เกณฑ์มรดก 2 ข้อ 'เมืองโบราณศรีเทพ' ขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’
เปิดความหมาย 'เกณฑ์มรดก' 2 ข้อ ที่ทำให้ 'เมืองโบราณศรีเทพ' เข้าเกณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ยูเนสโก
Key Points :
- เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ เกณฑ์มรดก ‘ข้อที่ 2’ และ ‘ข้อที่ 3’
- รูปเคารพในศาสนาฮินดู ซึ่งพบที่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ แสดงถึงลักษณะทางศิลปะที่มีเอกลักษณ์ จนได้รับการยกย่องและกำหนดรูปแบบให้เป็น สกุลช่างศรีเทพ
- ผังเมืองโบราณศรีเทพ มีความแตกต่างไปจากผังเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเมืองอื่นๆ ที่พบในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาพังเหย ห่างออกมาประมาณ 3 กิโลเมตร ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ได้รับการนำเสนอและขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566
ทั้งนี้ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ภายใต้ เกณฑ์มรดก (Heritage criteria) ข้อที่ 2 และ เกณฑ์ข้อที่ 3 ดังนี้
ผังเมือง 'เมืองโบราณศรีเทพ'
เกณฑ์ข้อที่ 2 : แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญอันมีคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือภายในพื้นที่วัฒนธรรมของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี, งานศิลปกรรมที่สำคัญ, การวางผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
ความหมายของ ‘เกณฑ์ข้อที่ 2’ ขยายความได้ดังนี้
เมืองโบราณศรีเทพ แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญของ คนในวัฒนธรรมทวารวดี กับ คนในพื้นที่อื่น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 จนสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการวางผังเมืองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ลักษณะการวางผังเมืองของ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มีความเป็นเอกลักษณ์ตรงที่เป็นการวางผังเมืองแบบ เมืองแฝด หรือ ‘เมืองขยาย’
แต่เดิม ‘ผังเมือง’ มีลักษณะค่อนข้างกลม ต่อมาขยายไปทางทิศตะวันออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากผังเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเมืองอื่นๆ ที่พบในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในคู-กำแพงเมืองโบราณศรีเทพ พบประตูเมือง 12 ประตู คูเมืองแต่ละช่วงออกแบบเป็น ฝายเก็บกักน้ำ โดยทำเป็นคันกั้นน้ำลดหลั่นกันลงไปจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันประชาชนยังคงใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักอยู่ในคูเมืองเพื่อการอุปโภคบริโภค
รูปสลัก 'พระสุริยเทพ' พบที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเข้ามามีอิทธิพลอย่างถาวรของพุทธศาสนา ทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์ ทั้งหมดอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปเคารพในศาสนาฮินดู ที่กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ซึ่งพบที่เมืองโบราณศรีเทพ ยังแสดงถึงลักษณะทางศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการยกย่องและกำหนดรูปแบบให้เป็น ‘สกุลช่างศรีเทพ’
ศิลปะสกุลช่างศรีเทพส่งอิทธิพลให้กับ ‘นครรัฐอยุธยา’ และ ‘ลพบุรี’ อย่างกว้างขวางหลังพุทธศตวรรษที่ 16
หลุมขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ณ เมืองโบราณศรีเทพ
เกณฑ์ข้อที่ 3 : เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนมิได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรืออารยธรรม ทั้งที่ยังคงอยู่ หรือที่สูญหายไปแล้ว
ความหมายของ ‘เกณฑ์ข้อที่ 3’ ขยายความได้ดังนี้
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นตัวแทนของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามอาณาจักรทวารวดี ปรากฏชื่ออยู่ในบันทึกการเดินทางของพระภิกษุเหี้ยนจัง (Hiuan Tsang) ผู้เดินทางจากจีนไปสืบพุทธศาสนาในอินเดียโดยทางบกในปีพ.ศ.1172
บันทึกดังกล่าวระบุว่า อาณาจักรทวารวดี อยู่ระหว่างดินแดนอีศานปุระ (ในประเทศกัมพูชา) และอาณาจักรศรีเกษตร (ในประเทศเมียนมา)
วัฒนธรรมทวารวดี เจริญอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียจากการติดต่อค้าขายในฐานะเมืองท่าเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
มีการพัฒนาจากชุมชนดั้งเดิมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มาเป็น ‘ชุมชนเมือง’ และมีระบบกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12
วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงในพุทธศตวรรษที่ 16 แต่ได้ให้อิทธิพลกับศิลปะในระยะต่อมา เช่น ศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18-19) และศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20)
เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
อนึ่ง ยูเนสโกกำหนด เกณฑ์มรดก ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนพื้นที่เป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ ไว้จำนวน 10 เกณฑ์ โดยแบ่งเป็นเกณฑ์สำหรับ มรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 6 เกณฑ์ และ มรดกโลกทางธรรมชาติ จำนวน 4 เกณฑ์
หากพื้นที่ใดหรือสถานที่ใดผ่านการตรวจสอบเข้า ‘เกณฑ์มรดก’ เพียงข้อใดข้อหนึ่งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และได้รับความเห็นชอบจากผู้แทนประเทศสมาชิก พื้นที่หรือสถานที่นั้นก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกตามประเภทที่ยื่นพิจารณาเข้าไป
ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพ นับเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ ลำดับที่ 7 ของประเทศไทย และเป็น ‘แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ลำดับที่ 4 ของประเทศ
ที่จะได้รับการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลในระดับนานาชาติ นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่และประเทศ
credit photo: กรมศิลปากร, กอบภัค พรหมเรขา