เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ฉลองพระองค์โดยเสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ฉลองพระองค์ในโอกาสโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 27 ต.ค. 2567
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทับ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังท่าวาสุกรี เวลาประมาณ 15.02 น. โดยมีองคมนตรี นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เสด็จประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
การนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงฉลองพระองค์ ชุดไทยศิวาลัย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย ในโอกาสโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) โพสต์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก Anucha Thirakanont ถึงฉลองพระองค์องค์นี้ว่า
“ตัดเย็บจากผ้ายกดิ้นทองลายฝาบาตร สอดไหมสี ออกแบบและอำนวยการทอโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทอง ‘จันทร์โสมา’ บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์”
ขณะที่เฟซบุ๊ก HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya ระบุว่าฉลองพระองค์องค์นี้ออกแบบตัดเย็บโดยนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) พ.ศ.2562
อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย (credit photo: sacit)
อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ได้รับการเชิดชูให้เป็น ‘ครูศิลป์แผ่นดินผ้าไหมยกทอง’ จาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (sacit) เมื่อพ.ศ.2554 โดยประยุกต์กลวิธีทอผ้าขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อรองรับลวดลายที่ออกแบบอย่างวิจิตรสลับซับซ้อน
ความโดดเด่นของ ‘ผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา’ เกิดจากการเลือกเส้นไหมน้อยที่เล็กและบางเบานำมาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้มแล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสี คือสีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแลและสีครามจากเมล็ดคราม
สอดแทรกการยกดอกด้วย ‘ไหมทอง’ ที่ทำจากเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็กๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากถึง 700-800 ตะกอ จนกระทั่งการวางกี่บนพื้นดินธรรมดามีความสูงไม่พอ ต้องขุดดินบริเวณนั้นให้เป็นหลุมลึกไป 2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอที่ห้อยลงมาจากกี่ให้เป็นระเบียบ ให้คนสามารถอยู่ในหลุมเพื่อสอดตะกอไม้ได้ด้วย
เนื่องจากไม้ตะกอมีจำนวนมาก จึงต้องใช้คนทอถึง 4-5 คน คือจะมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คนและคนทออีก 1 คน
ซึ่งทุกขั้นต้องเป็นไปตามลำดับตะกอที่เก็บลายไว้ ผิดไม่ได้แม้แต่เส้นเดียว ถ้าพลาดคือเสียทั้งผืน ด้วยความซับซ้อนด้านเทคนิคการทอเหล่านี้ ต่อวันจะทอผ้าได้แค่ 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น ต่อผืนที่มีความยาว 2 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
อ้างอิง
- สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)