ตำนานเทวะนิยาย นารายณ์สิบปาง ไฮไลต์การแสดงประจำปี 2567 กรมศิลป์ ทุกอาทิตย์
เปิดตารางการแสดง ของขวัญปีใหม่ 2567 ‘กรมศิลปากร’ เชิญร่วมกิจกรรม 'เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต' ชมการแสดงไฮไลต์ ตำนานเทวะนิยาย 'นารายณ์สิบปาง' พร้อมการแสดงดนตรีไทย – สากล ละครนอก ละครพันทาง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันอาทิตย์ เริ่ม 14 มกราคม 2567
มาตามคำสัญญา หนึ่งในของขวัญปีใหม่ 2567 จากใจ กรมศิลปากร กับการจัดกิจกรรม เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต มหกรรมโครงการดนตรีสำหรับประชาชน กำหนดเริ่มกลางเดือนมกราคมนี้ ตามที่นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เคยแถลงข่าวไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ปี 2567 นี้ กิจกรรม เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต จัดขึ้นเป็นปีที่ 67 หรือจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 นั่นหมายถึงเป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในดวงใจประชาชนมาโดยตลอด
แถลงข่าวกิจกรรม 'เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต 2567'
โครงการดนตรีสำหรับประชาชน หรือ 'เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต' เป็นการแสดงประจำปีของ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร นำเสนอความบันเทิงและความรู้สู่ประชาชน เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
โดยมีรายการแสดงที่หลากหลายสลับสับเปลี่ยนกันไป ทั้งการแสดงโขน ละคร การบรรเลงดนตรีไทย และดนตรีสากล
สำหรับการแสดงโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 67 ‘เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต’ ในปีนี้ ไฮไลท์อยู่ที่ การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่อง นารายณ์สิบปาง กล่าวถึงการอวตารของพระนารายณ์ในปางต่าง ๆ เพื่อปราบยุคเข็ญของชาวโลก
นักแสดง 'สำนักการสังคีต กรมศิลปากร' นารายณ์สิบปาง
เกี่ยวกับ 'นารายณ์สิบปาง'
นารายณ์สิบปาง หรือนารายณ์สิบปางเทวปาง หรือ พระไสยศาสตร์ เป็นวรรณคดีประเภทนิทาน แต่งเป็นร้อยแก้ว ไม่ปรากฏสมัยที่แต่ง และนามผู้แต่ง
แต่ปรากฏต้นฉบับหลวงว่า หมื่นสนิทอักษร และ หมื่นพิทักษอักษร ชุบขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเมื่อจุลศักราช 1216 (พ.ศ. 2394) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นในพ.ศ. 2412 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณได้พิมพ์เรื่อง 'นารายณ์สิบปาง' รวมกับเรื่องปักษีปกรณัม เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา : นามานุกรมวรรณคดีไทย)
ลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ 6
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์ 'นารายณ์สิบปาง' ขึ้นเป็น ลิลิตนารายณ์สิบปาง ด้วยฉันทลักษณ์โคลงและร่ายดั้นตลอดเรื่อง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466 ในงานฉลองพระชันษาครบ 21 พระชันษาบริบูรณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในพระองค์ (ที่มา : กรมศิลปากร)
ข้อมูลระบุว่า เฉพาะ 'นารายณ์สิบปาง' ประเภทร้อยแก้ว ที่พิมพ์เผยแพร่แล้วมี 3 สำนวน คือ ฉบับโรงพิมพ์หลวง, ฉบับโรงพิมพ์วัชรินทร์ และฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ตรงกัน
โดยเนื้อเรื่องตอนต้นกล่าวถึงการกำเนิดโลกและจักรวาล การกำเนิดเทพเจ้าของพราหมณ์ ตอนท้ายเป็นเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ทั้งสิบปาง แต่มีการเรียงลำดับปางต่างกันในแต่ละสำนวน (ที่มา : นามานุกรมวรรณคดีไทย)
แถลงข่าวกิจกรรม 'เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต' ประจำปี 2567
เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต พ.ศ.2567
โครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 67 ‘เหมันต์สุขศรี สุนทรีย์สังคีต’ กำหนดจัดแสดง ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม – วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2567 ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 17.30 – 19.30 น.
บัตรเข้าชมการแสดงคนละ 20 บาท (จำหน่ายบัตรก่อนการแสดง 1 ชั่วโมง) นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์ของชาติให้คงอยู่และแพร่หลายอย่างกว้างขวางต่อไป
ปางวราหะวตาร
วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 วันเปิดโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 67 นี้ ประกอบด้วยการแสดงดังนี้
- การบรรเลงดนตรีสากล (เริ่ม 16.30 น.)
- พิธีเปิดฯ
- รำอวยพรเปิดสังคีตศาลา ปีที่ 67
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่อง นารายณ์สิบปาง “วราหะวตาร” พระนารายณ์อวตารเป็นคนครึ่งหมูป่าเพื่อปราบหิรัณตยักษ์ ซึ่งลักแผ่นดินโลกไปจากพื้นสมุทร
- โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดปฐมวงวานจักรี สร้างกรุงศรีอยุธยา นำแสดงโดย ศิลปินสำนักการสังคีต กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต
วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567
- การบรรเลงดนตรีสากล “สืบสานวัฒนธรรมไทย รักษาไว้ซึ่งเพลงของชาติ”
ปางมัจฉาวตาร
วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “มัจฉาวตาร” อวตารเป็นคนครึ่งปลากรายสีทองเพื่อปราบสังขอสูร และ “มหิงสาวตาร” อวตารเป็นควายเผือกเพื่อปราบอสูรควาย
- ละครใน เรื่องอุณรุท ตอน “อุ้มสมภิรมย์เสน่หา”
ปางทุลกีวตาร
วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “ทุลกีวตาร” และ “ทวิชาวตาร” อวตารเป็นพราหมณ์น้อยเพื่อลวงขอที่ดินจากอสูรดาวัน
ปางนรสิงหาวตาร
วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “นรสิงหาวตาร” อวตารเป็นนรสิงห์เพื่อปราบหิรัณตปกาสูร
- ละครเรื่อง รถเสน ตอน “ได้พระยาพาชี – พระฤษีแปลงสาร”
ปางสมณาวตาร
วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “สมณาวตาร” อวตารเป็นสมณะเพื่อแย่งศิวลึงค์จากอสูรตรีบุรัม
- ละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ตอน “ขอดูตัวสมิงนครอินทร์”
วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย ขับเพลงบรรเลงนาฏ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ปางมหัลลกอสุรวตาร
วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “มหัลลกอสุรวตาร” พระนารายณ์อวตารเป็นอสูรแก่ทำอุบายปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน ลวงเอาพระอุมาคืนจากทศกัณฐ์
- ละครนอก เรื่อง สังข์ทอง ตอน “นางมณฑาลงกระท่อม”
ปางอัปสราวตาร
วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2567
- การบรรเลงดนตรีไทย
- การแสดงตำนานเทวะนิยาย เรื่องนารายณ์สิบปาง “อัปสราวตาร” พระนารายณ์อวตารเป็นนางอัปสรเพื่อลวงนนทุก (ต้นกำเนิดวรรณคดีรามเกียรติ์)
- ระบำศรีเทพ
- การแสดงสี่ภาค
ปางมหิงสาวตาร
ปางทวิชาวตาร