หนัง ‘No More Bets’ ทำนักท่องเที่ยวจีนไม่กล้ามา ‘อาเซียน’ หวั่นไม่ปลอดภัย

หนัง ‘No More Bets’ ทำนักท่องเที่ยวจีนไม่กล้ามา ‘อาเซียน’ หวั่นไม่ปลอดภัย

การท่องเที่ยว “เมียนมา-กัมพูชา” วิกฤติ! นักท่องเที่ยวจีนไม่มา เพราะกังวลด้านความปลอดภัย หลัง “No More Bets” หนังจีนตีแผ่ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์” เข้าฉาย 

ดูเหมือนว่า “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังไม่กลับมาท่องเที่ยวได้ง่าย ๆ ทั้งเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศจีนเอง ที่รัฐบาลพยายามจูงใจให้เที่ยวภายในประเทศ แล้วยังซ้ำด้วยอิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่อง “No More Bets” ที่ทำรายได้ถล่มทลายทั่วเมืองจีน โดยเล่าถึงการค้ามนุษย์และหลอกคนไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมชาวจีนจนไม่กล้ามาเที่ยวในละแวกนี้

No More Bets” ภาพยนตร์แอคชันอาชญากรรมสุดระห่ำเข้าฉายในจีนตั้งแต่เมื่อต้นเดือนส.ค. และสามารถครองอันดับหนึ่งบนตารางหนังทำเงินได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าฉาย มาพร้อมกับสโลแกน โปรโมตภาพยนตร์ว่า “หนึ่งคนดู ลดเหยื่อถูกโกงหนึ่งคน”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคดีที่เกิดขึ้นจริง โดยเล่าเรื่องคู่รักชาวจีนที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศเพราะจะได้ค่าตอบแทนสูง แต่พอไปถึงกลับต้องอยู่โรงงานนรกในเมียนมา ทั้งคู่ถูกกักขังและต้องทำงานหลอกลวงผู้อื่น จนต้องหาทางหลบหลีกจากโรงงานค้ามนุษย์แห่งนี้ให้ได้

  • เมียนมา-กัมพูชา แหล่งโรงงานค้ามนุษย์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มักมีชื่อของเมียนมาและกัมพูชาในฐานะประเทศฐานที่มั่นของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การฉ้อโกงออนไลน์ และขบวนการค้ามนุษย์มาโดยตลอด

จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่พึ่งเผยแพร่ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า มีคนอย่างน้อย 120,000 คนในเมียนมา และประมาณ 100,000 คนในกัมพูชา ถูกหลอกและบังคับให้ทำงานหลอกลวงประชาชน ด้วยการเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เล่นพนันออนไลน์

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ลาว ฟิลิปปินส์ และไทย กลายเป็นทางผ่านของเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์หลายหมื่นคน

เว็บไซต์ Straits Times รายงานว่า หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “No More Bets” เข้าฉาย ส่งผลให้ชาวจีนไม่กล้ามาเที่ยวเมียนมาและกัมพูชา เพราะกลัวจะตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ โดยคนในวงการท่องเที่ยวเปิดเผยว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาทำลายชื่อเสียง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เดิมทีจีนเป็นประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมียนมามากที่สุด ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือจะมีความไม่สงบในบ้านเมืองอยู่ก็ตาม

เช่นเดียวกับ “กัมพูชา” ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศมากที่สุด โดยในปี 2562 มีคนจีนมาท่องเที่ยวในกัมพูชาถึง 2.3 ล้านคน อีกทั้งนักธุรกิจชาวจีนยังมาลงทุนในกัมพูชา จนมีการสร้างโครงการสีหนุวิลล์เพื่อรองรับทุนจีนโดยเฉพาะ

 

ผลสำรวจล่าสุดบน Weibo แสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 48,000 ราย จากทั้งหมด 54,000 ราย หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมียนมา เนื่องจากกังวลด้านความปลอดภัย ขณะที่ผลสำรวจอีกชุดระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามไม่อยากมาท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมากกว่า 85% ให้เหตุผลว่าปัญหาความด้านความปลอดภัยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาไม่อยากมาท่องเที่ยว

 

  • แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว

เพื่อเรียกความมั่นใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมา เมื่อต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชาเปิดตัวโครงการพิเศษชื่อว่า “China Ready” รับรองผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพการบริการตรงตามมาตรฐานของจีน โดยหวังว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างน้อย 800,000 คนภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน เมียนมาลงนามบันทึกข้อตกลงกับมณฑลจี๋หลิน ของจีนเมื่อปลายเดือนก.ค. เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกัน และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวร่วมกัน

แต่ดูเหมือนว่าโครงการเหล่านี้จะยังไม่ช่วยให้การท่องเที่ยวในสองประเทศดีขึ้นเท่าไหร่ ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหายกังวลด้านความปลอดภัย พร้อมตั้งคำถามผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการเป็นหุ้นส่วน

“ถ้าฉันไปเที่ยวที่โน่น ฉันไม่คิดว่าจะสามารถเดินทางกลับมาโดยปลอดภัย” ผู้ใช้รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นใต้วิดีโอเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกัมพูชา

การฉ้อโกงทางออนไลน์กลายเป็นปัญหาที่แพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจีนเปิดเผยว่า ในปี 2022 มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงออนไลน์ได้ประมาณ 464,000 คดี โดยสามารถจับกุมหัวหน้าแก๊งและสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มอาชญากรได้ 351 ราย 

ขณะที่ สถานทูตจีนในเมียนมาออกโรงเตือนพลเมืองของตนไม่ควรสนใจประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่มีเงินเดือนสูงเกินจริง หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนส.ค. ที่ผานมา ทางการจีนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทย ลาว และเมียนมา เพื่อร่วมกันปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์และอาชญากรรมการพนันที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในเมียนมา พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานใน จ.เชียงใหม่ อีกด้วย


ที่มา: Japan Times, OHCHRStraits Times