“กิมจิ” มี "พรีไบโอติก" เป็น “อาหารดูแลลำไส้”
"สงครามกิมจิ” ระหว่างจีนกับเกาหลีอาจหาข้อยุติไม่ได้ และตอนนี้ราคากิมจิแพงขึ้น แต่ถ้ากิน “อาหารเกาหลี” ก็ต้องมี “กิมจิ" กินคู่กันช่วยชูรสและเป็น "อาหารดูแลลำไส้"
เพราะ กิมจิ มี โพรไบโอติก เป็น อาหารดูแลลำไส้ โพรไบโอติกเป็นอาหารของ พรีไบโอติก คือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่อยู่ภายในลำไส้ของมนุษย์ หากมีปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย
การศึกษายุคใหม่ ระบุว่า ในแต่ละวันเราควรกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จนมีคำกล่าวว่า ร่างกายที่แข็งแรงเริ่มจากลำไส้ที่แข็งแรง
กิมจิทำอาหารได้หลากหลาย (Cr: seriouseats.com)
กิมจิ คือ ผักดอง ต้องชี้ชัดว่าเป็น ผักดองเกาหลี เมื่อหลายเดือนก่อนชาวเน็ตจีนและเกาหลีทำสงครามกิมจิ ในโซเชียล เถียงกันว่า ผักดองของใครเกิดก่อน
และตอนนี้ ผักกาดในเกาหลีขาดตลาด ผลผลิตไม่พอเพราะโลกร้อน จึงต้องนำเข้าจากจีนคือนำเข้าเป็นกิมจิสำเร็จ คนจีนเลยเคลมว่า กิมจิ (จีน) ผ่าน ISO เป็นผู้ครองตลาดกิมจิ
ถ้ามองย้อนประวัติศาสตร์ เกาหลีเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ก่อนจะปกครองตนเองราวปี ค.ศ.313 ย่อมได้รับอิทธิพลจากจีน ก่อนหน้านี้จีนเคยออกมาพูดว่า “ชุดฮันบก” ของเกาหลีก็มาจากจีน ทำสงครามฮันบกไปยกหนึ่ง...
ข้าวผัดกิมจิ (Cr: carmy.com)
คนเกาหลีบอกว่า กิมจิ (kimchi) เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สะท้อนวิถีชีวิตเกาหลี อยู่ในอาหารเกาหลีที่ “ขาดไม่ได้” กระทรวงเกษตรเกาหลี ส่งเสริมเป็นสินค้า GI มาหลายสิบปี และบอกว่า กิมจิ ก็คือ 김치 ไม่ใช่ “พ่าวช่าย” 泡菜 ผักดองแบบจีน เพราะกิมจิ อุดมด้วยพริกป่นสีแดง ๆ ในขณะที่ “พ่าวช่าย” มักดองในน้ำเกลือ น้ำตาล น้ำส้มสายชู
กิมจิแตงกวา (Cr: allrecipes.com)
คนจีนก็โต้ว่า พ่าวช่ายของจีนที่ดองกับพริกก็มีเป็นสไตล์เสฉวน และต้องกินกับอาหารเสฉวนเท่านั้น และไม่ถึงกับเป็นผักดองที่ “ขาดไม่ได้” ดังนั้น กิมจิ จึงมาจากจีน
คนเกาหลีก็สู้กลับ ไปค้นคว้าหาหลักฐาน รวมถึงหาโอ่งดินเผาโบราณที่ใช้ดองกิมจิ บอกว่า คนเกาหลีทำกิมจิ (ที่มีพริกเยอะ) มีเอกสารการเพาะปลูกพริก ในยุคสามอาณาจักรเกาหลี หรือราว 1,500 ปีก่อน
กิมจิเกาหลี (Cr: OlkhichaAppa on Wikipedia)
อีกทั้ง กิมจิ ของเกาหลีไม่เหมือนจีน และไม่เหมือนญี่ปุ่น เรียกว่า tsukemono - 漬物 ที่ดองในน้ำเกลือ, น้ำตาล, น้ำส้มสายชู กิมจิมีมานานแล้วไม่ใช่มาจากชาวญี่ปุ่นที่นำพริกเข้ามา
ส่วนผสมทำกิมจิ (Cr: eatingwell.com)
ดังนั้น ขอให้เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่า กิมจิ (ที่มีพริก) ไม่ใช่มาจากชาวญี่ปุ่นที่เคยยึดครองเกาหลีเมื่อปี 1592 ที่อ้างว่าญี่ปุ่นนำมาจากชาวโปรตุเกสอีกต่อหนึ่ง
หลักฐานการกินพริกในไทยก็บันทึกว่า พริกมาจากชาวโปรตุเกส ที่เข้ามาค้าขายในไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
กิมจิแบบไม่เผ็ด (Cr: commonsensehome.com)
ผักดอง เป็นการถนอมอาหารที่คนโบราณทำกันมาทุกภูมิภาค โดยเฉพาะคนเมืองหนาวที่ไม่มีพืชผักกินในสภาพอากาศหนาวเย็น เป็นภูมิปัญญาของคนยุคก่อนที่รู้ว่าอาหารหมักดองมีประโยชน์ นอกจากกินอร่อย และเชื่อว่าช่วยบำรุงสุขภาพ
ขนาดเมืองไทยร้อนระอุ เรายังมีผัก-ผลไม้ดอง ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม ฯลฯ กินชูรส เปลี่ยนรสชาติ ทำให้อาหารอร่อยขึ้น เหตุผลสำคัญคือเสียดายอาหารที่จะเน่าเสียไปเปล่า ๆ
(Cr: seriouseats.com)
กิมจิ มีกี่ชนิด
บางคนบอก 200 บางคนบอกนับพัน นักสืบสายอาหารบอกว่า กิมจิ ที่มีมานานนับพันปีที่ได้รับการจดบันทึกจริง ๆ เกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 7
- สมัยอาณาจักรโครยอ (ค.ศ.918-1392) สูตรกิมจิดองกับซอสถั่วเหลือง
- ยุคอาณาจักรโชซ็อน (ค.ศ.1392-1897) ดองกับเกลือ, เหล้า ต่อมาใส่ปลาหมัก ลูกแพร์ แอปเปิ้ล
กิมจิเบอร์ริโต้ (Cr: feastingathome.com)
กิมจิที่มีหลัก ๆ คือ
- กิมจิผักกาดขาว (แพชูกิมจิ)
- กักดูกี (หัวผักกาด)
- นาปักกิมจิ คือกิมจิแบบน้ำ เติมน้ำลงหมัก ใส่ลูกแพร์หรือแอปเปิ้ลให้เกิดรสหวาน
- กิมจิแตงกวา
- กิมจิสีขาว ใช้แต่หัวผักกาดขาวไม่ใส่พริกป่น
ผักทุกชนิดทำกิมจิได้
ผักกาดขาวเป็นหลัก ตามด้วยกะหล่ำปลี แครอท หัวไช้เท้า หอมใหญ่ ต้นหอม แตงกวา สูตรบ้านใครก็บ้านมัน แต่ละบ้าน ทำกิมจิ ใส่กล่องเก็บไว้ในตู้เย็น จะใส่ไหดินเผาฝังดินก็ได้ หิวก็แค่คลุกกิมจิกินกับข้าวสวย อร่อยแล้ว...
กิมชิหัวไช้เท้า (Cr: oppacookshere.com)
สูตรหมักกิมจิ
สูตรหมักกิมจิบ้านใครบ้านมัน ได้แก่
- แป้งข้าวเหนียว
- กระเทียม
- ขิง
- หอมหัวใหญ่
- สาลี่
- ลูกแพร์
- แอปเปิ้ล
- น้ำ
- น้ำตาล
- เกลือ
- พริกป่นเกาหลี
- ซอสถั่วเหลือง
- น้ำปลาหมัก
- หอย
- ปลาหมึก ฯลฯ
พริกในกิมจิ ทำให้กิมจิเป็นผักดองที่มีเอกลักษณ์ รสเผ็ดของพริกช่วยชูรส แก้เลี่ยน กินกิมจิกับข้าวเปล่าก็ได้ ต้มทำซุป ผัด ต้ม ตุ๋น ได้หมด ช่วยให้ผักสดกรอบ และอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินบีโคลิน, วิตามินซี, วิตามินเค, เบต้าแคโรทีน, กรดโฟเลท, โปตัสเซียม, แคลเซียม
กิมจิแตงกวา (Cr: poshplate.com)
กิมจิ เป็น อาหารดูแลลำไส้ งานวิจัยยุคใหม่ใช้ โพรไบโอติก รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย โรคลำไส้แปรปรวน และเชื่อว่าช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่าระบบภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่อยู่บริเวณระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลากหลาย
นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้ กิมจิ ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ได้รับโพรไบโอติกที่ช่วยลดอาการของโรคภูมิคุ้มกันบางประเภท ที่ทำให้เกิดการอักเสบตามร่างกาย เช่น โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์
ซุปกิมจิ (Cr: taste.com.au)
ยังมีการศึกษาพบว่า โพรไบโอติกอาจเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงและระยะเวลาการป่วยจากโรคติดเชื้อ อย่างโรคไข้หวัด (Common Cold) รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบริเวณช่องคลอดเพศหญิงได้อีกด้วย
กิมจิช่วยลดไขมันสะสม
น้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และต้านสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ จึงมักแนะนำให้กินกิมจิ หรืออาหารที่มีโพรไบโอติก กินอย่างพอดี ๆ ช่วยลดความรุนแรงจากการอักเสบที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
ซุปกิมจิใส่เต้าหู้ (Cr: eatingwell.com)
ข้อควรระวัง :
กินกิมจิ แต่พอดี ๆ กินมากไปอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และเลือกกิมจิที่สะอาด ปลอดภัย โซเดียมต่ำ ไม่เค็มหรือเผ็ดจนลิ้นรับไม่ได้
อ้างอิง : poppad.com, dek-d.com, sciencedirect.com