กรมศิลป์เผยผลสำรวจ ถ้ำเขาค้อม สตูล หลังตรวจชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ในถ้ำ
กรมศิลป์เผยผลสำรวจ ถ้ำเขาค้อม จ.สตูล กำหนดให้ ‘เขาค้อม’ เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ อายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี พบอีกอย่างน้อย 46 แหล่ง ชี้ ‘สตูล’ เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการสำรวจพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ภายใน ถ้ำเขาค้อม หมู่ที่ 10 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัด สตูล จึงมอบหมายให้ 'สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา' ลงพื้นที่ตรวจสอบ
ขณะนี้ได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 พบว่า ถ้ำเขาค้อม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาหินปูนลูกโดด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล
เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำรวจถ้ำเขาค้อม
เปลือกหอย
ชิ้นส่วนกระดูกฟันกราม
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา
จากการสำรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เปลือกหอยน้ำจืดและเปลือกหอยทะเล เป็นต้น
ผลจากการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุในเบื้องต้น กำหนดให้ เขาค้อม เป็น แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ กำหนดอายุราว 3,000 – 6,000 ปีมาแล้ว
อ้างอิงผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาปาโต๊ะโร๊ะ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งพบโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว
ชิ้นส่วนกระดูก
ผลจากการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีที่ผ่านมา พบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นพื้นที่จังหวัด สตูล เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย
โดยสำรวจพบ แหล่งโบราณคดี อย่างน้อย 46 แหล่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อประกาศรายชื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด
สำรวจถ้ำเขาค้อมเชิงแหล่งโบราณคดี
เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำรวจถ้ำเขาค้อม
ถ้ำเขาค้อม จ.สตูล
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า กรมศิลปากรขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันปกป้องคุ้มครองและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีของกรมศิลปากรและการพัฒนางานวิชาการต่อไปในอนาคต