‘หนังไทย’ อยู่ตรงไหน ? หากไม่ได้อยู่ใน ‘เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย’
ใน “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ปีล่าสุดนี้ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องราวของภาพยนตร์ นักแสดง และผู้กำกับเท่านั้นที่ถูกจับตามอง แต่ยังมี “เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย” เกิดขึ้นอีกด้วย
Key Points:
- เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชียที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ณ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ประจำปี 2023 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้าร่วม “เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย” มีทั้งหมด 7 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทย
- แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย แต่ไทยเองก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนภาพยนตร์ไทย และอยู่ในสายตาโลกเช่นกัน
เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับโลกที่ถูกจับตามองจากคนในวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเทศกาลที่เก่าแก่และทรงพลัง จนอาจเรียกได้ว่าคนในวงการนี้จากทุกประเทศ ย่อมอยากให้ภาพยนตร์ของตัวเองได้รับเกียรติไปฉายในงาน เพราะแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลกลับมา แต่การมีเครดิตว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้เข้าฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ก็ถือว่าภาพยนตร์ดังกล่าวมีคุณภาพ และถูกยอมรับในระดับโลก จึงคู่ควรแก่การรับชม และคอภาพยนตร์ไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด
นอกจากเรื่องของภาพยนตร์ที่หลากหลายและแฟชั่นละลานตาจากเหล่าเซเลบบนพรมแดงที่เราได้เห็นกันในทุกปีแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดส่งตรงจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ก็คือ การจัดตั้ง “เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย” หรือ Asian Film Alliance Network (AFAN) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศขององค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันการส่งออกวัฒนธรรมเอเชียไปทั่วโลก
สำหรับรายชื่อประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเครือข่ายภาพยนตร์เอเชียนั้น ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ มองโกเลีย และไต้หวัน จากรายชื่อประเทศเหล่านี้ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไม “ประเทศไทย” ซึ่งมีภาพยนตร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ของประเทศ จึงไม่ได้อยู่ในเครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย?
- เครือข่ายภาพยนตร์เอเชียคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จัก “เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย” กันก่อน เพราะเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกแบบสดๆ ร้อนๆ จากความร่วมมือกันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จาก 7 ประเทศในเอเชีย และเปิดตัวในตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจ และความร่วมมือกันของผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เอเชีย เพื่อขยายฐานผู้ชมภาพยนตร์ไปทั่วโลกพร้อมกับส่งออกวัฒนธรรมต่างๆ ของเอเชียไปด้วยในตัว
นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียเหล่านี้ ยังมีความตั้งใจที่จะเป็นหัวหอกในการริเริ่มส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ร่วมกัน การร่วมทุน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การฝึกอบรมและการศึกษา ไปจนถึงสร้างสรรค์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เพื่อให้ได้งานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและสามารถตีตลาดได้ทั่วโลก และแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะยังไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย แต่ก็มีการสังเกตการณ์เครือข่ายอย่างใกล้ชิดและคาดว่าจะเข้าร่วมในอนาคต
ในทางกลับกัน แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออก “หนังไทย” ไปสู่สายตาชาวโลกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีภาพยนตร์ที่ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มากกว่าหนึ่งเรื่อง
แต่ในการเปิดตัวเครือข่ายภาพยนตร์เอเชียครั้งนี้ กลับพบว่าไม่มีความเคลื่อนไหวจากตัวแทนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็ถือว่าอยู่ในแวดวงของภาพยนตร์ในระดับโลกเช่นกัน รวมถึงมีองค์กรที่กำกับดูแลและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่หลายองค์กร
- ทำความรู้จักองค์กรที่มีบทบาทในการผลักดันวงการหนังไทย
แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วม “เครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนวงการภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน ได้แก่
1. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐ มีลักษณะคล้ายหอสมุด หรือ พิพิธภัณฑ์ เป็นเหมือนหอศิลป์อีกประเภทหนึ่งที่ใช้เก็บผลงานภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และเรื่องราวเกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาทำความรู้จักกับภาพยนตร์ไทยสมัยต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีการฉายภาพยนตร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังดังในอดีต หรือภาพยนตร์ที่เคยได้รับรางวัล เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นพัฒนาการและคุณค่าของภาพยนตร์ไทย และที่สำคัญยังเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (International Federation of Film Archives) อีกด้วย
2. สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
เกิดขึ้นจากความต้องการแก้ปัญหาต่างๆ ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ หลังจากนั้นได้กลายเป็นศูนย์รวมของความคิดเห็น การพัฒนา และการรักษาไว้ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อสร้างสรรค์ให้วงการภาพยนตร์ไทยเติบโตมากขึ้น
ในปัจจุบันสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นศูนย์รวมของสมาคมผู้ประกอบการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งหมด 20 สมาคม เช่น สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาคมดารานักแสดงภาพยนตร์ และ สมาคมนักพากย์ภาพยนตร์ เป็นต้น
ดังนั้นแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยอาจยังไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายภาพยนตร์เอเชีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเข้าร่วมในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเองก็ถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ การันตีจากรางวัลต่างๆ บนเวทีนานาชาติ นอกจากนี้การที่ไทยอยู่ใน “สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ” ก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องหมายที่ระบุว่าหนังไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
อ้างอิงข้อมูล : Screendaily, IMDb และ หอภาพยนตร์