ย้อนรอยปม “BTS เกณฑ์ทหาร” สิ่งที่ชายเกาหลีทุกคน ต้องยอมรับ

ย้อนรอยปม “BTS เกณฑ์ทหาร”  สิ่งที่ชายเกาหลีทุกคน ต้องยอมรับ

ประเด็น “ยกเว้นเกณฑ์ทหาร” กลายเป็นที่ถกเถียงในเกาหลีใต้อีกครั้ง เมื่อ “BTS” บอยแบนด์ชื่อดัง เตรียมเข้ารับราชการทหาร โดยเริ่มจาก “จิน” พี่ใหญ่ของวงที่เตรียมเข้ากรมทันทีหลังจบการโปรโมตโซโลในเดือนนี้ ขณะที่คนส่วนใหญ่หนุนให้ยกเว้น BTS เพราะสร้างชื่อให้เกาหลีใต้มานาน

ก่อนหน้านี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมเกาหลีใต้ว่าสมควรให้ “BTS” บอยแบนด์ K-POP ที่กำลังสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก เข้ารับราชการทหารหรือไม่ หลังจากที่ “คิม ซอกจิน” หรือ “จิน” (JIN) พี่ใหญ่ของวงจะมีอายุครบ 30 ปีในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้เขาต้องรับเข้ากรม ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย โดยระบุว่าการรับใช้ชาตินั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การเป็นศิลปินที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศก็ถือว่าเป็นการรับใช้ชาติเช่นกัน ขณะที่อีกฝ่ายก็เห็นว่าผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร ไม่สมควรมีการยกเว้น

ล่าสุด วันที่ 17 ต.ค. HYBE Corporation ต้นสังกัดของบอยแบนด์ชื่อดัง ออกแถลงการณ์ผ่านโซเซียลมีเดียอย่างเป็นทางการ ระบุว่า “จินจะยกเลิกผ่อนผันการเข้ารับราชการทหารในช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ พร้อมทั้งจะดำเนินตามขั้นตอนของสำนักงานกำลังพลของกองทัพเพื่อเข้าเกณฑ์ทหาร

ย้อนรอยปม “BTS เกณฑ์ทหาร”  สิ่งที่ชายเกาหลีทุกคน ต้องยอมรับ

 

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า สมาชิกคนอื่น ๆ “อาร์เอ็ม” (RM), “ชูก้า” (Suga), “จีมิน” (Jimin), “วี” (V), “เจโฮป” (J-Hope) และ "จองกุก" (Jungkook) จะทยอยตามเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติตามลำดับอายุ และจะกลับมารวมวงกันอีกหลังจากที่ครบกำหนดการเกณฑ์ทหารแล้ว

“BTS และ บริษัทต่างรอคอยที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ชาติในปี 2568” Bighit Music ค่ายเพลงต้นสังกัดของ BTS บริษัทลูกของ HYBE ระบุในแถลงการณ์

เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา BTS ได้เปิดเผยว่าระหว่างนี้สมาชิกทุกคนจะโฟกัสไปที่งานเดี่ยวของแต่ละคน โดย เจโฮปได้ปล่อยอัลบั้มเดี่ยวในกลางเดือน ก.ค. ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ นั้นเริ่มมีผลงานไป feat. กับศิลปินอื่น เช่น จองกุก ได้ร่วมร้องเพลงกับ “ชาร์ลี พุท” ในเพลง “Left & Right

สำหรับ จิน พึ่งประกาศกลางงานฟรีคอนเสิร์ต “Yet to Come” ที่เมืองปูซาน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังจะมีผลงานเพลงเดี่ยว “ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินที่ผมชื่นชอบ เพราะฉะนั้นผมกำลังจะปล่อยซิงเกิ้ลในเร็ว ๆ นี้

ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ระบุว่า “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว HYBE เราสนับสนุน ผลักดันศิลปินของเรา อีกทั้งภาคภูมิใจเหลือเกินที่สมาชิกแต่ละคนใช้เวลาสำรวจความสนใจของตน และพร้อมรับใช้ประเทศชาติที่พวกเขาเรียกว่า บ้าน

Yet To Come (The Most Beautiful Moment) ไม่ได้เป็นเพียงแค่ซิงเกิ้ลจากอัลบั้มล่าสุด แต่ยังเป็นเหมือนสัญญาที่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ BTS กำลังมาถึงในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้”

ผู้ชายเกาหลีใต้ทุกคนต้องเป็นทหาร

แม้ว่าในตอนนี้ สภาพบ้านเมืองของเกาหลีใต้จะยังอยู่ในความสงบ ไม่ได้มีสงครามสู้รบใคร แต่ในทางเทคนิคแล้ว เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือยังคงอยู่ในภาวะสงครามกันอยู่ มีเพียงแต่การลงนามในสัญญาหยุดยิงกันตั้งแต่ปี 2496 เท่านั้น ซึ่ง 2 ประเทศมีการพยายามกระชับความสัมพันธ์กันอยู่เรื่อยมา อย่างเช่นครั้งล่าสุดในปี 2561 ที่ “มุน แจอิน” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น และ “คิม จองอึน” ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ประกาศความร่วมมือในการสร้างอนาคตใหม่ของสองเกาหลี และร่วมลงนามในข้อตกลงหลายฉบับในกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ

เมื่อประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม จึงทำให้ผู้ชายเกาหลีทุกคนที่มีสมรรถภาพร่างกายแข็งแรงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสามารถผ่อนผันตามเหตุสมควรได้จนถึงอายุ 28 ปี แต่สำหรับศิลปิน K-POP ชายที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้นสามารถผ่อนผันได้ถึงอายุ 30 ปี ตามกฎหมายฉบับใหม่ ที่ผลักดันหลังจากวง “BTS” สามารถพาเพลง “Dynamite” ขึ้นอันดับ 1 บน “BillBoard Hot 100” ชาร์ตจัดอันดับเพลงฮิตของสหรัฐได้สำเร็จ และทำให้เพลงนี้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดในปี 2563

เดิมทีรัฐบาลเกาหลีใต้ให้สิทธิดังกล่าวเฉพาะนักกีฬาที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เช่น โอลิมปิก หรือ เอเชียนเกมส์ และนักดนตรีคลาสสิกชาวเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเท่านั้น

 

คนส่วนใหญ่เห็นด้วย ยกเว้นเกณฑ์ทหาร BTS

จากการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา จัดทำโดยคณะกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการของรัฐสภามีหน้าที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการรับราชการทหาร พบว่า 60.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนให้ BTS ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ 34.3% ไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่คัดค้านส่วนใหญ่นั้นเป็นหมู่ผู้ชายและกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า

ขณะที่ ผลการสำรวจของนิตยสารรายสัปดาห์หัวหนึ่ง ที่ถามในประเด็นเห็นด้วยกับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารหรือไม่ พบว่า มากกว่า 60% ในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เห็นด้วยกับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี เห็นด้วยเพียง 31% เท่านั้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อประเด็นความเป็นธรรมในแง่ของประวัติการศึกษาและเพศ อีกทั้งไม่สามารถหางานที่ดีได้

ฮวัง ฮี (Hwang Hee) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวแห่งเกาหลีใต้ สมัยประธานาธิบดีมูน แจอิน เคยตั้งเป้าผลักดันกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาอนุญาตให้ศิลปินและนักแสดงชายสามารถรับใช้ประเทศโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกองทัพ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาก่อนที่จะหมดวาระไป

สถาบันวิจัยฮุนได ประมาณการว่า รายได้ที่มาจาก BTS ทั้งด้านการส่งออก การบริโภค และการท่องเที่ยว ตั้งแต่เดบิวต์ในปี 2557 ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ถึงราว 29,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้ง BTS ยังเป็นศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีแทบทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Samsung Electronics, Hyundai Motor และ Lotte ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์จากเกาหลีใต้ในระดับสากล

นอกจากนี้ BTS ยังเป็นได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนิวยอร์กในฐานะ "ทูตพิเศษ" ของอดีตประธานาธิบดีบัน คีมูนในปี 2564 อีกทั้งนายกเทศมนตรีเมืองปูซานแต่งตั้ง BTS เป็นทูตประชาสัมพันธ์สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2030

 

แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากให้ยกเว้น BTS เกณฑ์ทหาร

ลี จอง-ซัพ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวเรือหลักในการต่อต้านการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้ ซึ่งมีคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีกลุ่มผู้ชายอายุ 20 ปี ราว 230,000 คน และจะลดลงเหลือเพียง 150,000 คน ในปี 2583 แม้ว่ากองทัพจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่แต่ก็ต้องการกำลังพลเพื่อสับเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมหากมีเหตุต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ

ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากที่ BTS ตัดสินใจที่จะเข้ารับใช้ชาติ แล้วการเรียกร้องให้ยกเว้นการเกณฑ์ทหารในศิลปินและนักแสดงในวงการ K-POP จะถูกผลักดันต่อหรือไม่ และผลกระทบทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ อาร์มีต่างรอคอยการกลับมา BTS ให้ครบ 7 คนอีกครั้งอย่างแน่นอน


ที่มา: Billboard, Nikkei, Reuters