Movana Chen ศิลปินผู้เปลี่ยนวรรณกรรมให้กลายเป็นรูปแบบทางศิลปะ
ทำความรู้จัก Movana Chen (โมวานา เฉิน) 1 ใน 38 ศิลปินต่างประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานศิลปะในงาน "ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023" หรือมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติในประเทศไทย (Thailand Biennale) ครั้งที่ 3 ซึ่งกำลังจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
ผลงานศิลปะของ "โมวานา เฉิน" มีความหลากหลาย น่าติดตาม ตรงที่เธอมีการผสานทั้งสื่อศิลปะ การแสดง การจัดวาง และประติมากรรมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะผลงานที่เกิดจาก "การถักทอกระดาษ" ให้กลายเป็นรูปแบบทางศิลปะอย่างมีเอกลักษณ์ ใครเห็นก็อดสงสัยไม่ได้ นี่คือกระดาษจริงๆ หรือ?
โมวานา เฉิน เป็นศิลปินหญิง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2517 ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แต่มาเติบโตในฮ่องกง แม้ชื่นชอบศิลปะตั้งแต่เรียนมัธยมปลายที่ประเทศสิงคโปร์ แต่จริงๆ แล้ว การเป็นศิลปินทำงานศิลปะ ไม่ใช่เส้นทางแรกที่เธอคิดไว้ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อด้านการออกแบบแฟชั่นที่มหาวิทยาลัย London College of Fashion สหราชอาณาจักร
"ตอนนั้นที่ตัดสินใจเรียนไฟน์อาร์ต ไม่ใช่เพราะอยากจะเป็นศิลปิน แต่แค่ต้องการทำอะไรที่ตัวเองชอบและหนีจากบรรยากาศหดหู่รอบๆ ตัว" เฉิน กล่าว
Photo by Clément Ledermann
หลังเรียนจบ เธอกลับฮ่องกงเพื่อทำงานบัญชีให้บริษัทธุรกิจของครอบครัวเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปี แต่แล้ว "ศิลปะ" ก็จัดสรรทางเดินชีวิตให้ใหม่
พ.ศ.2546 ความรักอันแรงกล้าในงานศิลปะก่อตัวขึ้นในใจ "เฉิน" อีกครั้ง ขณะเธอเดินอยู่ที่ Hong Kong Art Centre นำไปสู่การสมัครเรียนต่อทางด้านศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) ที่ฮ่องกง เพื่อสานฝันความชื่นชอบศิลปะในวัยเด็ก
"ที่นี่ให้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและหล่อหลอมให้เรากลายเป็นศิลปินจนถึงทุกวันนี้" เฉิน กล่าว
โปรเจกต์แรกของ "โมวานา เฉิน" ขณะเรียนที่ RMIT มีชื่อว่า Measuring Myself เธอนำหนังสือจำนวน 139 เล่มจากชั้นวางหนังสือของเธอมาเรียงซ้อนกันให้เท่ากับส่วนสูงของตัวเอง นี่เป็นครั้งแรกที่เธอสร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุที่เกี่ยวกับ "กระดาษ" และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด ผลงานถักทอกระดาษ ในเวลาต่อมา
Measuring Myself, 2004. Photo by Movana Chen
ปี 2547 โมวานา เฉิน เริ่มต้นงานถักกระดาษอย่างจริงจัง เธอฉีกกระดาษเป็นชิ้นๆ แล้วถักให้มีลักษณะอย่างผืนผ้าด้วยความอุตสาหะ ผลงานจากการถักเศษกระดาษที่โด่งดังและมีซีรีส์ต่อเนื่องมากที่สุดของเธอคือ Body Containers (2547) สร้างสรรค์จากการนำกระดาษสิ่งพิมพ์ของแบรนด์แฟชั่นสุดหรูมาฉีกเป็นชิ้นๆ ม้วนให้มีลักษณะคล้ายหลอด แล้วนำมาถักเข้าด้วยกันให้มีโครงร่างของเสื้อผ้าเพื่อการสวมใส่
"เฉิน" ตั้งชื่อเล่นให้กับผลงานชิ้นนี้ว่า magazine clothes (เสื้อผ้านิตยสาร) คอนเซปต์ของผลงานซีรีส์นี้คือ เธอพยายามสำรวจแนวคิด "การรื้อโครงสร้างเดิม" และ "การสร้างขึ้นใหม่" ทำให้เกิดผลงานใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างไรบ้าง
คริสตีส์ (Christie's) บริษัทรับจัดประมูลผลงานศิลปะชั้นนำคาดว่า หนึ่งในซีรีส์ Body Containers ของ "เฉิน" ที่ถักจากหนังสือการ์ตูน TinTin ฉบับภาษาฝรั่งเศสฉีกเป็นชิ้นๆ มีมูลค่าประมาณ 150,000 ถึง 200,000 ดอลลาร์ฮ่องกง
พ.ศ.2548 "เฉิน" มีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ Hong Kong Art Centre นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Play with Artbooks เธอฉีกกระดาษนิตยสารออกเป็นริ้วก่อนถักให้กลายเป็นชุดเดรสที่สวมใส่ได้จริง แล้วแปรสภาพเป็นงานศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย จิตรกรรมและประติมากรรม ซึ่งเธอถือเป็นเครื่องมือสื่อสาร พร้อมกับใช้สำรวจความมีเหตุผลและความรู้สึกระหว่างตัวเธอเองกับหนังสือศิลปะ
โมวานา เฉิน สร้างผลงานที่โดดเด่นและมีความหมายลึกซึ้งอีกหลายชิ้น อาทิ Travelling into Your Bookshelf (พ.ศ.2552), KNITerature (พ.ศ.2556) ตลอดจนได้รับการติดต่อจากพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีชั้นนำให้จัดแสดงผลงานอย่างต่อเนื่อง
ผลงานของเธอไม่ได้จัดแสดงแค่ในฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังเดินทางไปในหลายๆ ประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทยในงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ขณะนี้มีผลงานของเธอกำลังจัดแสดงอยู่จำนวน 2 ชิ้น
ชิ้นแรกคือ Words of Heartbeats VI (2020 - 2021) ประติมากรรมที่ถักขึ้นจากเศษกระดาษแผนที่และพจนานุกรม ซึ่งเธอได้รวบรวมจากผู้คนที่ได้พบเจอระหว่างเดินทางท่องโลก
Words of Heartbeats VI, 2020 – 2021. Courtesy of the artist and Flowers Gallery
ผลงานอีกชิ้นคือ Questioning the Line ซีรีส์วิดีโอที่เธอทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพ ไทเลอร์ ไวน์เบอร์เกอร์ (Tyler Weinberger) ถ่ายทอดผลงานการแสดงของเธอร่วมกับนักเต้นนาม ฟรานซิสโก บอร์เกส (Francisco Borges) ในชุด Body Container ที่ถักจากเศษแผนที่ สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารผ่านอวัจนภาษาระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
Questioning the line, 2023. Cinematographer Tyler Weinberger. Courtesy of the artist and Flowers Gallery
"เราชอบคอนเซปต์เปิดโลก ไม่ใช่เพราะมันเข้ากับผลงานของเราที่ทำจากเศษแผนที่เท่านั้น แต่มันยังเปิดพื้นที่ไร้พรมแดนให้แก่ศิลปินท้องถิ่นและต่างชาติให้สามารถทำความรู้จัก สร้างบทสนทนา และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและไอเดียที่แตกต่างซึ่งกันและกันได้ด้วย อีกทั้งเปิดมุมมองให้ทุกคนคิดนอกกรอบและเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน" เฉิน แสดงความคิดเห็นที่มีต่อคอนเซปต์การจัดงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023
ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ "เปิดโลก" หรือ The Open World เพื่อเปิดการรับรู้ทางศิลปะของผู้คน พร้อมเชื่อมต่อกับประเด็นร่วมสมัยระดับโลกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต
"เราหวังว่าผลงานของทุกศิลปินจะสามารถสะท้อนแนวคิดนี้แก่ผู้เข้าชมนิทรรศการทุกคนได้ พร้อมส่งกำลังใจให้ทุกคนใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง" เฉิน กล่าว
โมวานา เฉิน ใช้กระดาษนิตยสารฉีกเป็นวัสดุและทอเป็นชิ้นงานศิลปะโดยใช้เข็มถักแบบธรรมดา เธอใช้นิตยสารที่ตีพิมพ์ในภาษาต่างๆ เพื่อชื่นชมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยเปลี่ยน "หนังสือ" และ "วรรณกรรม" เหล่านั้นให้กลายเป็นรูปแบบทางศิลปะในแบบฉบับของเธอ
ผู้สนใจสามารถชมผลงานศิลปะของ โมวานา เฉิน ในงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ได้ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (Chiangrai International Art Museum - CIAM) ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567