“กรุงเทพเมืองแฟชั่น” คือ “Soft Power”โดยแท้
เมื่อ 20 ปีก่อน บ้านเรามี “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” (Bangkok Fashion City : BFC) ที่ฮือฮาไปไกลถึงยุโรป และอเมริกา
ในทัศนะของผม “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” ก็คือ “Soft Power” ของไทยโดยแท้
คำว่า “Soft Power” กำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน “Soft Power” ก็คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม และหรือคุณค่าทางสังคม เพื่อ “จูงใจ” และ “เชื้อเชิญ” ให้ผู้คนสนใจแล้วอยากทำตาม
ดังเช่น กระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (หลังซีรีส์ภาพยนตร์เกาหลี รวมถึงเหล่าศิลปิน K-pop โด่งดังไปทั่วโลก) ได้สอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยมของคนเกาหลีเข้าไปในสื่อต่างๆ เหล่านั้น แล้วทำให้วัยรุ่นและผู้คนทั่วโลกเอาอย่างและทำตามด้วยความชื่นชมเห็นชอบและสมัครใจ
ในขณะที่ “Hard Power” ก็คือ การใช้อำนาจทางกฎหมาย ทางการทหาร หรือ มาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อ “บังคับ” (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้ผู้คนทำตามสิ่งที่ต้องการ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือเหตุการณ์สงครามและการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั่วโลกที่ทำให้วิถีชีวิตปกติของประชาชนเปลี่ยนไปตามสภาพการที่กดดันหรือบีบคั้น
ในความเป็นจริงแล้ว แม้ “Hard Power” จะได้ผลที่เห็นได้ชัดและเร็ว แต่ก็จะเกิดผลเพียงชั่วคราว และก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ “Soft Power” ที่ทำการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง จะให้ผลลัพธ์ที่ยาวนานและถาวรมากกว่า (แม้จะใช้เวลานานกว่า)
แถมยังเกิดผลลัพธ์ทางอารมณ์และจิตใจต่อกลุ่มเป้าหมายด้วยการขยายอิทธิพลด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหารการกิน การใช้สินค้า เป็นต้น
ว่าไปแล้ว แต่ละประเทศก็จะมี Soft Power ในแบบฉบับของตัวเอง อเมริกาก็เป็นเรื่องของความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ เพลง และรายการเกมส์โชว์ต่างๆ ฝรั่งเศสก็เป็นเรื่องของอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว
ประเทศในฝั่งสแกนดิเนเวียน ก็เป็นเรื่องของแนวความคิดและปรัชญาการดำเนินชีวิต ส่วนประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน ก็เป็นเรื่องของเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก
ส่วนประเทศไทยเราก็มีจุดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม อัธยาศัยใจคอ การต้อนรับขับสู้ ยิ้มสยาม สถานที่ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย
บ้านเราจึงให้นิยามของ “Soft Power” โดยสรุปในรูปลักษณะของ “5F” ที่สัมผัสจับต้องได้ง่าย อันได้แก่ Food, Film, Fashion, Festival, และ Fighting
ดังนั้น “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” จึงเป็น Soft Power ในยุคแรกๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
แนวความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการจัดสัมมนาเรื่อง “ศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาค” ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 26-27 มกราคม ค.ศ.2002
โดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มไทยได้เสนอแนวความคิด “ไทย : ศูนย์กลางแฟชั่นภูมิภาค” ซึ่งที่ประชุมได้ยอมรับและมอบให้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการนี้ พร้อมทั้งขอให้เสนอโครงการเป็นรูปธรรม เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของ “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” แบ่งเป็นระยะสั้นกับระยะยาว โดยระยะสั้น คือ การทำให้ไทยกลายเป็น Hub ของธุรกิจแฟชั่น เพื่อเป็นผู้นำของแฟชั่นภูมิภาคภายในปี ค.ศ.2005
ส่วนระยะยาว คือการทำให้ไทย (กรุงเทพฯ) เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางแฟชั่นของโลก ภายในปี ค.ศ.2012
การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่นนั้น จะดำเนินการใน 3 มิติ ได้แก่ (1) การสร้างคน (2) การสร้างธุรกิจ และ (3) การสร้างเมือง ทั้ง 3 มิตินี้จะต้องดำเนินการพร้อมๆ กันและต้องประสานกันแบบบูรณาการด้วย
“การสร้างคน” ถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านแฟชั่น ได้แก่ การสร้างและพัฒนานักออกแบบ (Designer) เพื่อสร้างนักออกแบบแฟชั่นชื่อเสียงระดับโลก พัฒนานักธุรกิจด้านแฟชั่น รวมทั้งพัฒนาโรงงานผู้ผลิตสิ่งทอเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น
“การสร้างธุรกิจ” คือ การพัฒนากิจการด้านแฟชั่น และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจเหล่านี้ นอกจากนี้ต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมข้อมุลเทรนด์ของแฟชั่น
ทั้งนี้เพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของกิจการแฟชั่น และเชื่อมโยงกิจการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าแฟชั่นของไทย เพื่อพัฒนาให้ไทยกลายเป็นผู้นำด้านแฟชั่นในระยะยาว
“การสร้างเมือง” คือ การสร้างภาพพจน์ว่า “กรุงเทพเป็นเมืองแฟชั่น” เช่น การสร้างแฟชั่นโชว์ จัดนิทรรศการ เวิรค์ชอป โรดโชว์ระดับโลก รวมทั้งโชว์ผลงานนักออกแบบแฟชั่นของไทย
อีกทั้งจัดการประกวดดีไซน์เนอร์ระดับโลก และเข้าสู่วงการห้างสรรพสินค้าระดับโลก และทำการโฆษณาภาพพจน์กรุงเทพเมืองแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย จะประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ (1) อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เสื้อผ้า (2) อุตสาหกรรม พลอย-อัญมณี และ (3) อุตสาหกรรมรองเท้า-เครื่องหนัง
อุตสาหกรรมเหล่านี้ประกอบด้วย กิจการขนาดกลาง เล็ก และใหญ่ครบวงจรที่มีจำนวนมาก มีการจ้างงานหลายล้านคนและมีปริมาณยอดส่งออกเป็นแสนล้านบาท
ถึงวันนี้ “โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น” ที่เน้นใน 3 มิติ คือ “การสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างเมือง” จึงเป็น “Soft Power” ที่ยังคงมากด้วยเสน่ห์และมนต์ขลัง (แต่ต้องยั่งยืนด้วย) ครับผม !