน ทำให้ความนิยมของหนังกลางแปลงลดลง จนเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หมดพลังในการก้าวเดินต่อไป
การเปิดรรับการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดพลังในการดำเนินชีวิตและสานฝันให้เป็นจริงได้
ผลงานชุด R.I.P. (Rebirth in Pieces)
R.I.P. (Rebirth in Pieces)
สุพรรณิการ์ ติรณปริญญ์
นักออกแบบเครื่องประดับสัจธรรมร่วมสมัย สุพรรณิการ์ ติรณปริญญ์ นำเสนอปรากฏการณ์การปะทะกันของคนต่างรุ่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ส่งผลให้เกิด ‘วิกฤตความเดียวดายในสังคม’ มักเกิดกับผู้สูงวัยและวัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตตามลำพัง
ผลงานศิลปะ R.I.P. (Rebirth in Pieces) นำคนสองช่วงวัยมาพบปะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกัน โดยใช้วัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ถูกทิ้ง มีร่องรอยแตกร้าว นำมาเชื่อมประสานรอยแตกร้าวบนภาชนะ ให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
เพื่อเยียวยาจิตใจจากความแตกสลายในชีวิต สู่การสร้างสำนึกตัวตนใหม่ของผู้สูงวัย และสร้างชุมชนของการสร้างสรรค์ให้คนทุกช่วงวัยได้เข้าใจทัศนคติของกันและกันอย่างเป็นอิสระ
คอลเลคชั่นเก้าอี้บุญ-แชร์
เก้าอี้บุญ-แชร์
พงศธร กันทะวงศ์
พงศธร กันทะวงศ์ นำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยผ่านการออกแบบเก้าอี้ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย เนื่องจากผู้สูงวัยมีข้อจำกัดทางด้านสรีระและการใช้ชีวิตทั้งการลุกนั่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
จึงนำไม้สักของดีจังหวัดแพร่ มาพัฒนาเป็นเก้าอี้คอลเลคชั่น เก้าอี้บุญ-แชร์ เป็นการทำงานร่วมกันหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย 3 ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การลุกนั่งของผู้สูงวัย ได้แก่
- บุญเย็น เก้าอี้ที่ออกแบบให้มีที่เก็บไม้เท้าสำหรับผู้สูงวัยที่การเคลื่อนไหวจำเป็นต้องมีไม้เท้าติดกาย เวลานั่งเก้าอี้แล้วมักไม่รู้จะวางไม้เท้าไว้ที่ใด
- บุญส่ง ลักษณะคล้ายเก้าอี้โยก ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้ง่าย ด้วยการออกแรงกดบนที่พักแขนพร้อมโน้มตัวไปด้านหน้า แรงกดจะเปลี่ยนเป็นแรงยกส่งให้ผู้ใช้งานลุกขึ้นยืนได้สะดวก
- บุญค้ำ วอล์คเกอร์ช่วยเดิน แตกต่างจากวอล์คเกอร์โรงพยาบาลด้วยฟังก์ชั่นเสริมพิเศษ คือเพิ่มที่นั่งกึ่งนั่งกึ่งยืน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพิงพักระหว่างเดิน
เก้าอี้บุญ-แชร์ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการสร้างเก้าอี้ที่น่าใช้ ตอบโจทย์ผู้สูงวัยในบริบทสังคมไทย
สะพานข้ามบึงบัว
สะพานข้ามบึงบัว
กมลลักษณ์ สุขชัย
ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะภาพถ่าย กมลลักษณ์ สุขชัย ครั้งนี้เธอสร้างศิลปะสื่อผสมชื่อ สะพานข้ามบึงบัว เสนอแนวคิดบทสนทนาอันซับซ้อนของคนสองช่วงวัย พร้อมกับถ่ายทอดภูมิปัญญาและองค์ความรู้ส่วนบุคคลภายในครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
เสมือนการส่งต่อความคิด มุมมอง ประสบการณ์ ผ่านเรื่องเล่าที่บรรจุไปด้วยอุดมการณ์ของชีวิต การเดินไปข้างหน้าของพลวัตสังคมโลก (dynamics of globalization)
‘สะพานข้ามบึงบัว’ เป็นการจำลองห้องนั่งเล่นภายในบ้านของศิลปินเมื่อครั้งวัยเยาว์ ผ่านเบาะนอนฟูกระนาดที่สมาชิกในครอบครัวนั่งเล่นนอนเล่นคุยกัน ซึ่งคุณย่าเย็บและยัดนุ่นด้วยมือ เป็นงานอดิเรกช่วงกลางวันของคุณย่าหลังทำไร่ทำสวน
ตกแต่งบริเวณโดยรอบด้วยดอกบัวประดิษฐ์จาก ‘ผ้าใยบัว’ งานฝีมือของคุณป้าของบ้านเคยใช้ประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว
ผลงานศิลปะสื่อผสมชุดนี้เป็นการตีความหมายเชิงคุณค่าของสังคมผู้สูงวัย ย้อนนึกถึงเวลาในอดีต การมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว เปรียบเสมือน safe zone ให้กับทุกคนในครอบครัว
สถานที่จัดนิทรรศการ “สูงวัย... ขยาย(ความ)”
นิทรรศการ “สูงวัย... ขยาย(ความ)” จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม – 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ยังมีผลงานของศิลปินท่านอื่นๆ อีก ดังนี้
- จักรวาล นิลธำรงค์
- ชาติ กอบจิตติ
- แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์
- นพวรรณ สิริเวชกุล