9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

เปิดโลกแห่งศิลปะและแรงบันดาลใจ MMAD - MunMun Art Destination พื้นที่แสดงงานศิลปะ 27,000 ตารางเมตร ชุมชนคนรักงานศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

Art&Living วันนี้ขอแนะนำหมุดหมายแห่งใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลปะ หมุดหมายแห่งนี้มีชื่อว่า MunMun Art Destination (มัน มัน อาร์ต เดสทิเนชั่น) หรือเรียกชื่อย่อสั้นๆ ว่า MMAD (แมด) ตั้งอยู่บนพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของศูนย์สรรพสินค้า ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ รวมพื้นที่กว่า 27,000 ตารางเมตร

MMAD ตั้งใจรวบรวมประสบการณ์ทางศิลปะหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองทุกรสนิยมและความชื่นชอบ ทั้งการจัดแสดงงานศิลปะ ตลาดศิลปะและงานฝีมือ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะทุกแขนง

เพื่อให้ ‘ศิลปิน’ มีพื้นที่สำหรับนำเสนอผลงาน และแสดงความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงศิลปะ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างศิลปะ และชีวิตประจำวัน พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนวงการศิลปะของไทย

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ MMAD - MunMun Art Destination

ทำให้ MMAD กลายเป็นชุมชนศิลปะขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกรุงเทพฝั่งตะวันออก

ขณะนี้ MMAD กำลังเปิดบ้านต้อนรับได้ ‘อาร์ตเลิฟเวอร์’ ด้วย 9 นิทรรศการ จาก 10 พันธมิตรทางศิลปะ ซึ่งมีมุมมอง สไตล์ และเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ พรีวิวก่อนได้ดังนี้

Childhood A Solo Exhibition by Sahred Toy 
20 ต.ค. 2566 - 7 ม.ค. 2567 

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ผลงานชื่อ JUU ของ Sahred Toy 

อารักษ์ อ่อนวิลัย หรือ Shared Toy นักวาดและนักเขียนผู้ชื่นชอบการนำเสนอองค์ประกอบที่ ‘ไม่สมบูรณ์’ กับความจริงที่ต่างไปจากชีวิตประจำวัน ผ่านรายละเอียดยิบย่อยในภาพวาด มาพร้อมกับเหล่าคาแรคเตอร์สุดน่ารักนุ่มนิ่ม แต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันสุดทะลึ่งทะเล้น สไตล์เจ้าหนูจอมทโมน

ออกเดินทางกลับไปสัมผัสโลกในมุมมองของเด็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ โดยไร้ซึ่งอคติหรืออิทธิพลจากสังคมภายนอกมาปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็น ด้วยการรังสรรค์ทุกอย่างในนิทรรศการให้เป็นเหมือนกับ ‘สนามเด็กเล่น’ เพื่อเปิดพื้นที่ทางความคิดให้ศิลปินและผู้ชมได้ออกมา ‘ลองเล่น’ และปะทะความคิด

เพื่อค้นหาเส้นทางที่จะนำไปสู่การรักษามุมมองของความเยาว์วัย และร่วมแบ่งปันเรื่องราวของความไม่สมบูรณ์แบบกันได้อย่างอิสระ

นิทรรศการผลงานที่สร้างสรรค์โดยปราศจากการร่างหรือการวางแผนความคิดล่วงหน้า แต่ใช้วิธีการเริ่มต้นจากจุดหนึ่งแล้วขยายเรื่องราวออกไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นโลกใบใหม่ นำเสนอโดย GroundControl สื่อออนไลน์ที่นำเสนอทุกความเคลื่อนไหวโลกศิลปะ

PIRA OGAWA: MY LIFE WORKS 
20 ต.ค. 2566 ถึง 7 ม.ค. 2567

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ PIRA OGAWA : My Life Works

รวบรวมผลงานทั้งชีวิตของศิลปินอาวุโสผู้ขับเคลื่อนพลัง ส่งต่อความสุข และแรงบันดาลใจ พีระ โองาวา เป็นวิศวกรที่วาดรูปด้วยใจรักมานานกว่า 60 ปี การวาดภาพยังช่วยบำบัดอาการการได้ยินเสียงแมลงในหัว โดยใช้เครื่องมือวิศวกรมาช่วยในการวาด

ผลงานของพีระที่วาดเก็บไว้จำนวนมากได้รับการนำมาสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกในงาน Bangkok Illustration Fair 2021 โดยที่ลูกสาวเป็นคนส่งผลงานเข้าร่วม เป็นงานที่ชื่นชอบของผู้คนอย่างมากและได้รางวัล Popular Vote ในที่สุด

ครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของพีระที่จัดแสดงโดยไล่ตามระยะเวลาในการทำงานและแบ่งผลงานออกเป็น 3 ช่วง ตัวแทนความสุข ความสนุก และความหลากหลายทางมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ การทดลอง การนำเสนอความเป็นไปได้ และการก้าวผ่านอุปสรรคที่เผชิญแต่ละช่วงวัย โดยใช้กระดาษไข กระดาษสี ผ้าใบ สีอะคริลิก ปากกามาร์คเกอร์ ปากกาเมจิก ฯลฯ 

PIRA OGAWA: MY LIFE WORKS สร้างสรรค์โดย BKKIF, happening และคิวเรตโดย dexembell

 

เสียง เร้า รส (Sonic Seasoning)    
วันนี้ - 3 ธ.ค. 2566

ร่วมลิ้มลองความอร่อยผ่านหู ด้วยจังหวะและท่วงทำนองของอาหาร กับเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์จากงานวิจัยและทดลองผ่านเสียง ปลุกประสบการณ์การรับรู้แปลกใหม่ เร้าอารมณ์ให้ผู้ฟังต้องการลิ้มลองรสชาติเพิ่มมากขึ้น

TCDC COMMONS Creative Food และ Hear & Found สตูดิโอผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงมาร่วมทดลองและนำเสนอทำนองของสตรีทฟู้ดไทยย่านศรีนครินทร์ ผ่านกิจกรรม และนิทรรศการขนาดเล็ก ที่อาจจะกระตุกต่อมความอยากอาหารของทุกท่านได้มากขึ้น

นิทรรศการโซนที่ 1: Sound & Food เผยแพร่ความรู้ด้านเสียง ความสำคัญของเสียงในการสื่อสารด้านอาหาร และข้อมูลจากร้านสตรีทฟู้ดยอดนิยมในย่านศรีนครินทร์ โดยแบ่งออกเป็น เมนูยามเช้า ก๋วยเตี๋ยว เมนูเส้น เครื่องดื่ม กาแฟสด อาหารพื้นถิ่น หรือ อาหารฮาลาล ของทานเล่น

นิทรรศการโซนที่ 2: Street Food List แลกเปลี่ยนข้อมูล นำเสนอร้านสตรีทฟู้ดในย่านศรีนครินทร์

 

บันทึกเรื่องราวของสี Chronicles of Colors
20 ต.ค. 2566 – 22 ม.ค. 2567

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ นิทรรศการ Chronicles of Colors 

‘แต่ละช่วงของชีวิตเสมือนกับการพลิกเปิดแต่ละหน้าของหนังสือ’ วลีนี้เป็นที่มาของนิทรรศการศิลปะ Chronicles of Colors (บันทึกเรื่องราวของสี) โดยภัณฑารักษ์ซึ่งใช้ชื่อว่า Palette Artspace ได้นำผลงานจิตรกรรมของ วสันต์ สิทธิเขตต์, สิทธิธรรม โรหิตะสุข และ วราวุฒิ อินทร มาจัดแสดงร่วมกัน

โดยได้แรงบันดาลใจมาจากถ้อยคำของ หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระอาจารย์ที่ภัณฑารักษ์เคารพและศรัทธาที่ว่า ‘ชีวิตของท่านเปรียบเหมือนหนังสือ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดมาถึงหน้าสุดท้าย’ ก่อนละสังขาร

ศิลปินทั้ง 3 ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนำเสนอสีสันอันฉูดฉาด แสดงอารมณ์อันเกรี้ยวกราด และความมีชีวิตชีวา ทั้งเป็นการนำเสนอความคิด บันทึกห้วงอารมณ์ ความรู้สึก เป็นเสมือนหนังสือแห่งชีวิต แต่ละคน แต่ละเล่ม แต่ละรูปแบบ ใช้สีสันแทนถ้อยคำ

สำหรับศิลปิน ‘หนังสือ’ ก็เปรียบเสมือนดั่งผืนผ้าใบที่ถ่ายทอดความคิด มุมมอง ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ออกมาตามช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิตที่ได้พบประสบมา

“ผมเชื่อว่าชีวิตของทั้ง 3 ศิลปิน จะสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสีสันเหล่านี้ จนกว่าหนังสือแต่ละเล่ม จะเดินทางจนถึงหน้าสุดท้าย” ภัณฑารักษ์กล่าว

 

VIBE-BRATION    
20 ต.ค. - 8 ธ.ค. 2566

อาร์ตอีเวนท์ที่หลากหลายทั้งรูปแบบและมุมมองเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางศิลปะ นำเสนอผลงานของ 27 ศิลปิน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนคือ

  • VIBE VILLAGE (ไวบ์ วิลเลจ) การแสดงงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ในห้องที่ถูกออกแบบและกําหนดธีมตามอัตลักษณ์และรูปแบบเฉพาะตัวโดยศิลปินเอง เพื่อประสบการณ์ร่วมที่มากกว่าในการชมงานศิลปะ
  • VIBERUNS (ไวบ์รุ่นส์) พื้นที่ของศิลปินหน้าใหม่ หลากหลายทั้งแนวคิดและรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนพู่กัน งานภาพพิมพ์ งานสื่อเคลื่อนไหว หนังสือ ฯลฯ
  • VIBESANG (ไวบ์แสง) การแสดงผลงานศิลปะจัดวาง โดยนําเสนอในรูปแบบสื่อศิลปะบนกล่องไฟ (Light-box Art) 

PPP Studio ขอเชิญผู้ที่สนใจมาพบกับผลงานที่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน อาทิ Mr.Kreme, Yeedin, Lolay, Jorra, Freak, Bouboy, Wachira, Warin, Buddhaandz ฯลฯ ได้ในงานนี้

 

พาใจกลับบ้าน Homecoming Mini
20 ต.ค. 2566 - 4 ก.พ. 2567

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ห้องนอน ของนิทรรศกรร 'พาใจกลับบ้าน'

สร้างปรากฏการณ์คนรักงานศิลปะต่อแถวเข้าชมผลงานมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ทีมงาน Eyedropper Fill นำเสนอแนวคิดของ ‘ชีวิต’ ที่ต้องรีดเค้นศักยภาพตัวเองเพื่อทำบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบให้ออกมาดีที่สุด ส่งผลให้ร่างกายและจิตใจถูกบีบอัดจากแรงกดดันรอบตัว การไม่ได้ดูแลตัวเอง ขาดการเชื่อมต่อกับสัญญาณต่าง ๆ จากร่างกาย สะสมตัวกลายเป็นความซึมและเศร้า

เรียนรู้วิธีรับมือกับภาวะเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง เพิ่มทักษะในการดูแลตัวเอง หันหน้ากลับมาหาตัวเอง เริ่มพูดคุย ถามไถ่ และเข้าไปในหัวใจที่อ่อนล้า “พาใจกลับบ้าน” และหยิบยื่นความรักให้กับตัวเองผ่าน ห้องนอน ที่ได้รับการโหวตว่าเป็นห้องที่คนชอบมากที่สุด แล้วเติมเสียง แสงไฟ สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมสไตล์ Eyedropper Fill ให้ลองมาปลดปล่อยอารมณ์

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ งานศิลปะสร้างภาพลวงตา

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ศิลปะกับกระจกเงา

ขณะที่บริเวณภายนอกรอบๆ ‘ห้องนอน’ ยังออกแบบ จุดเช็คอินภาพลวงตาเล่นกับกระจกเงา ให้แต่ละคนสนุกไปกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายรูปได้หลายรูปแบบ

Eyedropper Fill ทำให้นิทรรศการนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจฉบับย่อ ใช้ศาสตร์และศิลป์ของการออกแบบประสบการณ์ให้ผู้คนได้เรียนรู้ตัวเองในรูปแบบใหม่ ผ่านงานอินเทอร์แอคทีฟอาร์ตที่จะทำให้ทุกคนได้เผชิญหน้ากับอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลายของตัวเอง

ได้เรียนรู้ว่าการใจดีต่อตัวเองไม่ใช่เรื่องที่อ่อนแอ แต่ช่วยให้เราแข็งแกร่งและสนับสนุนให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ขอต้อนรับการกลับมาของ “หัวใจที่เป็นดั่งบ้าน”

 

Re-look 
20 ต.ค. 2566 - 22 ม.ค. 2567 

งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ไปจนถึงศิลปะจัดวาง สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ซึ่งไหลเวียนอยู่ในพื้นที่เมือง โดยมีผลงานศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นสาธารณะ ชวนให้กลับไปมองนิยามและคำจำกัดความต่าง ๆ ของเมืองในหลากมิติ

นิทรรศการคัดสรรผลงานของศิลปินที่เคยผ่านโครงการ People’s Gallery หนึ่งในโครงการพิเศษของ BACC POP UP โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) เพื่อติดตามผลการสนับสนุนและต่อยอดศิลปิน

คัดสรร รวบรวม และนำเสนอใหม่ผ่านแนวความคิดของพื้นที่ศึกษา เพื่อทำความเข้าใจถึงความหลากหลายที่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ของเมือง ผ่านมุมมองของศิลปินในฐานะปัจเจกบุคคลที่สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคม

ศิลปินที่มีผลงานแสดงในนิทรรศการนี้อาทิ ปรัชญา เจริญสุข, กามีละ อิละละ, ธนบดี วัฒนารักษ์, นพนันท์ ทันนารี ฯลฯ

 

Language of The Soul (ภาษาแห่งจิตวิญญาณ) 
20 ต.ค. 2566 ถึง 29 ม.ค. 2567

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ พื้นที่จัดแสดงกลุ่มนิทรรศการ Language of The Soul 

นิทรรศการภาษาแห่งจิตวิญญาณ ตอน “ที่ซึ่งสีสันกระซิบเรื่องราวสุดพิเศษ” นำเสนอมหรสพส่วนบุคคลของศิลปินอิสระอย่างไร้กฎเกณฑ์

ผลงานจากความรู้สึก ความทรงจำ หรือประสบการณ์อันวูบไหวไม่จีรัง (ephemeral) ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นทั้งศิลปะดิบ (Art Brut) ศิลปะพิเศษ (Singulier Art) ศิลปะนอกกรอบ (Outsider Art) งานประดิษฐ์ (Invention) หรืออาจอยู่นอกเหนือคำนิยามใด ๆ เป็นประสบการณ์การรับรู้ผ่านการมองเห็นโดยจักษุประสาท (Visual Perception) การรับรู้ผ่านการอ่านถ้อยคำ (Textual Perception) และการรับรู้เชิงพื้นที่ (Spatial Perception)

การร่วมมือของ มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม กับ 'ศิลปิน' เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์อย่างอิสระของผู้ที่มีความหลากหลายทางการเรียนรู้ ภายใต้ความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งในศักยภาพของมนุษย์ และความหวังที่จะร่วมปูทางสู่สังคมที่ทุกคนเข้าใจและให้เกียรติในความหลากหลาย

ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ วชิรวรภักดิ์ ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ โดยมีศิลปินเช่น พศิน สิงห์เสน่ห์, ปัญฑ์ฉัฐม์ ฉันทภควินท์, ธีรัช อภิพัฒนา, พริสร ปานบ้านแพ้ว “ปูนศิลป์" ฯลฯ ร่วมแสดงผลงาน
 

 

EMERGE : Photo Thesis Exhibition 2023 

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ผลงานภาพถ่ายโดย นวมินทร์ มูลรัตน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาปีการศึกษา 2565 และ 2566 จากหลากหลายสถาบัน มหาวิทยาลัย คณะ และสาขาวิชา จำนวน 30 ชุด

งานนี้เกิดจากความเชื่อของ HOP - Hub of Photography ในการให้พื้นที่ที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนในการออกแบบและดูแลงานศิลปะของตนได้อย่างอิสระ

ภาพถ่ายแต่ละภาพทำหน้าที่เป็นหน้าต่างสู่มุมมองที่ไม่เหมือนใคร นำเสนอผลงานที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและการนำเสนอที่หลากหลายซึ่งกำหนดขึ้นจากความสนใจและประสบการณ์ชีวิตของศิลปินแต่ละคน

นี่คือเวทีสำหรับก้าวสู่เส้นทางการเป็นศิลปินภาพถ่ายรุ่นใหม่ ได้แบ่งปันเรื่องราวจากเลนส์ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สำรวจวิสัยทัศน์ของพวกเขา ทั้งยังหวังเป็นแนวทางให้แต่ละคนได้ค้นพบเส้นทางที่จะก้าวเข้าสู่วงการศิลปะ

นิทรรศการชุดนี้สิ้นสุดระยะแสดงผลงานไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2566 แต่ขอบันทึกไว้ว่าพื้นที่ MMAD เปิดกว้างสำหรับศิลปินทุกรุ่น

9 นิทรรศการศิลปะ งานเปิดพื้นที่ MMAD ชุมชนศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ นิทรรศการ Colossus เปิดให้ชม 18 พ.ย.2566

ขณะนี้ HOP - Hub of Photography ปิดห้องชั่วคราวถึงวันที่ 17 พ.ย.2566 เพื่อติดตั้งนิทรรศการ 3 ชุดใหม่ 

  • Colossus : A Solo Exhibition By Yoshiki Hase รูปปั้นไม่ใช่วัตถุตามธรรมชาติ และไม่ใช่บุคคลที่สมบูรณ์ แต่ถึงแม้จะเป็นรูปร่างที่ไม่สมบูรณ์โดยไม่มีส่วนหัวหรือส่วนของร่างกาย ดูเหมือนว่าสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์นั้นมี "ชีวิต" อยู่
  • Portraits of AO DAI – Hope for Peace and Love นิทรรศการเดี่ยวโดย ชิรอน ดวง (Chiron Duong)
  • Street Rethink Street Rethink นิทรรศการภาพถ่ายกลุ่ม โดย อัทธนีย์ โตคีรี, ไกรพิชญ์ พุฒิพัฒน์เมธี, ไอยลดา วิจักษณ์ประเสริฐ, จักรพล สุขเจริญสุข, เนติ นามวงศ์, ปฏิภัทร จันทร์ทอง, พัทธิยา ชูสวัสดิ์, รดิส สุทธิสุนทร, สุชน พงษ์โสภิตศิลป์, ศุภวิชญ์ ยอดพนาไพร, สวิตต์ นาคสกุล, ธวัชัย สุพรรณพจน์

แต่ในส่วนของ ห้องสมุดหนังสือภาพ HOP Club ยังคงเปิดให้บริการสำหรับผู้รักการถ่ายภาพทุกวัน 11.00-19.00 น.