ทำไม ? งบ ‘หนังสือ’ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แค่ 69 ล้านบาท
รัฐบาลประกาศให้งบแก่ซอฟต์พาวเวอร์ไทย 11 ด้าน จาก 5,164 ล้านบาท สาขา 'หนังสือ' ได้ต่ำสุด 69 ล้าน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย จึงมีการจัดงานพูดคุยขึ้นมา
หลังจาก บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ แถลงข่าว งบอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย 11 ด้าน อุตสาหกรรมเฟสติวัล อาหาร ได้ไป 1,000 ล้านบาท ขณะที่ หนังสือ ได้ไปน้อยสุด 69 ล้านบาท
จากยอดรวม 5,164 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 สร้างผลสะเทือนให้กับวงการหนังสือทันที เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
มีการจัดงาน รับฟังความคิดเห็น งบประมาณ Soft power หนังสือ ขึ้น ณ ร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books & Cafe) คลองสาน กรุงเทพฯ วันที่ 10 ธันวาคม 2566
โดย จรัญ หอมเทียนทอง กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (หนังสือ), รศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ และ ภาณุ ตรัยเวช นักเขียน
จรัญ หอมเทียนทอง Cr. Kanok Shokjaratkul
- งบซอฟต์พาวเวอร์ 69 ล้าน มีที่มาที่ไปอย่างไร
จรัญ หอมเทียนทอง กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาหนังสือ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้เรามีส่วนกำหนดนโยบายด้านการอ่าน หลังจาก 9 ปีที่ผ่านมาเราจมปลักอยู่ในตม
"เมื่อมีแสงรำไรมาให้เห็นแล้ว ให้เราเดินไปหากัน อย่าเขียนพาดพิงกันไปกันมาในเฟซบุ๊ค ประเทศเรา ถ้าเราไม่พัฒนาการอ่าน เราจะไปไหนไม่รอด
เราจะมี สถาบันหนังสือ เป็นกลไกหลัก อย่าง สมาคมกีฬาต่าง ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ก็ต้องมีสถาบันดูแล
เรามีสมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักแปลฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาคมวิชาชีพ ก็ต้องมีคนดูแล คือสถาบันหนังสือ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปัจจุบันงานหนังสือมีแต่คนชั้นกลางมีเงิน มันคือความเหลื่อมล้ำ คนไปโฟกัส 69 ล้าน แต่ไม่โฟกัสโปรเจ็คว่ามีอะไรบ้าง
เราจะมีสถาบันหนังสือ เราจะพัฒนาห้องสมุดเมือง งบ 69 ล้าน จบแค่หนึ่งปี สถาบันการอ่าน 50 ล้าน คนทำ 3 ล้าน งานหนังสือ 8 ล้าน ทำคอนเทนท์ดึงดูดคนให้มางาน
เราต้องการให้คนไทยอ่านหนังสือให้มากกว่านี้ เมื่อเขาอ่านมากขึ้น ร้านหนังสือก็อยู่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในหนึ่งปี
ขณะนี้เป็นการเริ่มต้น ขอให้ดูพรบ.เดือนเมษายน จะออกมาเป็นยังไงกับ 11 วิชาชีพ
ทุกวันนี้คนอ่านมากขึ้น แต่เป็นคนในเมือง มีฐานะ ห้องสมุดจะเป็นตัวกระจายการอ่าน เด็กต้องการเรียนรู้ ห้องสมุดจะเป็นคำตอบ"
ธีรภัทร เจริญสุข Cr. Kanok Shokjaratkul
- สถาบันหนังสือ คืออะไร
ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ กล่าวว่า สถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ จะเป็นแหล่งที่เอางบประมาณไปใช้ เหมือนการกีฬาแห่งประเทศไทย จ่ายเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ
"ถ้าเรามีสถาบันหนังสือ เราจะมีองค์กรกลางในการจัดการองค์ความรู้และการอ่านของประเทศไทยในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มี
ในต่างประเทศจะมีรายงานอุตสาหกรรมหนังสือ ปีหนึ่งพิมพ์หนังสือออกมากี่เล่ม มีขนาดเท่าไร มีมูลค่าทางการตลาดเท่าไร แสนล้านหมื่นล้าน มีหนังสือในประเทศเท่าไร มีหนังสือนอกประเทศเท่าไร นักเขียนในประเทศเท่าไร นักแปลกี่คน นักวาดภาพประกอบกี่คน เราไม่มีตรงนี้
พอเราไม่มีองค์ความรู้ในเชิงอุตสาหกรรมหนังสือเป็นรูปธรรม เวลาไปคุยกับสำนักงบประมาณ ไปคุยกับสภาพัฒน์ เราก็ไม่มีข้อมูลไปของบประมาณ
ธีรภัทร เจริญสุข Cr. Kanok Shokjaratkul
ภาระของสถาบันหนังสือ มี 4 ขา 1) อุตสาหกรรมการผลิต 2) การส่งเสริมการอ่าน 3) การแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำหนังสือและการอ่าน 4) ซอฟต์พาวเวอร์ การส่งออกงานของเราสู่ต่างประเทศ
ยังมีการวิจัยเชิงรุกเกี่ยวกับการอ่าน ทั้งด้านผู้ผลิตและด้านการอ่าน 1) สถิติต้องออกมาพร้อมกัน 2) การส่งเสริมการแปล เราต้องมีทุนส่งเสริมการแปลงานไทยออกต่างประเทศ
เราต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน การสนับสนุนการจัดงานหนังสือ การสนับสนุนการอ่านสำหรับเด็กวัยแรกเกิด เรามีกรอบงานอยู่แล้ว
ถ้าเรามีสถาบันหนังสือ เราจะมีการจัดพิมพ์ เสนอสถิติทั้งหลาย 1) เพื่อสื่อสารภายในให้คนในประเทศไทยได้เข้าใจว่า สถานการณ์ปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน 2) เพื่อขายงานไปสู่ภายนอก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตลาดเรามีกี่หมื่นล้าน ส่งเสริมนักเขียนและศิลปิน มีทุนส่งเสริมห้องสมุด ทุนส่งเสริมร้านหนังสืออิสระ และการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น
ทุกวันนี้หนังสือที่ขายได้ คือ หนังสือที่ถูกทำเป็นภาพยนตร์ ละคร เวลาไปต่างประเทศ เขาจะถาม ลงเน็ตฟลิกซ์ไหม ทำเป็นซีรีส์หรือยัง ถ้าทำได้คือปิดการขาย เราก็เอาทีเซอร์ให้เขาดู จบ ขายได้เลย
เราต้องมีประสานงานตรงนี้ อยู่ในภารกิจหนึ่งของสถาบันหนังสือ รวมถึงสร้างศักยภาพทางธุรกิจ อย่าง ไทก้าไต้หวันมาประเทศไทย มีการจัดสัมมนาเชิญคนมาขายลิขสิทธิ์
Cr. Kanok Shokjaratkul
เชิญนักเขียนนักวาดมาทำแคตตาล็อกเป็นภาษาไทย เรามีตัวอย่างการทำงานที่ดีของต่างชาติให้ดูแล้ว เราจะทำยังไงให้ออกมาเป็นความจริงให้ได้
ผลสำรวจเวิล์ดแบงค์ บอกว่า จำนวนเด็กไทยชั้นประถมอ่านหนังสือไม่ออกเยอะขึ้น คนในชนบท ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา อ่านไม่ออกถึง 30 เปอร์เซ็นต์
เวลาโพสต์ขายของ ก็ไม่อ่าน เพราะอ่านไม่ออก แล้วก็สมาธิสั้นลง คนประเทศอื่นเวลาจะเริ่มทำงานอะไรต้องอ่านคู่มือ แต่คนไทยไม่อ่าน ระบบการศึกษาก็เลื่อนขั้นคนอ่านไม่ออกขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย"
รศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี Cr. Kanok Shokjaratkul
- ประเทศไทยไม่มี 'นักเขียน' ตัวแทนประเทศไทย
รศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราไม่มีโซเชียลมีเดียกลางเพื่อการสื่อสารระหว่างกัน
"ปัญหาอยู่ที่การสื่อสาร พอฟังคนนี้พูดก็เป็นแค่ความคิดของคณะกรรมการคนเดียว เรายินดีรับฟัง เราต้องการส่งเสียง แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาอ่านที่ไหน ต้องปรับปรุงการสื่อสาร
สอง. การแบ่งงาน มันกลับไปกลับมา มีทับซ้อนกันอยู่ การส่งเสริมการอ่าน ทำห้องสมุด การแปล ทั้งสามส่วนควรมีคณะทำงานที่มีประสบการณ์ รู้ว่าต้องไปทำงานกับใคร หรือต้องไปหางบจากที่ไหน
พอถามไปก็เป็นเรื่องโครงสร้างทันที มันเกินอำนาจของคณะกรรมการ เขาพร้อมที่จะปรับโครงสร้างนี้ยังไง ทักก้า (THACCA :Thailand Creative Content Agency) ทำอะไร เขาประกาศทำทุกอย่างเลย แล้วจะใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพได้ยังไง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่อยากให้ช่วย คือ หนังสือที่สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น เยอรมัน มี บัลซัค นักเขียนไทยเรามีใคร เราต้องช่วยกันดันให้ได้รับการวิจารณ์วิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ระดับโลก เราต้องสร้างระบบพานักเขียนเราไปให้ได้
ปัญหาการให้งบของประเทศนี้ นอกจากระบบโครงสร้างแล้ว ยังมีวิธีการให้งบกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องกรอกแบบฟอร์มว่าออกมาเป็นอะไร มันเลยลำบากในทุกมิติ
งบการเทรนด์ พัฒนานักเขียน นักแปล การไปพูดเรื่องความร่วมมือนักเขียนนักแปลระหว่างประเทศ มันจับต้องไม่ได้ เขาก็ไม่ให้เงินเรา มันคือ ทัศนคติทั้งหมดของระบบราชการไทย
ต้องเปลี่ยนทัศนคิต การลงทุนบางอย่างมันจับต้องไม่ได้ การสร้างนักแปลก็ต้องลงทุนสร้างอะคาเดมี่ ช่วงนี้นักเขียนมันก็แล้ง ถ้าเขียนประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยช่วงนี้ก็จะว่างไปเลย
ไม่รู้ว่าจะเอาชื่อใครใส่ เราต้องคิดถึงเจนเนอเรชั่นต่อไป ที่จะมาเขียนเกี่ยวกับประเทศนี้ เล่าเรื่องเป็น รู้จักขมวดอะไรขึ้นมา พูดอะไรยังไง
Cr. Kanok Shokjaratkul
นักเขียนที่เราขาดคือนักเขียนสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น โรงเรียนให้อ่านโต๊ะโตะจัง ความสุขของกะทิ แต่ความสนใจเด็กไปไกลกว่านั้นแล้ว
เขาสนใจโซเชียล สนใจซอมบี้ มันไม่มีหนังสือที่ตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิต เราต้องหานักเขียนสำหรับเยาวชนให้มากขึ้น ไม่อยากให้อ่านหนังสือแปลอย่างเดียว วัฒนธรรมการอ่านควรสร้างในทุกช่วงวัย อาจจะมีการให้รางวัลการรีวิวหนังสือเป็นการจูงใจ
สมาคมนักแปลฯน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ขอเสนอ นโยบายวรรณกรรมแปลแห่งชาติ เราต้องคิดถึงการให้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักของโลก
แล้วก็เรื่อง เซ็นเซอร์ นักเขียนหลายคนเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะเลี่ยงประเด็นที่เขียนเป็นภาษาไทย ถ้ายังมีการเซ็นเซอร์อยู่นักเขียนก็ไม่มีอิสระอย่างแท้จริง เราก็ไม่มีคอนเทนต์"
ภาณุ ตรัยเวช Cr. Kanok Shokjaratkul
- วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยยังมีอยู่
ภาณุ ตรัยเวช นักเขียน ผู้มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ถึง 3 สมัย (เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ 2549, วรรณกรรมตกสระ 2551, คดีดาบลาวยาวแดง 2555) กล่าวว่า
"ในฐานะนักเขียนนักอ่าน เขามีแพลนตั้งสถาบันหนังสือ เรามีสมาคมนักเขียนฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯอยู่แล้ว มันจะช่วยอะไร
ผมอยากรู้เรื่องร้านหนังสืออิสระว่าจะได้รับอะไรจากงบซอฟต์พาวเวอร์
ผมไม่ได้ผูกพันกับห้องสมุดขนาดนั้น ไม่ได้ไปห้องสมุดเขตเลย ผมชอบเข้าร้านหนังสือมากกว่า ตอนนี้ร้านหนังสือเล็ก ๆ ร้านเช่าหนังสือ ก็ค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ
Cr. Kanok Shokjaratkul
คนไทยเรามีวัฒนธรรมเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดแค่ไหน ร้านหนังสือทางเลือก ร้านหนังสือเล็ก ๆ ยังเป็นพื้นที่สำคัญของการอ่าน
ผมว่าวัฒนธรรมการอ่านในปัจจุบันไม่มีปัญหา ผมเชื่อในรสนิยมการอ่านของคนรุ่นใหม่ มีความใคร่รู้
เวลาวัดคุณภาพการอ่านไม่ใช่ดูว่าหนังสือขายดีคืออะไร แต่ให้ดูว่าเขาอ่านอะไร ไล่ลงไปดูอันดับ 2-3 ดูระดับล่าง ๆ ไล่ลงมา
ผมว่าสังคมไทยไม่แย่นะ หลัง ๆ แนวประวัติศาสตร์ แนวรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"