“Pumped Up Kicks” จากเพลงต้านอาวุธปืน ทำไมถึงกลายเป็นเพลงชาติ “มือกราดยิง”
ทำความรู้จักเพลง “Pumped Up Kicks” ของ “Foster the People” เพลงที่ตั้งใจสะท้อนปัญหาเหตุกราดยิงและต่อต้านการใช้อาวุธปืนในสหรัฐ แต่กลับกลายเป็นเพลงในเพลย์ลิสต์ที่ผู้ก่อเหตุฟังก่อนก่อเหตุ
(บทความนี้มีเนื้อการใช้ความรุนแรงเกี่ยวกับการกราดยิงและการใช้อาวุธปืน)
เหตุกราดยิงและความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน เกิดบ่อยขึ้นแทบทุกปีในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่สิทธิการครอบครองปืนได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุกราดยิงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามเรียกร้องให้มี “กฎหมายควบคุมอาวุธปืน” ผ่านการรณรงค์และสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของอาวุธปืนผ่านสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือบทเพลง “Pumped Up Kicks”
“Yeah, he found a six-shooter gun
(เขาเจอปืนลูกโม่)
In his dad's closet, oh in a box of fun things
(ในกล่องหรรษา ในตู้เสื้อผ้าของพ่อ)
I don't even know what
(ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพราะอะไร)
But he's coming for you, yeah, he's coming for you”
(แต่เขาตรงไปหาพวกคุณแล้ว)
นี่คือบางส่วนของเนื้อเพลง “Pumped Up Kicks” เพลงเปิดตัวของ Foster the People (ฟอสเตอร์ เดอะ พีเพิล) วงอินดี้ป๊อปจากสหรัฐ ถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในวันที่ 14 ก.ย. 2553 กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ฮิตที่สุดในปี 2554 แม้ว่าเพลงจะมีท่วงทำนองที่ดูฟังสนุก ผสานด้วยเสียงผิวปาก แต่เนื้อหาเพลงกลับพูดถึงเรื่องราวที่ซีเรียสอย่างการกราดยิงในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในสหรัฐ
เนื้อหาโดยรวมของเพลงนี้ เล่าถึง “โรเบิร์ต” เด็กคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหา ทำให้เขาขาดความอบอุ่น กลายเป็นคนเก็บกด ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไร้ตัวตน ถูกกีดกันออกจากสังคม ในที่สุด ความอดทนของเขาก็สิ้นสุดลง เมื่อเขาได้เจอปืนของพ่อ และนำมาไล่ยิงพวกเด็กรวย ๆ มีหน้ามีตาในสังคม ที่มักใส่รองเท้า รีบอค ปั๊ม หรือ Pumped Up Kicks ดังเช่นในท่อนฮุกของเพลงที่ร้องว่า
“All the other kids with the pumped up kicks
(เด็กคนอื่น ๆ ที่ใส่รองเท้ารีบอค)
You better run, better run, outrun my gun
(พวกนายควรจะวิ่งให้ไว ออกจากแนวทางปืนของฉัน)
All the other kids with the pumped up kicks
(เด็กคนอื่น ๆ ที่ใส่รองเท้ารีบอค)
You better run, better run faster than my bullet”
(พวกนายควรจะวิ่งให้ไว วิ่งให้ไวกับกว่าลูกปืนของฉัน)
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของเพลงนี้ไม่ได้ต้องการสนับสนุนความรุนแรง หากแต่ต้องการให้เห็นถึงความรุนแรงของเหตุกราดยิง ปัญหาการครอบครองปืน และปัญหาครอบครัว จะเห็นได้ว่าเพลงพยายามพาผู้ฟังเข้าใจในมุมมองของผู้ที่ก่อเหตุ ที่ถูกผู้คนในสังคมเพิกเฉยและกีดกัน สุดท้ายก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป และลงมือก่อเหตุในที่สุด
มาร์ค ฟอสเตอร์ นักร้องนำของวง Foster the People แต่งเพลงนี้ในช่วงเดือน ม.ค. 2553 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาเผยว่า ตอนที่แต่งเพลงนี้ ไม่ได้เอาเหตุการณ์กราดยิงใด ๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ และตัวละคร โรเบิร์ต ก็ไม่ได้เป็นชื่อคนร้ายที่ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าในรัฐเนแบรสกาเมื่อ ปี 2550 อย่างที่หลายคนคาดเดา แต่มาจากที่เขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับแนวโน้มอาการป่วยทางจิตของเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้น
“ผมต้องการที่จะเข้าใจคนเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบนั้น มันน่ากลัวที่จำนวนเยาวชนที่ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เพลงนี้จึงถูกเขียนขึ้นมา เพราะผมไม่อยากจะปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และพวกเราต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ปืน อยากให้มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับการจำกัดการเข้าถึงอาวุธปืน เพราะตอนนี้เหมือนกับว่าการกราดยิงมันกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว”
แม้ว่าหลายคนอาจจะเข้าใจว่าเนื้อเพลงนี้เล่าถึงเหตุกราดยิงในโรงเรียน แต่ฟอสเตอร์ไม่เคยยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ถูกเอ่ยถึงในเนื้อเพลงนั้น เกิดขึ้นในโรงเรียน
“ผมว่าคนฟังคนเข้าใจว่ามันเกี่ยวกับการกราดยิงในโรงเรียน แต่ในเนื้อเพลงไม่ได้พูดถึงโรงเรียนเลยนะ จุดประสงค์ของผม คือต้องการบอกให้คุณดูแลเอาใจใส่และหมั่นพูดคุยกับลูกหลานของคุณ ไม่ควรเพิกเฉยต่อพวกเขา จนเขาไปก่อเหตุแบบโรเบิร์ต”
Pumped Up Kicks กลายเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถไต่ไปถึงอันดับ 3 บนชาร์ต Billboard Hot 100 และเพลงนี้ยังทำให้วง Foster the People คว้ารางวัลสุดยอดเพลงร็อก (Top Rock Song) จากงาน Billboard Music Awards 2012 รวมถึงเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด ครั้งที่ 55 (Grammy Awards 2012) ในสาขาการแสดงเพลงป๊อปยอดเยี่ยมของศิลปินดูโอ้/กลุ่ม (Best Pop Duo/Group Performance) อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมียอดฟังมากกว่า 1,000 ล้านครั้งบน Spotify เรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี ฮุก ในปี 2555 เพลง Pumped Up Kicks รวมถึง “Die Young” ของ เคช่า (Kesha) ได้ถูกแบนไปจากคลื่นวิทยุ ส่วน MTV เซ็นเซอร์คำว่า ปืน (Gun) และ กระสุน (Bullet) เนื่องจากเนื้อเพลงอาจจะสร้างความไม่สบายใจและกระทบจิตใจแก่ผู้ฟัง ขณะเดียวกัน ด้วยจังหวะของเพลงที่สนุก อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งฟอสเตอร์รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เท่าไรนัก
“มันค่อนข้างงี่เง่านะ เพราะทั้งรายการโทรทัศน์ หรือหนังก็มีคอนเทนต์พวกนี้เหมือนกัน แต่ไม่เห็นโดนแบนเลย ผมว่างานศิลปะทุกประเภทมันต้องถูกสร้างสรรค์ให้ได้เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้คนให้ความสำคัญกับเพลงมากกว่างานด้านอื่น กลายเป็นว่าเพลงแค่ 3 นาทีกลับทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจกว่าดูหนังยาว 2 ชั่วโมง”
ถึงกระนั้น มาร์ค ฟอสเตอร์ ยังคงภูมิใจกับเพลงนี้ และ Pumped Up Kicks ยังคงเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวง
“เพลงนี้มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์นั้น ใจจริงผมยังอยากจะกลับไปเอาท่อนฮุกที่ร้องซ้ำ ๆ ออกสักรอบเลย แต่ผมก็ภูมิใจกับมันนะ ภูมิใจในเพลงความยาวแค่ 3 นาทีที่ผมแต่งขึ้นมาก ๆ มันทำให้สังคมได้ตั้งคำถามกับประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อ ผมรู้สึกเหมือนกับว่าทำให้คนทั้งโลกหันมาฟังเราได้ แม้จะแค่ชั่วขณะก็ตาม”
ที่ผ่านมา ฟอสเตอร์ และวง Foster the People ยังคงสนับสนุนการออกกฎหมายการควบคุมอาวุธปืนมาโดยตลอด แต่ยังคงมีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐอยู่เรื่อย ๆ และเพลงนี้กลายเป็น “เพลงชาติ” ที่ผู้ก่อเหตุหลายคนเลือกฟังก่อนจะลงมือกราดยิง
ด้วยเนื้อเพลงที่ฟังดูแล้วมีเนื้อหารุนแรง จึงไม่แปลกใจที่เพลงนี้จะทำให้ผู้ก่อเหตุเลือกฟังก่อนที่ลงมือกราดยิงเพื่อสร้างความฮึกเหิมดังเช่น ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส เมื่อปี 2561 ที่ฟังเพลง Pumped Up Kicks ซ้ำไปซ้ำมาตลอดวัน
นั่นจึงทำให้วง Foster the People คิดว่า “คงถึงเวลาที่ต้องเลิกเล่นเพลงนี้แล้ว”
“ผมไปอ่านข่าวคนร้ายที่ก่อเหตุกราดยิงที่รัฐฟลอริดา เขาบอกกับนักข่าวว่า ‘ไปฟัง Pumped Up Kicks สิ’ ยังมีคนร้ายที่กราดยิงที่บราซิลอีก ที่สร้าง Pumped up Kicks ให้เป็นเพลงชาติของพวกเขา ผมห้ามคนอื่นเปิดเพลงนี้ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เพลงนี้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของบางอย่างไม่ได้ ผมไม่สามารถควบคุมความคิดใครได้ แต่ผมสามารถควบคุมตัวผมเองไม่ให้เล่นเพลงนี้ได้ ผมไม่อยากให้เพลงของผมไปกระตุ้นบาดแผลในใจของคนฟังที่เคยเป็นเหยื่อ แม้ว่านั่นจะไม่ใช่จุดประสงค์ที่ผมแต่งเพลงนี้ขึ้นมาก็ตาม ผมไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้นเลยจริง ๆ”
ในปี 2561 วง Foster the People ขึ้นเล่นที่งาน Life Is Beautiful เทศกาลดนตรีในเมืองเดียวกับที่ตั้งของโรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ทันทีที่การแสดงจบลง ผู้ชมต่างเรียกร้องให้พวกเขาเล่นเพลง Pumped Up Kicks แต่ฟอสเตอร์เลือกที่จะไม่เล่นเพลงนี้
“คุณอยากจะร้องเพลงนี้ในสถานที่ที่เกิดโศกนาฏกรรมเมื่อปีที่แล้วจริง ๆ เหรอ เพลงนี้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของอย่างอื่นไปแล้ว สาธารณชนได้เปลี่ยนมันไปแล้ว และถ้าพวกเขาต้องการจะเปลี่ยนมันอีกก็ไม่เป็นไร ผมโอเค แต่ผมเลือกที่จะไม่เล่นมันอีก”
หลังจากนั้น Pumped Up Kicks ก็ไม่เคยถูกใช้แสดงสดที่ไหนอีกเลย แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้สถิติการกราดยิงในสหรัฐลดลงแม้แต่น้อย ข้อมูลจาก Mother Jones เว็บไซต์ข่าวของสหรัฐ ระบุว่า เฉพาะในปีนี้ เกิดเหตุกราดยิงไปแล้ว 8 ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 14 ก.ย. 2565)
ไม่ว่าผู้ฟังจะตีความหมายเพลง Pumped Up Kicks ไปตามจุดประสงค์ที่ฟอสเตอร์ต้องการจะสื่อสารหรือจะมองเป็นเพลงที่สร้างความรุนแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการกราดยิงในสหรัฐ ดังที่ฟอสเตอร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารบิลบอร์ดว่า “ผ่านมา 10 ปี เพลงนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงช่วงเวลาที่เจ็บปวดในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา”
ที่มา: Billboard, CNN, CNN, Genius, Independent, Minimore, Mother Jones, NME, Rolling Stone, The People