ประกาศแล้ว ภูพระบาท เป็น มรดกโลก จากใบเสมาหินสมัยทวารวดี ชมฟรี 28 ก.ค.-12 ส.ค.
อุดรธานีได้แหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 หลัง ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ภูพระบาท’ เป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ นับเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย กรมศิลป์เปิดให้เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ฟรี 28 ก.ค. – 12 ส.ค.2567
จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
นาทีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.01 น. ของวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เมื่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)
งานแถลงข่าวลุ้นผลการประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, 27 ก.ค.2567
จากการประกาศครั้งนี้ ทำให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นับเป็น 'แหล่งมรดกโลก' ลำดับที่ 8 และ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 5 ของประเทศไทย
อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อพ.ศ.2535
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
- แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน
ใบเสมาหิน แหล่งวัฒนธรรมสีมา
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตาม เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 2 ข้อ ได้แก่
ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์ กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดี ที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก
ใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ถ้ำพระ ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
หอนางอุสา ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
และ เกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า)
ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศ ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ในครั้งนี้
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2566)
โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา
จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
ลำดับนาทีประวัติศาสตร์ ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'ภูพระบาท' เป็นมรดกโลก
ฯพณฯวิชาล วี.ชาร์มา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำยูเนสโก เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 กล่าวเข้าวาระการพิจารณา 'ภูพระบาท' จากประเทศไทย
เอกสารจากนำเสนอข้อมูล 'ภูพระบาท' จาก ICOMOS
ICOMOS นำเสนอข้อมูล 'ภูพระบาท'
ช่วง ICOMOS นำเสนอข้อมูล 'ภูพระบาท'
ภูพระบาท ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกโลก' หลัง ICOMOS นำเสนอข้อมูลจบและไม่มีผู้แทนจากประเทศใดอภิปรายคัดค้าน
กองเชียร์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยหลังทราบผลการขึ้นเบียน
คณะกรรมการผลักดัน 'ภูพระบาท' ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ประสบความสำเร็จในปี 2567 กล่าวในที่ประชุมฯ ที่อินเดีย
โฉมหน้าทีมไทยแลนด์ คณะกรรมการผลักดัน 'ภูพระบาท' ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เข้าร่วมงานประชุมฯ ที่อินเดีย
นาทีประวัติศาสตร์ ยูเนสโก ได้ประกาศให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)