คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’

กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวม คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ที่แฟนคลับศิลปินเกาหลี นิยมใช้ในคอนเสิร์ต และเอาไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้องแน่นอน

ประเทศไทยยังคงเป็น “เมืองแห่งคอนเสิร์ต” ปีนี้มี “คอนเสิร์ต” ทุกสัปดาห์ ทั้งของศิลปินไทย ชาวตะวันตก และเกาหลีใต้ ซึ่งในการดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็จะมีวัฒนธรรมที่ผู้ชมร่วมกันทำ ซึ่งรู้กันอย่างดีในหมู่ผู้ชม โดยเฉพาะในวงการเพลงเกาหลี หรือ “K-POP” ที่มีกิจกรรมให้ทำมากมาย มีคำศัพท์เรียกเฉพาะ และหลายอย่างก็แพร่กระจายไปสู่คอนเสิร์ตของศิลปินทั่วไป

กรุงเทพธุรกิจ รวบรวม คำศัพท์ K-POP 101 ที่แฟนคลับศิลปินเกาหลี นิยมใช้ในคอนเสิร์ต และเอาไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้องแน่นอน

 

กิฟอะเวย์ 

เมื่อไปคอนเสิร์ต สิ่งที่เห็นได้บ่อยคือ มีกลุ่มแฟนคลับคอยแจก “กิฟอะเวย์“ (Giveaway) หรือ ของแจกฟรี อยู่รอบ ๆ สถานที่จัดคอนเสิร์ต ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายอย่างทั้งขนม สติ๊กเกอร์ การ์ด พัด เจลแอลกอฮอล์ โปสการ์ด ฯลฯ ของเหล่านี้เป็นหนึ่งวิธีแสดงความรักที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน และส่งมอบความรักต่อให้แก่คนอื่น ๆ ในรูปของของที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งเคยสร้างความทรงจำดี ๆ ในคอนเสิร์ตด้วยกัน

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’ กิฟอะเวย์ เจโน่ NCT DREAM

บง

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในคอนเสิร์ตของศิลปิน K-POP คือ “แท่งไฟ” หรือ “บง” () ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงพลัง “แฟนด้อม” และการแสดงความรักที่มีต่อศิลปินแล้ว ยังช่วยให้การรับชมคอนเสิร์ตของแฟนคลับสนุกสนานมากยิ่งขึ้น เพราะแท่งไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดแท่งไฟขึ้นมา และทำการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันของแท่งไฟ เพียงเท่านี้แท่งไฟก็จะเปลี่ยนสีไปตามการแสดงต่าง ๆ ในคอนเสิร์ตตามที่ได้ถูกเซ็ตติ้งไว้ ด้วยระบบส่งสัญญาณแบบบลูทูธ หรือ NFC ขึ้นอยู่กับบงแต่ละรุ่น

นอกจากนี้ในบงรุ่นหลัง ๆ ยังสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างหลากหลายตามต้องการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สีประจำวงวง หรือ สีขาวเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนโหมดให้เป็นแบบกะพริบตามจังหวะได้อีกด้วย บางครั้งบงก็ทำหน้าที่มากกว่าบง เพราะสามารถใช้เป็นพาวเวอร์แบงก์ได้ด้วย รวมถึงสามารถปรับความสว่างได้ เพื่อใช้เป็นไฟฉายนำทางเวลาเดินกลับบ้านดึก ๆ หลังจากคอนเสิร์ตเลิก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ศิลปินทุกวงที่จะมีแท่งไฟเป็นของตนเอง ดังนั้นการที่ศิลปินมีแท่งไฟจึงการันตีได้ว่าพวกเขานั้นมีชื่อเสียงพอสมควร มีแฟนคลับอยู่จำนวนหนึ่งที่เพียงพอจะทำแท่งไฟออกมาขายโดยไม่ขาดทุน โดยแท่งไฟของแต่ละวงนั้นจะมีลักษณะและสีสันแตกต่างกันออกไป ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เป็นแท่งไฟยาว ๆ เท่านั้น

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’ "กะรัตบง" แท่งไฟของวงเซเวนทีน

บัตรหลุม

บัตรคอนเสิร์ตมีด้วยกันหลายราคา แตกต่างกันไปตามที่นั่ง ส่วนใหญ่บัตรราคาแพง มักจะเป็นโซนบัตรยืนที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาของเวที ซึ่งสามารถมองเห็นศิลปินได้ชัดเจนติดขอบเวที ด้วยลักษณะโซนยืนที่อยู่ระนาบเดียวกันกับเวที เมื่อมองมาจากมุมบน จะเห็นเป็นหลุม พื้นที่ตรงนั้นจึงถูกเรียกว่า “บัตรหลุม” นั่นเอง

 

บัตรดอย 

บัตรราคาถูกสุดของคอนเสิร์ตจะอยู่ชั้นบนสุดของสถานที่จัดคอนเสิร์ต เหมาะสำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์ไม่มาก เน้นเข้าร่วม ไปเอาฟีลจอย ๆ แต่ก็ต้องแลกมากับการเดินขึ้นไปที่นั่งที่อยู่สูงเหมือนกับการเดินขึ้นดอย บางคนยังเดินไม่ถึงที่นั่งก็ลมจับ หอบแฮก ๆ แล้ว บัตรในโซนนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “บัตรดอย” ซึ่งอาจไม่เหมาะกับคนสูงอายุ และข้อเข่าไม่ค่อยดี

 

เบเนฟิต 

เดี๋ยวนี้การไปคอนเสิร์ตไม่ได้แค่ไปดูศิลปินทำการแสดงเท่านั้น แต่ในตอนนี้ค่ายและผู้จัดยังมอบสิทธิพิเศษ หรือ “เบเนฟิต” ให้แก่ผู้ชม ซึ่งบัตรแต่ละราคาก็จะได้รับเบเนฟิตแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้จัดกำหนด นอกจากนี้เบเนฟิตบางอย่างยังมาในรูปแบบ “การสุ่ม” หาผู้ชมโชคดีอีกด้วย

สำหรับเบเนฟิตทั่วไปที่พบให้ได้บ่อยในคอนเสิร์ต ได้แก่

  • ไฮทัช (Hi Touch) เป็นการจับมือทักทายศิลปิน
  • ถ่ายภาพคู่กับศิลปิน ซึ่งมีทั้งแบบเป็นหมู่คณะ (1:8, 1:10, 1:20) และถ่ายเดี่ยว (1:1)
  • เซนด์ออฟ (Send Off Session) ศิลปินส่งผู้ชมเดินออกจากฮอลล์
  • ฟังการซาวด์เช็ค (sound check) ก่อนเริ่มการแสดงจริง
  • การได้รับโปสเตอร์พร้อมลายเซ็นจากศิลปิน

 

โปรเจ็กต์

ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมไปแล้วที่แฟนคลับจะร่วมกันทำโปรเจ็กต์พิเศษ เพื่อแสดงความรักที่มีต่อศิลปิน โดยมีด้วยกันหลายรูปแบบ อาทิ การขึ้นป้ายบิลบอร์ด และรถโดยสาร เช่น รถตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ ในละแวกใกล้เคียงกับสถานที่จัดคอนเสิร์ต

รวมถึงทำป้ายสโลแกนพิมพ์ข้อความดี ๆ ให้ผู้ชมทั่วทั้งฮอลล์ชูพร้อมกันระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต หรือมีการวางกล่องไฟบนที่นั่งชั้น 2-3 และบัตรบอย คล้ายกับการแปรอักษร เป็นคำแสดงความรักต่าง ๆ หรืออาจทำคลิปประมวลภาพและความรู้สึกของแฟนคลับที่มีต่อศิลปินที่พวกเขารัก 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำโปรเจ็กต์ทั้งหมดนี้ มาจากการโดเนท (บริจาค) เงินของเหล่าแฟนคลับ

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’ แทบี๋ แฟนคลับร่วมทำโปรเจ็กต์ให้ The Boyz ในคอนเสิร์ต THE BOYZ WORLD TOUR : ZENERATION Ⅱ in BANGKOK
เครดิตภาพ: เอ็กซ์ The Boyz

 

แฟนชานท์ 

“แฟนชานท์” เป็นโค้ดเชียร์ร้องสื่อสารกับศิลปิน เพื่อให้กำลังใจและมีส่วนร่วมกับศิลปิน ซึ่งในแต่ละเพลงนั้นจะไม่เหมือนกัน โดยอิงจากทำนอง จังหวะ และคำร้องของเพลงเป็นหลัก ซึ่งมีด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ การเรียกชื่อสมาชิกในวง ส่วนมากมักจะอยู่ในช่วงอินโทรตอนเริ่มเพลง ท่อนโซโล หรือเอาท์โทรตอนจบเพลง เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเรียกชื่อให้ครบทุกคน รวมถึงขานชื่อวงซ้ำ ๆ

แบบต่อมาคือการ ย้ำคำ โดยแฟนคลับร้องพร้อมไปกับศิลปินในบางคำของท่อนเพลงนั้น ส่วนมากมักจะเป็นคำง่าย ๆ ท้ายประโยค ส่วนแบบที่ 3 จะเป็นการร้องพร้อมกันกับศิลปินทั้งประโยค ซึ่งมักจะเป็นท่อนฮุคของเพลง หรือท่อนที่เป็นคำง่าย ๆ ท่อนคุ้นหูที่ร้องซ้ำ ๆ 

ส่วนแบบสุดท้าย คือ การโต้ตอบกับศิลปิน ที่มีท่อนเชียร์แตกต่างไปจากเนื้อเพลงต้นฉบับ เหมือนเป็นการตอบโต้กับเพลงท่อนนั้น คล้ายกับการยิงมิกซ์ ของวัฒนธรรมการเชียร์ไอดอลญี่ปุ่น หรือคล้ายกับเพลง “เลิกเหอะ” ของคริสติน่า อาร์กีลา ในท่อน “เลิกเหอะ” (ไม่เลิก) “ใจไม่มีให้กันก็ไปเหอะ” (ไม่ไป)

เดิมที่แฟนชานท์จะมี บ้านเบส หรือ หัวหน้าแฟนคลับ เป็นคนคิดรูปแบบ แล้วก็ถ่ายทอดไปให้กลุ่มแฟนคลับด้วยกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในหมู่แฟนๆ แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ในภายหลังค่ายเพลงและศิลปินจะเป็นคนคิดแฟนชานท์ขึ้นมาเอง และมีคลิปวิธีการร้องที่ถูกต้องสอนโดยศิลปินตามออกมา เพื่อให้แฟนคลับได้ฝึกหัดร้องตาม 

หลายครั้งแฟนชานท์ก็ออกมาท้าทายทักษะและความสามารถของแฟนคลับ อย่างเช่นแฟนชานท์เพลง “HIT” ของ Seventeen ถูกยกให้เป็น 1 ในแฟนชานท์ที่ยากที่สุด ทั้งท่อนร้องเยอะ ร้องรัว มีอะไรให้จำมากมาย แถมใช้พลังเยอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้แฟนชานท์นี้ช่วยให้ศิลปินฮึกเหิม และเติมเต็มโชว์ให้สมบูรณ์ แต่ก็ใช้ไม่ได้ผลกับประเทศไทย เพราะคนไทยนิยมร้องตามศิลปินทั้งเพลง ไม่ต้องใช้แฟนชานท์



 

โฟโต้การ์ด 

“โฟโต้การ์ด” หรือ การ์ดไอดอล เป็นการ์ดรูปศิลปินในอิริยาบถต่าง ๆ ที่แถมมาจากอัลบั้ม นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่วงการ K-POP นำมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขายอัลบั้ม เนื่องด้วยการ์ดที่ใส่แถมมาเป็นแบบสุ่ม จึงไม่มีอะไรการันตีได้ว่าซื้ออัลบั้มมาแล้วจะได้เมนตัวเอง ยิ่งทำให้แฟนคลับต้องซื้ออัลบั้มมากขึ้น เพื่อพยายามหาการ์ดของศิลปินที่รักให้ได้

เมื่อกลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ค่ายเพลงให้ความสำคัญกับการทำอัลบั้มให้มีความพิเศษ และออกมาหลากหลายเวอร์ชันมากยิ่งขึ้น พร้อมแข่งขันกันพัฒนารูปแบบของการ์ดต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้ออัลบั้มให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นิตยสารและสินค้าต่าง ๆ ศิลปินเป็นพรีเซนเตอร์ ก็มีการออกโฟโต้การ์ดเป็นของแถมเพื่อใช้กระตุ้นยอดขายด้วยเช่นกัน 

แฟนคลับจะพกบงไปคอนเสิร์ตแล้ว หลายคนยังพกโฟโต้การ์ดที่ใส่กรอบอย่างดี ตกแต่งอย่างสวยงาม และตุ๊กตาคาแรกเตอร์ของศิลปินไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามาเชียร์ใคร และมีใครเป็นเมน

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’ โฟโต้การ์ดรูปแบบต่าง ๆ

 

เมิร์ช

“เมิร์ช” เป็นคำย่อมาจาก “Merchandise” ใช้เรียกสินค้าออฟฟิเซียลของศิลปินที่ขายหน้างานคอนเสิร์ต ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายชนิด ตั้งแต่อัลบั้มเพลง แท่งไฟ ไปจนถึงของที่ระลึกจากการคอนเสิร์ต เช่น เสื้อยืด เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า ถุงผ้า ตุ๊กตา พัด และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ศิลปินบางวง อาจจะมีเซ็ตโฟโต้การ์ดที่มีเฉพาะคอนเสิร์ตแต่ละเมืองให้ได้สะสมกันอีกด้วย

หากคุณอยากจะได้เมิร์ชจากคอนเสิร์ต อาจจะต้องเผื่อเวลาสักหน่อย ไปคอนเสิร์ตให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาไปต่อแถวซื้อของเหล่านี้ เพราะหากไปช้า ของอาจจะหมดก่อนก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดอาชีพรับหิ้วสินค้าหน้าคอนเสิร์ต เพื่อช่วยให้คนที่ยังไม่ถึงคอนหรือไม่ได้ไปคอน แต่อยากได้เมิร์ช มีโอกาสได้จับจองเป็นเจ้าของสินค้าเหล่านี้ ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าหิ้วเพิ่มเติม

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’
เมิร์ชของคอนเสิร์ต ENHYPEN WORLD TOUR 'FATE PLUS' 

 

อังกอร์ 

ทันทีที่เสียงดนตรีเพลงสุดท้ายในการแสดงจบ ศิลปินเดินลงจากเวที ไฟบนเวทีดับลง นั่นเป็นสัญญาณว่าการแสดงคอนเสิร์ตได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่เหล่าคนดูยังคงไม่ลุกจากที่นั่งไปไหน บางคนก็ร้องตะโกนว่า “เอาอีก เอาอีก” ขณะที่บางคนก็ปรบมือ หรือโบกแท่งไฟ พร้อมส่งเสียงเชียร์เรียกให้ศิลปินกลับมาโชว์ต่อ

หลังจากนั้นไม่นาน ศิลปินก็จะออกมาพร้อมกับการแสดงเพลงฮิตที่สุดของพวกเขา (ที่ยังไม่ได้แสดงไปก่อนหน้านี้) อีก 2-3 เพลงก่อนที่การแสดงคอนเสิร์ตจะจบลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการแสดงเพิ่มเติมหลังจากที่ศิลปินแสดงจบไปแล้วนั้นเรียกว่า “Encore” ซึ่งออกเสียงว่า “อังกอร์” หรือ “เอ็นคอร์” 

สำหรับวงการ K-POP แล้ว Encore ถูกรวมเป็นหนึ่งองก์ของโชว์ นอกจากศิลปินทั้งบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป จะออกมาร้องและเต้นเพลงฮิตแล้ว พวกเขาใช้ช่วงเวลานี้ให้สมาชิกแต่ละคนพูดขอบคุณแฟนคลับ 

เสื้อผ้าที่ใส่ในช่วงนี้ มักจะเป็นสินค้าที่ระลึกของคอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นให้แฟนคลับอยากซื้อสินค้าหลังจากออกจากคอนเสิร์ตอีกด้วย นี่จึงเป็นส่วนที่ทำให้ Encore ของศิลปิน K-POP ส่วนมากมักจะยาวนานกว่าศิลปินตะวันตก และทำให้คอนเสิร์ตเลิกดึก บางทีเลยเถิดจนคนดูไม่มีรถกลับบ้าน แต่ทุกคนก็ยอมและยินดีที่กลับบ้านดึกหน่อย เพื่อได้อยู่กับศิลปินที่รักนานขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม
กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง

คำศัพท์ ‘K-POP 101‘ ฉบับ เตรียมตัวไปดู ‘คอนเสิร์ต’