รวมภาพฉลองพระองค์ทรงงานผ้าไทย เฉลิมพระเกียรติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 38 พรรษา
เปิดสมุดภาพประวัติศาสตร์ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 8 ม.ค.68 บันทึกการเสด็จลงพื้นที่ทรงงานผ้าไทยในทุกด้านตลอด 4 ปี รวม 40 ครั้ง พร้อมฉลองพระองค์ผ้าไทย แรงบันดาลใจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ Sustainable Fashion
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ตลอดจนการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มาเป็นแนวทางในการหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนคนไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน งานหัตถศิลป์-หัตถกรรม เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมีความสนพระทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยการตามเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกหนแห่ง
พื้นที่ที่เสด็จนั้นล้วนแต่มีความยากลำบาก ทำให้ได้ทรงซึมซับและหล่อหลอมให้เป็น "เจ้าฟ้าหญิงนักพัฒนา"
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จไปทรงงานผ้าไทย ณ จังหวัดสกลนคร
เมื่อทรงเจริญวัย เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จไปทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการ coaching หรือ มอบคำปรึกษาและคำแนะนำ ทำให้ประชาชนคนไทยในทุกถิ่นที่ได้มีความอยู่ดี กินดี มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงในการเลี้ยงดูจุนเจือตนเอง และครอบครัวให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า
"ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
ซึ่งเป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
พระปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด “ภูมิปัญญาผืนผ้าและหัตถศิลป์ไทย”
โดยเสด็จ 'สมเด็จย่า' ของพระองค์ ทรงงานเพื่อผ้าไทย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถศิลป์ไทย ให้เป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชนชาวไทย
พระองค์โดยเสด็จ ‘สมเด็จย่า’ ของพระองค์ ไปทรงเยี่ยมสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในภูมิภาคต่างๆ มาแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
ทรงรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของผืนผ้าที่ถักทอขึ้นอย่างประณีต ด้วยสมองและสองมือของชาวนาชาวไร่ยามว่างเว้นจากฤดูการเกษตร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมรดกกทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรค่าแก่การรักษาไว้
ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน ฉลองพระองค์คลุมและฉลองพระองค์ชุดกระโปรง โดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมบาติก เสด็จไปทรงงานที่จังหวัดพัทลุง, 4 ก.พ.2566
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานขวัญกำลังใจแก่ ช่างทอผ้า และ สมาชิกกลุ่มทอผ้า ในจังหวัดต่างๆ เสมอ
พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับ การฝึกอบรม และการพระราชทาน องค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ทรงริเริ่มงานพัฒนาลายผ้าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มทอผ้าด้วยการพระราชทาน ผ้าลายพระราชทาน (The Royal Fabric Patterns) ลวดลายร่วมสมัย อาทิ ผ้ามัดหมี่ลายพระราชทาน ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ, ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และล่าสุดคือ ลายสิริวชิราภรณ์ ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากลวดลายโบราณพื้นถิ่น
แต่ละลายเปี่ยมความหมายลึกซึ้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ช่างทอผ้าและชุมชนอย่างยั่งยืน
17 ส.ค.2565 เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ องค์หัวหน้าภัณฑารักษ์ เฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรง โดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ปักประดับลูกปัด
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบแฟชั่นดีไซเนอร์แถวหน้าของประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ก่อตั้งคณะทำงานโครงการตามแนวพระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อร่วมบูรณาการองค์ความรู้เป็นการเฉพาะ
รวมทั้งมอบคำปรึกษาและคำแนะนำแก่ช่างทอผ้า ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ ครุ่นคิด สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกโอกาส ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทูลเกล้าฯ ถวาย “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 : Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2565 โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ชุดกลางวันโดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่
ทั้งทรงพระกรุณาออกแบบและพระราชทาน “เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน” Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน (The Royal Certification Mark for Fashion and Handicraft Products “Sustainable Fashion”) แก่ช่างทอผ้าช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นร่วมสมัย หากคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกิดเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ชุบชีวิตภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมไทยที่กำลังจะเลือนหาย ให้กลับมามีที่ยืนบนโลกยุคใหม่ได้อย่างภาคภูมิ
ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน : ห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเปลือกนอก จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต้นแขนตกแต่งด้วยลูกไม้ มุกและลูกปัด เป็นกลีบดอกรักราชกัญญา และประดับนกยูงตราสัญลักษณ์แบรนด์ SIRIVANNAVARI ปักซอยแบบโบราณด้วยไหมน้อยประดับลูกปัดลงบนผ้าไหมแก้วเป็นลวดลายบาติกพระราชทาน “ปาเต๊ะรวมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” ปักโดย นางสุภัทรา ทองรมย์ ครูสอนปักผ้าค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ทรงในโอกาสเสด็จไปทรงเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรมตัดสินรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ณ ไอคอนสยาม (31 ต.ค.2566)
เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการตามรอย “ในหลวงรัชกาลที่ 9” และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนิทรรศการความเป็นมาของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม จ.นครพนม เมื่อ 23 ม.ค.2565 โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์โดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมแพรวาและผ้าไหมพื้น
เสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดงาน “สืบสานใจ หัตถศิลป์ไทย สู่สากล” ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ 29 ก.ค.2565 โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ชุดประโปรงโดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตัดต่อลายบนผ้าไหมเปลือก
สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 38 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2568
กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำ สมุดภาพประวัติศาสตร์ “สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy” เฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา เพื่อเผยแพร่ พระวิสัยทัศน์ และ พระอัจฉริยภาพ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทย ให้มีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านแนวคิด “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน : Sustainable Fashion”
ทอดพระเนตร “นิทรรศการผ้าโบราณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และในโอกาสพระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ณ บ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี และทอดพระเนตร “นิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ชุดสากลโดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากพระภูษาผ้าไหมพื้นสีขาว ปักรูปดอกลิลลี่ ออฟ เดอะ วัลเลย์ (22 ก.พ.2567)
นาย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการจัดพิมพ์หนังสือ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" คือ
1.เป็นการถวายพระกำลังใจแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถและพระราชทานแนวทางให้คนมหาดไทย ได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดี ผู้ทำหน้าที่อำนวยประโยชน์อำนวยสุขและอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนคนไทย อันเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้ร่วมกันทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" อย่างยั่งยืนสืบไป
ฉลองพระองค์ชุดสากล : โดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ปักรูปช้าง ทรงให้โอกาสเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ Colors of Buriram และทอดพระเนตรงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ (18 มี.ค.2567)
2.ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติโดยรวม ทั้งการจารึกแนวทางการสนองพระดำริของพระองค์เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่และอนุชนคนรุ่นหลังว่า เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงมีแนวทางการทรงงานเพื่อทำให้คนปรับเปลี่ยนทัศนคติและความรู้ความเข้าใจแต่เก่าก่อนให้ได้รับการปรับกลวิธี แนวทาง วัสดุอุปกรณ์ ด้วยความอดทน เพื่อพัฒนาชิ้นงานให้เกิดความเป็นเลิศ
ในแง่ประวัติศาสตร์บ้านเมือง จำเป็นต้องมีการจดจารจารึกไว้ เพื่อไม่ให้สิ่งดี ๆ ที่พระองค์พระราชทานไว้นั้นต้องลบหายลางเลือนไป
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
"...ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี...แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้...”
กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ให้กับข้าราชการและประชาชนคนไทยทุกคน เป็น "จดหมายเหตุ" บันทึกเรื่องราว ทำให้เราสามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ได้สะดวก รวดเร็ว ง่ายดายขึ้น อย่างยั่งยืน
เสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “เพียรสาน..งานศิลป์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 ส.ค.2565 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงโดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าไหมแต้มหมี่
เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา โอกาสนี้ทรงฉลองพระองค์ผสมผสานรูปแบบชุดย่าหยา โดยห้องเสื้อธีระพันธ์ ตัดเย็บจากผ้าบาติก ผ้าไหมพื้นและผ้าลูกไม้
นาย ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า หนังสือ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy" เป็นการจดจารจารึกบันทึกการเสด็จทรงงานในทุกด้านตลอด 4 ปีรวม 40 ครั้ง ซึ่งเป็นพระกรุณาคุณที่พระองค์ทรงพระเมตตาแก่กระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงไป coaching การประกวดผ้า
“ซึ่งเราได้ลงพื้นที่ถึงใต้ถุนบ้าน โดยมีข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำงานเคียงข้างกับคณะทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ
ทุกปีจะมีเรื่องราวที่สนุกสนาน เป็นความทรงจำที่ดีที่พวกเราทุกคนได้ร่วมถวายงานพระองค์ท่าน จนทำให้พี่น้องช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจนถึงปัจจุบัน
ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน ซึ่งจุดเด่นที่พวกเราสัมผัสได้ถึงน้ำพระทัยอันใหญ่ยิ่ง คือ เราจะเห็นได้ว่าอะไรที่มาจากประชาชน พระองค์ท่านจะทรงโปรดและประทับและตรัสถามพูดคุยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะตรัสถามเสมอว่า "เมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก"
ฉลองพระองค์แบบสากล พระภูษาทรงจากห้องเสื้อเธียเตอร์ โดยนายศิริชัย ทหรานนท์ ตัดเย็บจากผ้ามัดหมี่ลายต้นสนนารี ทรงในการเสด็จไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ และทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร (24 ม.ค.2566)
นาย ศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการแบรนด์เธียเตอร์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านแปรรูปและออกแบบตัดเย็บที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการและช่างทอผ้าทั่วประเทศ
“จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน เราจะเจอทั้งกลุ่มใหม่บ้าง และกลุ่มเก่าบ้าง ซึ่งเราได้รับ feedback ว่า เมื่อนำไปปรับปรุงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ดีขึ้น” ดีไซเนอร์ศิริชัยกล่าว
ฉลองพระองค์ชุดสากล : ห้องเสื้อ wisharawish โดยนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ตัดเย็บจากผ้าไหมบาติกย้อมสีธรรมชาติโดย รายาบาติก จังหวัดปัตตานี และกลุ่มศิวะนาฏ กนกไทย จังหวัดพัทลุง ทรงในโอกาสเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จังหวัดปัตตานี (24 ม.ค.2567)
ฉลองพระองค์ชุดกระโปรง : ห้องเสื้อธีระพันธ์ โดยนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ออกแบบแฟชั่น) พ.ศ.2562 ตัดเย็บจากผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ประดับลูกไม้ ทรงในโอกาสเสด็จไปเป็นประธานเปิดโครงการ “Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี (29 พ.ย.2566)
ฉลองพระองค์แบบสากล : ห้องเสื้อธีระพันธ์ โดยนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ออกแบบแฟชั่น) พ.ศ.2562 พระสนับเพลาจากห้องเสื้อ SIRIVANNAVARI ตัดเย็บจากผ้าชาวไทยภูเขาและผ้าขนสัตว์ ทรงในการเสด็จไปทอดพระเนตรการจัดการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย (11 ก.พ.2566)
ศิริชัย ทหรานนท์, ธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ, ดร.ศรินดา จามรมาน, ภูภวิศ กฤตพลนารา, พิธีกร
ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ นักการทหาร และศิลปิน ซึ่งพระองค์มีพระกรณียกิจเยอะมาก ดังนั้น เวลาทรงงานบนโต๊ะทรงงานถือเป็นเวลาที่มีค่า จึงจะทรงเข้มงวด และทรงดุ เพราะทรงย้ำเสมอว่า จะเป็นการดึงสติให้ทุกคนได้ฟังและจดจ่อกับงานตรงหน้า ขอให้ฟังแล้วทำตาม "ผลงานต้องสวยและคุณภาพดีด้วย" ซึ่งในปีถัดมา ทุกคนต่างกลับมาทูลถวายรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า ขายดีขึ้นมาก
สมุดภาพ "สิริราชกัญญานารีรัตน์ Thai Craft Wisdom Legacy"
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 38 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2568 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด E-book สมุดภาพประวัติศาสตร์ “สิริราชกัญญานารีรัตน์” ได้ที่ หนังสือเฉลิมพระเกียรติ 38 พรรษา