เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

ชวนทำความเข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยอันเข้มแข็งของเกาหลีใต้ที่มีรากฐานมาจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู (Gwangju Uprising) ผ่านภาพยนตร์ A Taxi Driver, A Petal, 26 Years, Excavator ที่นำเสนอหลากหลายแง่มุม

ภาพยนตร์เป็นสื่อชั้นดีที่ทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย และเห็นภาพชัดเจน แม้จะต้องตระหนักเอาไว้อยู่เสมอว่า สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มีการแต่งเติมเข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันตามศาสตร์ของการทำภาพยนตร์อยู่ด้วย

สำหรับเหตุการณ์ประธานาธิบดียุนซอกยอลแห่งเกาหลีใต้ประกาศกฏอัยการศึกเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี ตามมาด้วยการที่ ส.ส. บุกฝ่าวงล้อมของทหารที่ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ท่ามกลางความช่วยเหลือของประชาชน และสื่อมวลชน เข้าไปจนสามารถเปิดประชุมสภา และโหวตคัดค้านกฏอัยการศึกด้วยคะแนนเสียง 160 ต่อ 0 ได้ภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ก่อให้เกิดกระแสพูดถึงในวงกว้างถึงความเป็นประชาธิปไตยที่เข็มแข็งของเกาหลีใต้

ทั้งหมดล้วนมีรากฐานมาจาก ‘การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจูง’ (Gwangju Democratic Uprising) เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนายพลชุนดูวาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ซึ่งถูกเรียกสั้น ๆ ว่าเหตุการณ์ May18

เหตุการณ์ Gwangju Uprising ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของเกาหลีใต้ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยซึ่งแลกมาด้วยเลือดและเนื้อของประชาชน ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ และซีรีส์ซึ่งเกาหลีใต้ถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของบ้านเขาเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเราคัดเลือกให้ตามไปดูกันดังนี้

 

A Taxi Driver (2017)

เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

สร้างจากเหตุการณ์จริงของคนขับแท็กซี่ Kim Sabok ที่ได้รับการว่าจ้างจากนักข่าวเยอรมัน Jürgen Hinzpeter ให้เดินทางไปตรวจสอบข่าวลือว่าประชาชนในเมืองกวางจูกำลังคิดก่อการกบฏโค่นล้มรัฐบาล แต่พอไปถึงพวกเขากลับพบภาพประชาชนถูกข่มขืน ทรมาน และถูกสังหารอย่างโหดร้ายแทน

ผู้กำกับ Jang Hoon ถ่ายทอดหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยแบ่งหนังออกเป็นสองส่วน เหตุการณ์แรกในกรุงโซลถูกถ่ายทอดออกมาในสไตล์คอเมดี้ที่ Song Kang-ho นักแสดงนำของเรื่องถนัด ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาเดินทางถึงเมืองกวางจูแล้ว ซึ่งโทนของหนังจะเปลี่ยนไปเป็นแนวแอคชั่นทริลเลอร์ สอดแทรกภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ออกมาแทน

A Petal (1996)

เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

 

เรื่องราวของเด็กสาวไร้ชื่อผู้อยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่เมืองกวางจูในปี 1980 และได้เห็นแม่ของตัวเองถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา เธอทุกข์ทรมานกับความทรงจำอันเลวร้ายเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น 

หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดออกมาในสไตล์ที่ค่อนข้างดูยาก ทั้งการใส่ภาพ flashback ฝันร้ายที่ตามมาหลอกหลอนเด็กหญิงเข้าไปอยู่บ่อยครั้ง การตัดต่อที่ไม่เหมือนปกติทั่วไป ตลอดจนการนำภาพฟุตเตจจากเหตุการณ์จริงใส่เข้าไป

ทำให้ตอนที่ A Petal เข้าฉายเป็นครั้งแรก แม้แต่ชาวเกาหลีใต้เองยังช็อกกับสิ่งที่ปรากฏในหนัง เพราะไม่เคยมีการนำเสนอเหตุการณ์ Gwangju Uprising ออกมาสมจริงแบบนี้มาก่อน

แอบกระซิบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรับชมได้ทาง YouTube ตามลิงก์ข้างล่างนี้ แต่ไม่มีซับภาษาอังกฤษหรือซับไทยแต่อย่างใด

 

26 Years (2012)

เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

 

ปกติแล้วหนังหรือซีรีส์เกี่ยวกับ Gwangju Uprising มักจะพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น หรือผลกระทบทางจิตใจ บาดแผลที่ไม่เลือนหายของผู้รอดชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ 26 Years เลือกนำเสนอการแก้แค้นอดีตประธานาธิบดี (บุคคลที่คุณรู้ว่าใคร แม้ในหนังจะไม่เอ่ยชื่อออกมาก็ตาม) ที่เป็นคนสั่งยิงนักศึกษาและประชาชน

หนังสร้างจากเว็บตูนชื่อดังของ Kang Full ที่พูดถึงคนธรรมดา 5 คน อันประกอบด้วย นักกีฬาแม่นปืน นักเลง ตำรวจ นักธุรกิจ และหัวหน้าบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน ที่รวมตัวกันเพื่อไปลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีที่เป็นคนรับผิดชอบต่อเหตุสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในกวางจูเมื่อเดือนพฤษภาคม 1980 หลังจากเหตุการณ์ผ่านมา 26 ปี ซึ่งกลายมาเป็นชื่อหนัง

Excavator (2017)

เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านหนังเกี่ยวกับ Gwangju Uprising

 

หนังจากมุมมองของทหารในเหตุการณ์ Gwangju Uprising ซึ่งหาดูได้ยาก Kim Ki-duk ผู้ทำหน้าที่เขียนบทและโปรดิวซ์ด้วยตัวเอง ต้องการตั้งคำถามถึงคนที่ถูกสั่งให้ล้อมปราบประชาชนอย่างโหดร้ายว่าพวกเขามีชีวิตเป็นอย่างไรบ้างหลังจากนั้น

Excavator เป็นเรื่องราวของ คิมกังอิล คนขับรถ forklift ที่ระหว่างทำงานได้ขุดพบซากโครงกระดูก นำไปสู่การเปิดโปงความจริงที่ถูกกลบฝังเอาไว้เมื่อ 20 ปีก่อน และตัวเขาเองซึ่งเป็นอดีตทหารพลร่มที่ถูกสั่งให้ไปล้อมปราบประชาชนในเหตุการณ์ May 18 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย