Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

เปิดแนวคิดงานหัตถศิลป์ไทยและงานฝีมือชุมชนพื้นบ้านไทย โดย 7 แบรนด์นักออกแบบไทย ใน Dior Gold House บูติกเดี่ยวนอกศูนย์สรรพสินค้าครั้งแรกใจกลางกรุงเทพฯ รวมองค์ความรู้ความเป็นไทยในงานจักสาน ตอกไม้ไผ่ ทองเหลือง กระจกสี ผสานแนวคิด Sustainability วัสดุเหลือทิ้ง

Dior (ดิออร์) แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส ตัดสินใจเปิดให้บริการ ‘บูติกเดี่ยวนอกศูนย์สรรพสินค้า’ หรือ Concept Store แบบชั่วคราว ในย่านเพลินจิต ใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567

ดิออร์ตั้งชื่อคอนเซปต์สโตร์แห่งนี้ว่า Dior Gold House สร้างขึ้นในรูปแบบ ‘อุทยานกลางกรุง’ เพื่อรำลึกถึงความรักที่ มองซิเออร์ คริสเตียน ดิออร์ มีต่อธรรมชาติ ผสานเข้ากับอัตลักษณ์ของมหานครทางวัฒนธรรมอย่างกรุงเทพฯ

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส ทางเข้า Dior Gold House จากถนนเพลินจิต

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส Dior Gold House ยามค่ำคืน

ตัวสถาปัตยกรรมสีทองอร่ามเรืองรองของ Dior Gold House จำลองมาจากส่วนหน้าอาคารประวัติศาสตร์ที่มองซิเออร์คริสเตียน ดิออร์ ตัดสินใจเปิด House of Dior หรือห้องเสื้อดิออร์ร้านแรกใน อาคารเลขที่ 30 ถนนมงแตญ (Montaigne Avenue) ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1946 (พ.ศ.2489) ซึ่งกลายเป็นตำนานของฝรั่งเศสและของโลกในเวลาต่อมา

ผนังอาคารด้านนอกของ Dior Gold House ดูมีความสูง 5 ชั้น เพราะถอดแบบมาจากอาคารเลขที่ 30 ถนนมงแตญ แต่พื้นที่ใช้สอยจริงมีเพียงพื้นที่ชั้นล่างเท่านั้น

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส โถงกลางภายใน Dior Gold House

เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะพบโถงกลาง ออกแบบพื้นที่เป็นวงกลม ใจกลางพื้นที่วงกลมจัดแสดงคอลเลคชั่นล่าสุดของดิออร์ เพดานเหนือพื้นที่วงกลมนี้ทำเป็นกราฟิกรูป 'ดาว' สัญลักษณ์แห่งความโชคดี

รอบพื้นที่วงกลมได้รับการออกแบบเหมือนรังผึ้ง กางกั้นเป็นห้องจัดแสดงสินค้าเป็นสัดส่วน แต่สามารถเดินหมุนวนเข้าไปชมสินค้าได้สะดวกเพราะไม่มีประตู

ห้องจัดแสดงสินค้าแต่ละห้องภายใน Dior Gold House งดงามวิจิตรไปด้วยงานฝีมือชั้นเยี่ยมของ 'ช่างหัตถศิลป์ไทย' จากการออกแบบของ 7 แบรนด์นักออกแบบไทย และแนวคิด Sustainability ความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อระลึกถึงความรักที่มองซิเออร์คริสเตียน ดิออร์ มีต่องานศิลปะทุกแขนง

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส 7 แบรนด์นักออกแบบไทย

เริ่มจาก VVIP Room ห้องรับรองแขกและจัดแสดงเสื้อผ้าโอต์กูตูร์ ห้องนี้ออกแบบการตกแต่งโดย รัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบ กับ ฟิลิปป์ มัวซง (Philippe Moisan) สองผู้ก่อตั้ง Sumphat Gallery (สัมผัสแกลลอรี)

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส VVIP Room ภายใน  Dior Gold House

“ปัจจุบันนี้สิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่าที่สุดสำหรับมนุษยชาติคือเรื่องของ ‘สันติภาพ’ และ ‘ธรรมชาติ’ สำหรับโครงการนี้เราเลือกสองสิ่งที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส คือ เครื่องทองเหลือง ไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส เช่น การหล่อพระในอดีตก็ได้การสนับสนุนจากฝรั่งเศสค่อนข้างมาก ก็นำมาใช้ในการออกแบบตรงนี้ด้วย

ขณะเดียวกันไทยก็มี ช่างสิบหมู่ เกี่ยวกับการดุนลายงานทองเหลือง เราก็นำมาผสมผสาน เมื่อเดินเข้าไปในช็อปเหมือนท่องไปในธรรมชาติ

ส่วนที่สองคือปรัชญาการมองเรื่อง ทองคำ ยุโรปมองในเรื่องของมูลค่า แต่การมองทองของเอเชียเป็นเรื่องของความทรงจำ ผลงานที่เรานำมาใช้ในนี้คือเทคนิคการลงรักปิดทอง

ทองมีความน่าสนใจโดยเฉพาะทองคำเปลว เรามองว่าทองอยู่ตราบกาลนานไม่เปลี่ยนไปไม่สูญสลาย ขณะที่ทองคำเปลวแตะนิดเดียวก็สลายไปในอากาศ เปรียบได้กับความทรงจำ นาทีดีๆ ที่เรามีอยู่ ได้ทำงานกับดิออร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นสั้นๆ เวลาผ่านไปแล้ว แต่ความทรงจำนี้อยู่นิรันดร์กาล” รัฐ เปลี่ยนสุข กล่าวถึงที่มาของผลงาน กรอบกระจกเงางานทองเหลืองรูปทรงลายพรรณพฤกษา อันงดงามภายในห้อง VVIP

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส รายละเอียดกรอบกระจกเงาในห้อง VVIP

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

สองผู้ก่อตั้ง 'สัมผัสแกลลอรี' ตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า Panajon (พเนจร) : Wandering in the Forest จุดประกายจินตนาการถึงการเดินทางท่องเที่ยวสมความหมายของคำว่า “พเนจร” เพื่อสัมผัสและเก็บเกี่ยวแก่นสารแห่งความงดงามใน ‘ความเป็นไทย’ โดยอาศัยการหลอมรวมมรดกหัตถศิลป์พื้นบ้านไทยเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัย

ภายใน VVIP ห้องนี้ยังมีโซฟารูปทรงพิเศษอีก 2 ตัว สร้างสรรค์ขึ้นจาก กระจกสี เป็นผลงานของ เอกรัตน์ วงษ์จริต นักออกแบบเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส เก้าอี้ประดับงานกระจกสีพื้นบ้านไทย

“ตอนแรกที่ได้รับบริฟส์การเบลนด์กันระหว่างดิออร์กับศิลปินในประเทศไทย ผมคิดว่าเราต้องแสดงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ไทยในพื้นที่บริบทฝรั่งเศส นำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบนามธรรม ผู้เห็นจับใจและรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เป็นไทย

ผมนำเส้นสายสถาปัตยกรรมไทยมาทำให้ลื่นไหล เพราะลักษณะไทยไม่ใช่สิ่งที่เป็นเส้นตรง ของเราแสดงออกมาถึงความอ่อนช้อย นำเป็นทรงเก้าอี้ที่รับกับสรีระ

ผมเลือกวัสดุที่เป็นภูมิปัญญาของช่างไทย หนึ่งในช่างสิบหมู่เพิ่มเข้าไปอีกคือกระจกสี ที่เราใช้ติดผนังวัด การทำกระจกสีต้องตัดเป็นชิ้นเล็กกว่าหนึ่งเซนติเมตร

โซฟาแต่ละตัวใช้ช่างหัตถศิลป์ไทย 13 คนในการติดกระจกสีเพื่อให้ทันเวลา มีขั้นตอนขัดผิวให้เรียบ นั่งลงไปแล้วเรียบลื่น ดูมลังเมลืองในสเปซฝรั่งเศส” เอกรัตน์ วงษ์จริต กล่าวถึงการสร้างสรรค์โซฟาที่ดูสงบนิ่งแต่งามสง่าด้วยหัตถศิลป์ประดับกระจกสีพื้นบ้านไทยในบูติกลักชัวรี่แบรนด์ฝรั่งเศส

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส คาเฟ่ ดิออร์ ภายใน Dior Gold House

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส Garden of Happiness งานหัตถศิลป์ไม้ไผ่พื้นบ้านไทย ออกแบบโดย กรกต อารมย์ดี

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

พื้นที่ส่วนหนึ่งภายใน Dior Gold House จัดทำเป็น Café Dior ดูแลของหวานและเครื่องดื่มโดย มอโร โกลาเกรโก (Mauro Colagreco) เชฟสามดาวมิชลิน ภายในคาเฟ่ดิออร์แห่งนี้ออกแบบมิติศิลป์โดย กรกต อารมย์ดี ผู้นำแห่งงานจักสานตอกไม้ไผ่ชื่อดังชาวไทย

ท่ามกลางลวดลายที่มีอยู่มหาศาล ทำไม ‘กรกต’ จึงเลือกสร้างสรรค์ลายเกี่ยวกับธรรมชาติเกี่ยวกระหวัดรัดร้อยเต็มฝาผนังห้อง

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจาก มิสเตอร์คริสเตียน ดิออร์ ที่ลุ่มหลงเกี่ยวกับความงามของธรรมชาติ ผมนำลวดลายเหล่านั้นไปทำงานในลักษณะงานมัด งานผูก งานจักสานไม้ไผ่ และให้ช่างชุมชนทั่วประเทศไทยที่ทำจักสานสร้างรูปทรงเป็นนก ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เพื่อสรรค์ความสุขในรูปทรงต่างๆ ให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าเราจะส่งความสุขเหล่านี้ให้เกิดเป็นไม้ไผ่ที่มหัศจรรย์ครับ”

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส คอลเลคชั่นกระเป๋า "Lady Dior ไม้ไผ่สาน" จำนวน 32 ใบ ผลงานของ สาวิน สายมา

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

เมื่อกล่าวถึงแบรนด์ดิออร์ หนึ่งอัตลักษณ์ที่มาคู่กันคือลวดลาย Cannage (คานนาจ) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์และเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของดิออร์

คานนาจ มีลักษณะคล้ายลายสานบนเก้าอี้ปิดทองสไตล์นโปเลียนที่ 3 ซึ่ง คริสเตียน ดิออร์ สั่งทำเก้าอี้ลายคานนาจไว้บริการลูกค้าได้นั่งพักผ่อนขณะตัดชุดโอต์กูตูร์ ตั้งแต่ปี 1951

ลายคานนาจมีจุดร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกับงานที่ สาวิน สายมา ศิลปินผู้สานต่องานเครื่องแขวนไทยภายใต้แบรนด์ วาสนา (Vassana) ของ อาจารย์วาสนา สายมา นำมาซึ่งอีกหนึ่งความตระการตาท่ามกลางความงามสง่าของ Dior Gold House

นั่นก็คือ คอลเลคชั่นกระเป๋า Lady Dior ไม้ไผ่สาน จำนวน 32 ใบ ผลงานของ สาวิน สายมา บุตรชายอาจารย์วาสนา กระเป๋าแต่ละใบสะท้อนถึงแรงบันดาลใจอันได้จากความงดงามระหว่างจังหวะผลิกลีบบานของมวลดอกไม้ เพื่อสื่อถึงช่วงเวลาอันเปี่ยมคุณค่า ความหมาย หรือความพิเศษในชีวิตที่พร้อมจะผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผ่านความหลากหลายรูปทรงในรายละเอียดของงานออกแบบ ซึ่งเกิดจากงานหัตถศิลป์ไทย

“ลายคานนาจเหมือนวัฒนธรรมร่วม ที่ฝรั่งเศสก็มีปรากฏในงานศิลปะของเขา บ้านเราก็มีเช่นกัน การที่เขานำลวดลายประวัติศาสตร์ของเขามาทำเป็นอินสตอลเลชั่น ซึ่งแบรนด์วาสนาก็ใช้ลวดลายอย่างไทยมาทำซ้ำและทำเพิ่ม” สาวิน กล่าว

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส Elephant Jardin เก้าอี้รอยเท้าช้าง โดย บุญเสริม เปรมธาดา

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

ภายนอก Dior Gold House ได้รับการตกแต่งเป็นสวนพันธุ์ไม้ตามความหลงใหลในเรื่องธรรมชาติซึ่งอยู่ในสายเลือดของ มองซิเออร์คริสเตียน ดิออร์

ท่ามกลางใบไม้และดอกไม้มีสิ่งที่ดูราวงานประติมากรรม นั่นคือ เก้าอี้ไร้พนัก เป็นผลงานการออกแบบและจัดทำโดย บุญเสริม เปรมธาดา ศิลปินและสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Bangkok Project Studio เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นเก้าอี้ไร้พนักตัวนี้มีลักษณะของ ‘รอยเท้าช้าง’

“คนไทยมีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่อดีต ในเรื่องวัฒนธรรม ช้างกับคนปรากฏทั้งในงานจิตรกรรม งานประเพณี งานวัฒนธรรมต่างๆ ช้างได้รับการนำมาเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรในความหมายที่ดี

สิ่งหนึ่งที่เราไม่รู้คือว่า ช้างเป็นสัตว์ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความหมายที่มนุษยชาติควรให้ความสำคัญ” บุญเสริมให้เหตุผลทำไมจึงนำ ‘ช้าง’ มานำเสนอในงานออกแบบเพื่อ Dior Gold House

เก้าอี้ไร้พนักตัวนี้ยังสร้างจาก วัสดุมูลช้าง อีกด้วย “ผมทำโครงการโลกของช้างตั้งแต่ปี 2015 ที่หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ เห็นปัญหามาโดยตลอด ปัญหาหนึ่งที่เราพยายามแก้ไข ช้างเป็นสัตว์กินพืชกินหญ้าเป็นหลัก ตอนขาดแคลนอาหาร เกิดปัญหาเราจะไปหาอาหารให้ช้างที่ไหน

ผมก็เลยคิดว่า มูลช้างเป็นสิ่งที่น่าไปทำเป็นวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และนำเงินไปซื้ออาหารช้าง วัสดุมูลช้างไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิลอัพไซเคิล แต่คือ ไลฟ์ไซเคิล ให้ทั้งคนและช้างและเศรษฐกิจต่างๆ หมุนเวียนต่อไปได้ เก้าอี้จึงมีความงาม ความหมาย และมีมนุษยธรรม” บุญเสริม กล่าวและตั้งชื่อให้กับเก้าอี้รอยเท้าช้างนี้ว่า Elephant Jardin

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส Tuk Tuk the New Look ออกแบบรายละเอียดโดย ศรัณย์ เย็นปัญญา

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส

รถตุ๊กตุ๊กไทย กลายเป็นสัญลักษณ์ภาพจำศิลปะไทยร่วมสมัย ถูกผลิตซ้ำในสื่อหลากหลายรูปแบบทั้งศิลปะและแฟชั่น รถตุ๊กตุ๊กในเวอร์ชั่นดิออร์ก็มีเช่นกัน เป็นผลงานการออกแบบของ ศรัณย์ เย็นปัญญา จาก 56th Studio

“ตุ๊กตุ๊กมีในอีก 30 วัฒนธรรมทั่วโลก แต่สิ่งพิเศษของตุ๊กตุ๊กไทยคืออารมณ์ขันและซิลูเอทบางอย่าง ผมใช้พิมพ์เขียวเดียวกันแต่เปลี่ยนวัสดุ” ศรัณย์ กล่าว

โดยถ่ายทอดเอกลักษณ์ทุกองค์ประกอบของรถตุ๊กตุ๊กไทยอันเป็นที่รู้จักในระดับสากล แต่รังสรรค์ด้วยการใช้วัสดุ ‘กกและหวาย’ ผ่านการหัตถกรรมจักสานพื้นบ้านไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความประณีตพิถีพิถันทุกรายละเอียด เช่น เบาะที่นั่งเป็นเสื่อจากจันทบูร หลังคา-กระจังหน้าทำด้วยหวายสาน

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส สิงโต และ ยูนิคอร์น ถักจาก Cable Tie ที่ถูกตัดทิ้ง ผลงานโดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ 

ภายในสวนพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้นยังมีประติมากรรมอันงดงามอีก 2 ชิ้น ได้แก่ สิงโต และ ยูนิคอร์น สีขาวบริสุทธิ์ เป็นผลงานการออกแบบและจัดทำโดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินชื่อดังผู้เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ ข้าวของทิ้งขว้างและขยะ มาเป็นงานศิลปะ

“การคอลลาบอเรชั่นกันดิออร์ครั้งนี้เปรียบเสมือนการยกระดับวัสดุเหลือใช้หรือขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าราวกับทองคำ” วิชชุลดา กล่าว

สิงโตและยูนิคอร์นทำจากสายเคเบิลสำหรับมัด (Cable Tie) ที่ถูกตัดทิ้งแล้วจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง นำมาถักแล้วขึ้นรูปเป็นตัวสิงโตและยูนิคอร์น แล้วหุ้มด้วยเศษผ้าที่ทำให้กันน้ำได้ ประดับลูกแก้วใสและขนไก่จากลูกแบดมินตันที่ตีไม่ได้แล้ว วิชชุลดากล่าวถึงวัสดุตั้งต้นแล้วปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นผลลัพธ์นี้ได้อย่างไร

“สิงโตและยูนิคอร์น สัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ สิงโตเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์วรรณคดีของไทย และยูนิคอร์นเป็นสัตว์ในนิทานพื้นบ้านยุโรป การผสมผสานระหว่าง 2 สัญชาติ ที่ถูกพันธนาการด้วยเศษซากอุตสาหกรรม สะท้อนความเปราะบางของธรรมชาติและสัตว์ป่า ผลงานสีขาวบริสุทธิ์ สื่อถึงความไร้เดียงสาที่ถูกคุกคาม ผลงานตั้งคำถามถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเชื้อเชิญให้ผู้ชมตระหนักต่อการกระทำของตนเอง”

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส โซฟาทำจากปลายผ้าที่เป็นรู นำมาถักสาน

วิชชุลดายังมีผลงานอีก 1 ชิ้น คือ โซฟายาวพนักตรงกลางรูปตัวเอส ตั้งอยู่ในห้องจัดแสดงรองเท้าภายใน Dior Gold House

โซฟาตัวนี้ทำยจากปลายผ้าที่เป็นรูๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปตัดเสื้อ มาถักสานเป็นสองลาย คือลายปลาตะเพียน กับลายเปีย คุมโทนสีขาวกับสีที่แสดงถึงความเป็นดิออร์ สวยงามและน่านั่ง ดูไม่ออกเลยว่าทำจากของเหลือทิ้ง

“การคอลลาบอเรชั่นครั้งนี้ไม่เพียงยกระดับหรือนำเสนอความเป็นศิลปะไทยร่วมกับดิออร์ แต่เป็นการบอกทุกคนว่า เราทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ วันนี้วัสดุเหลือใช้ได้รับการยกระดับขึ้นมาเทียบเท่าวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่สร้างขึ้นใหม่” วิชชุลดา กล่าว

Dior Gold House คือบทบรรจบทางความเป็นเลิศระหว่างฝรั่งเศสกับไทย โดยอาศัยความกล้าทางจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทุกมุมโลกได้ประจักษ์ถึง

หัตถศิลป์ไทยและความคิดสร้างสรรค์นักออกแบบไทย

Dior Gold House วิจิตรงานหัตถศิลป์ไทยในบริบทฝรั่งเศส ดวงดาวแห่งโชค มองจากด้านบนของ Dior Gold House