วันนวมินทรมหาราช ตามรอย 9 หลักการทรงงาน 9 ความยั่งยืน 9 โครงการพระราชดำริ
วันนวมินทรมหาราช รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ เรียนรู้ '9 หลักการทรงงาน' บำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผ่าน 9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความยั่งยืนด้านอาหาร การศึกษา อาชีพ ธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคม พลังงาน เกษตร สิ่งแวดล้อม
วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีนับตั้งแต่พ.ศ.2566 เป็นต้นไป จารึกความหมายลงในหัวใจปวงชนชาวไทยว่าเป็น วันนวมินทรมหาราช แปลว่า ‘วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่’ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ ‘รัชกาลที่ 9’ พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559
พระราชพิธีธรรม พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตุลาคม 2559
ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตกำหนดให้ ‘วันนวมินทรมหาราช’ เป็น วันสำคัญของชาติไทย และให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกับ 'วันปิยมหาราช'
รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จทรงงานเพื่อราษฎรในทุกพื้นที่
'รัชกาลที่ 9' ทรงขับรถพระที่นั่งลงฝ่าลำน้ำที่จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากทรงทราบว่ามีราษฎรมารอเข้าเฝ้าฯ ตั้งแต่เช้ามืด และเพื่อทรงงานสำรวจเรื่องชลประทาน ทำนบ ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ ดังที่ตั้งพระทัยไว้, พ.ศ.2516
พื้นที่ทรงงาน
ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
บังเกิด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลายพันโครงการทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปัญหาของราษฎรด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะทุรกันดาร หนทางเข้าถึงยากลำบาก น้ำท่วม แม้แต่มีภัยความมั่นคง จึงทรงทราบถึงมูลเหตุแห่งปัญหาอย่างถ่องแท้
คูหาแสดง 9 หลักการทรงงาน ในงาน SX2023
จากนั้นจึงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไปดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านเกษตรกรรม การแพทย์และสาธารณสุข การคมนาคม หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลักการทรงงาน อันประเสริฐ ประมวลรวมได้ 27 ข้อ
ทั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำเรื่องราว หลักการทรงงาน ของ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ จำนวน 9 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘การพัฒนา’ เผยแพร่สู่ประชาชนอีกครั้งในงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ผ่าน 9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้าง ความยั่งยืน ใน 9 ด้าน เพื่อให้ผู้สนใจมีโอกาสเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ดังนี้
หลักการทรงงาน : ขาดทุนคือกำไร (ประโยชน์ส่วนรวม)
โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย
ประโยชน์: ความยั่งยืนด้านอาหาร
โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริที่จะทรงมีเมล็ดพันธุ์พืชสะสมสำรองไว้ในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์
เพราะในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤติจากภัยธรรมชาติ ราษฎรเดือดร้อน พื้นที่ทำกินเสียหาย ในช่วงเวลาเช่นนั้นจะเกิดความขาดแคลนขึ้น
หนึ่งในสิ่งที่ทรงพบคือ การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืช ที่จะพระราชทานแก่ราษฎรเพื่อปลูกในทันทีที่ได้รับการฟื้นฟูพื้นที่
ผลงานโครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงน้อมนำหลักการทรงงานของสมเด็จพระบรมราชชนก ‘รัชกาลที่ 9’ ข้อ ขาดทุนคือกำไร ‘ฉันขาดทุน แต่ประชาชนได้กำไร’ หมายถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ‘มูลนิธิชัยพัฒนา’ จัดตั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์สะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและราษฎรทั่วไป
ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ได้ผลผลิตดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ด้านพันธุ์พืชทนทานต่อโรคและแมลง
ผลงานโครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
โดยในปีพ.ศ.2552 ทรงจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ ตำบลโป้งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ 135 ไร่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน สะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน และได้พระราชทานชื่อโครงการนี้เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2552
ต่อมาในปีพ.ศ.2554 ทรงจัดตั้ง ‘ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ’ แห่งที่ 2 ที่ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว สะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน
พ.ศ.2556 ทรงจัดตั้ง ‘ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ’ แห่งที่ 3 ที่ตำบลสำโรงทาน อำเภอสำโรงทาน จังหวัดสุรินทร์ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 สะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานอีกเช่นกัน
หลักการทรงงาน : ระเบิดจากข้างใน
โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านการศึกษา
ผลงานจากโครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา
อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา สถานที่ฝึกอบรมด้านวิชาชีพที่เปิดอบรมตามความต้องการของผู้เรียน ชุมชน เป็นหลัก ถือเป็นการ ระเบิดจากข้างใน และสร้างมิติใหม่ในการเรียนรู้
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านอาชีพที่หลากหลาย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสในการศึกษาในระบบ
ตั้งแต่พ.ศ.2554 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 95,998 คน และผู้ใช้บริการทางสังคมด้านอื่นๆ มากกว่า 1,986,019 คน YouTube 106เรื่อง ผู้ติดตาม 25,055 คน
สามารถเอื้อประโยชน์และส่งเสริมความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนให้พัฒนาตนเองและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
หลักการทรงงาน : บริการรวมที่จุดเดียว
โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านการเกษตร
โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อการเกษตร
โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดำเนินงานสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ให้สามารถทำการเกษตรได้
ภายในโครงการฯ มีการศึกษาทดลองรูปแบบการปลูกพืชต่างๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาทิ ระบบการปลูกพืชโดยมีผลไม้เป็นหลัก การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 วนเกษตร การลดการใช้สารเคมี เน้นการปลูกพืชผักอินทรีย์ จัดแปลงรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก การปลูกพืชสมุนไพร เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นับเป็นการพลิกฟื้นดินที่แห้งแล้ง เสื่อมคุณภาพ ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และยังเป็นสถานที่รวบรวมวิชาการด้านการเกษตรแขนงต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ถือเป็นการพัฒนาแบบ บริการรวมที่จุดเดียว อย่างแท้จริง
หลักการทรงงาน : ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นโครงการต้นแบบการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะโดยใช้หลักการ ‘ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ’ ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
คือใช้พืชและวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น สร้างเป็นระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ
ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชน หน่วยงาน โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทเอกชน โรงเรียน รวมถึงชุมชนต่างๆ นำต้นแบบไปปรับประยุกต์ใช้ จนเกิดเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในที่สุด
หลักการทรงงาน : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
ภัทรพัฒน์ (Pat Pat)
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านอาชีพ
ผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์
ภัทรพัฒน์ เป็นชื่อพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นตราสินค้าจากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชนและกลุ่มเกษตรกรที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน และสามารถนำมาติดตรา ‘ภัทรพัฒน์’
โดยจุดเริ่มต้นเริ่มจากมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเกิดผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลากหลายและจำนวนมาก ยากที่จะดำเนินการทำการตลาดของแต่ละพื้นที่เอง จึงเห็นควรที่จะรวมสินค้าในพื้นที่โครงการมาจัดจำหน่ายและทำการตลาด
หนึ่งในผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์
กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินโครงการจัดทำภาพลักษณ์และพระราชทานชื่อ ภัทรพัฒน์ (Pat Pat) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความหมายดังนี้
- ภัทร แปลว่า ดี เจริญ ประเสริฐ งาม เป็นมงคล
- พัฒน์ หมายถึง ทำให้เจริญ
- รูปไข่ในวงรี แสดงถึงจุดกำเนิดของสรรพสิ่งในโลก
- เลข ๙ สื่อถึง รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และหากพิจารณาให้ดีจะเห็นรูป ‘ช้าง’ หรือ ‘พลายภัทรพัฒน์’ เฝ้าหมอบรับสินค้าชุมชนนำไปจำหน่าย
หลักการทรงงาน : ปลูกป่าในใจคน
โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) จังหวัดจันทบุรี
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ
กิจกรรมในโครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด – มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดจันทบุรี
โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ถือเป็น ป่าผืนสุดท้ายของตำบลตกพรม คือผลสำเร็จของการพัฒนาโดยใช้หลักการ ปลูกป่าในใจคน และ คนอยู่ร่วมกับป่า อย่างเกื้อกูล ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เรื่องความยั่งยืนด้านทรัพยากรที่ผู้คนต่างใช้ทรัพยากรอย่างตระหนักรู้ สอดผสานไปกับวิถีชุมชน ทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล
โครงการฯ จัดกิจกรรมมากมาย เช่น แปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน ลานกางเต็นท์ การสำรวจป่าและศึกษาสัตว์ป่าธรรมชาติในเวลากลางวันและกลางคืน
แปลงรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียน ซึ่งเป็นพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อรวบรวมทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจันทบุรีที่หายากกว่า 44 สายพันธุ์ เช่น กบชายน้ำ กบวัดกล้วย สาวน้อยเรือนงาม เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ให้คงอยู่กับชาวจันทบุรีต่อไป
ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร
ปัจจุบัน ป่าชุมชนอ่างเอ็ด เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่มีสัตว์รวมกันกว่า 51 ชนิด และพันธุ์ไม้ยืนต้นกว่า 50 ชนิด
ที่สำคัญผืนป่าแห่งนี้ยังมีการค้นพบ มดต้นไม้สิรินธร และ ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร (ผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก) ซึ่งต่างก็เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามจากกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2555 และ 30 พฤษภาคม 2557 (ตามลำดับ) และค้นพบเป็นที่แรกของโลกจากผืนป่าแห่งนี้
หลักการทรงงาน : ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด
โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จังหวัดเพชรบุรี
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านพลังงาน
วัตถุดิบพล้งงานทดแทน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระทัยเรื่องพลังงานทดแทนตั้งแต่พ.ศ.2518 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทดลองสร้างโรงงานสาธิตสกัดน้ำมันปาล์ม จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีผลทดลองเป็นที่น่าพอใจ
มูลนิธิชัยพัฒนาน้อมนำพระราชดำริ โดยจัดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง
ปัจจุบัน นอกจากโครงการจะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลไว้ใช้และจำหน่ายแล้ว ยังศึกษา พัฒนา พืชพลังอื่น เช่น โกโก้ มะพร้าว และที่สำคัญคือสิ่งที่เหลือใช้จากทุกขั้นตอนการผลิตยังนำไปใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิด zero waste
ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทรงงาน ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นต้นแบบแก่ชุมชนในพื้นที่ด้านความยั่งยืนของพลังงาน
หลักการทรงงาน : ภูมิสังคม
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านวัฒนธรรม
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาตามหลัก ‘ภูมิสังคม’ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการโครงการ โดยได้อนุรักษ์เรือนแถวริมคลองอัมพวา ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย
พร้อมกันนี้ องค์การยูเนสโก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโล่รางวัล UNESCO Asia – Pacific Award for Culture Heritage Conservation ในโอกาสที่ชุมชนริมคลองอัมพวาได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ในปี 2551
จากการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชุมชนอัมพวา มูลนิธิชัยพัฒนาได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแปรรูปน้ำหวานจากดอกมะพร้าวเป็นน้ำตาลมะพร้าว อาชีพดั้งเดิมของชาวอัมพวา ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านวัฒนธรรม สังคคม และเศรษฐกิจ ควบคู่กัน
หลักการทรงงาน : พออยู่ พอกิน พึ่งตนเอง
โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว
ประโยชน์ : ความยั่งยืนด้านสังคม
เรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างคนและควายที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์
ภาษาที่ใช้สื่อสารกับควาย
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อฝึกกระบือให้สามารถทำการเกษตรร่วมกับเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ให้เข้าใจวิธีการใช้กระบือในการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชน พึ่งตนเอง ได้อย่างยั่งยืน พออยู่ พอกิน ท่ามกลางสภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนไป