7 อันดับ "เทรนด์ความงาม" คนไทยสนใจมากสุด
WGSN เผย 7 อันดับเทรนด์ความงามในประเทศไทย คาดตลาดความงามยังโตได้ 5.4% ด้วยกลยุทธ์หลัก ตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใส ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เน้นวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ และการดูแลความงามแบบองค์รวม "ผมร่วง" เป็นปัญหาด้านความงามใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทย
หลายคนมักคิดว่า “ความงาม เป็นเรื่องผิวเผิน” ความงามเป็นเรื่องของสังขาร เมื่อสังขารไม่เที่ยง ทุ่มเทปรุงแต่งไปสุดท้ายก็เท่านั้น แต่ระหว่างทางที่สังขารกำลังเดินทางไปสู่จุดไม่เที่ยง กลับสร้างมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล
Statista เว็บไซต์สำรวจและวิจัยตลาด พบสถิติว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ ครัวเรือน และ การดูแลส่วนบุคคล ของ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีมูลค่าถึง 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 16% ต่อปีในช่วงปี 2565-2569
ขณะที่ผลการวิจัยเชิงลึกของ WGSN (World Global Style Network) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์ การจัดอันดับเทรนด์ความงาม “ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จากการคาดการณ์แนวโน้มของผู้บริโภคในช่วง 18-24 เดือน พบว่า สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในเอเชียให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อินเดีย ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ “ความปลอดภัยและความเป็นของแท้ของผลิตภัณฑ์” เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าลอกเลียนแบบและกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นอันตราย
ผลิตภัณฑ์สำหรับ "ปัญหาผิวขาดน้ำและผมร่วง" ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน จึงเป็นที่ต้องการและเปิดโอกาสให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกก้าวเข้ามาเติมเต็มตลาดที่ยังขาดแคลนผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้
สำหรับ ผู้บริโภคในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ สุขภาพผิว เป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสนใจ เวชสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่สะอาดและเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังกังวลเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีนวัตกรรมที่น่าเชื่อถือ และมีจริยธรรม
WGSN ยังเผย 7 อันดับเทรนด์ความงามที่คนไทยให้ความสำคัญสูงสุด สรุปได้พอสังเขป ดังนี้
1) การตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใส: อย่างที่กล่าวไปว่า "สุขภาพ" คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภคชาวไทย สูตรผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน การศึกษาก็มีความสำคัญเช่นกัน ผู้บริโภคชาวไทยพยายามเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับส่วนผสมต่างๆ มากขึ้น
เนื่องจากใน 70% ของผู้บริโภคชาวไทย มีความรู้เกี่ยวกับส่วนผสมสำคัญ เพียง 3 ใน 10 อย่างเท่านั้น และหวังว่าผู้ค้าปลีกจะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างทางความรู้นี้
2) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เน้นวิทยาการทางวิทยาศาสตร์: แบรนด์ความงามที่ได้รับการสนับสนุนจากแพทย์ผิวหนังจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากความเชี่ยวชาญและการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์
นอกจาก สูตรผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดแล้ว ส่วนผสมจากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ก็เริ่มได้รับกระแสความนิยมเพิ่มขึ้น
3) การดูแลความงามแบบองค์รวม: กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่เพิ่มมากขึ้นยังคงแสวงหาการดูแลความงามตั้งแต่หัวจรดเท้าและผลิตภัณฑ์ดูแลตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะ" ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก "ผมร่วง" เป็นปัญหาด้านความงามที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทย
4) ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ: ระดับความเครียดและความเหนื่อยล้าที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำมันนวด แช่เท้า เทียนหอม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและร่างกายผสมอโรมาเธอราพี ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย
ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อ "ทรีตเมนต์แบบมืออาชีพ สปา และการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ" ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ประเภทลดริ้วรอย (anti-aging) จึงเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับแบรนด์และผู้ค้าปลีก ในขณะเดียวกัน ครีมและโลชั่นกันแดด ยังคงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเขตร้อนที่ต้องเผชิญกับแสงแดดตลอดทั้งปี
5) ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทุกเพศและผลิตภัณฑ์สำหรับเพศใดเพศหนึ่ง: ผู้ชายไทยกำลังพัฒนาความต้องการทางสินค้าและบริการด้านความงามที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและซับซ้อนขึ้น ในขณะที่ "ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทุกเพศ" คาดว่าจะได้รับความนิยมสูงขึ้น
ผู้บริโภคที่มีความรู้ในผลิตภัณฑ์ต่างกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสูตรเฉพาะที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้อย่างตรงจุดมากกว่าการมองหาสินค้าสำหรับเพศใดเพศหนึ่ง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นเสมือนบ้านสำหรับ "ชุมชนคนข้ามเพศ" จำนวนมาก ผลิตภัณฑ์สำหรับ "ปัญหาผิวขาดน้ำและผมร่วง" ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน จึงเป็นที่ต้องการและเปิดโอกาสให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกก้าวเข้ามาเติมเต็มตลาดที่ยังขาดแคลนผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้
6) การทดลองซื้อ: จำนวนผู้มีเงินจับจ่ายใช้สอย และการใช้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจในนวัตกรรมเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 81 วางแผนที่จะใช้จ่ายมากขึ้นหรือเท่าเดิมกับความงาม โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ๆ ที่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี
นอกจากนี้ แบรนด์ในประเทศยังใช้ประโยชน์จากความภูมิใจในอัตลักษณ์ของประเทศ โดยใช้ศิลปะ อาหาร และมรดกไทยเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์
7) การคำนึงถึงชุมชน: ผู้บริโภคชาวไทยที่มีสำนึกต่างมองหาแบรนด์ที่เติมเต็มความเชื่อในสังคมที่ดีกว่าวันนี้และวันวาน (Protpian) เพื่อสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นและโลกใบนี้ รวมถึงตัวพวกเขาเอง ตัวอย่างเช่น แบรนด์ความงามจากฟาร์มสู่ผิว (farm to face) แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ใช้ทุกส่วนของมะรุม ทั้งใบ กิ่ง และเมล็ด โดยไม่ทิ้งส่วนใดไว้เป็นขยะ
มะรุมได้รับการเก็บเกี่ยวแบบออร์แกนิกเป็นชุดเล็กๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินทำงานหนักจนเกินไป และช่วยให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมสำหรับครอบครัวของคนในท้องถิ่นที่แบรนด์เป็นพันธมิตรด้วย
คริสติน ชัว นักวิเคราะห์ด้านความงามของ WGSN ระบุว่า โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีของผู้บริโภคชาวไทยกับการค้นพบแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และด้วยจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ประเภทลดริ้วรอย (anti-aging) จึงเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับแบรนด์และผู้ค้าปลีก ในขณะเดียวกัน ครีมและโลชั่นกันแดด ยังคงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเขตร้อนที่ต้องเผชิญกับแสงแดดตลอดทั้งปี
Statista ระบุด้วยว่า เฉพาะปี 2565 ตลาดความงามในไทย มีมูลค่า 5.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate) 5.4% ในช่วงปี 2565-2569