ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565

สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ปักหมุดเมืองโลซานน์ จัดพิธีถวายราชสักการะพระบรมรูป ร.9 ประดิษฐานเป็นครั้งแรก ณ ศาลาไทย เมืองโลซานน์ พร้อมยกนิทรรศการภาพวาดสีน้ำฝีมือศิลปินไทยประกอบหนังสือ “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” จัดแสดงในสวิตเซอร์แลนด์

สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโครงการยิ่งใหญ่ฉลอง 72 ปีของการก่อตั้งสมาคมฯ เชิญประติมากรรม พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐาน ณ ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ สวนสาธารณะ เดอนองตู (Parc Denantou) เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ 

โดยกำหนดจัดงาน “Le Buste du Roil Bhumibol à Lausanne พระภูมิบาลโลซานน์รำลึก” และพิธีถวายราชสักการะในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลาท้องถิ่น 15.00 น. พร้อมเชิญ “อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค” จัดการแสดงนิทรรศการภาพประกอบสีน้ำในหนังสือที่ระลึก “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” Our King in Lausanne เพื่อน้อมรำลึกถึงพระจริยวัตรอันงดงามเมื่อครั้งประทับที่สวิตเซอร์แลนด์
 

นางกอบลาภ โปษะกฤษณะ นายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า 

“ในโอกาสที่สมาคมฯ ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลมากว่า 72 ปี สมาคมฯ ได้จัดโครงการเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยได้เชิญ ประติมากรรมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปประดิษฐานเป็นครั้งแรกที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของราชสกุลมหิดลมานานกว่า 18 ปี สมาคมฯ หวังว่าพระบรมรูปนี้ จะเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยในต่างแดน ชวนคนไทยให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้”

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 องค์จำลอง "พระบรมรูป รัชกาลที่ 9" ผลงานการปั้นของ วัชระ ประยูรคำ (ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร)

 

นางกอบลาภ กล่าวด้วยว่า นอกจากเป็นโครงการในวาระสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ฯ ก่อตั้งครบ 72 ปี และวาระครบ 90 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สวิตเซอร์แลนด์ โครงการเชิญประติมากรรมฯ ครั้งนี้ ยังจัดขึ้นเพื่อ เทิดพระเกียรติ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” และพระองค์ยังทรงเป็นสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ฯ ลำดับที่ 3

โดยสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ฯ ลำดับที่ 1 ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมาชิกฯ ลำดับที่ 2 ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 ภาพกราฟิก พระบรมรูปประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนไวท์คารารา

 

พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์นี้ เป็นประติมากรรมหล่อบรอนซ์แบบครึ่งองค์ ขนาดเท่าองค์จริง กว้าง 56 เซนติเมตร ลึก 27 เซนติเมตร สูง 74 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม เป็นผลงานการปั้นของนาย วัชระ ประยูรคำ ศิลปินชั้นนำของไทยที่มีผลงานประติมากรรมมากมาย  

โดยประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานหินอ่อนไวท์คารารา (หินอ่อนซึ่งใช้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม) ประดับโลหะเคลือบอย่างสวยงามระดับเดียวกับงานอัญมณี ฐานหินอ่อนนี้ออกแบบโดยนาย ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการแห่งกรมศิลปากร มีประสบการณ์และผลงานด้านงานสถาปัตยกรรมไทยที่โดดเด่น และผลิตโดยบริษัท ส. บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม จำกัด

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565

วัชระ ประยูรคำ ขณะทำงานปั้นพระบรมรูป

 

นายวัชระ ประยูรคำ ศิลปินผู้ปั้นพระบรมรูปฯ เล่าถึงที่มาว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากสมาคมฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานถวายเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างมหาศาล และได้เลือกที่จะปั้นพระบรมรูปฯ โดยอ้างอิง พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งพระชนมายุประมาณ 18-20 พรรษา สมัยประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นภาพที่ชาวสวิสคุ้นเคยดี

โดยออกแบบให้ พระบรมรูปนี้ก้มพระพักตร์ลงเล็กน้อย เสมือนว่าขณะที่ยังทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงคำนึงถึงพระราชภาระอันหนักหน่วงที่รออยู่เบื้องหน้าในฐานะพระมหากษัตริย์

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 กอบลาภ โปษะกฤษณะ

 

“ตอนที่พระองค์ท่านประทับอยู่ที่สวิต ครอบครัวมหิดลอยู่ด้วยกันทั้งหมด ท่านมีความจำเป็นต้องเสด็จกลับไทยเพื่อรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และต้องเสด็จกลับไปเรียนหนังสือต่อ จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระบรมรูปไม่ได้มองตรง แต่ก้มลงเล็กน้อย คล้ายกับว่าท่านก้มลงมองดูประชาชนชาวไทย ซึ่งท่านจะต้องมารับผิดชอบตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป จึงเป็นความกังวลของท่านที่ท่านห่วงใยประชาชนชาวไทยตลอดเวลา ถึงแม้ว่าท่านจะไปเรียนหนังสือก็ตาม พระพักตร์ที่ก้มเล็กน้อยนี้แสดงถึงความครุ่นคิดถึงคนไทยตลอดเวลา” คุณกอบลาภ กล่าวเพิ่มเติม

ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์นั้น พระองค์ก็ได้ทรงทำตามพระราชปณิธาน และทรงมีคุณูปการแก่คนไทยและคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565

ศาลาไทยทรงจตุรมุข ที่สวนสาธารณะเดอนองตู

 

สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ฯ กำหนดเชิญพระบรมรูปฯ ไปประดิษฐาน ณ ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะเดอนองตู ใกล้พิพิธภัณฑ์โอลิมปิก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองโลซานน์

ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติหลังนี้ ก่อสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2549 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์

สถาปัตยกรรมศาลาไทยหลังนี้ สร้างอย่าง ศาลาทรงจตุรมุข ลงรักปิดทอง มีด้านกว้างและด้านยาวด้านละ 6 เมตร สร้างด้วยไม้สักผสมไม้เนื้อแข็ง ออกแบบโดย อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น

หน้าบันแต่ละด้านของศาลาไทย ประดิษฐานตราสัญลักษณ์สำคัญ ได้แก่

  • ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9
  • อักษรพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 8
  • อักษรพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 9
  • อักษรพระนามาภิไธย สว ของ “สมเด็จย่า”

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 นพปฎล คุณวิบูลย์

 

นายนพปฎล คุณวิบูลย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า 

“โครงการนี้มีความหมายมาก เพราะนอกจากจะเป็นการฉลอง 72 ปีของสมาคมฯ แล้ว ยังเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้ฉลองครบ 90 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกด้วย ในงานนี้รัฐบาลแคว้นโว และเมืองโลซานน์ ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดงาน ถวายราชสักการะอย่างสมพระเกียรติ และพระบรมรูปองค์นี้จึงจะเป็นอนุสรณ์สัญลักษณ์ที่สำคัญในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่อไป”

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565  สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ

 

ในการเชิญประติมากรรม "พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ประดิษฐาน ณ ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ยังมีการจัดทำหนังสือที่ระลึกชื่อ “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” Our King in Lausanne ประพันธ์โดย สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ อุปนายกสมาคมฯ และนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวซึ่งเคยศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

คุณสุพจน์ กล่าวว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมาก เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีคุณูปการต่อคนไทยอย่างมากถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงราชสกุลมหิดลนานถึง 18 ปี

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 ภาพปกหนังสือ ‘๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก’

 

ในการจัดงานในครั้งนี้ สมาคมฯ จึงได้จัดทำ หนังสือ ‘๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก’ เพื่อเป็นที่ระลึก โดยมีภาพประกอบเทคนิคสีน้ำ บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสร้างพระบรมรูปฯ รวมทั้งการน้อมรำลึกถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์เมื่อครั้งประทับในสวิตเซอร์แลนด์

“หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 และครอบครัวราชสกุลมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2476 ถึง 2494 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ที่โลซานน์ต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี เพื่อทรงศึกษาต่อ 

หนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึงปีพ.ศ.2503 ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จเยือนยุโรป 14 ประเทศ ด้วยความที่พระองค์ท่านมีความผูกพันกับโลซานน์ พระองค์ทรงเลือกเมืองโลซานน์เสมือนศูนย์กลางในการทรงงานและที่พำนักไปในตัว ทรงเช่าบ้านหลังหนึ่งชื่อ ‘วิลล่า ฟลองซาเลย์’ ระหว่าง 6 เดือนที่เสด็จเยือนยุโรป 14 ประเทศอย่างเป็นทางการ ก็จะมีบันทึกไว้ในหนังสือที่ระลึกเล่มนี้

รวมทั้งเล่าเรื่องพระบรมรูปและศาลาไทยอีกเล็กน้อยในตอนท้ายของหนังสือ เนื่องจากช่วงเวลาที่จัดทำหนังสือเล่มนี้ จัดทำก่อนการสร้างพระบรมรูปและฐานพระบรมรูปจะสร้างเสร็จ”

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 อาคารเลขที่16 ถนนติโซต์ (Apartment No. 16, Rue de Tissot)

 

ภาพประกอบใน หนังสือที่ระลึก “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” Our King in Lausanne เป็นภาพวาดสีน้ำผลงานโดย อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค นักเขียนภาพประกอบ

อ.เกริกบุระ เล่าถึงวิธีทำภาพประกอบให้กับหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเวลากว่า 5 ปีมาแล้วที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะเดินทางไปสำรวจค้นหาสถานที่ประวัติศาสตร์ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเมือง โลซานน์ อาทิ ชองป์ โซเลย์ (Champ Soleil) โรงเรียน เอกอล นูเวล (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) สถานีรถไฟรถไฟปุยดูซ์ แซซบร์ (Gare Puidoux-Chexbre) มหาวิทยาลัยโลซานน์ ใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ โดยทำหน้าที่บันทึกภาพเก็บไว้ แล้วนำมาเขียนที่เมืองไทย กับงานเบื้องหลังการสร้างประติมากรรมของอาจารย์วัชระ โดยใช้เทคนิคสีน้ำบนกระดาษผสมงานดรออิ้ง

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 ชองป์ โซเลย์ (Champ Soleil)

 

“ผมรักทุกที่ที่ได้ลงพื้นที่ และเสียดายบางสถานที่ที่ไม่อยู่แล้ว เช่น วิลลาวัฒนา คนไทยก็ไม่ได้เห็น” อ.เกริกบุระ กล่าว

การวาดภาพประกอบด้วยสีน้ำและงานดรออิ้งครั้งนี้ อ.เกริกบุระกล่าวว่า เน้นความเป็นภาพประกอบที่เล่าเรื่องราวความละเอียดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ของความรู้และการศึกษา ไม่ได้วาดในลักษณะงานวิจิตรศิลป์เสียเลยทีเดียว 

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 เกริกบุระ ยมนาค อธิบายการวาดภาพประกอบ

 

“เราทำเป็นงานภาพประกอบ เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ ถ้าผมเขียนเป็นลัทธิอื่น แนวหวัดๆ คนที่เขามาศึกษาต่อๆ ไป เขาอาจจะมองไม่เห็นความถูกต้องที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นภาพประกอบของผมจะเป็นภาพประกอบที่เน้นเล่าเรื่องให้เห็นชัดเจน ตรงตามแบบในแง่ศิลปะและประวัติศาสตร์ อาจมีรายละเอียดเช่นต้นไม้ที่มากน้อยต่างกันไปบ้าง”

หนังสือที่ระลึก “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” Our King in Lausanne มีภาพประกอบสีน้ำทั้งหมด 80 ภาพ ซึ่งคณะผู้จัดงานจะมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับผู้เข้าร่วมงาน ณ สวนสาธารณะเดอนองตู ในวันที่ 14 กันยายน 2565 จำนวน 200 เล่ม

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565  สถานีรถไฟ เลอ กรองด์ ปงต์ (Le Grand-Pont)

 

ในโครงการเชิญประติมากรรม พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐาน ณ ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ครั้งนี้ อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ยังได้ร่วมเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และราชสกุลมหิดล

ด้วยการ จัดแสดงภาพวาดสีน้ำสถานที่ที่ราชสกุลมหิดลเคยประทับ และพระราชจริยวัตรของทุกพระองค์ขณะประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นภาพต้นฉบับในการจัดทำหนังสือที่ระลึก “๙ ล้นเกล้า พระภูมิบาล โลซานน์รำลึก” จำนวน 20-27 ภาพ เช่น ภาพแฟลตหมายเลข 16 ถนนทิสโซต์ ซึ่งเป็นแฟลตแห่งแรกที่ประทับอยู่ และภาพเบื้องหลังขณะศิลปินกำลังปั้นพระบรมรูปฯ ณ บริเวณสถานที่จัดงานในสวนสาธารณะเดอนองตู

โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพันธมิตรของสมาคมฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีผู้สนับสนุนหลักได้แก่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บมจ.ปตท. บมจ.จีเอฟพีที  บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง เซ็นทรัลกรุ๊ป และ บริษัท โตโยต้าเชียงราย จำกัด

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565  พระบรมรูป รัชกาลที่ 9 และประติมากร วชิระ ประยูรคำ

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 ปาเลส์ เดอ รูมิน (Palais De Rumine)

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 สวนสาธารณะเดอนองตู (Parc Denantou)

ครั้งแรก เชิญพระบรมรูป “รัชกาลที่ 9” ประดิษฐาน ณ เมืองโลซานน์ 14 ก.ย.2565 เกริกบุระ ยมนาค, กอบลาภ โปษะกฤษณะ, นพปฎล คุณวิบูลย์, สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ