รู้จัก “ไวน์สด” จากฝรั่งเศส “โบโฌเลส์ นูโว" ฉลองหนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง
เทศกาลเฉลิมฉลองไวน์ใหม่หรือ “ไวน์สด” “โบโฌเลส์ นูโว” 2022 วัฒนธรรมการดื่มกินของคนฝรั่งเศสเริ่มขึ้นแล้ว รู้จักไวน์สดที่มียอดขายปีละกว่า 50 ล้านขวด
Le Beaujolais Nouveau 2022 est arrive !
เลอ โบโฌเลส์ นูโว 2022 เอ เตฮรีเว...
เสียงของคนฝรั่งเศสไชโย โห่ฮิ้ว พร้อมตะโกนประโยคอมตะ เมื่อไวน์ใหม่ ไวน์สด โบโฌเลส์ นูโว (Beaujolais Nouveau) วางขายพร้อมกันทั่วโลกในวันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2022
เทศกาลเฉลิมฉลอง โบโฌเลส์ นูโว เป็นวัฒนธรรมการดื่มกินของคนฝรั่งเศส และแพร่ขยายไปทั่วโลก
ฉลองไวน์โบโฌเลส์ นูโว หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง (Cr. foodmakers.it)
โบโฌเลส์ นูโว กำเนิดจากบาร์ คาเฟ่ และร้านอาหารประเภทบิสโทรท้องถิ่นใน อ.โบโฌเลส์ และเมืองลียง (Lyon) ซึ่งทุก ๆ ฤดูใบไม้ร่วง ไวน์โบโฌเลส์ นูโว จะถูกรินจากถังของเจ้าของไวน์ต่าง ๆ ใส่เหยือก แล้วแห่แหนเพื่อเฉลิมฉลอง และถือเป็นการพักของไวน์เมกเกอร์และคนที่ทำงานเกี่ยวกับไวน์ที่เหนื่อยมาทั้งปี
ไร่องุ่นที่ผลิตไวน์ (Cr. uniquetoursfactory.com)
จากกิจกรรมในอดีตที่ผ่านมาโบโฌเลส์ นูโว เคยเป็นไวน์ที่ช่วยให้ชาวไร่องุ่นและโรงไวน์ขนาดเล็ก ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ สามารถลืมตาอ้าปากและมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในแต่ละปี
จนกระทั่งวันที่ 13 พ.ย.1951 ไวน์โบโฌเลส์ นูโว เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับ AOC ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.1937
โปสเตอร์เฉลิมฉลองจากปีก่อน ๆ (Cr. vivino.com)
เทศกาลการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรุงปารีส โดยร้านอาหารจำนวนมากจะสั่งโบโฌเลส์ นูโวคราวละหลาย ๆ บาร์เรลไปให้ชาวเมืองได้ดื่มกิน พร้อมฉลองเทศกาลแห่งความสนุกสนาน เมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็จะพากันตะโกน “Le Beaujolais Nouveau est arrivé!” พร้อม ๆ กัน
วันเปิดเทศกาลไวน์โบโฌเลส์ นูโว
ถ้าแปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “ไวน์โบโฌเลส์ นูโว มาแล้วจ้า” ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก พร้อมยอดขายปีละกว่า 50 ล้านขวด
หลังปี 2005 เป็นต้นมา มีผู้คิดประโยคใหม่ขึ้นมาว่า “It’s Beaujolais Nouveau Time” แต่นั่นสำหรับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ขณะที่ชาวเมืองโบโฌเลส์ก็ยังยึดประโยคเดียว และถือเป็นประโยคแห่งมนต์ขลัง คือ “Le Beaujolais Nouveau est Arrive !”
พิธีเปิดงาน
ในทวีปเอเชีย ประเภศญี่ปุ่นเป็นชาติที่ดื่ม โบโฌเลส์ นูโว เพราะจากการกำหนดวันแรกของการดื่มคือ วันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มนับตามเวลาของดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งทำให้ชาติทางตะวันออกได้เป็นผู้เริ่มวันใหม่ก่อนชาวยุโรปและสหรัฐอเมริกา
โบโฌเลส์ นูโว ของจอร์จ ดูเบิฟ (Cr. winespectator.com)
จอร์จ ดูเบิฟ (George Duboeuf) ผู้ผลิตไวน์ชื่อดังของฝรั่งเศสที่มีฐานอยู่ในแคว้นเบอร์กันดี เจ้าของฉายา "คิง ออฟ โบโฌเลส์" (King of Beaujolais) ต้องใช้เครื่องบินจัมโบ้ลำใหญ่ขนโบโฌเลส์ นูโวมาญี่ปุ่นทุกปี
ขณะที่ในญี่ปุ่นก็จัดกิจกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งทำเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ ให้คนลงไปอาบกันอย่างสนุกสนาน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสปา โดยเชื่อกันว่าน้ำองุ่นมีประโยชน์ต่อผิวหนังและร่างกายส่วนอื่น ๆ
ไวน์โบโฌเลส์ นูโว ที่ส่งไปญี่ปุ่นเมื่อปี 2019 (Cr. japantoday.com)
คนญี่ปุ่นบอกว่าการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว เป็นการบ่งบอกถึงความมีรสนิยมของคนดื่ม ขณะที่หนุ่มสาวบอกว่าการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว ถือว่าโก้มาก
ในเมืองไทยยุคที่เศรษฐกิจพองเป็นลูกโป่ง ปี พ.ศ.2537 – 2539 เคยมีผู้สั่ง Beaujolais Nouveau ขึ้นเครื่องบินมาจากฝรั่งเศส พอลงสนามบินดอนเมืองปุ๊บก็ลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาลงที่ดาดฟ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ฮือฮากันมาก
การเฉลิมฉลองในญี่ปุ่น
หลังฟองสบู่แตกปี พ.ศ.2540 ก็แทบไม่มีกิจกรรมอีกเลย แต่ก็มีผู้นำเข้าสั่งมาขายประมาณ 7-8 ยี่ห้อ ก่อนจะค่อย ๆ หายไปเพราะคนไทยชอบไวน์หนักแน่น ซึ่งตรงกันข้ามกับ Beaujolais Nouveau ประกอบกับภาษีไวน์ที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันที่ยังยืนหยัดอยู่คือ จอร์จ ดูเบิฟ (George Duboeuf) และ โจเซฟ ดรูน (Joseph Drouhin)
เก็บองุ่นด้วยมือ
ไวน์โบโฌเลส์ นูโว ทำจากองุ่นกาเมย์ (Gamay) 100% เก็บองุ่นด้วยมือให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ ไม่ใช้เครื่องจักรเพราะจะทำให้องุ่นชอกช้ำส่งผลต่อความสดของไวน์ จากนั้นนำองุ่นทั้งลูกไปหมักโดยไม่เติมยีสต์แต่ปล่อยให้องุ่นเริ่มเปื่อยยุ่ยไปตามกาลเวลาในสภาวะที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ (Maceration Carbonic) ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
สีของไวน์ใหม่หรือไวน์สด โบโฌเลส์ นูโว
โบโฌเลส์ นูโว จะไม่มีการบ่มถังไม้โอ๊ค และจากผลการหมักดังกล่าวจะได้ไวน์ที่แทนนินต่ำ แอลกอฮอล์ไม่สูงมาก ฟรุตตี้ (Fruity) และกลิ่นหอม แต่พัฒนาตัวเองเร็ว จึงต้องดื่มขณะที่เป็นไวน์ใหม่ (Young Wine) หรือเรียกว่าเป็นไวน์สด และไม่ควรเก็บเอาไว้นานอันเป็นที่มาของนูโว (Nouveau) ที่แปลว่า "ใหม่" (New)
โปสเตอร์เฉลิมฉลองของปีนี้ (Cr. myprovence.fr)
โบโฌเลส์ นูโว เป็นไวน์ที่ดื่มง่ายกว่าไวน์แดงทั่วไป เพราะมีฟรุตตี้สูง จึงต้องเสิร์ฟในอุณหภูมิเย็น ๆ ประมาณ 12-13 องศาเซลเซียส ขณะที่ไวน์โบโฌเลส์ทั่วไป จะเสิร์ฟประมาณ 15-16 องศาเซลเซียส
ที่สำคัญ 2 ประการของ ไวน์โบโฌเลส์ นูโว ประการแรกจะ "ดื่ม" กันอย่างจริงจังมากกว่าจะ "จิบ" เหมือนไวน์ทั่วไป
ประการต่อมา จะไม่มีการวิจารณ์เพราะถือเป็นไวน์แห่งการเฉลิมฉลองโดยไม่ต้องคำนึงถึงพิธีรีตองใด ๆ ไวน์ชนิดนี้จะมีคุณภาพสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังวางตลาด จากนั้นคุณภาพจะเริ่มถดถอยลง
ฉลองไวน์สดหนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง (Cr. wine.lovetoknow.com)
โบโฌเลส์ นูโว เป็นหนึ่งในสีสันที่หายไปจากเมืองไทย แต่ไม่เคยหายไปจากวิถีแห่งวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศส
ปีนี้ ท่านได้ลิ้มรส โบโฌเลส์ นูโว แล้วหรือยัง ? ถ้ายัง นั่นหมายถึง..สีสันแห่งวิถีเมรัยอมตะ ของท่านหายไป