‘Chaksarn’ แบรนด์กระเป๋าฝีมือคนไทย สุดปัง! จาก ‘เสื่อกก’
กระเป๋าสานถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สร้างรายได้ให้ชุมชน แต่สำหรับแบรนด์ “Chaksarn (จักสาน)” มีเป้าหมายไปไกลมากกว่านั้น เพราะต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมอีสานด้วย “เสื่อกก” และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ก่อนไปไกลในตลาดโลก
หลายคนคงรู้จักและคุ้นเคยกับ “กระเป๋าสาน” เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย แต่ที่ผ่านมากระเป๋าสานทั่วๆ ไปยังมีดีไซน์ให้เลือกน้อย และไม่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ไม่ใช่กับแบรนด์ “จักสาน” หรือ “Chaksarn” กระเป๋าสานที่ทำมาจาก “เสื่อกก” และผ้าทอมือจากภาคอีสานของ “จิรวัฒน์ มหาสาร” อดีตพนักงานออฟฟิศที่ผันตัวมาสร้างแบรนด์กระเป๋าแฮนด์เมดสัญชาติไทย มีดีไซน์และสีสันสะดุดตา แต่ยังไม่ละทิ้งวัฒนธรรมอีสานที่กลายเป็นจุดขายในเวลาต่อมา
“จักสาน” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ก่อตั้งและดำเนินกิจการโดยคนไทย มีความโดดเด่นในการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำกระเป๋า นอกจากนี้ยังส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นให้ชาวบ้านได้มีงานทำในจังหวัดบ้านเกิด และล่าสุด “จิรวัฒน์” ก็เตรียมแตกไลน์สินค้าประเภทเสื้อผ้าเพิ่มออกมาอีก รวมถึงเตรียมตัวขยายเข้าสู่ตลาดระดับโลก กรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับจิรวัฒน์ตั้งแต่เรื่องของแรงบันดาลใจในการก่อตั้งแบรนด์ ไปจนถึงแผนงานที่อยากทำต่อไปในอนาคต
จิรวัฒน์ มหาสาร และกระเป๋าแบรนด์ Chaksarn
- “เสื่อกก” สู่ “Chaksarn” เมื่ออดีตพนักงานออฟฟิศ หันมาสร้างแบรนด์กระเป๋า
“เสื่อกก” คือหนึ่งในภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่พบเห็นได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน เป็นการนำต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี และสานทอให้เป็นผืนเพื่อใช้รองนั่งหรือนอน ไปจนถึงใช้งานในพิธีกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อ
จึงเรียกได้ว่า “การทอเสื่อกก” เป็นหนึ่งในอาชีพของคนในภาคอีสานที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นสินค้าที่นิยมใช้กันในครัวเรือนชาวอีสาน และแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ล่าสุด “เสื่อกก” กลายมาเป็นแฟชั่นที่จับต้องได้ และเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนเนื่องจากเป็นสินค้าแฮนด์เมดที่ต้องอาศัยความประณีตในทุกขั้นตอน โดย “จิรวัฒน์ มหาสาร” ผู้ก่อตั้งแบรนด์จักสานได้มองเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเสื่อกกด้วยการเปิดตัวเข้าสู่วงการแฟชั่น และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
“แรงบันดาลใจแรกที่มาทำแบรนด์ก็คือ ส่วนตัวหลงใหลและชื่นชอบในตัวเสื่อกกลายขิดในท้องถิ่น ปกติชาวบ้านใช้แค่ปูนั่งในครัวเรือน มีมูลค่าแค่ด้านเดียว เลยมองว่าน่าจะมีอย่างอื่นที่เสื่อกกสามารถเป็นได้ สร้างมิติใหม่ มูลค่าใหม่ เห็นว่าเป็นช่องว่างที่ควรนำมาพัฒนาเป็นสินค้าให้คนเห็นคุณค่ามากขึ้น” จิรวัฒน์เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ “จักสาน”
สำหรับจิรวัฒน์นั้นเคยเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน และมีความรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานในแต่ละวัน รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน อยากทำอะไรที่มีความหมายมากกว่านี้ จึงลาออกเพื่อตามหาตัวตนของตัวเอง ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เรียนต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ก็เกิดไอเดียอยากสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา
ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนอีสานมาจากจังหวัดมหาสารคาม รู้สึกประทับใจในวิถีชีวิตบ้านเกิด จึงอยากทำอะไรที่ใกล้ตัวและมีความรู้ในด้านนั้นมากพอ จึงทำให้เกิดเป็นแบรนด์จักสาน กระเป๋าที่ทำจากเสื่อกกขึ้นมา โดยจิรวัฒน์ระบุว่าไม่ได้เป็นเพียงการทำงานที่ตนเองรักเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างงานให้ชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย
ทีมงานส่วนหนึ่งของแบรนด์ Chaksarn
แต่การเริ่มสร้างแบรนด์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากตัวเขาเองไม่ได้เรียนจบทางด้านออกแบบแฟชั่นมา ทำให้ต้องไปเรียนด้านการดีไซน์เพิ่มเติม ต้องเรียนรู้การทอเสื่อกกให้ละเอียดขึ้นในทุกขั้นตอนโดยมีคุณแม่คอยสอน หลังจากนั้นก็เริ่มออกแบบลวดลายและแพทเทิร์นกระเป๋าเอง ไปจนถึงติดต่อโรงงานและหาแรงงานจากชุมชน เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มจากศูนย์ก็ว่าได้ แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ทำให้ “จักสาน” เดินทางเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ
- ทำไมเพียง 5 ปี แบรนด์ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระเป๋าแบรนด์ “จักสาน” มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ต่างจาก “กระเป๋าสาน” ที่มีอยู่เดิมในท้องตลาดก็คือ การนำเสื่อกกมาเป็นวัสดุหลัก เพราะส่วนมากแล้ววัสดุที่ผู้ประกอบการรายอื่นใช้กันทั่วไปคือ เสื่อกระจูด ผักตบชวา และย่านลิเภา ทำให้ได้รับความสนใจในความแปลกใหม่สะดุดตา
สำหรับราคาของกระเป๋าแบรนด์จักสานจะอยู่ที่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยจิรวัฒน์ให้เหตุผลการตั้งราคาที่สูงกว่ากระเป๋าสานเจ้าอื่นๆ ในท้องตลาดนั้น ก็เพราะว่าต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้กระเป๋าแบรนด์ที่มีราคาประมาณนี้อยู่แล้ว และต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กระเป๋าสานว่ามีคุณค่าคู่ควรต่อการซื้อ
กระเป๋า Chaksarn รุ่น Mini Krathip
แม้ว่าราคากระเป๋าที่แพงที่สุดของแบรนด์จะสูงถึง 22,900 บาท แต่ก็ขายหมดในเวลาไม่นาน เพราะลูกค้ามองว่าเป็นราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพ ทำให้ยินดีที่จะจ่ายเงิน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกการเปลี่ยนความคิดของลูกค้าก็เป็นเรื่องยากเพราะผู้บริโภคยังไม่ชินกับกระเป๋าสานที่มีราคาสูง แต่เมื่อลูกค้าเข้าใจก็กลายเป็นเรื่องง่ายในการขายและการทำการตลาด
จักสานใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงแฟชั่น นอกจากความสวยงามของสินค้าแล้ว การตลาดและการนำเสนอเรื่องราวของสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะขั้นตอนในการผลิตกระเป๋าหนึ่งใบที่ต้องเริ่มจากการออกแบบ นำต้นกกมาแปรรูป นำมาทอเป็นผืนเสื่อ และการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ลูกค้าเต็มใจอุดหนุน
“เรามีเรื่องราวความเป็นมาของเสื่อ จากต้นกก มาเป็นกระเป๋า ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง และเรามีดีไซน์แปลกใหม่ เน้นคุณภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง เห็นแล้วไม่ดูเชย เปลี่ยนดีไซน์ให้ทันสมัยมีความเป็นวัยรุ่น ถือแล้วไม่เคอะเขิน” จิรวัฒน์กล่าวถึงจุดเด่นของกระเป๋าแบรนด์จักสาน
อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้จักสานกลายเป็นกระแสขึ้นมาก็คือ การตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการนำเสนอสินค้าด้วยตัวของจิรวัฒน์เอง ทั้งเป็นพรีเซนเตอร์ และสร้างคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย จนเกิดการส่งต่อกันในโลกออนไลน์ รวมถึงการพูดแบบปากต่อปาก ทำให้สินค้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
กระเป๋า Chaksarn รุ่น Tally
กระเป๋า Chaksarn รุ่น Mini Candy
- เมื่อกระเป๋าเสื่อกก “แบรนด์ไทย” เตรียมเฉิดฉายในระดับ “อินเตอร์”
แม้ว่าในปัจจุบันจักสานยังเน้นกลุ่มลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมดที่ต้องทำด้วยมือทุกขั้นตอน ทำให้ยังไม่สามารถผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากในเวลาสั้นๆ ได้ สินค้าส่วนใหญ่จึงมีจำนวนจำกัดเพียงรุ่นละไม่กี่ชิ้นเท่านั้น และแน่นอนว่าขายหมดในเวลารวดเร็ว แต่จิรวัฒน์ก็มีความฝันว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องพาแบรนด์ไทยไปสู่ระดับโลกให้ได้
สิ่งที่จิรวัฒน์อยากให้ไปสู่สายตาคนทั่วโลกพร้อมกับแบรนด์ “จักสาน” คือ การทำให้คนทั่วโลกได้มองเห็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยอีสานแบบจับต้องได้ ต้องการให้คนต่างชาติที่คิดถึงกระเป๋าสานที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาตินึกถึง “ประเทศไทย” เป็นที่แรก
จิรวัฒน์ มหาสาร และกระเป๋าแบรนด์ Chaksarn
สำหรับข้อจำกัดในเรื่องของกระบวนการผลิตนั้นทางแบรนด์เองก็อยู่ระหว่างเตรียมตัวให้พร้อมเข้าสู่ตลาดสากล โดยเพิ่มการจ้างงานในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ได้มีอาชีพ ซึ่งจิรวัฒน์มองว่าเป็นหนึ่งในวิธีกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เพราะปัจจุบันแบรนด์มีช่างทอกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ เป็นต้น
นอกจากขยายช่องทางการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดโลกแล้ว “เสื้อผ้า” ก็เป็นอีกหนึ่งไลน์สินค้าที่ “จักสาน” กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมเปิดตัวเป็นสินค้าใหม่ในอนาคต
เรียกได้ว่าเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับกระเป๋าแฮนด์เมดสัญชาติไทยที่นำ “เสื่อกก” หนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่จนสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้น และยังช่วยสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าหาก “จักสาน” สามารถตีตลาดโลกได้ไม่แพ้แบรนด์สัญชาติอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด และจะเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทำให้นานาชาติรู้จักความเป็นไทยได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูล : Chaksarn และ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม