‘หลานม่า’ เรื่องจริงที่โดนใจ แบบนี้จะไม่หลงรักหรือ?
ไปดู 'หลานม่า' หรือยัง...บิวกิ้นรับบทหลานม่าได้น่าหยิก ผลงานหนังเรื่องแรกของอุษา เสมคำ (อาม่า) ซึ่งหนังเรื่องนี้วิพากษ์กันมากเหลือเกิน...
หลานม่า อีกผลงานของค่ายจีดีเอชในปี 2024 ที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงนี้ เนื้อหาเล่าถึงครอบครัวไทยเชื้อสายจีนระหว่างอาม่าเหม้งจู (อุษา เสมคำ วัย 78 ปี )ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และเอ็ม หลานชาย(บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) ที่ช่วงนั้นหยุดเรียน เพื่อมาเป็นนักแคสต์เกม
เอ็มเข้ามาดูแลอาม่า เพราะเห็นมุ่ย (ตู ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ลูกพี่ลูกน้องที่รับดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้าย จนได้รับมรดก ก็อยากทำแบบนั้นบ้าง แรกๆ ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เอ็มรู้สึกว่าอาม่าเรื่องเยอะ จากนั้นเขาค่อยๆ เข้าใจอาม่ามากขึ้น และมีช่วงหนึ่งเอ็มแปลกใจ...ทำไมช่วงวันหยุดและเทศกาล อาม่าต้องแต่งตัวสวย มานั่งหน้าบ้าน
หนังเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับการแสดง และ ทศพล ทิพย์ทินกร คนเขียนบท อยากสะท้อนความเป็นจริงที่ดูแล้วไม่น่าเบื่อ ไม่ดราม่าเกินไป วิธีการเล่าเรื่องจึงดูสมจริง เป็นธรรมชาติ และบางคำพูดอาจทำให้หลายคนนึกถึงครอบครัวตัวเอง
คนดูแต่ละคนอาจเสียน้ำตาในฉากที่มีประสบการณ์ร่วมไม่เหมือนกัน หรืออาจไม่เสียน้ำตาเลย แต่รับประกันได้ว่า คุณจะได้ความรู้สึกบางอย่างกลับไป
ได้สำรวจตรวจสอบตัวเองว่า เคยหลงลืม ละเลย หรือไม่ใส่ใจเรื่องใดในครอบครัวบ้าง บางทีอาจเหมือนเคี้ยงที่มีเหตุผลง่ายๆ ว่า ไม่มีเวลา ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว จึงมาเยี่ยมอาม่าไม่ได้
แกนเรื่องของหลานม่าไม่ได้ซับซ้อน หรือซ่อนปมให้ค้นหา สิ่งสำคัญคือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่กระตุกต่อมความรู้สึก ประกอบกับนักแสดงแสดงได้ดี โดยเฉพาะบทอาม่า เอ็ม เคี้ยง ซิว โส่ย และมุ่ย(บทไม่เยอะ แต่โดนใจ)
จนได้รู้ว่า อาม่าเฝ้ารอลูกๆ มาเยี่ยม ไม่ว่าเคี้ยง (ดู๋ สัญญา คุณากร) ลูกชายคนโต ,ซิว แม่ของเอ็ม ลูกสาวคนกลาง พนักงานซุปเปอร์มาร์เก็ต (เจีย สฤญรัตน์ โทมัส) และโส่ย (เผือก พงศธร จงวิลาส) ลูกชายคนเล็กที่มีหนี้สินมากมาย
แม้หนังเรื่องนี้จะไม่มีฉากอากงเสียชีวิต นำเสนอแค่การบอกเล่าของมุ่ยเพียงไม่กี่ประโยค โดยเล่าว่า อากงสำลักอาหาร แต่มุ่ยไม่ช่วย ทั้งๆที่ช่วยได้ เพราะอากงได้สั่งเสียไว้ และเป็นวาระระยะสุดท้ายที่มุ่ยไม่อยากเห็นอากงทรมานมากไปกว่านี้
รวมถึงฉากที่อาม่านอนหันหลัง และเอ็มนั่งอยู่ข้างๆ ในบ้านพักคนชรา แค่เอ็มบอกว่า จะพาอาม่ากลับบ้าน ไม่มีคำอธิบายมากมาย แต่สัมผัสได้ถึงความดีงามของมนุษย์คนหนึ่ง
ผู้เขียนชอบตอนที่ลูกๆ พยายามปกปิดว่าอาม่าเป็นมะเร็ง เพราะเกรงว่าจะเสียใจ แต่เอ็มกลับบอกว่า อาม่ามีสิทธิรับรู้ว่า ร่างกายของตัวเธอเองป่วยเป็นอะไร
และช่วงที่อาม่าแวะเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยเป็นมะเร็ง แล้วถามกันว่า มะเร็งระยะไหน เป็นบทสนทนาธรรมดาๆ แต่บอกเป็นนัยๆ ว่า ทำไมชีวิตคนไทยต้องจบลงด้วยมะเร็ง...
ในหนังเรื่องนี้ อาม่าเหม้งจูอาจไม่ได้พูดว่า รักลูกคนไหนมากที่สุด คนที่ได้รับมรดกอาจไม่ใช่คนที่อาม่ารักที่สุด แต่กลับเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนที่ดูแลอาม่าคือ ลูกสาว แม้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ก็สมควรได้รับมรดก แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่
ในโลกความเป็นจริง แม้บางครอบครัวจะแบ่งภาระหน้าที่ให้ลูกๆ ดูแลแม่ได้ แต่ส่วนใหญ่มักโยนภาระการดูแลให้ลูกสาว
หนังไม่ถึงกับใจร้ายกับซิว ลูกสาวที่ต้องดูแลอาม่าตลอด มีบางอย่างที่อาม่าเก็บไว้ให้หลาน (ลูกชายซิว) แต่ที่สุดแล้ว เอ็มก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่อาม่าต้องการในวาระสุดท้าย...
อีกตอนที่ผู้เขียนชอบ คือ ตอนที่อาม่าให้เอ็มไปเป็นเพื่อนไปบ้านพี่ชายอาม่าที่ร่ำรวย เพื่อขอแบ่งมรดกบางส่วนมาทำฮวงซุ้ย อยากให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข เพราะอาม่าเองก็เป็นคนดูแลพ่อแม่ แต่กลับไม่ได้รับมรดก และยังถูกพี่ชายปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
ว่ากันว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำความเข้าใจกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ว่าการยื้อชีวิต หรือไม่ยื้อชีวิต คนในสังคมกล้าพูดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
และต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังไม่มีระบบสวัสดิการที่ดีพอในการดูแลผู้สูงวัย แม้จะมีนักบริบาลที่คอยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน แต่ยังไม่มากพอ และที่น่าห่วงและกำลังเป็นปัญหาคือ สังคมสูงวัยในเมือง
ย้อนมาที่หลานม่า แม้คนดูจะรู้ทางของหนัง แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ตัวละครถ่ายทอดออกมา นั่นแหละคือ สิ่งที่อยากชวนไปดู
่