"Coffee Truck" เสิร์ฟความฟินในแบบ"คาเฟ่เคลื่อนที่"
“คาเฟ่เคลื่อนที่” หรือ “รถกาแฟติดล้อ” อีกเทรนด์การทำธุรกิจ "ร้านกาแฟ" ที่กำลังได้รับกระแสตอบรับอย่างดี สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ โดยไม่ต้องติดกับดักการลงทุน
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมขับรถขึ้นเหนือไปจังหวัดตาก ระหว่างทางเห็น “คาเฟ่เคลื่อนที่” หรือ “รถกาแฟติดล้อ” จอดรอบริเวณที่ว่างริมทาง คอยต้อนรับลูกค้าผู้สัญจรผ่านมาใช้บริการ แล้วก็ไม่ได้เห็นเพียงคันสองคัน แต่นับแล้วเกือบยี่สิบคันเห็นจะได้ ชัดเจนว่าธุรกิจร้านกาแฟเคลื่อนที่ซี่งมีจุดขายไม่ซ้ำใคร แถมย้ายทำเลง่าย กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากคอกาแฟบ้านเรา สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของ ร้านกาแฟเล็กๆ อยากมีอิสระทางอาชีพ ไม่ปรารถนาเข้าไปติดกับดักต้นทุนที่สูงลิ่วในการเปิดร้านกาแฟแบบดั้งเดิม
คาเฟ่เคลื่อนที่ ในเมืองไทย เป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงทีเดียวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงกับกับมีการจัดมหกรรมรถขายอาหารแบบเคลื่อนที่ ที่มีทั้ง "คอฟฟี่ทรัค" (coffee truck) และ "ฟู้ดทรัค" (food truck) มาหลายปีแล้ว ด้วยอาจเป็นเพราะปัจจัยในเรื่องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย, รูปแบบบริการโดนใจคนรุ่นใหม่ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คอกาแฟอินดี้ ระยะหลังจึงพบว่าธุรกิจขาย "แฟรนไชส์" คาเฟ่เคลื่อนที่จึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แล้วก็มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ ตั้งแต่ คาเฟ่เคลื่อนที่, รถกาแฟติดล้อ ,รถกาแฟเคลื่อนที่ ไปจนถึงโมบายล์ คาเฟ่ หรือเรียกทับศัพท์ว่า คอฟฟี่ทรัค ก็มี
ในต่างประเทศก็มีเรียกอยู่หลายชื่อเช่นกัน ส่วนใหญ่นิยมนำรถแวน, รถตู้ ,รถกระบะ,รถอเนกประสงค์เอสยูวี และรถบัสโดยสาร มาดัดแปลงเป็นคาเฟ่เคลื่อนที่ แต่กระนั้นดูเหมือนว่า “รถตู้” จะได้รับความนิยมสูงสุดแทบจะทั่วโลก บอกเลยว่าการแต่งรถขายกาแฟนั้นพีคสุดๆ ไอเดียเก๋ๆมาเต็มร้อย มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เกิดเป็นธุรกิจแต่งรถกาแฟขายก็มาก เรียกว่าเสิร์ฟความฟินในแบบ “คาเฟ่เคลื่อนที่” กันอย่างคึกคัก
ส่วนรถจักรยานยนต์ก็มีให้เห็น แต่เป็นจำนวนน้อย ขณะที่ “คอฟฟี่ คาร์ท” (coffee cart) รถขายเครื่องดื่มกาแฟในรูปแบบจักรยานสองล้อและสามล้อ ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปในต่างประเทศ
รถขายกาแฟเคลื่อนที่ เป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการหลากหลาย ตั้งแต่ผู้มีอาชีพอิสระ-อาชีพเสริม,นักธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ,เจ้าของธุรกิจระดับประเทศ ไปจนถึงรายใหญ่ๆที่เป็นบิ๊กเนมของโลก แทบจะเรียกว่าครอบคลุมทุกไซส์ธุรกิจก็ว่าได้ แต่ละคันแต่ละแบรนด์ก็มีคอนเซปท์เป็นของตนเอง บางร้านโฟกัสไปที่ กาแฟโบราณ, บางร้านก็กาแฟเกรดตลาด,บางร้านก็เป็น กาแฟพรีเมี่ยม ที่ยังมีน้อยแต่ก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเห็นจะเป็น กาแฟชนิดพิเศษ (specialty coffee) ตอบรับคอกาแฟได้ครบทุกกลุ่มทุกเหล่าแล้วแต่จะเลือกชิมเลือกดื่มกัน
นอกจากจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้สะดวกและคล่องตัวแล้ว "คอฟฟี่ทรัค" ยังถูกใช้เป็นกลยุทธ์เชิงรุกอีกแนวทางที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์บริษัทในด้านการเชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับช่วงเวลาแห่งความเอนเตอร์เทนท์ของลูกค้า จึงมักพบรถขายกาแฟและอาหารเคลื่อนที่ตามแหล่งท่องเที่ยว,จุดชมวิวทิวทัศน์,มหกรรมแสดงสินค้า,งานอีเว้นท์ต่างๆ,ถนนคนเดิน,ตลาดนัดวัยรุ่น,เทศกาลดนตรี หรือแม้แต่เทศกาลงานประเพณีต่างๆ
ธุรกิจคอฟฟี่ทรัคถือว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ (ภาพ : Farhan Abas on Unsplash)
อันที่จริง รถขายกาแฟทั่วโลก ก็มีมานานแล้ว ผู้เขียนเองก็ถือว่าเป็น “คนร่วมสมัย” ตั้งแต่เด็กๆมีโอกาสเห็นรถถีบขายโอเลี้ยงขายกาแฟไปตามหมู่บ้านย่านชุมชน ไปเที่ยวตลาดน้ำ ก็ได้เห็นเรือแจวขายกาแฟโบราณ พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มเห็นคนยกหม้อต้มกาแฟขึ้นไปขายบนรถกระบะขนาดเล็ก รวมไปถึงรถตุ๊กตุ๊ก แล้วพอเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ก็เห็นคนจับรถยนต์มาดัดแปลงเป็นรถขายกาแฟที่มีหน้าร้านและรูปแบบไม่ต่างไปจากคอฟฟี่เฮ้าส์ที่เราคุ้นเคยกัน
เมื่อชีวิตยกระดับเข้าสู่ช่วงส.ว. ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับวัฒนธรรมกาแฟพิเศษเบ่งบานเต็มที่ ก็ได้เห็นคนนำกาแฟพิเศษจากร้านบนพื้นดินขึ้นไปอยู่บนร้านเคลื่อนที่ ทั้งสาย “สโลว์บาร์” และ “สายสปีดบาร์” มากันหมด อุปกรณ์เสริมก็ครบครันพร้อมชงกาแฟได้ทุกสูตรทุกเมนู ในระยะหลังเริ่มเห็นผู้ประกอบการคาเฟ่เคลื่อนที่เริ่มนำเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซคุณภาพสูงมาใช้กัน มีเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในและนอกประเทศให้เลือก ตามด้วยของว่าง-เบเกอรี่-เค้ก เกรดคุณภาพเช่นกัน รวมไปถึงเครื่องดื่มอื่นๆสำหรับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ เช่น น้ำผลไม้ ,ชา และช็อคโกแลต จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
ในสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของ ธุรกิจฟู้ดทรัค บางข้อมูลบอกว่ามีประวัติย้อนหลังไปถึงปลายศตวรรษที่ 17 โน่น แล้วก็มาบูมในช่วงทศวรรษ 2000 อันเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเงิน ในรถฟู้ดทรัคก็ขายทั้งอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงกาแฟด้วย ตอนหลังเมื่อธุรกิจกาแฟเริ่มมี “มูลค่า” มากขึ้น คอฟฟี่ทรัค จึงแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ขายเครื่องดื่มกาแฟเป็นหลัก ตามด้วยพวกขนมและของว่างอื่นๆ
มีข้อมูลว่า รถคาร์ทขายเอสเพรสโซ คันแรกของสหรัฐ เกิดขึ้นที่ลอสแองเจลิสในปีค.ศ. 1978 แต่ก็ถูกโต้แย้งจาก "โมโนเรล เอสเพรสโซ" (Monorail Espresso) ร้านกาแฟในซีแอตเทิล ที่ลงบันทึกไว้ในวิกิพีเดียว่า เป็นผู้สร้างรถคาร์ทเอสเพรสโซคันแรกของสหรัฐและของโลก ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1980
ว่ากันว่ารถยนต์ทุกชนิดในสหรัฐถูกนำมาดัดแปลงเป็นคอฟฟี่ทรัคได้หมด ตั้งแต่รถเก๋งขนาดเล็กไปจนถึงรถบรรทุกไซส์ใหญ่ “รถพ่วงขายกาแฟ” ก็ทำกันมาก ธุรกิจผลิตรถขายเครื่องดื่มจากรถใหม่และรถเก่าจึงไปได้สวยมากๆ มีการเสนอขายแฟรนส์ไชส์แบบครบวงการทั้งตัวรถ,อุปกรณ์กาแฟ และเมล็ดกาแฟ ควบรวมไปถึงคอร์สอนชงกาแฟเมนูร้อนและเย็น ไม่ต่างไปจากธุรกิจแฟรนส์ไชส์ทั่วไป
ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ องค์ความรู้ด้านนี้มีให้ศึกษากันฟรีๆตามเวบไซต์ออนไล์สำหรับมือใหม่หัดขายทั้งหลาย เช่น วิธีทำธุรกิจคอฟฟี่ทรัคแบบยั่งยืน,โมเดลธุรกิจ,เป้าหมายการตลาด,การพัฒนาแบรนด์,การบริหารงานรายวัน และเทคนิคการขายให้มีกำไร
รถยนต์แทบทุกประเภทสามารถนำมาดัดแปลงให้เป็นคอฟฟี่ทรัคได้ (ภาพ : instagram.com/frankscoffeetruck)
ประเด็นเรื่องอ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าแรกหรือครั้งแรก ก็เกิดขึ้นที่อังกฤษเช่นกัน ระหว่าง "บิ๊ก คอฟฟี่" (Big Coffee) ที่บอกว่าเป็นนัมเบอร์วันของ ธุรกิจคาเฟ่เคลื่อนที่ ในแดนผู้ดี หลังเริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 กับ "คอฟฟี่ ลาติโน" (Coffee Latino) นี่ก็โชว์ข้อมูลว่าเป็นเบอร์หนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ทำธุรกิจมาก่อนตั้งแต่ปีค.ศ. 2002
แต่ที่ไม่ต้องแย่งกันและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันก็คือ ผู้ที่ทำธุรกิจคาเฟ่เคลื่อนที่ในอังกฤษและเวลส์ทุกคน ต้องไปขอ “ไลเซ่นส์” จากทางการ จึงจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าตามข้างถนนได้ หาไม่แล้วจะมีความผิด โทษปรับเป็นเงิน 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 42,000 บาท)
ผู้เขียนเคยไปเที่ยวที่โซล พบว่าคอฟฟี่ทรัคใน “เกาหลีใต้” ตอบโจทย์สายเดินทางได้เป็นอย่างดี มองไปทางไหนก็เจอ ล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประเภทนี้ในแดนโสมขาวก้าวล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากเป็นธุรกิจเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มต่างๆตามปกติแล้ว ยังกลายเป็น "สัญลักษณ์" ในการแสดงออกจากแฟนคลับที่ส่งไปถึงซุปตาร์เคป๊อปและเคดราม่า เวลาศิลปินมีงานถ่ายทำละครซีรีย์,ภาพยนตร์ หรือมิวสิควิดีโอ บรรดาแฟนคลับก็จะเหมาร้านกาแฟและร้านอาหารเคลื่อนที่ ไปจอดที่หน้าบริเวณสถานที่ถ่ายทำ เพื่อเป็นกำลังใจให้ศิลปินและทีมงาน
อีกรูปแบบน่ารักๆของรถพ่วงกาแฟ หรือคอฟฟี่ เทรลเลอร์ (ภาพ : instagram.com/joescoffeevan)
เมื่อรถขายกาแฟและอาหารเดินทางไปถึงสถานที่ แล้วซุปตาร์จะรู้ได้ไงว่าแฟนคลับใครส่งมาให้ เพราะซุปตาร์ก็มีกันตั้งหลายคนทั้งหญิงและชาย เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเหล่าแฟนคลับจะบอกให้เจ้าของธุรกิจฟู้ดทรัคทำป้าย “แบนเนอร์” ขนาดใหญ่ใส่รูปซุปตาร์ไอดอลติดไว้บนรถด้วย พร้อมป้าย “สแตนดี้” ตั้งไว้หน้ารถอีกต่างหาก ว้าว...ต้องคลั่งไคล้กันจริงๆเท่านั้นถึงทำเรื่องน่ารักๆแบบนี้ได้
จากนั้นแน่นอนว่าซุปตาร์ก็จะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียลขึ้นมา เป็นอันว่าปลื้มปริ่มกันไปทั้งศิลปินและเหล่าแฟนคลับ แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่แค่แฟนคลับเท่านั้นนะ เพื่อนศิลปินด้วยกันเอง ก็มีการส่งรถอาหารและเครื่องดื่มเคลื่อนที่ไปให้กำลังใจเพื่อนร่วมวงการเช่นเดียวกันการซัพพอร์ตไอดอลของแฟนคลับเกาหลีใต้ผ่านทางคอฟฟี่ทรัค (ภาพ : instagram.com/coffee_boongboong)
สำหรับ “ค่าใช้จ่าย” ในการซัพพอร์ตดาราศิลปินในรูปแบบนี้ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ระหว่าง 400,000-600,000 วอน (10,600-16,000 บาท) จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่า จะซื้อเป็นแพ็คเกจ หรืออยากได้ไอเดียแบบไหนก็นำเสนอมาได้ ทั้งเรื่องหน้าตารถ ,ประเภทอาหาร+เครื่องดื่ม, จำนวนการสั่งซื้อขั้นต่ำ และระยะเวลาเปิดร้าน ทุกสิ่งทุกอย่างคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด
บางคนถึงกับเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมการซัพพอร์ตไอดอลของแฟนคลับชาวเกาหลีใต้ แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังเร็วเกินไปสำหรับคำว่าวัฒนธรรม ขอเรียกว่าเป็นปรากฎการณ์ หรือเทรนด์ หรือกระแสก็แล้วกันครับ
อีกรูปแบบของฟู้ดทรัคที่กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลแดนโสมขาว (ภาพ : instagram.com/gold_support)
ในบ้านเราก็มีการ “ตามรอย” ปรากฎการณ์ในเกาหลีใต้ มีการเหมารถฟู้ดทรัคไปสนับสนุนดาราศิลปินเช่นกัน ทั้งจากบรรดาแฟนคลับและจากศิลปินด้วยกันเอง แต่กระแสไม่แรงแบบโปรไฟไหม้และไม่ใหญ่อลังการเท่าของเกาหลีใต้
ก่อนจบบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะถือว่าตัวเอง “พลาด” อย่างมากหากไม่นำเสนอข่าวชิ้นหนึ่งจาก “มาเลเซีย” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2016 ตำรวจเมืองไซเบอร์จายาได้จับกุมตัวชายสองคน ในข้อหาขับรถยานเกราะแบบเดียวกับกองทัพมาเลเซีย และติดตั้งเครื่องยิงจรวด 2 ชุด พร้อมยึดรถไว้เป็นของกลาง
จากการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่พบว่า ชายทั้งสองคนเป็นพนักงานร้านขายกาแฟ และมีการดัดแปลงรถยนต์ให้มีลักษณะคล้ายยานยนต์หุ้มเกราะของทหาร เพื่อเป็นรถขายกาแฟหรือที่เรียกกันว่า “คอฟฟี่ทรัค” นั่นเอง
ร้อนถึงเจ้าของร้าน "ซาวาร่า คอฟฟี่" (Zawara Coffee) ที่เข้าใจว่าเป็นต้นคิด "ยานเกราะขายกาแฟ" ดังกล่าว ได้ออกมาขอโทษขอโพยเรื่องที่สร้างความตื่นตกใจให้ประชาชนหลังพบเห็นรถทหารติดจรวดวิ่งไปตามท้องถนน แล้วก็ชี้แจ้งว่าไม่ได้ตั้งใจทำรถเลียนแบบรถทหาร ถ้ามองกันดีๆ ดีไซน์ของรถไม่ใช่ลายพรางทหาร
ร้านกาแฟติดล้อคล้ายยานเกราะทหารที่กลายเป็นประเด็นในมาเลเซีย (ภาพ : Zahari Baharom จาก Pixabay)
ขณะที่ตำรวจนั้นหลังสอบปากคำพนักงานสองคนเสร็จ ก็ให้ประกันตัวไป ด้วยเหตุผลว่ารถคันนี้ไม่ใช่ยานพาหนะของกองทัพบก และเครื่องยิงจรวดก็เป็นของปลอมเช่นกัน
รายงานข่าวไม่ได้บอกว่า “กิมมิค” ทางการตลาดของคอฟฟี่ทรัคในลักษณะนี้ยังดำเนินต่อไปหรือไม่/อย่างไร แต่เท่าที่ดูจากรูปแบบรถ คิดว่าไม่น่ารอด หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นประการใดครับ!