5 เหตุผลต้องชม Opera ตามรอย ร.5 เสด็จประพาสยุโรป ฉลอง 120 ปี สยามสมาคมฯ
ชุบชีวิตฉากโอเปร่าบางเรื่องที่ รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2450 ในการแสดงดนตรีพิเศษชุด ‘1907: Rama V European Operatic Journey’ ในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี การก่อตั้งสยามสมาคมฯ เริ่มจำหน่ายบัตรแล้ว
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักวิชาการชาวสยามและชาวต่างชาติผู้มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากมติการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2447 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในพระบรมราชจักรีวงศ์
ในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการก่อตั้ง สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีนี้ คณะทำงานตัดสินใจกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีพิเศษ
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2450
โดยได้ศึกษาถึงความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับ อุปรากร หรือ โอเปร่า (Opera) ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ค้นพบเรื่องราวการทอดพระเนตรโอเปร่า 7 เรื่องขณะพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ.2450
คณะทำงานระบุว่า ยิ่งอ่านยิ่งพบ ยิ่งเจอยิ่งน่าค้นหา จึงประมวลหลักฐานต่างๆ แล้วสร้างสรรค์ขึ้นเป็นการแสดงดนตรีสุดพิเศษชุด 1907: Rama V European Operatic Journey เพื่อจัดแสดงในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการก่อตั้งสยามสมาคมฯ
พร้อมกับเปิดประสบการณ์มนต์เสน่ห์ของศิลปะการแสดงและดนตรีสำหรับผู้ชมทุกผู้ทุกวัย โดยคณะศิลปินและนักดนตรีมากความสามารถ 50 กว่าชีวิต
หอประชุม สยามสมาคมฯ ในอดีต
อุปรากร เป็นศิลปะการแสดงบนเวทีประเภทหนึ่งซึ่งรวมศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่
- ดนตรี ที่ประกอบด้วยการขับร้องและการบรรเลงโดยวงดุริยางค์
- วรรณกรรม ที่ใช้เป็นเค้าโครงเรื่องของการแสดง
- บทเนื้อร้องการแสดง และ การเต้น
- การออกแบบ เครื่องแต่งกาย และ การแต่งหน้า ให้เข้ากับท้องเรื่อง
- การออกแบบ ฉาก แสง เสียง เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมตามท้องเรื่อง
นอกจากเอกลักษณ์ของความเป็นอุปรากรข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 5 เหตุผลที่ควรค่าแก่การชม 1907: Rama V European Operatic Journey การแสดงดนตรีชุดพิเศษครั้งนี้
1.พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2450
การแสดงดนตรีชุดพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาในหนังสือที่ชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน หนังสือรวม 'พระราชหัตถเลขา' ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพระราชหัตถเลขาที่ รัชกาลที่ 5 ทรงส่งมาพระราชทานแก่พระราชธิดา 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี' ขณะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเมื่อปีพ.ศ. 2450 หรือค.ศ.1907
นอกจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เผยให้เห็นวัฒนธรรมยุโรปในเวลานั้นแล้ว เนื้อหาใน 'พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน' ยังปรากฏรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การเสด็จเยือนโรงละคร หลายแห่งเพื่อทอดพระเนตรโอเปร่าถึง 7 เรื่อง อันเป็นที่มาของการแสดงชุดพิเศษครั้งนี้
2.ตามรอยเสด็จผ่านฉากโอเปร่า
การแสดงดนตรีพิเศษฯ ฉลองวาระ 120 ปี สยามสมาคมฯ
การแสดงครั้งนี้พาผู้ชมตามรอยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับสู่โลกแห่งมหรสพยุโรปสมัยต้นคริสศตวรรษที่ 20 ผ่านฉากที่น่าสนใจจากโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง
ซึ่งท้าทายทักษะของศิลปินและนักดนตรี ทั้งในด้านการขับร้อง การแสดง บัลเล่ต์ และการบรรเลงดนตรี
นำมาร้อยเรียงต่อกันเป็นการแสดง 2 องก์ ความยาว 2 ชั่วโมงเศษ พร้อมการตีความในทุกมิติเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน
3.ฉาก-เวที immersive – หาไม่ได้ในโรงละครทั่วไป
หอประชุม สยามสมาคมฯ สถานที่จัดการแสดงดนตรีพิเศษฯ
การออกแบบฉากการแสดงส่งเสริมให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ (immersive) โดยผู้ออกแบบได้ดัดแปลงการวางผังภายในหอประชุมสยามสมาคมฯ ให้แตกต่างจากกิจกรรมที่เคยจัดมาก่อนทั้งหมด
เพิ่มพื้นที่การแสดงบนรันเวย์ที่สร้างขึ้นใหม่กลางหอประชุม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปิน เพิ่มอรรถรสในการดื่มด่ำความสละสลวยของดนตรีและบทร้อง และความซาบซึ้งกินใจของท้องเรื่อง
ผู้ที่คุ้นเคยกับโอเปร่าจะได้พบกับความแปลกใหม่ในการนำเสนอโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง และผู้ชมโอเปร่าครั้งแรกจะได้เปิดประสบการณ์การชมศิลปะการแสดงในแบบที่หาไม่ได้ในโรงละครทั่วไป
4.รวมศิลปินทั้งชาวไทยและต่างชาติ
คณะทำงานการแสดงพิเศษฯ 120 ปี สยามสมาคมฯ
การแสดงครั้งนี้รวบรวมศิลปินมากความสามารถจากหลากหลายแขนงทั้งชาวไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น
- Martin Ng นักร้องเสียงบาริโทนชาวสิงคโปร์ ผู้โด่งดังในวงการดนตรีคลาสสิกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- มู่ หยู นักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน ผู้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน voice performance ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- วรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยากรชาวไทยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาดนตรี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และเจ้าของรางวัล Grand Prize จากรายการประกวด SCG Young Thai Artist Award in Composition 2020
- ธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับโอเปร่าชาวไทยจากรั้วสถาบัน Verona Accademia per l’Opera Italiana ประเทศอิตาลี
- แดเรน รอยส์ตัน นักออกแบบท่าเต้นชาวอังกฤษ
5.ชุบชีวิตฉากโอเปร่าบางเรื่องที่ รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร
เอกสารการสืบค้นข้อมูล
การแสดงครั้งนี้ชุบชีวิตฉากของโอเปร่าบางเรื่องที่รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร แต่ได้หายไปจากความนิยมในปัจจุบันแล้วให้กลับมาใหม่ ผ่านกระบวนการสืบค้นและระบุชื่อเรื่องด้วยการเปรียบเทียบเนื้อหาของพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน กับข้อเท็จจริงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารบันเทิงภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียนและอังกฤษสมัยปี ค.ศ.1907
โดย ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข ผู้เก็บข้อมูล อาศัยฐานข้อมูลห้องสมุดและจดหมายเหตุในยุโรป จนพบหลักฐานกำหนดการแสดงมหรสพในวันและสถานที่ซึ่งตรงกับข้อมูลในพระราชหัตถเลขา
นอกจากจะช่วยระบุชื่อเรื่องได้แล้ว ยังเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรายนามนักแสดง คำวิจารณ์การแสดงของสื่อมวลชน บันทึกเสียงของนักแสดง ตลอดจนภาพร่างฉากการแสดงและเสื้อผ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ทั้งสิ้น
ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข
ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง การแสดงดนตรีชุด 1907: Rama V European Operatic Journey เปิดเผยว่า สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ รวมถึงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ
โดยในวาระ 120 ปี สยามสมาคมฯ ได้เปิดโอกาสให้ศิลปินนักแสดงหน้าใหม่มากความสามารถ ที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งของวงการมากมาย ให้มีพื้นที่แสดงทักษะเพื่อนำเสนออรรถรส ที่มีทั้ง ดราม่า ความสนุกสนานและสีสันมากมาย ในโอเปร่าวาไรตี้โชว์ครั้งนี้ให้ผู้ชมได้รู้สึกอิ่มเอม
ธาริน ปริญญาคณิต
ธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับโอเปร่า กล่าวว่า เรื่องราวของในปี ค.ศ.1907 ได้รับการนำมาร้อยเรียงแล้วนำมาตีความใหม่ เพื่อนำผู้ชมไปหาประสบการณ์ในห้วงเวลานั้นๆ ไปพร้อมๆ กันกับนักแสดง
“โดยได้ขมวดซีนต่างๆ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลาย ที่เชื่อว่าการแสดงกว่า 2 ชั่วโมงนี้จะพาไปสู่ความแปลกใหม่ ที่ให้คนดูได้ใกล้ชิดกับนักแสดงเหมือนการดูละคร เสมือนเราเป็นหนึ่งในเรื่องราวนั้นๆ ไปพร้อมๆ กัน”
แดเรน รอยส์ตัน
ขณะที่ แดเรน รอยส์ตัน ผู้ออกแบบท่าเต้นและผู้เล่าเรื่องในการแสดง เปิดเผยว่า ความท้าทายในโชว์ครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับตนเองมี 2 ส่วน ได้แก่ การเล่าเรื่องด้วยภาษา และการเรื่องด้วยท่าเต้น
โดยทั้งหมดหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน บวกกับคัดสรรเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพระราชนิพนธ์มาเล่าให้เกิดความสนุก กลายมาเป็นโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง ให้ผู้ชมได้รู้สึกเชื่อมโยงไปพร้อมๆ กัน
มู่ หยู
นักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน มู่ หยู กล่าวว่า รู้สึกโชคดีมากๆ ที่เวทีแห่งนี้ได้เปิดโอกาสได้ตนมาสวมบทบาทเป็น ‘โจโจ้ซัง’ เกอิชาสาวงามชาวญี่ปุ่น เด็กสาวแสนซื่อ ผู้ได้รับสมญาว่า ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ ยึดมั่นในการสมรสเป็นข้อผูกพันชั่วชีวิต เป็นตัวละครที่เชื่อในความรัก และตัวเองก็เป็นคนที่ศรัทธาในเรื่องความรักเช่นกัน
สำหรับโชว์ครั้งพิเศษนี้ ตนจะต้องแสดงอารมณ์ของตัวละครที่ปรับเปลี่ยนขึ้นลงในฉากดราม่าหลายฉาก นับว่าเป็นความท้าทายมากๆ และรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้มาแสดงในสถานที่ที่มีเรื่องราวมาอย่างยาวนานถึง 120 ปี
มู่ หยู แย้มมาได้ยินแล้วว่า รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรการแสดงโอเปร่าเรื่องใด
การแสดงดนตรีพิเศษชุด 1907: Rama V European Operatic Journey กำหนดจัดขึ้น ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) กรุงเทพฯ
- รอบแรก ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น.
- รอบที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น.
- รอบที่ 3 วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น.
- รอบสุดท้ายวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 16.00 น.
- ราคาบัตร 2,000 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง)
- รอบพิเศษเฉพาะนักเรียน นักศึกษา วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 600 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง)
เริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่อีเมล : [email protected] โทร. 0 2661 6470 (เฉพาะเวลาทำการ อังคาร-เสาร์ 09.00 – 17.00 น.) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thesiamsociety.org/ หรือ เฟสบุ๊ก The Siam Society Under Royal Patronage
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนเพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้