Fly Me To The Moon หนังตีแผ่ภารกิจมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ “ของแท้หรือลวงโลก”
เบื้องหลังหนัง Fly Me To The Moon ทำไม ‘องค์การนาซา’ ไฟเขียวให้ถ่ายทอดภารกิจเหยียบดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 ที่มาพร้อมกับทฤษฎีว่า “มนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์” จริงหรือมั่วนิ่ม รับชมพร้อมกัน 8 ส.ค. นี้ ในโรงภาพยนตร์
เหตุการณ์สำคัญหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติอย่าง “ยานอะพอลโล 11 ของสหรัฐ ลงจอดบนดวงจันทร์” เวียนมาบรรจบครบรอบ 55 ปี ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนทฤษฎีที่ว่า “มนุษย์ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์จริงหรือไม่” ก็ยังไม่เคยจางหายไป
ล่าสุดฮอลลีวู้ดได้หยิบยกเอาทฤษฎีดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ‘Fly Me To The Moon ทะยานฟ้าสู่พื้นจันทร์’ ที่นำแสดงโดย สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน, แชนนิง เททั่ม, วูดดี ฮาร์เรลสัน กำกับการแสดงโดย เกร็ก เบอร์แลนติ ผู้เคยฝากผลงานอย่าง The Broken Hearts Club, Atlas และ Love, Simon เอาไว้
ที่สำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับไฟเขียวจากองค์การนาซ่าที่อนุญาตให้ทีมงานไปถ่ายทำ ณ แหลมเคนเนดี้ ในรัฐฟลอริดา สถานที่จริงในการปล่อยยานApollo 11 ขึ้นสู่ดวงจันทร์
หรือข่าวลือเรื่อง “จัดฉาก” จะมีมูล
Fly Me to the Moon เป็นหนังคอเมดีดรามาสไตล์เฉียบคมที่มีฉากหลังเป็นภารกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาในการส่งยานอะพอลโล 11 ทะยานขึ้นสู่ดวงจันทร์ ในยุคที่กำลังมีการแข่งขันทางอวกาศอย่างดุเดือดระหว่างประเทศมหาอำนาจ
‘โคล เดวิส’ (แชนนิง เททัม) ผู้อำนวยการฝ่ายปล่อยยานอวกาศ ตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผู้ที่เคยทำงานในโครงการนาซ่า เป็นนักบินที่เก่งกาจ แต่ด้วยปัญหาทางกายภาพทำให้ขึ้นไปกับยานเองไม่ได้ เขาจีงหันมาช่วยเพื่อนที่เป็นนักบินได้ไปเหยียบดวงจันทร์แทน
โคลตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เมื่อนาซ่าต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ เขาต้องหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ประดังประเดเข้ามาจนทำให้ได้เจอกับ ‘เคลลี่’ (สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน) เจ้าแม่การตลาดที่เข้ามาปรับปรุงภาพลักษณ์ของนาซ่า และหาเงินสนับสนุนโครงการอะพอลโล 11 ด้วยวิธีการแหวกแนวที่โคลไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อทำเนียบขาวมองว่าภารกิจนี้สำคัญเกินกว่าจะล้มเหลว โจนส์ก็ถูกสั่งให้จัดฉากการลงสู่ดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 แบบปลอม ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแผนสำรอง ในขณะที่การนับถอยหลังเพื่อปล่อยยานจริงได้เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน
ผู้กำกับเบอร์แลนติกล่าวถึงภาพยนตร์ Fly Me To The Moon เอาไว้ว่า
“ตอนเป็นเด็กผมคลั่งเรื่องอวกาศมาก ตอนที่เรามีลูกชายเมื่อแปดปีที่แล้ว สิ่งแรกที่เราซื้อมาแต่งห้องเขาคือภาพชุดนักบินอวกาศของนีล อาร์มสตรองขนาดเท่าของจริงครับ ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนาซ่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวการแข่งขันทางอวกาศที่ถูกสมมติขึ้นมา ผมและทีมผู้สร้างต้องการให้ฉากมีความสมจริงมากที่สุด การแต่งกายนักแสดงที่เหมาะสมกับยุคนั้น การสวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ สถานที่ต่าง ๆ สร้างอย่างพิถีพิถัน เช่น ห้องควบคุมการปล่อยจรวด บรรยากาศ สภาพแวดล้อม”
ได้รับการสนับสนุนจาก “นาซา”
Fly Me to the Moon ผลงานภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดจากค่าย โซนี่ พิคเจอร์ส ได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ (นาซา) ตลอดจนได้ร่วมงานกับที่ปรึกษาด้านเทคนิคหลายคน ผู้มีบทบาทสำคัญในหน่วยงานด้านอวกาศในช่วงโครงการอะพอลโล
“ตอนแรกเลยเราไม่แน่ใจว่านาซ่าจะยินดีสนับสนุนหรือไม่ แต่ความรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งก็เกิดขึ้นเมื่อนาซ่าต้อนรับการถ่ายทำของพวกเรา โดยอนุญาตให้ทีมงานถ่ายทำในสถานที่จริงที่ Cape Kennedy ในรัฐฟลอริดา ทุกอย่างทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่ชุดหูฟังไปจนถึงปุ่มและหน้าปัดบนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ช่วงที่ถ่ายทำเราได้เชิญผู้ที่เคยเข้าร่วมการปล่อยจรวดมาด้วย ซึ่งพวกเขาถึงกับร้องไห้เมื่อเดินเข้าไปในห้องควบคุมการปล่อยจรวด เพราะรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในอดีตอีกครั้ง
มันคืองานที่ท้าทายที่สุด เพราะฉากนี้ต้องใช้พื้นที่ถ่ายทำที่มีขนาดเท่ากับสนามเบสบอล เรามีการทดสอบตัวอย่างจรวดไปถึง 30 ชนิด เพราะเราต้องคิดถึงว่า ดวงจันทร์มีลักษณะอย่างไรในภาพยนตร์ เราตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก สวมหน้ากากกรองฝุ่นเพราะมีฝุ่นละเอียดมากมาย สวมรองเท้าแปลก ๆ เพื่อไม่ให้ทำลายฉากดวงจันทร์ ทีมของพวกเราใช้เวลาหลายเดือนในการก่อสร้างและออกแบบ การใช้สลิง นักแสดงสตั๊นท์ การจัดแสงด้วยไฟจากยุคนั้น และครูฝึกการเคลื่อนไหวที่ทำงานร่วมกับ ‘นักบินอวกาศ’ ของเรา เพื่อตามรอยของ บัซ (อัลดริน) และนีล (อาร์มสตรอง) การก้าวเดินบนดวงจันทร์ครั้งแรกซึ่งมีภาพอันโด่งดังที่ถูกถ่ายเอาไว้ เราจำเป็นต้องสร้างมันออกมาให้เหมือนที่สุด”
ผู้กำกับ เบอร์แลนติ กล่าว
ขณะที่ผู้อำนวยการสร้าง โจนาธาน เลีย เสริมว่า
“หลายคนบอกเราว่าเสียเวลาเปล่าไปกับการขออนุญาตถ่ายทำที่เคนเนดี้ สเปซ เซ็นเตอร์ กับหนังที่มีการปลอมฉากลงสู่พื้นดวงจันทร์ แต่นาซาดูบทและเรื่องราวของเราอย่างเป็นกลาง และพวกเขาก็เห็นในสิ่งที่เราเห็นในบทหนังเรื่องนี้ นั่นคือโอกาสในการเฉลิมฉลองความสำเร็จยิ่งใหญ่ในสเกลที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือคนจำนวน 400,000 คนที่ทำงานในโครงการนี้”
“ของแท้ หรือแค่ ลวงโลก” ไปพิสูจน์กันในภาพยนตร์ ‘Fly Me to The Moon ทะยานฟ้าสู่พื้นจันทร์’ 8 สิงหาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์