ชวน หลีกภัย ชีวิตกับลายเส้น รวมภาพวาดลายเส้นเชิดชูเกียรติศิลปินทัศนศิลป์
เปิดให้เข้าชมแล้ว ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’ นิทรรศการศิลปะภาพวาดลายเส้นครั้งล่าสุดของ ‘ชวน หลีกภัย’ ชมและเป็นเจ้าของภาพลายเส้นบุคคลสำคัญ นักการเมือง ทิวทัศน์ ในแบบฉบับ ‘ฐาปนันดรศิลปิน ชวน หลีกภัย’
ชีวิต กับ ลายเส้น เป็นชื่อนิทรรศการศิลปะแสดงผลงาน ‘ภาพวาด’ ครั้งล่าสุดในปี 2566 ของ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย อดีตประธานรัฐสภาไทยและประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย จัดแสดง ณ หอศิลป์วังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ
นิทรรศการครั้งนี้ดำเนินการจัดโดย ‘สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม’ ตามโครงการนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินด้านทัศนศิลป์ ประจำปี 2566
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดทำโครงการฯ นี้ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ‘ศิลปินด้านทัศนศิลป์’ ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับองค์กร สังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นความรู้แก่เยาวชนนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเอง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ กรมสมเด็จพระเทพฯ
อดีตนายกฯ ชวน เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ดังกล่าวทุกกรณี โดยท่านได้รับการประกาศยกย่องจาก ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม’ ให้ได้รับนาม ฐาปนันดรศิลปิน ชวน หลีกภัย ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติประกาศยกย่องเมื่อปี 2554
'ฐาปนันดรศิลปิน' หมายถึง ผู้เป็นหลักก่อตั้งโครงการ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สืบเนื่องจากนายชวน หลีกภัย เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดโครงการ ศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี 2527 และยังเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ เพื่อให้ผู้มีความสามารถ มีศักยภาพทางด้านศิลปะ ได้รับการดูแลและสนับสนุน
นิทรรศการศิลปะ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’
นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2565 นายชวน หลีกภัย ยังได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับปริญญาดุษฎี บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
อดีตนายกฯ ชวน ไม่ได้เป็นเพียงศิลปินและผู้อุปถัมภ์งานด้านศิลปะ ตลอดจนผลักดันให้มีการสืบทอดเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างในการใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีคุณค่า ดังคำที่คุณชวนเคยกล่าวไว้ว่า
"เวลาที่สูญไปกับภารกิจต่าง ๆ ได้คืนกลับมาด้วยวิธีการจดบันทึกเป็นลายเส้นแทนตัวอักษร" (ปาฏกถา 5 ต.ค.2558)
นิทรรศการศิลปะ ชีวิต กับ ลายเส้น คือบทพิสูจน์คำกล่าวของท่านอีกครั้ง
ชุดศาสนา : สมเด็จพระพุฒาจารย์, หลวงพ่อทอง จากหาดใหญ่, พราหมณ์พรเทพ, พระคุณเจ้าให้พร, แม่แก้วกัลยาถวายผ้าป่า
พระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ขณะถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บันทึกเมื่อ 27 มี.ค.2543
“ท่านเขียน(ภาพ)ทุกอย่างที่ขวางหน้า” กมล สุวุฒโฑ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านทัศนศิลป์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ โครงการนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินด้านทัศนศิลป์ กล่าวถึงผลงานศิลปะของคุณชวน หลีกภัย ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’
ภาพในนิทรรศการครั้งนี้ คุณกมล สุวุฒโฑ เป็นผู้ประสานงานกับคุณชวนและคัดเลือกภาพวาดที่คุณชวนวาดเก็บไว้หลายร้อยเล่ม เน้นภาพลายเส้นเป็นสำคัญ
รศ.นราพร จันทร์โอชา, ดร.ถวัลย์ ดัชนี
“ภาพส่วนใหญ่บันทึกจากสถานที่จริง เหตุการณ์ บุคคลเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ได้ร่างหรือแก้ไขใดๆ บันทึกไว้อย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ส่วนภาพอาคาร บ้านเรือน ต้นไม้ บันทึกจากภารกิจที่เดินทางไปประสบพบเห็น”
เป็นข้อความที่คุณ ชวน หลีกภัย อธิบายถึงที่มาของ ‘ภาพวาด’ ที่วาดมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอกว่า 30 ปี และนำส่วนหนึ่งมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’
ภาพวาดใน นิทรรศการศิลปะ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’ เป็นผลงานการบันทึกจากเรื่องราวต่างๆ เช่น บุคคลสำคัญ นักการเมือง บุคคลทั่วไป รวมถึงสิ่งที่พบเห็นในงานการเมือง การปฏิบัติภารกิจเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ งานหาเสียง การปราศรัย งานพิธี งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ชีวิตประจำวัน ทิวทัศน์ ต้นไม้ที่ชอบ
นายอาบีบี้ ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย และ พลเอกสีสะหวาด แก้วบุญพัน
“ผลงาน ‘ชีวิตกับลายเส้น’ ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางศิลปะในขั้นสูงพิเศษ นอกเหนือไปจากการบันทึกภาพธรรมดาทั่วไป” เป็นความเห็นของคุณกมล สุวุฒโฑ
ขณะที่คุณธงชัย รักปทุม อายุ 82 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2553 ให้ความเห็นว่าภาพลายเส้นของคุณชวน หลีกภัย มีรูปแบบเอกลักษณ์พิเศษโดดเด่นเฉพาะตน เชี่ยวชาญยิ่งด้านภาพเหมือน ภาพคน และภาพทิวทัศน์ ซึ่งมีคุณภาพและคุณค่าทางสุนทรียศิลป์ระดับศิลปินเอกชื่อก้องโลก เช่น ไมเคิลแองเจโล, ปิกาโซ
อย่างไรก็ตาม ฐาปนันดรศิลปิน ชวน หลีกภัย ย้ำอีกครั้งว่า
“ภาพลายเส้นที่ได้นำมาแสดงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกส่วนตัวที่ทำอยู่เป็นปกติ ในทุกโอกาสที่ได้ประสบพบเห็น ไม่ว่าบุคคลหรือสถานที่ ถือเป็นบันทึกที่ทำไว้เป็นลายเส้น แทนการจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มิได้เป็นงานศิลปะดังผลงานของศิลปิน”
ภาพเหมือนของ นายชวน หลีกภัย หลายช่วงเวลา
นิทรรศการศิลปะ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’ จัดแสดงภาพวาดลายเส้นขาว - ดำ และภาพเขียนสี รวมจำนวน 255 ภาพ จำแนกเนื้อหาออกเป็น 5 ชุด ประกอบด้วย
- ชุดภาพเหมือนนายชวน หลีกภัย
- ชุดภาพบุคคลสำคัญและนักการเมืองไทย
- ชุดภาพบุคคลทั่วไป ภารกิจและชีวิตประจำวัน
- ชุดภาพเกี่ยวกับศาสนา
- ชุดภาพทิวทัศน์ ต้นไม้ ใบไม้
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ณ หอศิลป์วังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
มนัญญา ไทยเศรษฐ์ (พ.ศ.2563), ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (พ.ศ.2548)
นิพนธ์ บุญญามณี (พ.ศ.2547), นุรักษ์ มาประณีต (พ.ศ.2558)
สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม (พ.ศ.2559), ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด (พ.ศ.2558)
ชุดสถานที่ : กำแพงเมืองจีน (พ.ศ.2542), ทิวทัศน์ประเทศจีน, ตึกเมืองเจ้อเจียง (พ.ศ.2557), เมือง Brugge เบลเยียม (พ.ศ.2547)
อุทยานแห่งชาติ Grand Canyon พ.ศ.2557
ชุดสถานที่ : ชุมชนบ้านท้ายพรุ จ.ตรัง (พ.ศ.2553), หมู่บ้านปากแม่น้ำ ต.ปากนคร (พ.ศ.2551),
โกสนตรัง ต.ค.2554
ภาพที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพ digital print จากภาพต้นฉบับ ถึงแม้เป็นภาพพิมพ์ดิจิทัลแต่คุณ ชวน หลีกภัย เซ็นชื่อใหม่ลงบนภาพทุกภาพด้วยตนเอง
รายได้จากการจำหน่ายภาพใน นิทรรศการศิลปะ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’ นำไปสมทบทุนให้กับ ‘กองทุนทัศนศิลป์ ชวน หลีกภัย’ ใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เรียนด้านทัศนศิลป์ ของสถานศึกษาสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
บริเวณด้านหน้านิทรรศการศิลปะ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’
ห้องจัดแสดงนิทรรศการ ‘ชีวิต กับ ลายเส้น’
หอศิลป์วังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพฯ