แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เปิดประวัติความเป็นมาเส้นทางสาย 'แมลงทับ' สู่ฉลองพระองค์และศิลป์แผ่นดิน พระวิสัยทัศน์-พระอัจฉริยภาพ 'สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง' สร้างรายได้ สร้างเศรษกิจที่ยั่งยืนแก่ชุมชน พร้อมแนวทางอนุรักษ์แมลงทับมิให้สูญไปจากธรรมชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพสร้างสรรค์งานจากศิลปหัตถกรรม เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรชาวไทยมากมายนานัปการ

หนึ่งในนั้นคือการพระราชทานแนวทางนำ ปีกแมลงทับ ซึ่งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์มาตกแต่งงานหัตถกรรมไทยให้มีความสวยงามโดดเด่น เกิดการสร้างงาน สร้างเศรษกิจที่ยั่งยืนแก่ชุมชน โดยทรงใช้พระองค์เองเป็นเสมือนพรีเซนเตอร์ รับสั่งให้นำปีกแมลงทับประดับฉลองพระองค์

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเข็มกลัดแมลงทับ

ปัจจุบัน งานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับซึ่งเกิดจากช่างฝีมืออันปราณีตของ ‘สถาบันสิริกิติ์’ ยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมอันวิจิตรงดงามไว้มากมายกลายเป็นงานศิลป์แห่งรัชสมัยในนาม ‘ศิลป์แผ่นดิน’ ซึ่งการนำปีกแมลงทับมาประสานกับงานศิลปหัตถกรรมไทยต้องผ่านการศึกษาวิจัยหลายปี

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ราษฎรภาคอีสานนำปีกและแมลงทับมาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เรื่องราวของ ปีกแมลงทับ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานนับแต่พ.ศ.2498 เป็นต้นมา

ราษฎรที่รอเฝ้าฯ ในเวลานั้น ได้นำ ปีกแมลงทับ  และ แมลงทับที่ตายแล้ว แต่ยังมีปีกสีเขียวเหลือบเป็นมันวาวสวยงาม ใส่ถุงเล็กๆ มาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสำหรับชาวบ้านภาคอีสานแล้ว ‘แมลงทับ’ ถือเป็นของมีค่าและของดีที่เขามี

ในเวลานั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไมตรีของราษฏรไว้ แต่ยังมิทรงทราบว่าจะนำแมลงทับและปีกแมลงทับมาทำอะไรได้บ้าง แต่ทรงรับไว้เรื่อยมา 

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ้าทรงสะพักของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ครั้นในปีพ.ศ.2525  ขณะที่ทรงสำรวจโบราณวัตถุที่พระตำหนักต่างๆ ได้ทอดพระเนตร ผ้าทรงสะพักประดับปีกแมลงทับ ของ ‘สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า’ พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ในพระที่นั่งวิมานเมฆ

ผ้าทรงสะพัก (ผ้าห่มเฉียงบ่า) ผืนดังกล่าวเป็นผ้าไหม แม้เนื้อผ้าเปื่อยไปตามเวลา แต่ปีกแมลงทับยังอยู่ในสภาพดี แวววาว เป็นเงาเหลือบสวยงาม

ทำให้ทรงรำลึกถึง ปีกแมลงทับ ที่ทรงรับมาจากราษฎรในภาคอีสาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "แผนกประดับปีกแมลงทับ" ที่โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา เพื่อหาวิธีใช้ประโยชน์จากแมลงทับซึ่งราษฎรมีน้ำใจทูลเกล้าฯ ถวายเป็นจำนวนมาก

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฉลองพระองค์ปักประดับปีกแมลงทับและลูกปัด พ.ศ.2528

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวทางให้นำ ปีกแมลงทับ มาประดับบนฉลองพระองค์และผ้าทรงสะพัก แล้วทรงฉลองพระองค์ประดับปีกแมลงทับในโอกาสสำคัญหลายครั้ง

อาทิ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปสหรัฐอเมริกาเป็นการส่วนพระองค์ พ.ศ.2528 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดกลางวันผ้าไหม (แจ๊กเก็ต) ปักประดับด้วยปีกแมลงทับและลูกปัด ออกแบบโดย อีริก มอร์เทนเซน แห่งห้องเสื้อ บัลแมง (Pierre Balmain)

ปัจจุบัน ฉลองพระองค์แจ๊กเก็ตปีกแมลงทับองค์นี้ได้รับการเก็บรักษาโดย ผ้าพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง การศึกษาวิจัยทำให้รู้วงจรชีวิตแมลงทับ

เมื่อมีความนิยมนำปีกแมลงทับมาใช้มากขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใย 'แมลงทับ' อาจสูญพันธุ์

เพราะแต่เดิม ‘แมลงทับ’ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ราษฏรนิยมบริโภคอยู่แล้ว หากมีการจับแมลงทับที่ยังไม่ตายเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเร่งให้สูญพันธุ์เร็วขึ้นอีก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการศึกษาค้นคว้าวงจรชีวิตของแมลงทับและวิธีการเพาะเลี้ยงขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2525 โดยมี ดร.วาลุลี โรจนวงศ์ นักวิชาการด้านกีฎวิทยาและคณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เล่าการทรงงานด้านแมลงทับของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

“พระองค์ท่านทรงนำแมลงทับมาทดลองเลี้ยงบนพระตำหนัก ทอดพระเนตรเห็นเลยว่าแมลงทับพอวางไข่เสร็จก็ตายเลย ไข่ฟองหนึ่งหรือสองฟอง วางไข่เสร็จก็นิ่งเลย” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กล่าวในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพในงานเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ‘จากภูผา สู่มหานที’ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ไอคอนสยาม เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 8 สิงหาคม 2567

“ทรงให้นำไข่แมลงทับไปให้อาจารย์วาลุลี รับสั่งว่าให้อาจารย์ไปศึกษาหาข้อมูลวงจรชีวิตแมลงทับ เพราะว่าสวยเหลือเกิน แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย หากปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ใช้กันไปใช้มา วันหนึ่งก็หมด ทุกครั้งที่พระองค์ทรงทำอะไรจะนึกถึงวัตถุดิบเสมอ” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ของที่ระลึกตกแต่งด้วยย่านลิเภาสอดปีกแมลงทับ (พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน)

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ราวพนักพระที่นั่งพุดตานถมทองซับด้วย ‘ปีกแมลงทับ’

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ค่อนข้างยาก เพราะยังไม่เคยมีการค้นคว้าเรื่องแมลงทับที่ชัดเจนทั้งในและต่างประเทศมาก่อน 

ดร.วาลุลี ใช้เวลา 7 ปีในการศึกษาแมลงทับร่วมกับปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศถึงแมลงในกลุ่มสปีซีส์ใกล้เคียงกัน ได้ผลงานวิจัยก้าวหน้าพอสมควร แต่ยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์

“ต่อมาระยะหลัง ลูกศิษย์อาจารย์วาลุลีและนักวิชาการของเราช่วยกันทำ ตอนนี้ก็เลยไปตั้งเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงทับอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดิน”  ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ที่บ้านคลองหมี ต.สระแก้ว อ.เมือง เป็นที่ดินที่นายเม้ง วงษ์พานิช น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 15 ไร่ 94 ตารางวา เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2544

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พืชอาหารยอดนิยมของแมลงทับ

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เล่าต่อไปว่า “บังเอิญมีต้นมะขามเทศบนที่ดิน ทราบว่าตรงนั้นมีแมลงทับเหมือนกัน  ก็เลยไปสร้างกรงล้อมคลุมต้นไม้ไว้เลย เพื่อศึกษาวิจัย เขากินอะไร โตยังไง ได้อาจารย์จากจุฬาฯ ติดชิพให้ที่ตัวแมลงทับ ดูว่าคลานไปตรงไหนบ้าง ตายตรงไหน 

กระทั่งทราบวงจรชีวิตของแมลงทับ เขาชอบกินใบไผ่เพ็ก วางไข่ในดิน เติบโตในดินแล้วค่อยโผล่เป็นตัวออกมาจากดิน ไม่ได้วางไข่อยู่ในโพรงไม้หรือเปลือกไม้

และได้กรมหม่อนไหมส่งนักวิชาการไปทำอยู่ที่นั่น  ในที่สุดก็มีผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยเบื้องต้นอย่างเป็นรูปธรรม ทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเพื่ออธิบายถึงวงจรชีวิตเหล่านี้” 

ส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยพบว่า แมลงทับใช้ระยะเวลาเติบโตนานประมาณ 2 ปี กว่าจะโตเต็มวัย พบมากในช่วงเข้าพรรษาของแต่ละปี และเมื่อวางไข่เสร็จก็จะตายตามธรรมชาติทันที

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สีสันของปีกแมลงทับ

“แมลงทับ ถ้าตายก่อนหมดอายุไข ไม่ได้ตายตามธรรมชาติ สีปีกของเขาจะเป็นสีเขียวเหลือบสีเดียว แต่ถ้าตายตามธรรมชาติ คุณก็จะได้สีปีกแมลงทับที่ถาวร คงทนไม่หลุดลอก 

สีของปีกแมลงทับยังขึ้นอยู่ชนิดพืชที่กินและดินที่ลงไปฝังตัว สีเหลือบ สีทอง สีเหลืองทอง เหลืองม่วง เหลือบน้ำเงิน เหลือบเขียว ต้องปล่อยให้เขาตายตามธรรมชาติจึงได้สีสวยงามและได้หลากหลายสี ถ้าใจร้อนไปเด็ดมาก่อน ก็จะไม่ได้สีที่สวยงาม

เราก็พยายามสอนชาวบ้านอย่าทานเลย อาหารก็มีเยอะแยะ เก็บแมลงทับไว้เถอะ ให้เขามีชีวิตยืนอยู่ตามอายุไขของเขา”

แมลงทับ หนึ่งในหลายกลไกสร้างเศรษฐกิจชุมชนในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตุ๊กตาไม้โมกมัน ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ (พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน)

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวในตอนท้ายว่า "งานแต่ละอย่างที่จะออกมาไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่วันสองวันทำได้ ใช้เวลานานเป็นปีๆ สิ่งที่คนไทยมี ของดีของบ้านเรามี เราควรจะเก็บรักษาไว้ เพราะไม่ได้สร้างขึ้นมาภายในวันเดียว เราก็ควรจะหวงแหนรักษาให้อยู่ยั้งยืนนาน"

เนื่องในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน