พิษณุ ศุภนิมิตร ศิลปะในช่วงอายุ 70 ปี ชีวิตเป็นอย่างไร ศิลปะก็เป็นอย่างนั้น
"พิษณุ ศุภนิมิตร" ศิลปะเมื่ออายุขึ้นเลข 7 การแสดงงานเดี่ยวครั้งล่าสุด “ณ ที่ที่เคยไป” นิทรรศการภาพจิตรกรรมสีน้ำผสมงานถ่ายภาพ สะท้อนชีวิตเป็นอย่างไร ศิลปะก็เป็นอย่างนั้น ตอบชัดโอกาสอ่านเรื่องชุดแนว “กลิ่นสีและกาวแป้ง”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ “พิษณุ ศุภนิมิตร” ศิลปินสีน้ำชั้นครู เจ้าของนามปากกา “พิษณุ ศุภ.” ผู้เขียนเรื่องชุดสุดลือลั่น “กลิ่นสีและกาวแป้ง” เอาไว้มื่อปีพ.ศ.2528 จัดแสดงผลงานจิตรกรรมครั้งล่าสุดปีนี้ด้วยนิทรรศการชื่อ "ณ ที่ที่เคยไป แบ่งปันใจที่เคยเยือน" ให้กับผู้ซึ่งเฝ้ารอชมผลงานสีน้ำและผู้ประสงค์อยากมีไว้สะสมชื่นชมเป็นการส่วนตัว แต่ละภาพสวยมีมนต์เสน่ห์สุดปลายพู่กัน
ผลงานศิลปะชุดนี้ อ.พิษณุ สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ การเดินทาง ที่ทำให้ได้พบเห็น สัมผัส ซึมซับกับบรรยากาศแห่งความงดงามจาก ทิวทัศน์ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญ ตลอดจนเรื่องราวในเชิงประเพณีและวัฒนธรรมจากท้องถิ่นที่แตกต่างกันใน 20 ประเทศ ทั้งทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา
ผลงานในนิทรรศการ "ณ ที่ที่เคยไป แบ่งปันใจที่เคยเยือน" มีลักษณะเป็นงาน จิตรกรรมสีน้ำ ผสมกับ การภาพถ่าย จนออกมาเป็นผลงานศิลปะอันงดงามละเอียดอ่อนน่าอัศจรรย์ จัดแสดงจำนวน 73 ภาพ พร้อมด้วยผลงาน ภาพพิมพ์แกะไม้ 11 ชิ้น และ ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน 10 ชิ้น
อ.พิษณุ อธิบายถึงเทคนิคทางศิลปะที่ใช้สร้างสรรค์ผลงานชุดนี้เพิ่มเติมกับ “Art & Living กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เป็นเทคนิคสีน้ำธรรมดาที่เขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนช่างศิลป์ ชอบเทคนิคนี้มาตลอด และพัฒนาเทคนิคในการสร้างสรรค์ศิลปะมามากมายจากการเรียน ภาพพิมพ์ ซึ่งมีเทคนิคเยอะมากในเรื่อง เอทชิ่ง (etching) ซิลค์สกรีน (silkscreen) ลิโธกราฟ (lithograph) ซึ่งทำมาแล้วทั้งนั้น
ภาพจิตรกรรม : อ้อมกอดของเทือกเขาและดวงจันทร์
“การทำภาพพิมพ์เป็นเทคนิคหนึ่งที่เราไม่สามารถเอาไปเผชิญหน้ากับธรรมชาติได้ จะต้องทำแม่พิมพ์แล้วจึงนำไปพิมพ์โดยการใช้แท่นพิมพ์ ตอนหลังผมก็เลยไม่ได้ทำงานประเภทนี้อีก เพราะอายุมากแล้ว..
ก่อนนี้ งานผมเป็นแอ็บสแตร็กส์ (abstracts) ซึ่งจะต้องมีคอนเซปต์ พูดถึงแนวความคิดอะไรต่างๆ มากมาย พอตอนหลังผมมุ่งที่การเขียนหนังสือ ทำหนังสือสารคดีศิลปะ ท่องเที่ยวไปที่ไหนผมก็เล่าถึงสิ่งที่ผมไปท่องเที่ยว ใช้ภาพประกอบที่เป็นภาพเขียนที่เป็นของผมเอง เป็นสารคดีในเชิงศิลปะ..
ผมคิดว่านักเขียนสารคดีรุ่นผม ส่วนใหญ่ใช้ภาพประกอบที่เป็นภาพถ่าย แต่ผมใช้ภาพที่ผมเขียนขึ้นเอง ผมไปที่ไหน ผมก็วาด..
ต่อมาผมมีโอกาสแสดงงานในชุดไปท่องเที่ยว มีคนชอบ ผมเองก็ชอบด้วย เพราะง่ายในการได้ไปอยู่ในสถานที่ ได้เที่ยว มีความสุข ผมถือคติที่ว่า ชีวิตเปลี่ยน ศิลปะก็เปลี่ยน ชีวิตเป็นอย่างไร ศิลปะก็เป็นอย่างนั้น ชีวิตในช่วงปลายของผม เป็นชีวิตที่ผมคิดว่าผมมีความสุขในการที่ผมได้ท่องเที่ยว ไปที่ไหนกลับมาก็ได้เขียนรูปเขียนเรื่องที่ให้ความรู้กับคนทั่วไป..
ผมก็กลับมาทำอะไรที่เขียนง่ายๆ ด้วยการใช้เทคนิค สีน้ำ หลายคนบอกสีน้ำก็เป็นทั้งยากและง่าย ง่ายตรงผสมน้ำอย่างเดียวก็เขียนได้ แต่จะเขียนให้สวยอย่างไร อันนี้ยาก”
ภาพจิตรกรรม : พุทธจักษุแห่งพระมหาสถูปสวะยัมภูนาถ
อ.พิษณุเล่าถึงความรู้สึกในการเขียน ภาพพุทธจักษุแห่งพระมหาสถูปสวะยัมภูนาถ เมื่อครั้งเดินทางไปท่องเที่ยวยังเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อย่างมีความหมาย ฟังแล้วอดนับถือในความศรัทธาของชาวพุทธในภูมิภาคนั้นไม่ได้
“เป็นที่ที่ผมตื่นตาตื่นใจมาก เริ่มตั้งแต่เราได้ฟังเสียงเพลงศาสนาของมหายาน เพลงนี้ไม่ว่าคุณไปที่ไหนบนแผ่นดินเนปาลจะได้ยินเสียงเพลงนี้ตลอด
พอไปถึงวัดโพธินาถ(พระสถูป) จะเห็น ธงปลิวไสว บ้านเราจะนึกว่าเป็นธงตามปั๊มน้ำมัน แต่นี่คือ ธงมนตรา ซึ่งพิมพ์ข้อความในพระคัมภีร์ลงบนธงทุกผืน ธงมีสีเขียว สีฟ้า สีเหลือง สีแดง สลับกันไป
ความหมายก็คือ เป็นธงที่สายลมจากเทือกเขาหิมาลัยจะพัดผ่านพระคัมภีร์บนผืนธง นั่นแสดงว่าลมจะช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาพัดผ่านไป ตราบใดที่ลมยังพัดอยู่ พระพุทธศาสนาของเราก็ยังเผยแพร่อยู่
พระสถูปนั้นผมว่าอายุนับพันปี ดินแดนแถบนั้นอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย คาดว่าพระพุทธเจ้าต้องเคยเสด็จพุทธดำเนินมา คงบรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้าไว้ที่นั่น คนซึ่งอยู่ที่ธิเบต ภูฏาน ก็ยังเดินทางที่จะมากราบคารวะวัดโพธินาถ เดินด้วยเท้ากว่าสองพันกิโลเมตร
บ้านเรากราบพระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือห้าส่วนสัมผัสแล้วคุกเข่ากราบลงไป แต่วิธีกราบของเขาเรียกอัษฎางคประดิษฐ์ คือใช้ร่างกายทั้งหมด 8 ส่วนสัมผัสกับพื้น เดินไปสามก้าว เขาจะล้มลงแล้วกราบ เดินมาจากธิเบต ต้องมีศรัทธาขนาดไหนการที่จะมากราบพระสถูป”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร พร้อมกล้องคู่มือ
ในการเขียนภาพงานจิตรกรรมชุดนี้ อ.พิษณุไม่ได้ใช้การเขียนรูปอย่างเดียว อาจารย์กล่าวว่าการเขียนรูปให้ดีต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 ชั่วโมง ไม่สามารถใช้เวลาไปกับการเขียนรูปได้นานขนาดนั้นในการเดินทางท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัด
อาจารย์จึงนำ การถ่ายภาพ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของกล้องดิจิทัลเข้ามาประกอบ เลือกมุมที่ชอบแล้วลั่นชัตเตอร์ด้วยตนเอง
แต่ก็ไม่ได้นำภาพถ่ายนั้นมาเป็นต้นแบบในการเขียนภาพเพียงอย่างเดียว โดยอาจารย์ได้ เติมอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เข้าไปในการเขียนภาพจากภาพถ่ายนั้นด้วย เช่นการปรับความสว่างความมืดของท้องฟ้า เติมแม้กระทั่ง "พระจันทร์" เข้าไปในภาพ ทั้งที่ในภาพถ่ายจริงไม่มีพระจันทร์
การปรับแสงสว่าง การเติมสิ่งต่างๆ เข้าไปในภาพถ่ายอย่างที่ตนเองรู้สึก อ.พิษณุลงมือทำเองผ่านคอมพิวเตอร์ แล้วจึงนำ “ภาพถ่ายที่ปรับจนได้ตามอารมณ์ความรู้สึก” มาเขียนเป็นภาพเขียนอีกที ภาพเขียนที่ได้จึงเป็น ภาพที่อาจารย์สมมุติบรรยากาศขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งก็คืองานจิตรกรรมของพิษณุ ศุภนิมิตร มิใช่เพียงงานเขียนภาพที่ลอกจากภาพถ่าย
“งานเขียนภาพของผมจึงผสมระหว่างเทคนิคสีน้ำกับเทคนิคภาพถ่าย ผมว่าสองประเด็นนี้เป็นส่วนประกอบของชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยปัจจุบัน คือการถ่ายรูป แต่ถ่ายรูปอย่างไรให้เป็นสีน้ำด้วย นี้คือสิ่งที่ผมแปรเปลี่ยนจากการใช้ชั้นเชิงเขียนสีน้ำของผม ซึ่งมี mood ของผมเอง ผมไม่ได้เลียนแบบภาพถ่ายเป๊ะๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมถือว่าเป็นความพิเศษของภาพเขียนของผมในยุคปัจจุบัน”
ภาพจิตรกรรม : พระจันทร์กับเงาสะท้อนที่วัดเบียวโดอิน
อ.พิษณ์ยกตัวอย่างภาพ พระจันทร์กับเงาสะท้อนที่วัดเบียวโดอิน ที่เขียนขึ้นจากเมื่อครั้งเดินทางไปท่องเที่ยวยัง วัดเบียวโดอิน (Byodoin) เมืองอุจิ (Uji) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเกียวโต ขึ้นรถไฟฟ้าไป 4-5 สถานีก็ถึง
“วัดเบียวโดอินเป็นสถาปัตยกรรมอายุนับพันปี รูปทรงเป็นอาคารกลางน้ำ อาคารนี้สถาปนิกออกแบบให้เป็น หงส์กำลังลงเล่นน้ำ คือตัวประธานของสถาปัตยกรรมเป็นตัวหงส์ กางปีกสองปีกไปซ้ายขวา คือตัวอาคารสองด้าน แล้วอยู่กลางน้ำ ซึ่งแสดงว่าที่แห่งนั้นเป็นที่ของ สวรรค์ เพราะมีหงส์มาลงเล่นน้ำ หงส์เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์
สถาปนิกสร้างวัดนี้ขึ้นมาสวยงามมาก ข้างในมีพระประธานชื่อพระอมิตาพุทธะ สวยงามมากๆ ผมอยู่ที่นั่นได้เป็นวัน อยู่จนเย็นแล้วกลับ ไปหลายครั้งมาก ชอบที่นั่นมาก สวยงามทั้งสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม
ในภาพมี พระจันทร์ นั่นผมใส่เอง ผมอยากให้รู้สึกเป็นกลางคืน อยากให้มีพระจันทร์สะท้อนลงในน้ำด้วย ภาพนี้เป็นสิ่งที่ผมจินตนาการด้วยส่วนหนึ่ง และเป็นของจริงด้วยส่วนหนึ่ง” อ.พิษณุอธิบาย
ภาพจิตรกรรม : ลอนดอนอายริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ยามเย็น
ภาพจิตรกรรม ลอนดอนอายริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ยามเย็น เป็นภาพที่ อ.พิษณุ เขียนขึ้นอย่างงดงามจากการเดินทางไปท่องเที่ยวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่อาจารย์ยอมรับว่า ประทับใจซีกโลกตะวันตกได้ไม่ลึกซึ้งเท่าซีกโลกตะวันออกที่เป็นเหมือนบ้านของเรา
“เที่ยวอินเดีย พม่า เนปาล เขมร ลาว ที่ล้อมรอบบ้านเรา ผมมีเรื่องมากมายที่จะพูดถึง แต่ไปซีกตะวันตกมันแค่เห็นหลายๆ สิ่งที่นั่น แล้วตื่นเต้น เห็นหอไอเฟล เห็นลอนดอนอาย ก็รู้สึกว่าสวย ลอนดอนอายตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ เป็นภาพที่งดงามมาก ผมก็แค่รู้สึกว่าลอนดอนอายเป็นสัญลักษณ์ของโลกสมัยที่ควรบันทึกไว้ ด้วยความที่เราเป็นคนโลกตะวันออก ความสัมผัสที่ลึกซึ้งมีไม่เท่าคนตะวันตก”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร เจ้าของนามปากกา “พิษณุ ศุภ.”
อ.พิษณุ สำเร็จการศึกษาจาก คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยสะท้อนชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเพื่อนกลุ่มหนึ่งในช่วงปีพ.ศ.2510-2511 ซึ่งกำลังอยู่ปี 1 ปี 2 ที่ดูเหมือนจะเพี้ยน เหลวไหล ทำอะไรแผลงๆ สนุกๆ แต่กลับมีความคิดสร้างสรรค์ มีชีวิตที่ผูกพันกับศิลปะและรักเพื่อนมากๆ ออกมาเป็นงานเขียน เรื่องชุด “กลิ่นสีและกาวแป้ง” โด่งดังเป็นที่ติดอกติดใจของนักอ่านในปีพ.ศ.2528
เนื่องจากบุคลิกตัวละครใน “กลิ่นสีและกาวแป้ง” มีตัวตนจริงผสมจินตนาการ ตัวละครในหนังสือบางคนเริ่มมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง นักอ่านจึงพยายามปะติดปะต่อใครคือเจ้าของวีรกรรมในหนังสือ โดยเฉพาะอยากรู้ว่าใครกินอ้วกชามนั้น!
สำหรับนักอ่านหนังสือที่เป็นแฟนเรื่องชุด “กลิ่นสีและกาวแป้ง” จะมีโอกาสได้อ่านเรื่องชุดลักษณะนี้อีกหรือไม่ อ.พิษณุตอบว่า
“จริงๆ ผมเขียนหนังสืออยู่ตลอดเวลาในเฟซบุ๊ก ไปเที่ยวไหนผมก็เขียนเป็นบันทึกสั้นๆ ทั้งนี้หลังจากโลกเปลี่ยน คนอ่านหนังสือน้อยลง ถ้าเป็นสมัยก่อนผมเขียนหนังสือขึ้นมา สำนักพิมพ์ก็รับพิมพ์เกือบทั้งหมด
แต่ตอนหลัง หนังสือสารคดีที่ผมพิมพ์ครั้งสุดท้ายคือเรื่องในญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานพิมพ์ ถ้าจะพิมพ์ผมต้องหาสปอนเซอร์มาเอง ผมไม่รู้ว่าโลกของหนังสือจะยุติลงแค่นี้หรือเปล่า ผมก็เลยหยุดงานเขียนแบบนั้นไป ก็เขียนลงโซเชียลมีเดียมากกว่า เขียนสนุกๆ ตามประสาคนอยู่เฉยไม่ได้ก็เขียนหนังสือไป
ถ้าอายุยังยืนต่อไป ก็อาจจะมีเรื่องสไตล์กลิ่นสีฯ เพราะอยากเขียนอยู่เหมือนกัน นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เรื่องที่จะเขียนมีเยอะแยะ อยู่ที่ว่ามีคนอ่านมั้ย ถ้ามีคนอ่าน ก็จะเขียน”
อาร์เดลเธิร์ดเพลสแกลเลอรี่ (ทองหล่อซอย 10)
ภาพจิตรกรรมในนิทรรศการ "ณ ที่ที่เคยไป แบ่งปันใจที่เคยเยือน" ทั้ง 73 ภาพ เป็นผลงานใหม่ทั้งหมดของ อ.พิษณุ ใช้เวลาเขียนรูปชุดนี้ 2 ปี
จริงๆ แล้วอาจารย์เขียนภาพไว้มากกว่านี้ เดิมกำหนดจัดแสดงงานวันที่ 17 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 73 ปีของอาจารย์ จึงตั้งใจนำผลงานออกแสดงจำนวน 73 ภาพตามอายุ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างหนักเมื่อต้นปีที่แล้ว จึงต้องเลื่อนนิทรรศการมาจัดในปี 2565
นิทรรศการ "ณ ที่ที่เคยไป แบ่งปันใจที่เคยเยือน" กลุ่มภาพจิตรกรรมจากการเดินทางท่องเที่ยวประเทศตะวันออก จัดแสดง ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ถนนบรมราชชนนี) ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ - 10 เมษายน 2565 และ กลุ่มภาพจิตรกรรมจากการเดินทางท่องเที่ยวประเทศตะวันตก จัดแสดง ณ อาร์เดลเธิร์ดเพลสแกลเลอรี่ (ทองหล่อซอย 10) ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ - 23 เมษายน 2565
เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.30 - 19.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 10.30 - 17.30 น. (ปิดวันจันทร์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อโทร. 0 2422 2092
ผลงานทุกชิ้นเปิดโอกาสให้ผู้ชื่นชอบมีโอกาสครอบครองสะสม