แอ่วกุมกามยามแลง โขนในเวียงกุมกาม ผางประทีปส่องความรุ่งโรจน์นครใต้ดิน
งดงามในความขลัง ‘แอ่วกุมกามยามแลง’ คืนชีวิตเวียงกุมกามโบราณสถาน กรมศิลปากรนำโขนรามเกียรติ์เปิดแสดงในเวียงโบราณ พร้อมแสงไฟเทคนิคพิเศษผสานผางประทีปล้านนา ต่อยอด Thailand Winter Festival ส่งเสริมท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำคืน
งามมลังเมลืองส่องสว่างความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของอดีตเมืองหลวงอาณาจักรล้านนาสมัยพญาเม็งราย เมื่อ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมศิลปากร นำร่องจัดงาน แอ่วกุมกามยามแลง ณ โบราณสถาน เวียงกุมกาม เจ้าของฉายา ‘นครโบราณใต้พิภพ’ ณ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สร้างความคึกคักให้กับโบราณสถานและเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบ
แสงไฟส่องสว่างไปยังวัดอีก้าง โบราณสถานเวียงกุมกาม
วัดอีก้าง ก่อนใกล้ค่ำ
วัดอีก้างเมื่อวางผางประทีป
ภายในงานโดดเด่นด้วยการจัดแสดงแสงไฟสาดส่องไปยัง โบราณสถาน ปกติกรมศิลปากรจัดแสงไฟส่องสว่างไปยังโบราณสถานแต่ละแห่งและบริเวณโดยรอบอยู่แล้ว เพื่อความปลอดภัยของโบราณสถานยามค่ำคืน
แต่ครั้งนี้เป็นการเพิ่ม แสงไฟแบบ warm light เพื่อให้เห็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น และ แสงไฟกราฟิก ให้ดูสนุกขึ้น ผสมผสานกับแสงไฟแบบศิลปวัฒนธรรมล้านนา
นั่นก็คือวาง ผางประทีป นับพันๆ ดวง ประดับไว้ตามโครงร่างโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ของ วัดอีก้าง และ วัดหนานช้าง สองวัดขนาดใหญ่ของเวียงกุมกามซึ่งเป็นยุคทองของล้านนา ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนารุ่งเรืองมาก และที่วัดอีก 2 แห่งคือ วัดปู่เปี้ย และ วัดธาตุขาว ซึ่งอยู่ใกล้กัน สามารถเดินไปชมได้
เยาวชนกับงาน 'แอ่วกุมกามยามแลง'
ผางประทีป
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรและประชาชนร่วมจุดผางประทีปที่วัดหนานช้าง
ทีมหยอดน้ำมันพืชใส่ผางประทีป
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอธิบายว่า ผางประทีป เป็นภาชนะดินเผาขนาดเล็ก ภายในใส่น้ำมันหรือขี้ผึ้งเพื่อจุดให้แสงสว่าง มีลักษณะคล้าย ‘ตะคัน’ หรือ ตะเกียง
ภายในงานใช้ผางประทีปที่ผลิตในเชียงใหม่ทั้งหมด โดยใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง พร้อมไส้ประทีปที่มีลักษณะเหมือน 'ตีนกา' ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม
วัดหนานช้าง โบราณสถานเวียงกุมกาม
วัดหนานช้างเรืองรองด้วยแสงไฟและเปลวประทีป
แสงจากผางประทีปที่เรียงตัวไปตามโครงสร้างสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นเค้าโครงความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้างศาสนสถานประจำเวียงโบราณแห่งนี้
เปลวประทีปที่วูบไหวตามสายลมดูราวช่างฟ้อนกำลังร่ายรำถวายการบูชาองค์พระธาตุเจดีย์และเวียงที่หักพังจากธรรมชาติ
รถม้านั่งชมเวียงกุมกาม
งาน แอ่วกุมกามยามแลง ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม อาทิ บริการ นั่งรถราง และ นั่งรถม้า เยี่ยมชมโบราณสถานสำคัญของเวียงกุมกาม อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาสมัยพญาเม็งรายที่มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี
กิจกรรม ช้อป ชิม ชม กาดกุมกาม @ Night บริเวณลานกิจกรรมของ วัดอีก้าง และ วัดหนานช้าง สองวัดสำคัญของ ‘เวียงกุมกาม’
กาดกุมกาม @ Night
เมี่ยงคำใบชะพลู
ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกซื้ออาหารและสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านจากชุมชน อาทิ ขนมลิ้นหมา เมี่ยงคำใบชะพลู ข้าวเงี้ยว ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว รสมือชาวชุมชนคู่เวียงกุมกาม ของกินแต่ละอย่างขายหมดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีสินค้าหัตถกรรม เครื่องแต่งกายพื้นเมือง ให้เลือกช้อปปิ้ง และศิลปะการสักขาลายล้านนาด้วยกรรมวิธีการสักแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยล้านนาให้ได้เรียนรู้มรดกวัฒนธรรม
ศิลปะสักขาลายแบบล้านนาดั้งเดิม
กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมฝากฝีมือวาดภาพสีน้ำ พระธาตุ วัดอีก้าง ในงาน ‘แอ่วกุมกามยามแลง’
การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ฉากหลังคือพระธาตุวัดอีก้าง
การจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนสีน้ำ ‘เวียงกุมกาม’ โดย ชมรมสล่าแต้มงาม เชียงใหม่ การออกบูธกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ การสาธิตการทำโคมล้านนา และการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การฟ้อนกิงกะหร่า
โขนเรื่องรามเกียรติ์ 'ทูษณ์ - ขร – ตรีเศียร – ยกรบ' ฉากหลังเป็นพระธาตุวัดอีก้าง โบราณสถานเวียงกุมกาม
พิเศษสุดกับไฮไลต์ การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด ทูษณ์ - ขร – ตรีเศียร – ยกรบ โดยนาฏศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร พร้อมทีมงานมากกว่า 100 ชีวิต จัดเต็มระบบแสงสีเสียง เครื่องแต่งกายโขนสุดวิจิตร การแต่งหน้าตัวละครพระละครนาง เครื่องประกอบฉาก แม้กระทั่งราชรถ
ที่สร้างความรู้สึกพิเศษยิ่งก็คือ เป็นการแสดงโขนใน โบราณสถาน เวียงกุมกาม ที่มีฐานะเป็นอดีตเวียงหลวงแห่งล้านนาก่อนพญาเม็งรายสร้างเวียงเชียงใหม่ โดยมีฉากหลังเป็นเจดีย์หรือพระธาตุองค์ประธานของวัดอีก้างที่มีอายุกว่า 600 ปี
ดังนั้นการแสดงโขนครั้งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘โขนในเวียง’ และเป็นครั้งแรกของการแสดงโขนในโบราณสถานภาคเหนือ
นางสำมนักขาเห็นพระรามสรงน้ำ
เนื้อเรื่องการแสดง โขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด 'ทูษณ์ - ขร – ตรีเศียร – ยกรบ' กล่าวถึง นางสำมนักขา (น้องสาวทศกัณฐ์) เห็นพระรามกำลังสรงน้ำ ก็เกิดความรักใคร่ลุ่มหลง จึงแปลงกายเป็นหญิงงามเข้าเกี้ยวพาราสีพระราม และหมายจะฆ่านางสีดา
พระลักษมณ์เข้าขัดขวางต่อสู้ นางสำมนักขาถูกตัดมือตัดเท้าตัดจมูกตัดหูจนแหว่งวิ่น จึงหนีไปฟ้องพญาขร พญาทูษณ์ พญาตรีเศียร (สามพญายักษ์น้องชายทศกัณฐ์) ให้ยกทัพมาแก้แค้น แต่ก็ถูกพระรามพระลักษมณ์สังหาร
นางสำมนักขานี่เองที่เป็นต้นเหตุให้ทศกัณฐ์ลักนางสีดา จนเกิดมหาศึกระหว่างยักษ์และร่างอวตารของพระนารายณ์ซึ่งมีพลพรรคเป็นวานร
นางสำมนักขาจะเข้าทำร้ายนางสีดา
เตรียมเคลื่อนราชรถเข้าฉาก
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดเต็มการแสดง 'โขนในเวียง'
ส่วนหนึ่งของนาฏศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ศิลปะการขึ้นลอย
โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ทูษณ์ - ขร – ตรีเศียร – ยกรบ มีจุดเด่นที่กระบวนท่ารบและเอกลักษณ์ในการแสดงโขน ‘การขึ้นลอย’ เป็นกระบวนท่ารำตามแบบแผนโบราณที่มีความงดงาม พร้อมทั้งการออกแบบแสง สี เสียงประกอบการแสดงด้วยเทคนิคพิเศษเพื่อให้เข้ากับฉากหลังที่เป็นโบราณสถานเวียงกุมกาม
เสริมสร้างบรรยากาศและเปิดประสบการณ์สุนทรียะให้กับนักท่องเที่ยว คนในชุมชน ซึ่งเข้าร่วมการชมโขนในเวียงกุมกามแห่งนี้
งาน 'แอ่วกุมกามยามแลง'
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลท่าวังตาล และจังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน ‘แอ่วกุมกามยามแลง’ เป็นกิจกรรมนำร่องส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำคืน (Thailand Winter Festival)
เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความสวยงามของโบราณสถานในยามที่กระทบแสงไฟสาดส่อง เป็นการเพิ่มศักยภาพโบราณสถาน ต่อยอดเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
พนมบุตร จันทรโชติ ให้การต้อนรับ สุรพล เกียรติไชยากร
สุรพล เกียรติไชยากร ร่วมจุดผางประทีปงาน 'แอ่วกุมกามยามแลง'
นาย สุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืน ‘แอ่วกุมกามยามแลง’ และชมการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ทูษณ์ - ขร – ตรีเศียร – ยกรบ ณ ลานกิจกรรมวัดอีก้าง – วัดหนานช้าง เวียงกุมกาม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. โดยมีนาย พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และข้าราชการกรมศิลปากร ให้การต้อนรับ
“กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) และ One Family One Soft P0wer (OFOS) ของรัฐบาล" นายสุรพลเริ่มต้นกล่าวในพิธีเปิดงาน
สุรพล เกียรติไชยากร ฟังการบรรยายเกี่ยวกับเวียงกุมกาม
เดินชม กาดกุมกาม @ Night
"การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืน ณ เวียงกุมกาม โดยกรมศิลปากร ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมาย
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์โบราณสถานเวียงกุมกาม ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญต้นทางของประวัติศาสตร์ล้านนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฐานะทุนทางวัฒนธรรมที่พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
กิจกรรมทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์มากมายภายในงาน อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์งานศิลปะและงานคราฟต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของล้านนา การแต่งกายชุดผ้าเมืองเข้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน รวมถึงการนำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่นเลิศรสตามแบบฉบับของล้านนา
ยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย ‘วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ’ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและยั่งยืนอีกด้วย” นายสุรพล กล่าวในพิธีเปิดงาน
ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
งาน ‘แอ่วกุมกามยามแลง’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2566 เวลา 16.00 – 21.00 น. นอกเหนือจากงานนี้แล้ว ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษา เวียงกุมกาม อดีตความรุ่งโรจน์ของล้านนาได้ที่ห้องนิทรรศการ ณ ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.30 – 16.30 น.
พร้อมติดต่อ รถรางนำชมเวียงกุมกาม และ นั่งรถม้าชมเวียง บริการโดยชาวชุมชน ก็ได้เช่นกัน
รถม้าชมเวียงกุมกาม หน้าศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
รถรางนำชมเวียงกุมกาม
ติดตามข่าวการจัดแสดงแสงไฟและการแสดงโขนโดยกรมศิลปากรว่าจะหมุนเวียนไปจัดการแสดงยังโบราณสถานแห่งอื่นๆ อีกอย่างไรหรือไม่ได้ที่ เฟสบุ๊กเพจกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
- เลขที่ 149 หมู่ที่ 2 ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ตำบลท่าวังตาล อำเภอ สารภี เชียงใหม่
- โทรศัพท์ 064 175 8375
- เฟซบุ๊ก เวียงกุมกาม - Wiang Kum Kam