'หนึ่งในร้อย' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ?

'หนึ่งในร้อย' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ?

เพราะนิยาย 'หนึ่งในร้อย' 'ดอกไม้สด'เขียนความหมายไว้ลึกซึ้ง เมื่อนำมาทำละคร จึงต้องหานักแสดงเก่งๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้เห็นละครดีๆ แบบนี้

หนึ่งในร้อย (My Cherie Amour) ละครพีเรียด รักโรแมนติก กำลังออกอากาศทางสถานีช่อง 3 (ปี 2567) จากวรรณกรรม ดอกไม้สด จัดเป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เคยนำมาทำละครครั้งแรกเมื่อปี 2525

หากใครได้ดูละครเรื่องนี้ ลองอ่านความรู้สึกของตัวละครไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกคู่ครอง จะเห็นว่า อนงค์ แม้จะเป็นผู้หญิงสวย ทันสมัย ดูดี แต่ขอเลือกคู่ครองเอง ไม่ยอมให้พี่ๆ จับคู่ให้ และนั่นคือ หนึ่งในเหตุผลที่แปลกแยกกับคนในครอบครัว

  • 90 ปี"หนึ่งในร้อย"

ดอกไม้สดเขียนเรื่องนี้ เมื่อปี 2477 ในช่วงวัย 30 ปี เธอกล้าที่จะก้าวข้ามขนบแบบเดิมๆ ในยุคนั้น จะเรียกว่าหัวก้าวหน้า คิดอ่านล้ำกว่าคนยุคนั้นก็คงไม่ผิด และไม่ใช่แค่นั้น งานเขียนของเธอยังมีภาษาที่สวยงาม มีคำอธิบายเรื่องความรักอย่างคนเข้าใจโลก 

\'หนึ่งในร้อย\' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ? ละครเรื่องนี้ แอน ทองประสม ผู้จัดมองขาดในเรื่องการเลือกนักแสดงนำ...ต่อ ธนภพ(คุณพระ-พระอรรถคดีวิชัย), ญาญ่า อุรัสยา(อนงค์) และกิ๊ก สุวัจนี (คุณนายชื่น) ฯลฯ รวมถึงตัวละครอื่นๆ ที่แสดงได้ดีเกือบทุกคน  

หนึ่งในร้อย เป็นเรื่องราวของอนงค์ ทายาทนายธนาคารใหญ่ ซึ่งพี่ๆ พยายามเลือกเฟ้นคู่ครองที่เหมาะสมให้น้องสาว โดยมีวิชัย(คุณพระ) ผู้พิพากษามาช่วยเป็นพ่อสื่อหาสามีให้

หน้าที่ของเขา คือ กีดกันชายที่ไม่คู่ควรออกไป เพื่อเปิดทางให้น้องชายของเขา แต่ก็ไม่ลงตัวและวิชัยได้เข้ามาเปลี่ยนนิยามความดี ทำให้อนงค์ค้นพบว่า ไม่มีใครคู่ควรกับเธอเท่าวิชัย อนงค์ทำทุกทางเพื่อชนะใจวิชัย แม้จะรู้ว่ามีโอกาสเพียงหนึ่งในร้อยที่จะได้คุณพระมาครอบครอง

เรื่องหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างคุณพระกับอนงค์คือ เป็นคนช่างสังเกต เก็บรายละเอียดในการกระทำของคนอื่น และสิ่งที่อนงค์ตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ ในโลกนี้ยังมีผู้ชายดีๆ แบบคุณพระอีกเหรอ ? เมื่อคบหาแล้ว จึงอยากรู้จักตัวตนของคุณพระให้มากที่สุด และเลือกแล้วว่าจะต้องแต่งงานกับคุณพระ

\'หนึ่งในร้อย\' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ?

จึงไม่แปลกที่อนงค์มองชัดเหมือนเด็กเลี้ยงไม่โต เหมาะกับการเป็นเพื่อนมากกว่า และผู้ชายส่วนใหญ่ที่เข้าหาอนงค์ ก็มองอนงค์แค่ความสวย รวย เอาแต่ใจ ถ้าได้คบหาก็จะดูดีไปด้วย

ต่างจากคุณพระที่มองว่า อนงค์เป็นผู้หญิงเปรี้ยวที่มีความคิดความอ่าน จึงต่างจากผู้หญิงคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้อนงค์ไม่ค่อยมีเพื่อนผู้หญิง     

  • หนึ่งในร้อย รักที่ลุ่มลึกของดอกไม้สด 

ย้อนกลับมาที่คนเขียนเรื่องนี้สักนิด...

ดอกไม้สด หรือ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ แม้จะเติบโตในวัง และร่ำเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนจบมัธยมปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส แต่ถูกปลูกฝังให้มีความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับประสบการณ์ชีวิต ทำให้ความเข้าใจโลก และผู้อื่นในแบบที่พวกเขาเป็น  

ในส่วนของงานเขียน เธอเริ่มอาชีพนักเขียนตอนอายุ 20 ปี ผลงานในช่วงแรกออกแนวโรมานซ์ ยุคแรกๆ จะให้ความสำคัญกับตัวละครฝ่ายหญิง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ซึ่งกระทบการดำเนินชีวิตของเธอไม่ใช่น้อย ทำให้เข้าใจความเป็นจริงในสังคมยุคนั้นมากขึ้น ปี 2477 มีผลงานเขียนเรื่อง หนึ่งในร้อย

\'หนึ่งในร้อย\' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ? แม้หนึ่งในร้อยจะเขียนมานานกว่า 90 ปี แต่แนวคิดหลายอย่างในนิยายก็ยังใช้ได้กับชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการเลือกคู่ชีวิต ,การเข้าใจผู้อื่น และขนบประเพณีอันดีงาม 

  • หนึ่งในร้อยจะไม่ล้ำได้ยังไง...

จะมีละครสักกี่เรื่องที่มาจากนิยายเมื่อ 90 ปีที่แล้วและไม่เชย ไม่ตกยุคในเรื่องความคิดการเลือกคู่ชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง เฉกเช่นอนงค์ ผู้หญิงที่กล้าบอกรักผู้ชายก่อน และบอกตรงๆ ต่อหน้าว่า อยากแต่งงานด้วย และอธิบายเรื่องความรักและความรู้สึกอย่างมีเหตุมีผล

ขอยกตัวอย่างสักนิด ตอนที่อนงค์เจอหนังสือโป๊ในห้องคุณพระ ถ้าเป็นละครทั่วไป นางเอกก็คงโวยวาย หยอกล้อแบบซะใจ แซวแหลกราน 

แต่ละครเรื่องนี้ ดอกไม้สด เขียนไว้ว่า อนงค์ดีใจที่คุณพระไม่ละทางโลก ยังสนใจเรื่องพวกนั้น ซึ่งต่างจากละครทั่วไป ถ้าไม่แง่งอน แย่งนางเอก ก็แย่งพระเอก หรือไม่ก็เน้นความสวย หล่อ น่ารัก รวย และแสนดี

แต่บทอนงค์ในหนึ่งในร้อย หากมองแค่เปลือกนอก ก็เห็นแค่ความสวย หรูหรา และอนงค์ก็ยอมรับว่าไม่ใช่กุลสตรี จึงไม่เป็นที่รักของแม่คุณพระ    

  • ฉากและเสื้อผ้าคนพระนคร 

หลังจากละครออกอากาศไปได้ไม่นาน โลเคชั่นที่ใช้ถ่ายทำ "หนึ่งในร้อย" ก็ถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนดูตามรอยไปถ่ายรูป 

ถ้าใครจำฉากที่คุณพระเอามือบังแดดให้อนงค์เดินข้ามถนน เป็นอีกฉากที่ละเมียดละไม ดูห่วงใยและอ่อนโยน เป็นฉากที่ถ่ายทำข้างๆ ตึกเก่ากระทรวงกลาโหม แถวมิวเซียมสยาม สนามหลวง ซึ่งชาวต่างชาติชอบมาเดินท่องเที่ยว ส่วนอีกสถานที่สะพานบอกรักของอนงค์และคุณพระถ่ายทำที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และยังมีตึกเก่าที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5-6 ให้เห็นอีกหลายแห่ง 

ส่วนเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย นำเสนอให้อยู่ในยุคปี 1940 (พ.ศ.2488) เก๋ วิริยา พงศ์ขจร Verasalon Studio เป็นคอสตูมดีไซเนอร์ เพื่อทำให้อนงค์ดูหรูหราทันสมัยแบบสาวเปิ๊ดสะก๊าด(มาจากคำว่า first class คนสมัยนั้นฟังภาษาอังกฤษไม่ชัด และไม่สามารถออกเสียงได้ จึงเพี้ยนเป็น'เปิ๊ดสะก๊าด')

\'หนึ่งในร้อย\' เรื่องรักๆ ของอนงค์และคุณพระ ทำไมเขียนเมื่อ 90 ปีไม่ล้าสมัย ? แค่ชุดนางเอกก็ดีไซน์ออกมากว่าร้อยชุด ซึ่งผู้เขียนก็เคยนึกสงสัยว่า หลังจากละครจบ เขาจะจัดการกับเสื้อผ้าสวยๆ เหล่านี้อย่างไร จนได้เห็นว่า มีการเปิดขายเสื้อผ้าจากกองละครหนึ่งในร้อยและเรื่องอื่นๆ ในวันที่ 10 พ.ย.67 ดูได้ในเฟซบุ๊ก Thong Entainment ซึ่งก็เป็นความคิดที่ดีที่เอาเสื้อผ้าสวยๆ ในละครมาปล่อยให้คนสนใจ

ละครเรื่องนี้ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจอีกเยอะ และเชื่อว่า หนึ่งในร้อย จะเป็นละครคลาสสิกที่แฟนละครกลับมาดูได้อีกโดยไม่เบื่อ จะด้วยวัฒนธรรม สถานที่ถ่ายทำ และพล็อตเรื่อง

ขอย้ำอีกครั้ง 90 ปีแล้วนะกับหนึ่งในร้อย ตัวละครเฉกเช่น อนงค์ยังเป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่ล้ำในแง่ความคิดความอ่าน ส่วนจันทร (หลิง หลิง ) ตัวแทนผู้หญิงที่รู้ใจตัวเอง กล้าที่จะรักผู้ชายที่ใครๆ มองว่าไม่เอาไหน รักก็คือรัก ขอเพียงอย่าทรยศ

ส่วนคุณพระก็คือ พ่อพระ...หนึ่งในร้อย