แรกเกิดที่ ‘เจริญกรุง’

แรกเกิดที่ ‘เจริญกรุง’

ท่องย่านเก่า 'เจริญกรุง' ซึ่งกำลังจะกลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของประเทศไทย

ถ้าจะตามหา...บ้านเลขที่ 1 ของประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย, โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย, สถานกงสุลแห่งแรก ฯลฯ

ต้องมาเดินเที่ยวย่านเก่าเจริญกรุง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของประเทศไทย แม้จะไม่เลิศเลอเหมือนย่านนิชิจิน ประเทศญี่ปุ่น หรือย่านบริคเลนและเมืองเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ แต่ย่าน เจริญกรุง ก็มีเอกลักษณ์แบบไทยๆ

ว่ากันว่า อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เพียรพยายามพัฒนาย่านเจริญกรุงให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ จากที่เขาได้ไปเห็นความสำเร็จของย่านที่ผู้คนมากมายในโลกใบนี้อยากเดินทางไปเห็นสักครั้งในชีวิต เขาก็อยากให้เจริญกรุงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากย่านนี้มีส่วนผสมที่มีความร่วมสมัย เต็มไปด้วยกลิ่นอายศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม

“ที่นี่เป็นศูนย์รวมความเจริญในอดีต มีเอกลักษณ์ของย่าน เราจึงอยากทำให้เป็นย่านสร้างสรรค์ เหมือนย่านที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เพราะจะสามารถพัฒนาทั้่งเรื่องคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมได้”

เอกลักษณ์บนถนนเจริญกรุง
ประวัติศาสตร์เคยจารึกไว้ว่า ถนนเจริญกรุง เป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุด สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยคนยุคนั้นบอกว่า แล้วจะเอาคนที่ไหนมาเดินบนถนนกว้างๆ แบบนั้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนเจริญกรุงจัดเป็นถนนที่สวยงามและทันสมัยที่สุด ส.พลายน้อย บันทึกไว้ว่า นอกจากปลูกต้นไม้ (โกสน) เรียงรายริมถนน ยังมีร้านค้ามากกว่าถนนย่านอื่นๆ มีเสาโคมสังกะสีติดกระจกเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมปักริมทางเป็นระยะ เวลาบ่ายๆ เจ้าพนักงานจะแบกกระไดหิ้วกระป๋องน้ำมัน มาเติมและจุดตะเกียงตามเสาโคม

ลองนึกถึง 100 กว่าปีที่แล้ว ริมถนนมีโคมตะเกียงน้ำมันเป็นระยะ ต้นไม้เรียงราย ไม่มีรถยนต์มากมายเหมือนปัจจุบัน บรรยากาศคงจะโรแมนติกน่าดู

และในอดีต เจริญกรุง ยังเป็นย่านที่ชาวต่างชาติมาพบปะสร้างสรรค์ ชมบรรยากาศริมเจ้าพระยา และติดต่อค้าขายกับคนไทย

ความทันสมัยในยุคนั้น ทำให้เจริญกรุงเป็นย่านที่คนต่างชาติต้องแวะเวียนมาเที่ยว ทำให้ย่านนี้จึงมีสถานที่แห่งแรกที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย อาทิ คลินิกเอกชนแห่งแรก โรงแรมแห่งแรก สถานกงสุลแห่งแรก ฯลฯ

สถานกงสุลแห่งแรก
ไม่นึกมาก่อนว่า สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส สถานกงสุลแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตรอกกัปตันบุช สี่พระยา จะมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ มีสนาม และสวนให้เดินเล่น

สถานที่แห่งนี้ รัชกาลที่ 2 พระราชทานที่ดินผืนนั้นให้พระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกส เพื่อสร้างโรงสินค้าและเป็นที่พำนักสำหรับกงสุลประจำประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2363 ส่วนตัวอาคารก่อสร้างจนแล้วเสร็จปีพ.ศ. 2413

ปัจจุบันอาคารสองชั้นที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล หลังคาทรงปั้นหยา ภายในประดับตกแต่งให้มีความร่วมสมัย แม้จะรีโนเวทหลายครั้งหลายคราว แต่ก็ยังใช้เสาไม้เป็นโครงสร้างค้ำยันเหมือนเดิม

ในอดีตที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์รวมชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทย เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ บรรยากาศริมน้ำสวยงาม เหมาะต่อการพบปะสังสรรค์

“โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเมืองไทย พวกเขานำความเจริญแบบตะวันตกเข้ามาด้วย ทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทยกับโปรตุเกสยืนยาว” เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส เล่า

ธนาคารพาณิชย์แห่งแรก
หากใครไม่เคยเห็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ลองไปทำธุรกรรมการเงินที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย ก็จะได้เห็นความงามของศิลปะสไตล์อิตาลี โดยอาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปีพ.ศ.2525 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้บริหารธนาคารได้ทำการบูรณะเป็นระยะ เพื่อรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า บุคคลัภย์ ในวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งธนาคารแห่งแรกเคยใช้ชื่อนี้ ต่อมาปี พ.ศ.2449 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด ซึ่งเป็นต้นแบบของธนาคารไทย และเมื่อปี พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด

สถาปัตยกรรมธนาคารแห่งนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะโบซาร์กับนีโอคลาสสิก สถาปนิกที่ออกแบบเป็นคนเดียวกับผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถาบันการเงินของสยาม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

“ลูกค้ารายแรกของธนาคารเป็นชาวต่างชาติ เพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับระบบธนาคารฝรั่ง พวกฝรั่งมาช่วยวางระบบบริหารจัดการ กระทั่งมีผู้บริหารคนไทยจนถึงยุคปัจจุบัน" ชฎาดวง สุวรรณทัต ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย เล่าระหว่างพาชมห้องโถง เพื่อให้พวกเราได้เห็นสมุดเช็ครุ่นเก่า เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า บัญชีผู้ฝากเงินเล่มโตๆ และภาพถ่ายผู้จัดการธนาคารทุกยุคทุกสมัย

โรงแรมแห่งแรก
แม้ปัจจุบันเมืองไทยจะมีโรงแรมที่ทันสมัยมากเพียงใด แต่ก็ไม่อาจลบชื่อ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ออกไปจากโลกใบนี้ได้ เนื่องจากคนทั้งโลกมั่นใจว่า นี่คือโรงแรมที่ดีที่สุดในเมืองไทย

โอเรียนเต็ล สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2430 เป็นโรงแรมแห่งแรกในเมืองไทยที่มีไฟฟ้าใช้

ถ้าถามว่า อาคารส่วนไหนเก่าแก่ที่สุด ต้องยกให้ อาคารออเธอร์ส วิง สไตล์นีโอคลาสสิกโมเดิร์น สถาปัตยกรรมฝรั่งเศส สีสันอาคารคล้ายๆ อาคารในหลวงพระบาง ประเทศลาว โทนสีอ่อนหวาน ดูละเมียดละไม อาคารส่วนนี้ชาวต่างชาตินิยมมานั่งดื่มชา กาแฟ ในช่วงเวลา 12.00-17.00 น. เพื่อนั่งคุยและชมอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่ริมน้ำ

โรงแรมแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ต้อนรับคนดังจากทั่วโลก รวมทั้งพระประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปีพ.ศ.2549

“ปีที่แล้วห้องที่ราคาแพงที่สุดคืนละ 5 แสนบาท ห้องในอาคารเก่าแบบนี้ วิวสวย ต้องจองล่วงหน้า” พนักงานต้อนรับ กล่าว

มัสยิดแห่งแรก & อื่นๆ
แม้มัสยิดบ้านอู่ในตรอกเล็กๆ ย่านเจริญกรุง จะไม่งดงามเหมือนสถานที่แห่งแรกที่กล่าวมา แต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากตอนที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้ชาวมุสลิมโยกย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่ตั้งของอาคาร มัสยิดและกุโบร์(สุสาน) ซึ่งต่อมาคนย่านนั้นเรียกว่า สุเหร่าแขก

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ เป็นทั้งโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับชาวมุสลิม และสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิม รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวย่านเจริญกรุง

แม้ย่านเจริญกรุงจะเป็นแหล่งรวมสถานที่แห่งแรกของประเทศไทย แต่ก็ยังมีสถานที่แห่งที่สองของประเทศไทย อย่างอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก (ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) สร้างเมื่อปีพ.ศ.2483 แม้จะดูเรียบง่าย แต่มีความสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก

ว่ากันว่า ทุกซอกทุกมุมของเจริญกรุงมีเรื่องราวให้เล่าขาน ไม่ว่าเรื่องราวในอดีต และปัจจุบันเจริญกรุงกำลังจะเป็นย่านสร้างสรรค์ที่แต่งเติมด้วยงานศิลป์และดีไซน์แบบคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิม เพื่อให้มีความร่วมสมัย

และทำให้คนทั้งโลกรู้จักเจริญกรุง
----------------------------
ภาพ : อภิวัฒน์ เครือจินลิ