ส่องความหมายมงคลจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณ โครงการ ล้ง 1919 ชื่อ 'ล้ง' มาจากไหน
ก่อนไปทำคอนเทนต์ รู้ประวัติ ความหมายมงคลภาพจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณ รูปแบบสถาปัตยกรรม โครงการ 'ล้ง 1919' ชื่อ 'ล้ง' มาจากไหน, AWC เปิดให้เข้าเยี่ยมชมอีกครั้งในคอนเซปต์ The Lhong 1919 Riverside Heritage Destination, วิธีเดินทางไป 'เดอะ ล้ง 1919'
กลับมาเปิดให้เข้าเยี่ยมชมอีกครั้งแล้ววันนี้หลังจำเป็นต้องปิดบริการเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับ ล้ง 1919 (Lhong 1919) ท่าเรือที่ได้ชื่อว่าเป็นท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรุงเทพฯ
การเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ใหม่ครั้งนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งเช่าบริหารพื้นที่แห่งนี้จากตระกูล “หวั่งหลี” ผู้ถือครอง เป็นเวลา 64 ปี นับจากปีพ.ศ.2565 ภายใต้ชื่อโครงการ เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น (The Lhong 1919 Riverside Heritage Destination)
ทางเข้าโครงการ ล้ง 1919 จากถนนเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
ชื่อ ล้ง มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มีชื่อว่า ฮวย จุ่ง ล้ง หมายถึง ‘ท่าเรือกลไฟ’ ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม บรรพบุรุษของท่านเดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
ต่อมาเมื่อ ‘การท่าเรือแห่งประเทศไทย’ เข้ามามีบทบาทการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง
ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล หวั่งหลี โดยนาย ‘ตัน ลิบ บ๊วย’ เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน โกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี
รวมถึงเก็บรักษา ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
จาก ฮวย จุ่ง ล้ง สู่โครงการ ‘ล้ง 1919’
ลานอเนกประสงค์กลางหมู่อาคาร
เมื่อวันเวลาทำให้ลักษณะธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบ ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ที่ไม่ได้ใช้งานจึงตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างยาวนาน แต่ด้วยตระหนักถึงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ที่นอกจากจะเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่ลูกหลานมีหน้าที่จะต้องดูแลให้ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นเสมือนมรดกของชาติ
ลูกหลานตระกูลหวั่งหลี รุจิราภรณ์ หวั่งหลี และในฐานะเจ้าของ บริษัท พี ไอ เอ อินทีเรีย จำกัด (PIA Interior Company Limited) บริษัทอินทีเรียฝีมือคนไทย จึงเริ่มพัฒนาสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2559
วางเป้าหมายให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรม งานเลี้ยงสังสรรค์ ลานการแสดงกลางแจ้ง ร้านอาหารระดับพรีเมียม ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายงานศิลปะ-งานหัตถกรรม และแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-จีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ภายใต้ชื่อโครงการ ล้ง 1919 (ตัวเลข 1919 คือปีค.ศ.ที่ตระกูลหวั่งหลีรับช่วงสถานที่แห่งนี้ต่อจากตระกูลพิศาลบุตร) เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560
รูปแบบสถาปัตยกรรม
วางผังรูปตัว U ถ่ายภาพจากอาคารประธานหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ฮวย จุ่ง ล้ง ก่อสร้างด้วย สถาปัตยกรรมจีน ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ ซาน เหอ ย่วน ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่หลังบนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
อาคารยาวเหมือนห้องแถว มีด้วยกัน 3 หลัง วางเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์
ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้
อีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอาคารทั้งสามหลัง คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนอยู่บนขอบประตูและหน้าต่าง งดงามด้วยลวดลายอันเป็นมงคล ภาพทิวทัศน์ และภาพวิถีชีวิตของคนจีนแผ่นดินใหญ่
เอมอร ประเทศกรณีอ่างแก้ว
เอมอร ประเทศกรณีอ่างแก้ว อายุ 78 ปี ผู้เกิดและเติบโตใน ฮวย จุ่ง ล้ง และมีหน้าที่ดูแลศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เธอเคยถามช่างจิตรกรรมที่ได้รับการเชิญมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมาซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ เนื่องจากมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมแล้วถามว่า ทำไมภาพเขียนทิวทัศน์แบบจีนของที่นี่สวยงาม ไม่เคยเห็นที่ใดมาก่อน
ช่างจิตรกรรมจีนให้คำตอบว่า เป็นเพราะช่างเขียนภาพชาวจีนที่เดินทางเข้ามาวาดภาพเหล่านี้เมื่อมากกว่าร้อยปีก่อน เดินทางมาจากหลายจังหวัดของจีน ใช้เวลาเขียนภาพหลายปีและเกิดความคิดถึงบ้าน จึงได้เขียนภาพทิวทัศน์ที่บ้านเกิดไว้เพื่อคลายความคิดถึง ภาพเขียนจึงสวยงามแตกต่างกันไป
ความหมายมงคลภาพจิตรกรรมฝาผนัง ล้ง 1919
ภาพวาดดอกโบตั๋น
จิตรกรรมฝาผนัง ที่โครงการ 'ล้ง 1919' ได้รับการสร้างสรรค์มาเป็นเวลากว่า 6 ชั่วอายุคน ทั้งหมดซุกซ่อนอยู่ภายใต้สีที่ถูกทาทับหนาหลายชั้นตามวันเวลา
กระทั่งการบูรณะอาคารครั้งใหญ่ในพ.ศ.2559 ศิลปะบุพกาลจึงเผยตนอีกครั้ง ซึ่งชาวจีนนิยมประดับสถานที่ด้วยภาพเขียนที่มีความหมายมงคล ภาพเขียนที่พานพบ อาทิ
- ดอกโบตั๋น ในฐานะราชินีแห่งบุปผา
- ผลไม้เมล็ดเยอะ สื่อถึงความสมบูรณ์ในการสืบสกุล
- วิหกคู่ หมายถึงความสัตย์ซื่อต่อคู่รักตลอดชั่วชีวิต
- พัด สัญลักษณ์ปัญญาชน เพราะคำในภาษาจีนออกเสียงพ้องกับคำว่าคุณธรรมและการุณ
- หนู นักษัตรลำดับที่ 1 ตัวแทนความวิริยอุตสาหะในการประกอบอาชีพ
- ค้างคาว คือสัตว์มงคลที่ปกปักรักษา ทั้งยังพ้องเสียงกับคำว่า “โชคลาภ”
- ส้มโอมือ มีรูปทรงคล้ายพระกรของพระพุทธ ชาวจีนเรียก “ผลพุทธหัตถ์” เป็นเครื่องหมายความสุขและอายุยืนยาว
- ปลา คนจีนแต้จิ๋วเรียก 'ปลา' ว่า 'ฮื้อ' พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า 'เหลือเฟือ' ปลาสำหรับชาวจีนจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มีโชคลาภ เหลือกินเหลือใช้ และประสบความสำเร็จ
จิตรกรรมภาพพัด
จิตรกรรมภาพหนู
จิตรกรรมภาพปลา
การสำรวจจิตรกรรมฝาผนังที่ ‘ล้ง 1919’ พบว่าวาดด้วยสีฝุ่นลงบนผนังปูนแห้ง ด้วยช่างฝีมือชั้นเลิศ จากหลักฐานลายเส้นที่ละเอียด อ่อนช้อย และเป็นการวาดเส้นด้วยมือสดๆ ตามจินตนาการของช่างเขียน
ลักษณะพิเศษคือเป็นการใช้สีแบบ “สีเบญจรงค์” หมายถึง จิตรกรรมที่ใช้สีทั้งหมด 5 สี ได้แก่
- สีดำ
- สีแดง
- สีฟ้าคราม (สีน้ำเงิน)
- สีเขียว
- สีเหลือง
เป็นการใช้สีฝุ่นผสมกาวแบบโบราณ ล้วนได้มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น ดินแดง ดินเหลือง สนิมแร่เหล็ก เขม่าไฟก้นหม้อ ผสมกับกาวกระถิน (ยางไม้)
ภาพจิตรกรรมที่ได้รับการอนุรักษ์ ณ อาคารประธานของ ล้ง 1919
การสำรวจพบด้วยว่า ที่ผ่านมาภาพจิตรกรรมถูกทาสีทับไว้หลายชั้น เมื่อมีการใช้น้ำยาลอกสีผนัง จึงค้นพบจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณที่ซ่อนอยู่ด้านใน ซึ่งเสียหายจากปูนที่ร่อนหลุด จากสีที่ทาทับไว้หลายชั้น และจากความชื้นเนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หลังจากการบูรณะ ในส่วนอาคารประธานที่ประทับของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) สามารถอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังไว้ได้ครบถ้วน ส่วนอาคารด้านข้างสามารถอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังได้เป็นส่วนมาก
กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงร่วมบูรณะภาพจิตรกรรม
จิตรกรรมภาพนกโบราณที่ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงร่วมบูรณะ
เมื่อเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังไปเรื่อยๆ จะพบว่ามีห้องเบื้องขวาของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วบนชั้นสองของอาคารประธาน ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเก้าอี้
สอบถามกับคุณ เอมอร ประเทศกรณีอ่างแก้ว จึงทราบว่า กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาทอดพระเนตรการบูรณะจิตรกรรมจีน และทรงร่วมบูรณะภาพเขียนโดยทรงแต่งแต้ม ภาพเขียนนกโบราณ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองตรงบริเวณส่วนปลายของหางนก และได้ทรงลง พระนามาภิไธยอักษรจีน ไว้ ณ ที่นั้นด้วย
หมายเหตุ : วิธีการเดินทางไป “เดอะ ล้ง 1919”
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต