“ซีรีส์วาย” คอนเทนต์พันล้าน สื่อนอกจับตา อาจเทียบชั้น “K-POP”
“ซีรีส์วาย” คอนเทนต์ดาวเด่นของไทย สยายปีกสู่ต่างแดน ยกเคส “คั่นกู” ฟีเวอร์ในญี่ปุ่นถึงขั้นเปิดเป็นคาเฟ่ สื่อนอกจับตามองความสำเร็จซีรีส์วายไทยในฐานะคอนเทนต์พันล้าน กับการนำโมเดลวงการ “K-POP” มาปรับใช้
Keypoints:
- วัฒนธรรมวาย หรือ ยาโออิ มีรากฐานมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยได้รับมาตั้งแต่ยัค 90 และพัฒนาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นซีรีส์วาย
- คั่นกู เป็นซีรีส์วายระดับปรากฏการณ์ที่ประสบความสําเร็จไปทั่วโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น จนมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1,000 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของวัฒนธรรม J-POP และ โมเดลธุรกิจของ K-POP ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการวายไทยไปได้ไกลขึ้น
ในปัจจุบัน “ซีรีส์วาย” ของไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายฐานแฟนคลับทั่วโลก เห็นได้จาก “แฟนผมเป็นประธานนักเรียน” ซีรีส์วายเรื่องล่าสุดที่นำแสดงโดย “เจมีไนน์ - นรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์” และ “โฟร์ท - ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล” สามารถติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ทุกตอนที่ออกอากาศ และไม่ได้ขึ้นเทรนด์แค่ในประเทศไทย แต่ยังคงคว้าอันดับ 1 ในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้
จากความสำเร็จที่สะสมมาหลายปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ คนทั้งโลกยกให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิตซีรีส์วาย จนสื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง The Economist และ Nikkei เปิดประเด็นให้จับตา ซีรีส์วายของไทย อาจสามารถเติบโตได้เทียบเท่ากับ K-POP
ยิ่งในปีนี้ซีรีส์วายเริ่มมีความหลากหลายมายิ่งขึ้น ไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงแค่เรื่องราวความรักของวัยรุ่นชายในวัยเรียน ภายใต้กรอบของซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้เท่านั้น แต่ขยายขอบเขตออกไปถึงช่วงวัยทำงาน เพิ่มแนวของซีรีส์เพิ่มขึ้น เช่น พีเรียด แฟนตาซี แอคชัน ไปจนถึงดรามาเข้มข้นก็มีให้เห็นมาแล้ว
อีกทั้งซีรีส์วายในยุคหลังยังมีการพูดถึงการยอมกลุ่มชายรักชาย และสิ่งที่กลุ่มชายรักชายต้องเผชิญในชีวิตจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การถูกกีดกันจากคนในครอบครัวและสังคม สิ่งที่สังคมคาดหวัง การเหมารวมกลุ่มชายรักชาย ไปตลอดจนถึง “สมรสเท่าเทียม” รวมถึงสอดแทรกประเด็นทางสังคมและการเมืองเข้ามาเป็นซับพล็อตของซีรีส์อีกด้วย
เมื่อซีรีส์วายประสบความสำเร็จ นักแสดงมีชื่อเสียง มีผู้ติดตามและเหล่าแฟนคลับอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้ผู้จัดสามารถต่อยอดความสำเร็จนี้ด้วยการจัดแฟนมีตติ้ง และคอนเสิร์ตเพื่อให้เหล่าแฟนคลับได้พบเจอนักแสดงที่พวกเขารัก ยิ่งซีรีส์เรื่องใดได้รับความนิยมมากก็จะมีการจัดงานที่ต่างประเทศอีกด้วย ในขณะเดียวกันผู้จัดผลิตสินค้าที่ระลึก (Merchandise) จากซีรีส์เพิ่มมากขึ้น ทั้งสินค้าทั่วไปที่มีรูปภาพนักแสดงหรือโลโก้ซีรีส์ เช่น รูปภาพ แฟ้ม พวงกุญแจ ตุ๊กตา หรือสินค้าที่ตัวละครภายในเรื่องใช้ เช่น เสื้อ ผ้าห่ม หมอน เป็นต้น
หากพูดถึงซีรีส์วาย หลายคนคงจะนึกถึง “เพราะเราคู่กัน 2gether The Series” หรือ “คั่นกู” ถือได้ว่าเป็นซีรีส์วายไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เป็นจุดเริ่มต้นให้คนทั้งโลกรู้จักซีรีส์วายไทย ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ดูง่าย ตามสูตรของซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ อีกทั้งเสน่ห์ของนักแสดงนำทั้งสองอย่าง “ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี” และ “วิน - เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร” ทำให้คนดูตกหลุมรักไม่ยาก
นอกจากนี้จังหวะการฉายที่มาในช่วงที่คนส่วนใหญ่ต้องกักตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นคอนเทนต์ที่หลายคนเลือกดูและ “ติด” ซีรีส์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย รวมถึง “GMMTV” ออกอากาศซีรีส์เรื่องนี้ผ่านทาง YouTube ของค่ายให้ทั่วโลกสามารถรับชมได้พร้อมกัน ทำให้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ซีรีส์ตอนที่ 3 จนถึงตอนจบ และกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกโซเชียล
- ปรากฏการณ์ “คั่นกู” บุก “ญี่ปุ่น”
“ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่ คั่นกู ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีจุดเริ่มต้นจากที่แฟนคลับนำซีรีส์มาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนต่างมามุงซีรีส์เรื่องนี้ เนื่องด้วยซีรีส์น่ารักดูแล้วกระชุ่มกระชวยหัวใจ แถมหน้าตาของนักแสดงยังเป็นที่โดนใจชาวญี่ปุ่น จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้โดดเด่นกว่าซีรีส์ไทยเรื่องอื่น ๆ กลายเป็นที่พูดถึงในสื่อตั้งแต่นักแสดงยังไม่เคยไปปรากฏตัวในประเทศด้วยซ้ำ
เนื่องด้วยซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ทำให้ไม่สามารถจัดงานแฟนมีตติ้งในแต่ละประเทศได้ แต่ทางค่ายก็แก้เกมด้วยการจัดงานแฟนมีตติ้งแบบออนไลน์แทน ทำให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถเข้ารับชมได้ รวมถึงไบร์ทวินรับงานคู่กันผ่านช่องทางออนไลน์ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ค่ายได้ไม่น้อย หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นจึงได้จัดงานแฟนมีตติ้งขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ยังคงมีบัตรออนไลน์ให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถเข้าชมได้ และทั้งคู่เริ่มทัวร์คอนเสิร์ตทั่วเอเชีย ในชื่อว่า “Side by Side Bright Win Concert” โดยประเดิมที่ประเทศไทย เมื่อวันคริสต์มาสปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยที่ญี่ปุ่นในเดือนมิ.ย. ปีนี้ และอีกหลายประเทศที่รอเปิดเผย
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแฟนคลับไบร์ทวินเหนียวแน่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มทัวร์จากที่นี่ก่อน อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นประเทศแรกในโลกที่ภาพยนตร์เรื่อง “เพราะเราคู่กัน The Movie” เข้าฉาย ในปี 2564 ข้อมูลจาก workpointTODAY ระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ในญี่ปุ่นได้ 32 ล้านบาท มีจำนวนผู้ชมทั้งหมด 78,300 คน จำนวนโรงที่ฉายเพิ่มจาก 30 โรง เป็น 82 โรง แถมอัลบัมบ็อกเซ็ตเพลงประกอบภาพยนตร์ยังทำยอดขายดีจนติดอันดับ 3 ชาร์ตยอดขายอัลบั้มรายวัน ของ Oricon ชาร์ตเพลงที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ความแรงของคั่นกูยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่ายได้เปิด “2gether cafe” ในรูปแบบของป๊อปอัพสโตร์และคาเฟ่ ซึ่งจัดขึ้นที่ “Tower Record” ร้านขายซีดีชั้นนำของญี่ปุ่น 3 สาขา ได้แก่ ชิบูย่า นาโกย่า และโอซาก้า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยภายในร้านมีสินค้าที่ระลึกสุดพิเศษจากซีรีส์ที่ไม่สามารถซื้อจากที่ใด เช่น แก้วน้ำ ถุงผ้า เข็มกลัด ปฏิทิน แฟ้ม พวกกุญแจ รวมถึงยังมีอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่ปรากฏในซีรีส์ให้บริการอีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากแฟนคลับชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายเวลาให้บริการที่ชิบูย่าและโอซาก้า จากสิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เป็น 13 มี.ค.
คั่นกู สามารถแจ้งเกิดนักแสดงนำของเรื่องได้อย่างสวยงาม และกลายเป็นนักแสดงแถวหน้าของวงการ โดยปัจจุบัน ไบร์ท พระเอกของเรื่องครองตำแหน่งนักแสดงชาวไทยที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากที่สุดด้วยยอดฟอลมากกว่า 17.8 ล้านบัญชี ขณะที่ วิน นายเอกของเรื่องมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากกว่า 14.5 ล้านบัญชี รั้งอันดับ 2 นักแสดงชายไทยที่มีผู้ติดตามสูงที่สุด ส่งผลให้ทั้งคู่มีงานพรีเซ็นเตอร์เข้ามามากมาย รวมถึงเป็น Brand Ambassadorของสินค้าแฟชั่นระดับโลกอีกด้วย
สินค้าที่ระลึกที่วางจำหน่ายใน 2gether cafe ในญี่ปุ่น
- จาก “วัฒนธรรมวาย” ของญี่ปุ่น สู่ “ซีรีส์วาย” สุดแมสของไทย
“วาย” เป็นคำย่อมาจาก “ยาโออิ” (Yaoi) ในบางครั้งถูกเรียกว่า “Boy Loves” หรือ BL ใช้เรียกรูปแบบหนังสือการ์ตูนที่เล่าความรักระหว่างผู้ชายและผู้ชาย ที่ถูกแต่งขึ้นโดยผู้หญิงเพื่อผู้บริโภคผู้หญิงด้วยกันเอง ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น และเข้าสู่ในประเทศไทยจากกลุ่มแฟนคลับศิลปิน J-POP ตั้งแต่ยุค 90 ก่อนจะลุกลามไปยังวงการบันเทิงไทยในยุค 2000 เริ่มเกิดกระแส “คู่จิ้น” ศิลปินและนักแสดงชายจากรายการเรียลลิตี้โชว์และละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับ K-POP เข้าสู่ประเทศไทย
กลุ่มแฟนคลับ หรือ “สาววาย” เริ่มเอาบุคลิกของศิลปินที่เป็นคู่จิ้นของตนไปแต่งเป็นนิยายและเผยแพร่ตามเว็บบอร์ด ซึ่งเรื่องใดที่ได้รับความนิยม จะถูกนำไปตีพิมพ์เป็นนวนิยาย ซึ่งในปัจจุบันนี้หนังสือนิยายและการ์ตูนวายสามารถวางจำหน่ายในร้านหนังสือได้อย่างเปิดเผย ภายหลังในช่วงยุค 2010 นวนิยายวายถูกนำไปสร้างเป็น “ซีรีส์วาย” นำพาวัฒนธรรมวายสู่สื่อกระแสหลักอย่างเต็มตัว และไม่ได้ทำเพื่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป (แม้ว่ากลุ่มผู้ชมหลักจะเป็นผู้หญิงอยู่ก็ตาม)
- ตั้งเป้าซีรีส์วายเทียบชั้น K-POP ?
ซีรีส์วายถือได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม K-POP และ J-POP อย่างลงตัว ด้วยการ “เซอร์วิส” แฟน ๆ ของบรรดาคู่จิ้น แสดงออกว่าสนิทสนมกัน ทั้งกิริยาทางกาย เช่น การโอบกอด แตะเนื้อต้องตัว ตลอดจนพูดคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างประสบการณ์ความฟินให้แก่แฟนคลับ เหมือนกับศิลปิน J-POP
กลุ่มแฟนคลับและสาววายนั้นมีความจงรักภักดีต่อศิลปินและมีกำลังซื้อสูง ค่ายจึงจำเป็นต้องหาทางต่อยอดชื่อเสียงของศิลปิน จึงเริ่มใช้โมเดลทางธุรกิจรูปแบบ K-POP ทั้งการตั้งชื่อแฟนคลับ วางจำหน่ายชุดบ็อกเซ็ตซีรีส์วายให้แฟนคลับได้เก็บสะสม การออกสินค้าที่ระลึกที่หลากหลาย ไม่ต่างจากการซื้ออัลบั้มของศิลปินเกาหลี อีกทั้งวางจำหน่าย “บง” หรือ “แท่งไฟ” ของคู่จิ้นแต่ละคู่ เพื่อใช้สำหรับการโบกให้กำลังใจศิลปินในงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ประจำวงการ K-POP
สำหรับงานแฟนมีตติ้งนั้น นักแสดงซีรีส์วายจำเป็นจะต้องมีทักษะการเต้น และ การร้องเพิ่มเติมนอกจากทักษะการแสดง ดังนั้นในระยะหลังจึงถูกเรียกว่าเป็น “ศิลปิน” (Artists) ซึ่งแฟนคลับเองก็นำวัฒนธรรมของวงการ K-POP มาใช้กับศิลปินซีรีส์วายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำอาหารที่เรียกว่า “Food Support” มาให้เหล่าศิลปินเวลาที่ออกกอง ซ้อมเต้น หรือออกงาน รวมถึงติดตามศิลปินไปออกงานในสถานที่ต่าง ๆ คอยรับส่งศิลปิน พร้อมจัดตั้ง “บ้านเบส” ที่เปรียบเสมือนเป็นฐานทัพรวมพลแฟนคลับและแหล่งข้อมูลข่าวสารของศิลปิน
เมื่อ 29-30 มิถุนายน 2564 กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายไทย ที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วมจำนวน 10 ราย สามารถทำรายได้กว่า 360 ล้านบาท ขณะที่ในแง่ของผู้ชม แฮชแท็ก Thai numa ที่แปลว่าการเสพติดคอนเทนต์ของไทยนั้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่เสมอ
จากข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ซีรีส์วายไทยได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีส์วายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปี 2563 มีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ
ขณะที่รายได้ของ “GMMTV” ผู้ผลิตซีรีส์วายเจ้าใหญ่ของไทย ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีรายได้สุทธิรวม 1,290,435,991 บาท โตขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 33.97 มีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 1,058,462,245 บาท ทำให้ในปี 2564 มีกำไรรวมอยู่ที่ 185,691,467 บาท
จะเห็นได้ว่า ตลาดซีรีส์วายไทยนั้น เป็นคอนเทนต์ชั้นดีที่สามารถสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างแนบเนียนโดยไม่ต้องยัดเยียด สินค้าหลายอย่างที่ คนไทยคุ้นชินอยู่แล้วกลับกลายเป็นไอเท็มฮอตฮิตของชาวต่างชาติ เช่น “นมชมพู” หรือ “นมเย็น” เครื่องดื่มที่ปรากฏใน “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นอย่างมาก รวมไปถึงสถานที่ถ่ายทำซีรีส์วาย ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติบินมา “ตามรอย” กันเป็นแถว สร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้อีกทาง
อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมาก และสามารถเติบโตได้อีก ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ซีรีส์วาย กลายเป็นสื่อบันเทิงที่สร้างมูลค่าได้เทียบเท่ากับ K-POP อย่างที่เคยเสนอไว้ ก็ควรเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เหมือนที่รัฐบาลเกาหลีใต้ผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงจนประสบผลสำเร็จไปทั่วโลก เพราะในตอนนี้ซีรีส์วายชาติอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวันก็กำลังมาแรงสุด ๆ
แต่ขณะเดียวกัน มันคงจะอิหลักอิเหลื่อ ย้อนแย้งอย่างถึงที่สุด หากทำให้ซีรีส์วายเป็นสินค้าส่งออกของชาติ สร้างภาพเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศกลับยังไม่ได้สิทธิตามกฎหมายอย่าง “สมรสเท่าเทียม” ด้วยซ้ำ
ที่มา: BBC, Nikkei, Oricon, WorkpointTODAY