ชะตากรรมต้นไม้ใหญ่จากผืนนาสู่เมือง : ภาพถ่าย เรื่องเล่า ธุรกิจไม้ล้อม
ชวนดูนิทรรศการต้นไม้ในวารินแล็บ เจริญกรุง 36 และเรื่องเล่าต้นไม้ที่ถูกล้อม เดินชิลๆ แวะ 4 สถานที่ดูต้นไม้ใหญ่ และชวนกินไอศกรีมร้านดั้งเดิม
ไม้ล้อม หรือไม้ขุดล้อม เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ เนื่องจากลงทุนสูงในเรื่องเทคโนโลยี ทั้งการขุด ล้อม และการดูแลจัดส่งต้นไม้
นอกจากนี้คนทำธุรกิจไม้ล้อม ยังต้องเสาะแสวงหาต้นไม้ใหญ่ ฟอร์มสวย ทั้งจากชุมชนและท้องนา เพื่อขุดล้อมส่งขายให้คนร่ำรวย ขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จึงมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนเลี้ยงวัว
ยิ่งเมื่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ( ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2562 ยกเลิกมาตรา 7 ปลดล็อกปลูกไม้หวงห้าม และใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ได้ สามารถตัดทิ้งได้หรือถูกขุดล้อมออกจากพื้นที่ เพื่อขายทำเงินได้มากขึ้น
ล่าสุดภาพเล่าเรื่องธุรกิจไม้ล้อมในนิทรรศการ Tree Mangement Agency ในแกลอรี่เล็กๆ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ย่านเจริญกรุง 36 (เปิดให้ชมวันอังคาร-เสาร์ ตั้งแต่วันนี้-23 มีนาคม 67) เลือกที่จะนำเสนอเรื่องการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ และการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมือง
นำเสนอโดย ประทีป สุธาทองไทย อาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุ้ย ชาวสิงคโปร์ ศิลปินทั้งสองต้องการสื่อสารเรื่องต้นไม้ใหญ่ที่หายไป
ผลงานนิทรรศการ Tree Mangement Agency ในแกลอรี่เล็กๆ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
ภาพที่เห็นในนิทรรศการ จึงไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสวยงาม แต่เป็นไม้ใหญ่ที่ถูกล้อมขุด โดยศิลปินตามไปดูคนทำธุรกิจการขุดล้อมไม้ใหญ่กลางท้องนา พร้อมๆ กับคำถามมากมาย
เล่าเรื่องด้วยภาพ : ล้อมต้นไม้ใหญ่
แม้ต้นไม้ใหญ่ฟอร์มสวยที่ถูกพรากจากอีสานจะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่เมื่อหลอมรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกได้ไม่มากก็น้อย
“การปรับพื้นที่ทำการเกษตร และการปรับกฎหมายในปี 2562 ทำให้ต้นไม้ในพื้นดินกรรมสิทธิ ไม่ว่าหวงห้ามหรือไม่ก็ตัดได้ จึงกลายเป็นสินค้าแต่งสวนในบ้านคนรวย บางต้นไปไกลถึงสิงคโปร์”อาจารย์ประทีป เล่า หลังจากเดินดูต้นไม้ใหญ่ร่วมกับกลุ่มบิ๊กทรี และวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี
เมื่อปีที่แล้วศิลปินลงพื้นที่สำรวจต้นไม้ในอำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ติดตามผู้คร่ำหวอดในธุรกิจต้นไม้ใหญ่กว่า 20 ปีไปดูการล้อมต้นไม้ใหญ่
“คนไทยคิดว่าเรามีต้นไม้ใหญ่เยอะ ไม่ต้องเสียดาย จึงถูกตัดทิ้งง่ายๆ ต้นไม้ขนาดใหญ่ฟอร์มสวยเป็นที่ต้องการตลาด บางต้นล้อมไว้ก่อน รอคนซื้อ แล้วค่อยยกออกจากพื้นที่”
นั่นคือที่มาของผลงานชุด UPROOT ของประทีป ส่วนโรเบิร์ตนำเสนอภาพผลงานชุด The 19 ในปี 2014 เขาเฝ้าสังเกตต้นไทรต้นหนึ่ง โดยซ่อนกล้องไว้ในต้นไม้ จนสามารถบันทึกภาพนกได้ 19 สายพันธุ์ และเมื่อต้นไทรต้นนั้นถูกล้อมและขุดออกจากพื้นที่ นกสวยๆ ก็หายไป ซึ่งเป็นความเปราะบางของระบบนิเวศที่เขาอยากสื่อสาร
นกที่โรเบิร์ตซ่อนกล้องถ่าย ผลงานชุดThe 19
ส่วนภาพถ่ายผลงานชุด UPROOT ของประทีป สื่อถึงอุตสาหกรรมล้อมต้นไม้ เขาถ่ายภาพจัดแสงเน้นไปที่การขุดล้อมโคนต้น เพื่อให้เห็นการตัดรากให้ลงตัวก่อนขนย้าย
ภาพเหล่านี้เป็นเสมือนความทรงจำครั้งสุดท้ายก่อนต้นไม้จะถูกเคลื่อนย้าย โดยตั้งคำถามกับการพัฒนาเมืองและความยั่งยืน
“จากเดิมชาวบ้านปลูกต้นไม้ ไว้สร้างบ้านและให้ร่มเงา แต่ทุกวันนี้มีมูลค่า มีคนมาขอซื้อต้นไม้ใหญ่ในที่ดิน บางทีซื้อจากชาวบ้านหลักพัน แต่พอมาอยู่ในตลาดหลักหมื่นหลักแสน หรือไม่ก็เจ้าของที่ดินตัดต้นไม้เพื่อปรับพื้นที่ทำนา เพราะร่มเงาทำให้ต้นข้าวไม่โต ”ประทีป เล่า
“นิทรรศการนี้ ผมทำขึ้นเพื่อให้คนตระหนักและเห็นมิติอื่นๆ จะโทษธุรกิจอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเข้าใจปัจจัยชีวิตคนในชุมชนด้วย จะโลกสวยอนุรักษ์อย่างเดียว ก็ไม่ใช่ ”
ศิลปินตามไปดูล้อมต้นไม้ใหญ่ ก่อนถ่ายภาพ
ไม้ใหญ่ ฟอร์มสวย ต้องอีสาน
แหล่งต้นไม้ใหญ่ฟอร์มสวย ไม่ว่าตะแบก ชุมแสง หว้า เสม็ดแดง มะขาม ต้องภาคอีสาน เนื่องจากมีพื้นที่แห้งแล้ง น้ำท่วมถึง ทำให้ต้นไม้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จึงมีรูปทรงแปลกๆ
“คนซื้อต้นไม้ไปจัดสวนก็คิดแค่การมองเห็น แต่ไม่รู้สึก คนทำธุรกิจไม้ล้อมก็คิดว่าช่วยต้นไม้ให้รอดตายเป็นความหวังดีต่อต้นไม้ แต่ในความเป็นจริง อาจไม่ใช่" ประทีป เล่า
นั่นเพราะกระบวนการขนย้ายต้นไม้ ตัดกิ่งก้านสาขาต้นไม้ให้กว้างไม่เกินสามเมตรเพื่อใส่รถบรรทุก แม้จะตัดรูปทรงสวยแค่ไหน แต่ต้นไม้ที่เติบโตในธรรมชาติ ย่อมสวยงามกว่า
ธุรกิจล้อมขุดต้นไม้ใหญ่
ธุรกิจไม้ล้อมที่ศิลปินไปพบเห็นและเก็บข้อมูล พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า
- ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการ ทั้งรับจัดหา ล้อมต้นไม้ ขนส่ง ออกแบบงานประดับ ทำแบบครบวงจร
- มีการทำสัญญาซื้อขายถูกต้องในฐานะทรัพย์สินมีมูลค่า จะเคลื่อนย้ายเมื่อมีผู้ตกลงซื้อ
- ลูกค้าต้นไม้ล้อม ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐี ข้าราชการชั้นสูง นิยมปลูกต้นไม้ใหญ่ประดับบ้าน เพื่อแสดงบารมี โดยผู้ทำธุรกิจนี้จัดส่งให้นักออกแบบ หรือทีมจัดสวน
- ในการเสาะแสวงต้นไม้ใหญ่ หากคนในพื้นที่ชอบพอกับผู้มาขอซื้อ อาจยกต้นไม้ในที่ดินของตนให้ฟรีๆ หรือขายในราคาถูก เนื่องจากต้องการเอาต้นไม้ออก เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน
- การยกเลิกวรรคหนึ่งของมาตรา 7 ในพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ว่าไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม ทำให้เกิดขายซื้อขายและขนย้ายต้นไม้ออกจากที่ดินเป็นจำนวนมาก
- ไม้ล้อมที่มีราคาสูง พิจารณาจากขนาด รูปทรง พุ่มยอด และการแตกกิ่ง โดยเฉพาะความแปลกของรูปทรง ปูดโปน (คล้ายไม้ดัด) โคนใหญ่ ราคาจะสูงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ต้นไม้ต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีแผลการจากถูกเผาไม้มาก่อน
- ไม้ล้อมแต่ละต้น จะต้องถูกตัดแต่งกิ่งก้าน ให้มีขนาดที่สามารถขนย้ายด้วยรถได้ ไม้ล้อมจึงเสียรูปทรงกิ่งก้านที่มีอยู่เดิมจากการถูกย้าย
ร้านฮาร์โมนิค เยื้องๆ ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เจริญกรุง 34 (ภาพ : BIG Trees)
เดินดูต้นไม้ใหญ่กับบิ๊กทรี
เป็นครั้งแรกที่กลุ่มบิ๊กทรีทำงานร่วมกับวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องต้นไม้ใหญ่
กิจกรรมเดินดูต้นไม้ใหญ่ครั้งนี้ ฐิติพร คูณเจริญ รุกขกร และอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี นำชมและให้ความรู้ 4 สถานที่
- 1. ด้านหน้าวารินแล็บ ซอยเจริญกรุง 36 ข้างๆ มีร้านอาหาร มีต้นไม้ขนาดกลางจัดเป็นสวนเล็กๆ มีที่นั่งพักเหนื่อย แม้จะเป็นช่วงบ่ายๆ ที่แดดจัด ต้นไม้เป็นร่มเงาได้ดีทีเดียว
แนน- ฐิติพร รุกขกร ชี้ชวนให้ดูต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้น กิ่งก้านแบบไหนตัดไม่ถูกวิธี ทำให้ลำต้นฉีกมีแผล หรือไม่ก็งตัดลึกเกินคอกิ่ง รวมถึงแผลโพรงต้นไม้ที่เกิดเชื้อราและที่สุดก็ตาย รวมถึงตัดบั่นยอด เทปูนทับโคนต้นไม้ ซึ่งไม่ดีต่อต้นไม้
สารพัดเรื่องราวการตัดแต่งต้นไม้ผิดวิธี รุกขกร แนะว่า ถ้าตัดต้นไม้ผิดหลัก ต้นไม้จะตกใจ ออกเป็นกิ่งเล็กๆ หรือกิ่งกระโดงเยอะมาก หรือเวลาต้นไม้ป่วย สังเกตได้ว่าใบจะค่อยๆ แห้ง ไม่เขียว ไม่มัน
“ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยสังเกตต้นไม้ที่มีกิ่งผุ หรือมีโพรง มันพร้อมจะหักโคนลงมา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยไม่ทันตั้งตัว”
ร่มรื่นชวนนั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย
- 2. ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย ซอยเจริญกรุง 34 เป็นบ้านโบราณอายุเกือบ 100 ปี เป็นห้องสมุดหนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัยแห่งแรกของไทย มีที่นั่งอ่านหนังสือ ภายในมีต้นมะม่วงสูงใหญ่สี่ต้น คาดว่าจะปลูกมาตั้งแต่สร้างบ้าน เสียดายว่า โคนต้นไม้ใหญ่ถูกปกคลุมด้วยผืนหญ้าเทียม เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา
ห้องสมุดนี้เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์มักมีกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็กๆ ที่น่าสนใจโดยพี่ๆ บรรณารักษ์และอาสาสมัคร
- 3. ร้านฮาร์โมนิค เยื้องๆ ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เป็นอีกร้านที่คนแนะนำอาหาร เรียกว่า ร้านลับ ที่น่าสนใจคือ ภายในร้านมีต้นไทรขนาดใหญ่สองต้น บรรยากาศต่างจากร้านอาหารทั่วไป แม้อายุต้นไม้จะอายุไม่เท่าบ้านร้อยปี แต่มีอายุพอๆ กับร้านอาหารที่เปิดมา 30-40 ปี และเป็นอีกร้านที่ชาวต่างชาติชื่นชอบรสอาหารและบรรยากาศ
เปิดบริการทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 11.00-22.00 น.(ปิดวันอาทิตย์) เบอร์ติดต่อ 02 6306270
ภาพเฟซบุ๊ค พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
- 4. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เคยเป็นสมบัติของอาจารย์วราพร สุรวดี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ซอยเจริญกรุง 43 ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง เดินเข้าซอยไม่ไกล ปากซอยตึกด้านซ้ายมีร้านไอศกรีมโบราณ ฮงฮวด ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ รสชาติอร่อยไม่หวานมาก
ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกมี4 อาคาร อาคารไม้หลังแรกเป็นทรงปั้นหยารุ่นปลาย มุ่งกระเบื้องว่าวสีแดง สร้างในปี 2480 ด้านในมีของเก่าเก็บให้ดูจำนวนมาก ภายในมีต้นไม้ร่มรื่นน่าเดินเที่ยว
สำหรับคนที่เสพติดร้านกาแฟ ข้างๆ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีร้าน Enjoy One Craft & Eatery บรรยากาศดีต้นไม้เยอะ
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. เข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่าย