ถอดรหัสการ์ตูนทีวี ทำไมตัวละครแนวฮีโร่ต้องเป็นสี แดง ฟ้า เขียว ?
ยุคสมัยที่การ์ตูนทีวีรุ่งเรือง มักจะมีตัวละครที่เป็นกลุ่มฮีโร่ออกช่วยเหลือผู้คน ซึ่งชุดเสื้อผ้าของฮีโร่ตัวหลักมักจะเป็นสีสีแดง สีฟ้า และสีน้ำเงิน นั่นเพราะในอดีตเป็นสีที่ฉายออกจอทีวีแล้วจะโดดเด่นกว่าสีอื่นๆ
สีแดงหรือสีชมพู สีน้ำเงินหรือสีฟ้า และสีเขียว มักเป็นสีของตัวการ์ตูนหลักในเรื่องราวแนวฮีโร่หรือพลังวิเศษ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า เพราะอะไร ทั้ง 3 สีนี้จึงได้รับความนิยมมากกว่าสีอื่นมานานหลายสิบปี
ย้อนกลับไปในสมัยที่เด็กๆ ยุค 90 ยังดูการ์ตูนผ่านโทรทัศน์แบบจอนูน ซึ่งการแสดงสีภาพบนหน้าจอทีวีดังกล่าว ยังไม่มีความละเอียดคมชัดมากนัก โดยสีที่มีความโดดเด่นและสวยงามสะดุดตาที่สุดในตอนนั้นคือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน แน่นอนว่าผู้ผลิตคอนเทนต์การ์ตูนในยุคนั้น หากต้องการให้เป็นที่จดจำได้ง่ายสำหรับผู้รับชมโทรทัศน์ จึงไม่แปลกที่จะนำ 3 สีโดดเด่นดังกล่าวมาใช้เป็นสีของคาแรกเตอร์บทบาทหลักในเรื่องราวของการ์ตูนแนวฮีโร่
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความเข้าใจกับทฤษฎีสีต่างๆ ที่ใช้สำหรับการออกแบบตัวการ์ตูน รวมไปถึงลักษณะนิสัยและภาพลักษณ์ของบทบาทหลักที่สอดคล้องตามเฉดสีต่างๆ ด้วย
- รู้จัก Monochromatic สีขั้นพื้นฐานเพื่องานออกแบบ
เรียกว่าเป็นทฤษฎีขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับการออกแบบเลยก็ว่าได้สำหรับทฤษฎีสี Monochromatic เนื่องจากเป็นสีที่สามารถหยิบมาใช้ได้ทันทีแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดให้ซับซ้อน โดยการใช้เฉดสีหลักเพียงแค่สีเดียวเท่านั้น และเพิ่มหรือลดความสว่างโดยการใส่สีขาว เทา และดำลงไปให้มีมิติ หรือเพิ่มเฉดสีที่อ่อนลงมาจากสีหลักสำหรับเลือกใช้งานได้มากขึ้น ในปัจจุบันทฤษฎีสีนี้มักจะใช้ในงานออกแบบที่ไม่เน้นความเยอะ เช่น โลโก้ โปสเตอร์ นามบัตร เป็นต้น ดังนั้นหากต้องการให้ตัวละครที่ออกแบบมาง่ายต่อการจดจำ ภายใต้ภาวะข้อจำกัดของโทรทัศน์สมัยเก่า การเลือกใช้สีหลักๆ เพียงสีเดียวก็คือทางเลือกที่ดี
- ความสัมพันธ์ระหว่าง สี อารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกภาพ
นอกจากการเลือกใช้สีที่โดดเด่นแล้ว การสร้างคาแรกเตอร์การ์ตูนจำเป็นต้องมีบุคลิกที่โดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป โดยสามารถเลือกใช้สีสันให้เหมาะกับบุคลิกและอารมณ์ของตัวการ์ตูนแต่ละตัวได้ ดังนี้
- สีแดง แสดงออกถึงการมีพลังอำนาจ ความทะเยอทะยาน เร่าร้อน รุนแรง มั่นคงและความอุดมสมบูรณ์
- สีเขียว มีความเป็นธรรมชาติ สงบ ปล่อยวาง มีสมดุล ช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกสบาย แต่ถ้าเป็นสีเขียวเข้ม หมายถึง การหลุดพ้น
- สีน้ำเงินหรือฟ้า ให้ความรู้สึกสงบแบบเยือกเย็น เป็นอิสระ สบายใจ และปลอดภัย ช่วยลดความกระวนกระวายใจได้
นอกจากนี้ยังมีทฤฎีของบุคลิกมนุษย์และสีที่มีความสัมพันธ์กัน จากการทดลองใช้เครื่องมือในการแบ่งบุคลิกภาพของมนุษย์ โดยโธมัส เอริคสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมประเทศสวีเดน แบ่งบุคลิกภาพคนตามความสนใจ และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ออกมาเป็น 4 สี 4 แบบ หรือเรียกว่า DISA ที่ย่อมาจาก
1. D - Dominance สีแดง
มักจะเป็นคนที่มีลักษณะชอบควบคุม และออกคำสั่ง มักใช้เป็นสีของผู้นำ เพราะจริงใจ มีความกล้าแสดงออก ตรงไปตรงมา ชอบสั่งการ คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว ตัวการ์ตูนสีแดงส่วนใหญ่มักจะได้รับบทเป็นหัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้าทีม ไม่ว่าจะเป็นฝั่งดีหรือร้าย (หากเป็นผู้หญิงจะปรับเป็นสีชมพู) โดยตัวการ์ตูนสีแดงที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บรอสซั่ม จากพาวเวอร์พัพเกิร์ล, ไนเจล อูโน่(หมายเลขหนึ่ง) จากรหัสลับเด็กข้างบ้าน, อัลวิน จากอัลวินกับสหายชิพมังค์จอมซน, โมโมมิยะ อิจิโกะ จากโตเกียวเหมียวเหมียว และ ฮารุคาเซะ โดเรมี จากแม่มดน้อยโดเรมี
2. I - Inducement สีเหลือง
มักเป็นกลุ่มคนที่ชอบสังคม และมองโลกในแง่ดี เป็นคนมีเสน่ห์ มองเห็นความสุขและความสนุกสนานในทุกเรื่อง มักเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่ตัวละครประจำสีเหลืองมักเป็นที่รักของคนรอบข้างและมีความสุข แต่ไม่มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับสีอื่น เช่น ฮวง ปูริน จากโตเกียวเหมียวเหมียว และโดเรมี่ จากโดเรมอน แต่ตัวเอกที่เป็นสีเหลืองก็มีให้เห็น เช่น พูห์ จากวินนี่เดอะพูห์ (ซึ่งแม้จะตัวเหลืองแต่ก็ใส่เสื้อสีแดงเพราะเป็นพระเอก)
3. S - Submission สีเขียว
เป็นคนที่เรียบง่ายและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ไม่ทำร้ายจิตใจใคร รวมถึงไม่พูดเรื่องร้ายลับหลังผู้อื่น มีความอดทนต่อพฤติกรรมของคนสูง และพยายามปรับตัวให้เข้ากับทุกสถาณการณ์ เช่น โรบิน จากทีนไททันส์ (เป็นหัวหน้าทีมที่มีสีเขียวเพราะเป็นคนมีความอดทนสูง), ไบร จากขบวนการไดโนเสาร์ จูเรนเจอร์ และ บัตเตอร์คัพ จากพาวเวอร์พัพเกิร์ล
4. A - Analytical ability สีน้ำเงิน
มักเป็นคนที่ชอบคิดวิเคราะห์ และมีความแม่นยำ ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ แม้แต่เรื่องเล็กน้อยเพราะเป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ มักคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุผล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และมองโลกอย่างเป็นไปตามความจริงเสมอแม้ว่าจะเป็นแง่ร้ายก็ตาม เช่น ลีโอนาร์โด จากเต่านินจา, จัสติน สตีเวิร์ด จากพาวเวอร์เรนเจอร์ เทอร์โบ, มิกิ จากคาแรกเตอร์ผู้พิทักษ์ และ โฮกี้ เพนนีวิสเซิล กิลลิแกน จูเนียร์(หมายเลขสอง) จากรหัสลับเด็กข้างบ้าน
ดังนั้นข้อสงสัยที่หลายคนอาจจะค้างคาใจมาตั้งแต่วัยเด็กเกี่ยวกับสีของตัวการ์ตูน ทฤษฎีเรื่องการเลือกใช้สีอาจช่วยให้คลายข้อสงสัยไปได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของโทรทัศน์สมัยก่อนที่จะทำให้มีสีที่โดดเด่นเห็นชัดเพียง 3 สี เท่านั้น รวมถึงบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูนแต่ละสีนั่นเอง