'ไซอิ๋ว' วรรณกรรมข้ามยุค แรงบันดาลใจแห่งเอเชีย จาก 'ดราก้อนบอล' ถึง K-Pop!
“ไซอิ๋ว” นอกจากจะถูกรีเมคเป็นซีรีส์และหนังจีนอยู่เกือบทุกปีแล้ว วรรณกรรมจีนสุดคลาสสิกเรื่องนี้ยังถูกดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงทั่วเอเชีย ทั้ง “ดราก้อนบอล” การ์ตูนดังของญี่ปุ่น ยันซิงเกิลล่าสุดของ “Seventeen” วงบอยแบนด์ K-POP ชื่อดัง
หากพูดถึงซีรีส์จีนที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คงจะต้องมีชื่อของ “ไซอิ๋ว” ผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ อย่างแน่นอน เพราะหลายคนต่างเติบโตมาในยุคที่คนทั้งบ้านล้อมวงกินข้าวเย็นพร้อมนั่งดูไซอิ๋วด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับภาพยนตร์เรื่อง “ไซอิ๋ว เดี๋ยวลิงเดี๋ยวคน” หรือ “A Chinese Odyssey” นำแสดงโดย “โจว ซิงฉือ” เข้าฉาย และโด่งดังเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้นก็มีไซอิ๋วเวอร์ชันต่าง ๆ ออกมาแทบทุกปี ซึ่งไม่ได้มีแค่ในจีนเท่านั้น แต่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็มีผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไซอิ๋วด้วยเช่นกัน
ไซอิ๋ว หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Journey to the West เป็นนิยายคลาสสิกของจีนขนาดยาวจำนวน 100 บท ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน ในช่วงทศวรรษที่ 1590 ซึ่งตรงกับช่วงราชวงศ์หมิง และถือว่าเป็น 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน ร่วมกับ “สามก๊ก” “ซ้องกั๋ง” และ “ความฝันในหอแดง” ซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมของจีนในยุคถัดมา
เรื่องย่อของไซอิ๋วนั้น เป็นการเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) ของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยมีสัตว์ 3 ตัว ได้แก่ เห้งเจีย (ปีศาจลิง) ตือโป๊ยก่าย (ปีศาจหมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อคอยช่วยจัดการกับเหล่าปีศาจที่คอยขัดขวางการทำภารกิจของพระถังซัมจั๋ง
ไซอิ๋วเป็นเรื่องแต่งที่ผสานความเชื่อและตำนานพื้นบ้านของจีน ตำนานเทพเจ้าจีน ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า ตลอดจนความเชื่อเรื่องเทวนิยมของลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ และพระโพธิสัตว์ ไว้เข้าด้วย โดยแนวความคิดเหล่านี้ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติทางศาสนาของชาวจีนจนถึงปัจจุบัน
เนื่องด้วยไซอิ๋วเป็นวรรณกรรมแนวผจญภัยแฟนตาซี ที่มีสัตว์เป็นตัวเอก ดำเนินเรื่องสนุกสนาน มีฉากต่อสู้ไม่น่าเบื่อ เนื้อหาย่อยง่ายและแฝงข้อคิดคุณธรรมเอาไว้ ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนและคนรุ่นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะผ่านมาเป็นร้อยปี ๆ แล้วก็ตาม และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ไซอิ๋วถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์และภาพยนตร์เรื่อยมา
สำหรับสื่อบันเทิงที่สร้างไซอิ๋วที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์เงียบของจีนเรื่อง The Cave of the Silken Web เข้าฉายเมื่อปี 1927 โดยเป็นการนำเอาบทหนึ่งของเรื่องมาดัดแปลงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีการสร้างภาคต่อในชื่อ The Cave of the Silken Web II และเข้าฉายในปี 1930
- ไซอิ๋วในประเทศไทย
ในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าไซอิ๋วน่าจะเข้ามาแพร่หลายในไทยในช่วงที่ชาวจีนอพยพเข้ามา ด้วยรูปแบบของเรื่องเล่ามุขปาฐะ ศิลปะการแสดง งานจิตรกรรม และประติมากรรม เห็นได้จากมีงานปูนปั้นบรรยายเรื่องไซอิ๋วจำนวน 8 ภาพในวัดบวรนิเวศวิหารที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ขณะที่การแปลไซอิ๋วมาเป็นภาษาไทยเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับเวอร์ชันแรกแปลโดย นายตื่น ซึ่งเป็นชาวจีน ได้รับเรียบเรียงและขัดเกลาภาษาโดย เทียนวรรณ ปัญญาชนคนสำคัญของสมัยนั้น ก่อนที่ไซอิ๋วจะได้รับความนิยมมากขึ้น มีสำนวนการแปลที่หลากหลาย และได้รับการตีพิมพ์โดยหลายสำนักพิมพ์จนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าไซอิ๋วจะถูกถ่ายทอดในประเทศไทยผ่านการแสดงรูปแบบต่าง ๆ ทั้งงิ้วและหุ่นละครเล็ก แต่ไซอิ๋วมาโด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศจาก ซีรีส์ฮ่องกง “ไซอิ๋ว ศึกเทพอสูรสะท้านฟ้า” เวอร์ชัน 1996 ที่ช่อง 3 ซื้อลิขสิทธิ์มาจาก TVB สถานีโทรทัศน์ในฮ่องกง มาฉายในช่วงตอนเย็นวันจันทร์-ศุกร์
ด้วยการแสดงสุดกวนของ จาง เหว่ยเจี้ยน ในบท เห้งเจีย หรือ ซุน หงอคง และการดำเนินเรื่องที่สนุก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกยกย่องให้เป็นซีรีส์ไซอิ๋วที่ดีที่สุดที่เคยมีมา
ไซอิ๋วเวอร์ชัน 1996 กลับมาฉายอีกครั้งทาง MCOT30
ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เองก็มีภาพยนตร์ฮ่องกงที่ดัดแปลงมาจากไซอิ๋วเข้าฉายและได้รับความนิยมอย่างมาเช่นกันกับเรื่อง “ไซอิ๋ว เดี๋ยวลิงเดี๋ยวคน” (A Chinese Odyssey) โดยได้ นักแสดงแถวหน้าของฮ่องกง “โจว ซิงฉือ” รับบทเป็นเห้งเจีย และนักแสดงคู่บุญของเขา “อู๋ ม่งต๊ะ” รับบท ตือโป๊ยก่าย ด้วยการรับส่งบทกันอย่างเป็นธรรมชาติและชื่อเสียงของทั้งคู่ที่อยู่ในจุดพีคทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ถล่มทลาย พร้อมได้รับยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงบทประพันธ์จากไซอิ๋วได้ดี จนได้รับรางวัล Hong Kong Film Critics Society Awards ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำยอดเยี่ยม
- ไซอิ๋วในประเทศอื่น ๆ
ตัวละครที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไซอิ๋วคงจะหนีไม่พ้น เห้งเจีย หรือ ซุนหงอคง เป็นลิงเทพตัวละครหลักของเรื่อง มีอิทธิฤทธิ์มาก มีพละกำลัง ฉลาดเป็นกรด หายตัว แปลงร่างได้ แถมเป็นอมตะ จนเคยไปป่วนสวรรค์มาแล้ว มาพร้อมกับภาพจำ ลิงฉลาด สวมใส่รัดเกล้าที่หัว มีกระบองวิเศษคู่ใจ และขี่ก้อนเมฆ ด้วยรูปลักษณ์เหล่านี้จึงทำให้เห้งเจียถูกนำไปเป็นต้นแบบตัวละครในผลงานอื่น ๆ ทั่วโลก
ซุน หงอคงในซีรีส์ฮ่องกงปี 1996
“ดราก้อนบอล” (Dragon Ball) หนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผลงานของโทริยาม่า อากิระ ที่ปัจจุบันทำยอดขายไปได้แล้วกว่า 260 ล้านเล่มทั่วโลก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไซอิ๋ว โดยตัวละครหลักอย่าง “ซุนโงกุน” หรือ “โกคู” นั้นมีต้นแบบมาจากเห้งเจีย โดยชื่อ “ซุนโงกุน” นี้ก็มาจาก “ซุน หงอคง” นั่นเอง แถมโงกุนยังมีของวิเศษทั้งกระบอง และ สามารถขี่เมฆได้เหมือนกับเห้งเจียอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี "อูลอน" ที่มีคาแร็กเตอร์เหมือนกับ ตือโป๊ยก่าย ทั้งเป็นหมูนิสัยเจ้าชู้ ทะลึ่ง และลามกเหมือนกัน เพียงแต่อูลอนนั้นตัวเล็กกว่า รวมไปถึงอีกตัวละครที่มีบทบาทสำคัญของเรื่องอย่าง “บลูมา” ที่ต้องการเดินทางตามหาดราก้อนบอลทั้ง 7 ลูก เพื่อขอพร ก็เปรียบได้กับเส้นเรื่องหลักของไซอิ๋วที่พระถังซัมจั๋งต้องเดินทางเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก
โกคูขี่เมฆทอง
ทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีซีรีส์เรื่อง “A Korean Odyssey” (2017) ที่นำเอาไซอิ๋วมาตีความใหม่ให้เข้ากับปัจจุบัน โดยมี “อี ซึงกิ” มารับบท “ซง โอกง” หรือ ซุนหงอคงนั่นเอง ซึ่งคราวนี้โอกงจะต้องตามล่าหา “ซัมจัง” หรือ พระถังซัมจั๋ง (ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้เป็นผู้หญิง) ที่มาปรากฏตัวบนโลกมนุษย์ แล้วจับซัมจังมากิน เพื่อให้ตนมีพลังอำนาจมหาศาลและกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ซง โอกง ยังถูกใช้เป็นคอนเซ็ปหลักใน “Super” (손오공) เพลงใหม่ของ Seventeen บอยแบนด์ชื่อดังของวงการ K-POP อีกด้วย โดยเนื้อเพลงเล่าถึง ความพยายามและไม่ย่อท้อของพวกเขาที่ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมาย เหมือนกับซุนหงอคงที่ตรากตรำฝึกวิชา จนสุดท้ายก็ได้พลังและเป็นอมตะ นอกจากนี้ท่าเต้นของพวกเขายังได้รับแรงบันดาลใจมาจากการโคลนนิงตัวเองของเทพลิงอีกด้วย สมาชิกทั้ง 13 คนของ Seventeen เคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียง ราวกับเป็นคนเดียวกัน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสื่อบันเทิงที่ได้รับอิทธิพลมาจากไซอิ๋ว วรรณกรรมสุดคลาสิกของจีนเท่านั้น และในโลกตะวันตกเองก็เริ่มมีสื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมชิ้นเอกนี้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น “LEGO Monkie Kid” ซีรีส์จากจักรวาลเลโก้ที่มีตัวละครหลักเป็นลิง เหมือนกับหงอคง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมทั่วโลก จนเดินทางมาถึงซีซันที่ 4 แล้วในปัจจุบัน
จากนี้เราคงจะได้เห็นสื่อบันเทิงที่ได้ถูกสร้างมาจากไซอิ๋วอีกเรื่อยไป ตราบใดที่บทประพันธ์เรื่องนี้ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่าจะตีความไซอิ๋วออกมาให้แตกต่างจากเวอร์ชันอื่น ๆ อย่างไร
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม, Weverse