เกาหลีใต้ผ่านร่าง ‘กฎหมายอีซึงกิ’ ป้องกันค่ายเอาเปรียบศิลปิน
สภาเกาหลีใต้ผ่านร่าง “พระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย” หรือเรียกว่า “กฎหมายอีซึงกิ” หลัง “อี ซึงกิ” ถูกค่ายต้นสังกัดโกงเงิน พร้อมปกป้องศิลปินยังไม่บรรลุนิติภาวะ
หลังจากที่ปลายปีที่แล้วเกิดข่าวช็อกวงการเมื่อ “อี ซึงกิ” นักแสดงและนักร้องแถวหน้าของเกาหลีใต้ มอบอำนาจให้ตัวแทนทางกฎหมายยื่นเรื่องให้ “Hook Entertainment” ค่ายต้นสังกัดของเขาเปิดเผยรายได้และกำไรจากการจำหน่ายเพลงทั้งหมดที่เขามีส่วนร่วมทั้งสิ้น 137 เพลง จาก 27 อัลบั้ม รวมถึงส่วนแบ่งที่เขาต้องได้รับตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเขาไม่เคยได้รับส่วนแบ่งนี้เลย อีกทั้งค่ายโกหกมาตลอดว่า เพลงของซึงกิไม่ทำกำไร และซึงกิได้ยกเลิกสัญญากับต้นสังกัดในเวลาต่อมา
กรณีของซึงกิกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ทำให้แฟนคลับของศิลปินและภาคประชาชนจำนวนมากเกิดความกังวลว่าเรื่องทำนองนี้จะเกิดขึ้นกับศิลปินคนอื่นอีก จนหลายฝ่ายเห็นว่าควรมีกฎหมายที่ปกป้องศิลปิน K-POP จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้มากกว่านี้
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เพิ่งประกาศอนุมัติการแก้ไขร่าง “พระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย” (Popular Culture and Arts Industry Development Act) ซึ่งได้ปรับปรุงให้มีความครอบคลุมหลายประเด็นในอุตสาหกรรม K-POP
ประเด็นใหญ่ที่สุดของการแก้ไขในครั้งนี้ คือ บริษัทบันเทิงและค่ายต้นสังกัดจะต้องเปิดเผยรายได้ของศิลปินอย่างน้อยปีละครั้ง ไม่รวมเวลาที่ไอดอลยื่นขอให้เปิดเผย และจะต้องชี้แจงวิธีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้และการหักค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนอีกด้วย ซึ่งข้อบังคับนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีของซึงกิ ที่ตกอยู่ใน “สัญญาทาส” และไม่ได้รับรายได้จากงานเพลงตลอด 18 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในระยะหลังศิลปินไอดอล K-POP เริ่มเดบิวต์ในอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น ฮเยอิน จากวง NewJeans ที่มาแรงสุด ๆ ในขณะนี้ รวมถึง ชิกิต้า (CHIQUITA) สมาชิก วง BABYMONSTER ที่เตรียมเดบิวต์ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่แฟนคลับศิลปินถึงการคุ้มครองสิทธิของเหล่าไอดอล ทำให้มีการแก้ไขปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานขั้นสูงสุดของเหล่าศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยศิลปินอายุต่ำกว่า 12 ปี ทำงานไม่เกิน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนศิลปินอายุระหว่าง 12-15 ปี ทำงานไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 7 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ศิลปินอายุ 15 ปีขึ้นไป ทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน
ร่างกฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้ต้นสังกัดละเมิดสิทธิในการศึกษาของศิลปิน เช่น การขาดเรียน หรือให้ลาออกจากโรงเรียนกลางคัน พร้อมห้ามไม่ให้ทำการกระทำที่เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การบังคับเพื่อให้ “ดูดีขึ้น” รวมถึงการ “ลดน้ำหนัก” ตลอดจนห้ามเหยียดหยามทั้งทางร่างกาย ทางวาจาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้มั่นใช้ว่าสิทธิของศิลปินรุ่นเยาว์ได้รับความคุ้มครอง จึงกำหนดให้แต่ละบริษัทแต่งตั้ง “เจ้าหน้าที่คุ้มครองเยาวชน” สำหรับรับผิดชอบและปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของเหล่าไอดอล