ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน

คุยกับ “ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล” ผู้ใช้ชีวิตเป็นศิลปินอิสระในนิวยอร์กกว่า 20 ปี และร่วมริเริ่มจัดเทศกาลศิลปะระดับชาติ Mango Art Festival เมื่อรัฐบาลไทยผลักดันให้ “ศิลปะ” เป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูถูก การศึกษาศิลปะไม่ทั่วถึง หัวไม่ก้าวหน้า

KEY

POINTS

  • "ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล" สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาประติมากรรม University of San Francisco และ ปริญญาโทสาขา Video Performance ที่ San Francisco Art Institute 
  • ใช้ชีวิตเป็นศิลปินเต็มตัวในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี ผลงานศิลปะของเขาได้รับความสนใจจากคนอเมริกัน ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ศิลปะของสื่อยักษ์ใหญ่ในอเมริกา
  • เดินทางกลับไทยหลังเกิดเหตุการณ์ 911 มาเป็นศิลปินอิสระ ผลิตรายการ Art Scene TV เป็นผู้ร่วมริเริ่มจัดงาน Hotel Art Fair ในกรุงเทพฯ และเทศกาลศิลปะระดับชาติ "Mango Art Festival"
  • เมื่อรัฐบาลไทยสนับสนุน ‘ศิลปะ’ ให้เป็น Soft Power, ในฐานะศิลปินและผู้จัดเทศกาลศิลปะ “ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล” คิดว่า "Don’t reinvent the wheel."

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ประหลาดมาก เราเป็นประเทศที่มีงานศิลปะทุกแบบก็ว่าได้ มีศิลปินเก่งระดับโลก กล่าวได้ว่า Ecosystem มีความสมบูรณ์แบบ แต่ทำไมศิลปินไทยและประเทศไทยกลับเสียโอกาส

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นส่วนตัวของ ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ที่ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ชวนคุยเกี่ยวกับวงการศิลปะเมืองไทย ที่วันนี้ ศิลปะ ได้รับการผลักดันให้เป็น 1 ใน 12 ยุทธศาสตร์การสร้าง Soft Power ของรัฐบาลไทย

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ท็อป - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาประติมากรรม University of San Francisco และ ปริญญาโทสาขา Video Performance ที่ San Francisco Art Institute ท็อป - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล ใช้ชีวิตเป็นศิลปินเต็มตัวในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี

ผลงานศิลปะของเขาได้รับความสนใจจากคนอเมริกัน ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ศิลปะของสื่อยักษ์ใหญ่ในอเมริกา อาทิ Art in America, The New York Times และ Artforum รวมทั้งได้รับเชิญให้จัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มเป็นระยะ

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ผลงานศิลปินไทยในเทศกาลศิลปะแมงโก้ (Mango Art Festival) ปีที่ผ่านๆ มา

เขาเดินทางกลับประเทศไทยหลังใช้ชีวิตในนิวยอร์กกว่า 20 ปี กลับมาต่อยอดความสนใจศิลปะด้วยการผลิตรายการ Art Scene TV สัมภาษณ์ศิลปินผ่านช่อง YouTube และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน Hotel Art Fair ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยทำงานร่วมกับ Farmgroup - Creative & Design Consultancy

หลังวางมือจาก Hotel Art Fair "ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล" เป็นศิลปินอิสระและเริ่มโครงการใหม่ โดยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกจัด เทศกาลศิลปะแมงโก้ หรือ Mango Art Festival เทศกาลศิลปะแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชียที่ผสมผสานศิลปะ การออกแบบ และการแสดงเข้าด้วยกัน

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ผลงานคอลลาบอเรชั่นระหว่าง Benzilla ศิลปินไทย กับ Balenciaga

ความเคลื่อนไหววงการศิลปะไทยขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากอดีตบ้าง

“ผมกลับมาจากนิวยอร์กหลังเหตุการณ์ 911 ปี 2001 ก็กว่า 20 ปีแล้ว ในมุมมองของผม ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ประหลาดมาก เราเป็นประเทศที่มีงานศิลปะทุกแบบก็ว่าได้ งานคอนเซปต์ชวลอาร์ตที่เก่งที่สุด หนึ่งในห้าอันดับแรกของโลก คือคุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นคนไทย

อีกคนหนึ่งที่ทำหนังเก่งที่สุดคือคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกคนที่อยู่ในเรื่องการแสดง (performance) ก็แน่นอน พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้รับรางวัลมากมาย

จิตรกรที่ดังและนักสะสมงานศิลปะคอนเทมโพรารี่เก็บสะสมมากที่สุดคือ นที อุตฤทธิ์ ถ้าพูดถึงงานสตรีทอาร์ต ราคาอาจไม่ได้แพงมาก แต่ก็เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติและมีแกลลอรีต่างประเทศนำงานไปแสดง คือ อเล็กซ์ เฟซ (Alex Face) ตามมาก็ เบนซิลลา (Benzilla)

ชื่อที่ผมกล่าวไปเบื้องต้น เพื่อให้เห็น Ecosystem (ระบบนิเวศทางธุรกิจ) โดยรวมของความเป็นไทยสายศิลปะ ผมคิดว่าตอนนี้เราเป็นประเทศที่มีความพร้อม แต่หลายคนอาจจะยังพูดดูถูก การศึกษาเรื่องศิลปะไม่ทั่วถึง โรงเรียนไม่ค่อยจะดี หัวไม่ก้าวหน้า ไม่เหมือนเมืองนอก

แต่เรามาลองดูกลับกัน คนกลุ่มนี้เวลามี passion (แรงจูงใจ ความหลงใหล) มี fire (แรงกระตุ้น ความกระตือรือร้น) ที่เขาอยากจะทำอะไร เขาก็สามารถผ่านพ้นตรงนั้นและประสบความสำเร็จได้

ผมคิดว่าทิศทางวงการศิลปะไทยเปิดกว้างมาก มีคล้ายๆ ‘ครู’ ที่คุณอยากจะได้ความรู้ ครูเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่เขาอยู่ในสถานที่ต่างๆ เช่นในห้องสมุด ในหนังสือ ในโซเชียลดีเมีย ใครที่ต้องการอยากจะรู้แนวอาร์ตต่างๆ เขาสามารถมาหาและสนทนากับศิลปินเหล่านี้ได้เลยครับ”

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล แถลงข่าวการจัด Mango Art Festival 2024

งาน Mango Art Festival มีส่วนผลักดันอย่างไร

“วัตถุประสงค์ที่ผมกับพี่บี (สุชาย พรศิริกุล) เราต้องการทำงานให้ที่นี่เป็นตลาดศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และควบคุม Ecosystem ของประเทศไทยได้มากที่สุด มางานเรา มีทุกอย่าง เราจะไม่จำกัดเฉพาะงาน Fine Arts (จิตรกรรม ประติมากรรม) คือเป็นศิลปินก็ยากอยู่แล้ว เราในฐานะผู้จัด ไม่อยากสร้างกำแพงที่จะแยกแยะงาน งานคุณเป็น Landscape art (จิตรกรรมทิวทัศน์) ผมไม่เอานะ ผมชอบแค่เชิงนามธรรม งานคุณคอนเซปต์ชวลอาร์ต ผมไม่เอานะ จะไม่มีอะไรแบบนี้

เพราะผมเชื่อมั่นศิลปินทุกคนมี voice (การแสดงออก) ของตัวเอง เหมือนนักเขียน บางคนชอบเขียนงานที่มาจากเรื่องจริง ระทึกขวัญ อาชญากรรม โรแมนติก จะบอกคุณห้ามเขียนโรแมนติก มันขายไม่ได้ คุณต้องเขียนแนวลึกลับอย่างเดียว ก็ไม่ใช่ ศิลปินก็เช่นกัน

เหนือไปกว่านั้น สิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายตลอดคือ ผมเป็นศิลปินมาก่อน ผมรู้ว่าทุกข์ทรมานอย่างไรที่เราทำงานแล้วไม่มีคนสนใจ ไม่สามารถไปถึงระดับที่เราอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง

เราก็เลยจัดให้มีแกลลอรีโซน มีทั้งแกลลอรีไทยและต่างประเทศ ผมทำ Mango Art Festival มาสี่ปี เห็นแนวโน้มว่าแกลลอรีต่างประเทศมาที่เมืองไทยเยอะ เขาไม่ได้มา ‘ช้อน’ แต่เขามาดู คือคำว่าช้อนอาจอวยงานเทศกาลตัวเองมากไปหน่อย เขามาดู มาสนใจ และมีศิลปินไทยหลายคนที่ได้รับเชิญไปแสดงงานกับเขา ถือเป็นก้าวเล็กๆ

ผมคิดว่า บ้านเราถ้าสามารถมี 20 อเล็กซ์ เฟซ, 20 พี่เจ้ย, 20 พี่ฤกษ์ฤทธิ์ ก็จะทำให้ ecosystem ของวงการศิลปะไทยได้พัฒนามากขึ้น ศิลปินจะได้เป็นอาชีพ มีงาน มีเงิน ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เหมือนอาชีพอื่นๆ ที่เขาได้ทำกัน”

 

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล

ช่วยขยายความคำว่า Ecosystem ของวงการศิลปะเพิ่มเติมหน่อยครับ

“คำนี้ถ้าถามสิบคน ถามศิลปิน ถามนักเขียนในวงการศิลปะ ผมคิดว่าจะได้คำตอบที่ไม่เหมือนกันเลย ในฐานะผมที่เคยเป็นศิลปินและเป็นคนจัดอาร์ตอีเวนต์ ผมคิดว่า ecosystem ที่สมบูรณ์แบบ คือเรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราเป็นศิลปิน เพราะเราชอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์

ประการที่สอง ต้องเลี้ยงชีพได้ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่เป็นศิลปิน ผมบอกไว้เลย ควรมีอาชีพเสริมก่อน ควรทำงานเป็นเรื่องเป็นราวก่อน ไม่ควรฝากความหวังไว้กับงานอาร์ต ไม่เช่นนั้นความคิดสร้างสรรค์จะไม่มา ถ้าคุณมีอาชีพอื่นและทำงานศิลปะ พองานศิลปะเริ่มขายได้ คุณค่อยขยับเขยื้อนมาทำเป็นศิลปินเต็มเวลา

นักเรียนศิลปะบางคนพอจบมาเป็นศิลปิน ก็ทำงานและขายงานไม่ค่อยได้ เขาก็ต้องไปทำอาชีพอื่นเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กว่าที่ศิลปินจะสามารถทำงานและขายงานได้ อยู่ได้ด้วยการเป็นศิลปินอาชีพ บางทีเราเสียโอกาสสำหรับความคิดสร้างสรรค์ไปเยอะมาก

ผมก็เลยคิดว่า ‘เทศกาลศิลปะแมงโก้’ อาจเป็นส่วนหนึ่งก่อนที่คุณจะทิ้งตรงนี้ไป ลองมาออกงานกับเราสักครั้งไหม อาจไม่ทำเงินให้คุณได้ในทันที แต่อาจเป็นทางเลือก สำหรับคนที่มีพรสวรรค์จริงๆ เขาก็สามารถทำงานประจำได้แล้วก็มาโชว์งานศิลปะที่นี่ หลังจากนั้นค่อยๆ พัฒนางานของตัวเองไปจนกว่าจะมีศักยภาพพอที่จะสามารถทำแบบนี้ได้เต็มเวลา”

 

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน Mango Art Festival 2024 กำหนดจัดแสดง 7-12 พ.ค.2567

คิดว่าสังคมไทยยังมอง ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องรองๆ อยู่หรือไม่

“ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนใจกว้าง ความเป็นศิลปิน เราต้องทำงาน ส่วนเขาจะมองอย่างไรก็แล้วแต่เขา เราต้องผลิตงานก่อน แต่อาชีพศิลปิน นักเขียน แดนเซอร์ อาชีพที่ต้องใช้ตัวเอง เป็นอาชีพที่ยากอยู่แล้ว ยากทุกสมัย ร้อยปีก่อน เชคสเปียร์ก็ยาก 

คือ อาชีพที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ มันยากตั้งแต่สมัยก่อน ยากตอนนี้ และในอนาคตมันก็จะยากต่อไป

สิ่งที่พวกเราทำได้ คือสร้างแพลตฟอร์ม เรียกคนมาเยอะๆ ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อให้อาชีพนี้ เพราะเป็นอาชีพสุดท้าย ผมมานั่งคิดนะครับ ‘อาชีพทำด้วยมือ’ เป็นอาชีพสุดท้ายของโลก เพราะต่อไปนี้จะไม่มี ทุกวันนี้เหลือน้อยมากที่คนๆ หนึ่งมีคอนเซปต์มานั่งวาดรูป มานั่งจินตนาการ ตรงนี้มันจะค่อยๆ หายไป เราก็อยากรักษาตรงนี้ไว้”

 

ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล เมื่อศิลปะจะเป็น Soft Power แต่หลายคนอาจยังพูดดูแคลน ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล

รัฐบาลกำลังสนับสนุน ‘ศิลปะ’ ให้เป็น Soft Power คุณคิดว่าควรมีแผนเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร

“เรื่อง Soft Power มีคนทำตรงนี้อยู่แล้ว เหมือนคำฝรั่ง Don’t reinvent the wheel. (อย่าเสียเวลาคิด) ล้อรถมีอยู่แล้ว กลไกมีอยู่แล้ว คุณไม่ต้องทำใหม่ คุณแค่ไปหาคนที่เขากำลังทำอยู่ แล้วเอาเงินสนับสนุนเขา ให้เขาทำคอนเทนต์ต่อเนื่องให้คุณไป 

ให้รัฐบาลดูรายชื่อคนจัดอาร์ต อีเวนต์, อิลลัสเตรชั่น อีเวนต์, อาร์ต แฟร์, เขียนโครงการมา เงินที่ผมให้ คุณจะเอาไปทำอะไรให้ผมบ้าง

ผมขาดโรดโชว์ที่จะนำคณะศิลปินไทย 50 ชีวิตไปที่ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมืองจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เราเป็นองค์กรเล็กๆ ไม่มีงบทำตรงนี้ได้ ถ้าผมได้เงินจากภาครัฐ สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ ‘การตลาด’ ผมต้องการมาร์เก็ตติ้งที่จะเอางานเทศกาลศิลปะแมงโก้ไปเมืองนอก แต่ผมกับพี่บีสองคนทำกันไม่ได้

ผมตั้งชื่อ แมงโก้ อาร์ต เฟสติวัล ผมรู้ว่าแถบภูมิภาคเอเชียชอบกินมะม่วง ผมไม่ได้ตั้งชื่อว่า ‘บางกอก อาร์ต เฟสติวัล’ ผมตั้งชื่อแมงโก้เพื่อให้ไปได้ทุกที่ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง เมืองจีน เราจะได้มีการแลกเปลี่ยน ศิลปินของเราสามารถออกไปที่นั่นได้ อันนี้ก็เป็น Soft Power ในมุมมองของผมครับ”

ภาพ: กุลยา กาศสกุล