Thongyoy Cafe "ทองย้อย คาเฟ่" ชิมขนมไทยในวังบุปผา
เปิดที่มาร้านที่คนโซเชียลเช็คอินไม่หยุด Thongyoy Cafe "ทองย้อย คาเฟ่" ร้านขนมไทยในดงดอกไม้ของ "ทองย้อย แผ่สุวรรณ" สาวบ้านๆ ผู้มีหัวใจรักลายพิมพ์หมู่มวลดอกไม้
เป็นอีกหนึ่งร้านที่สายโซเชียลหาโอกาสไปเช็คอิน สำหรับ Thongyoy Cafe ออกเสียงว่า ทองย้อย คาเฟ่ ร้านคาเฟ่ขนมไทยสุดอินเทรนด์ย่านอารีย์ แขวนสามเสนใน กรุงเทพฯ มีมุมให้ถ่ายรูปมากมาย สุดแท้แต่ใครจะครีเอทไหว
แค่ตัวอาคารร้านภายนอกมองจากถนน ก็โดดเด่นดึงดูดสายตา ด้วยลวดลายและสีสันฉูดฉาดบนผนังอาคารหน้าร้านให้หยุดยืนชมไอเดียที่กล้าใช้สีสดขนาดนี้
อาคารด้านหน้าร้านขนม "ทองย้อย คาเฟ่"
ยิ่งเปิดประตูเดินเข้าไปในร้านยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ สีสันยังคงอยู่ และไม่ใช่สีพาสเทลหวานๆ แต่เป็นสีโทนเข้มบนผนังของร้านที่ไม่จำเป็นต้องทาสีเดียวกันทุกผนัง
แต่ที่ทำให้สายเช็คอินอดใจไม่ไหวที่จะยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายรูป ก็คือความอัดแน่นของหมู่มวลดอกไม้สีสดหลากหลายสีสันแย่งกันอวดตัวเองเต็มทุกอณูบนผนังห้อง ราวแปลงดอกไม้แนวตั้ง อีกทั้งหน้าต่างกระจกใสหน้าร้านก็มีการร้อยดอกไม้เป็นเส้นทิ้งตัวลงมาเป็นสายแทนผ้าม่านสลับสีสัน
ดอกไม้และสีสันผนังภายในร้าน Thongyoy Cafe
“ตั้งใจเป็นคาเฟ่ขนมไทยที่ตกแต่งด้วยดอกไม้” คุณ "บีม" ทองย้อย แผ่สุวรรณ อายุ 36 ปี ผู้ก่อตั้งร้านทองย้อยคาเฟ่ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงคอนเซปต์ในการออกแบบร้านที่ออกแนวแฟนตาซีขนาดนี้ แต่คอนเซปต์นี้ก็มีที่มา
คุณบีมเล่าว่า ก่อนเปิดร้านขนม เธอเริ่มต้นเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นธุรกิจแรกในชีวิต ทำมานานกว่าสิบปีแล้ว ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ทองย้อย” ตามชื่อตนเอง เป็นเสื้อผ้าที่เน้นลายพิมพ์ดอกไม้สีสันสดใสตามรสนิยมของตัวเองที่ชื่นชอบลายพิมพ์และลวดลายดอกไม้เป็นพิเศษ
เสื้อผ้าขายดีไปได้สวย แต่ด้วยความเป็นคนชอบความท้าทายใหม่ๆ ทำธุรกิจเสื้อผ้าได้สามปี คุณบีมก็เริ่มธุรกิจใหม่ เปิดสตูดิโอรับงานถ่ายภาพและให้เช่าสถานที่ 2 สาขา ชื่อ Carpediem Studio และอีก 1 สาขาชื่อ Warehouse Studio
คุณ "บีม" ทองย้อย แผ่สุวรรณ มุมหนึ่งในภายร้าน Thongyoy Cafe
กระทั่งมาถึงธุรกิจล่าสุดกับการเปิดร้านคาเฟ่ขนมไทย ทองย้อย คาเฟ่ จึงนำความหลงใหลในความงามของลวดลายดอกไม้เมื่อครั้งเริ่มต้นทำธุรกิจเสื้อผ้ามาเป็นแนวทางในการตกแต่งร้านขนมไทย
“เป็นคนบ้านๆ ชอบกินขนมไทย ชอบเครื่องทองเหลือง จึงเปิดร้านขนมไทยและเสิร์ฟในภาชนะทองเหลือง แปะทองคำเปลว” คุณบีมกล่าว
ที่เปิดร้านขนมไทย ส่วนหนึ่งมาจากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศส เห็นคนเข้าแถวรอซื้อมาการอง ก็อยากเห็นขนมไทยเป็นแบบนั้นบ้าง แม้ไม่ใช่ด้วยมือเธอ แต่อย่างน้อย “ทองย้อย คาเฟ่” ก็ช่วยเผยแพร่ขนมไทยอีกช่องทางหนึ่ง
จัดเต็มราวออกแบบฉากเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์
มีมุมให้ถ่ายรูปไม่หยุด
คุณบีมสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ วิชาเอกการโฆษณา วิชาโทการภาพยนตร์
เมื่อเรียนจบ รู้สึกว่าตนเองยังไม่เหมาะกับการทำงานประจำระบบบริษัท จึงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ช่วยเพื่อนออกกองถ่ายทำภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง รวมทั้งกองถ่ายหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Shanghai (2010) ที่มาถ่ายทำในเมืองไทย ทำให้ได้เรียนรู้งานกับนักออกแบบตกแต่งฉากชาวต่างชาติ
“ได้ทำงานกับนายฝรั่งเป็นคนอังกฤษ ตอนนั้นยังเด็ก เขาชวนไปทำงานเมืองนอกด้วย เราก็ไม่กล้าไป เพิ่งเรียนจบ เขาก็บอกว่าจำไว้นะ ต้องทำเสื้อผ้าหรือทำแบบเขา คือ set decorator (ตกแต่งฉาก)
พอจบงานหนัง บีมก็เป็นฟรีแลนซ์มาเรื่อยๆ พอมีช่วงว่างก็ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่สารพัดช่างพระนคร ชั่วโมงละ 1 บาท ตัดเสื้อได้ 4-5 ตัว เปิดร้านเลย คิดว่าจะขายที่ไหนดี ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ที่ คือสยามสแควร์หรูๆ หน่อย แพลทตินั่มขายส่ง จตุจักรขายส่ง บีมเป็นคนไม่ติดหรู ไม่ชอบใช้ของแพง ก็เลือกขายส่ง ก็ขายดีมาก สองปีแรกบูมมาก ออกแบบแพทเทิร์นเอง ออกแบบลวดลายเอง ส่งโรงงานพิมพ์และตัดเย็บ”
บรรยากาศและสีสันของเคาน์เตอร์วางขนมชั้นล่าง
ม่านดอกไม้แทนผ้าม่าน
ความจริงร้านแรกของ “ทองย้อย คาเฟ่” ตั้งอยู่ใน “ซอยอารีย์สัมพันธ์ 7” มีเสื้อผ้าขายด้วย เพราะคุณบีมไม่อยากทิ้งลูกสาวคนแรก (ธุรกิจเสื้อผ้า) ร้านตกแต่งแนวดอกไม้ตั้งแต่แรกตามความชอบส่วนตัวของเจ้าของร้าน เป็นการตกแต่งดอกไม้สีสันสดในธีมสวยหวาน โดยมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นน่ารักเรื่อง Madagascar (2005) เป็นแรงบันดาลใจ
ร้านแรกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีดาราไปเช็คอิน มีรายการโทรทัศน์ไปถ่ายทำมากมาย แต่ด้วยความที่ร้านมีขนาดเล็ก เป็นห้องแถวห้องเดียว ที่นั่งจำกัด ดันราวเสื้อไปไว้ชั้นสองแล้ว ที่นั่งก็ยังไม่พอแก่ความต้องการของลูกค้า
พอเข้าปีที่สอง คุณบีมจึงขยายสาขาไปเปิดเพิ่มที่ "สยามพารากอน" และที่ "เซ็นทรัลลาดพร้าว" เฉพาะสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวปิดไปเมื่อช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนักรอบที่ผ่านมา
มุมโรแมนติก
สีสันสดใสอีกมุมของร้าน "ทองย้อย คาเฟ่" บนชั้น 2
แม้รักร้านแรกมาก แต่พอหมดสัญญากับเจ้าของสถานที่ คุณบีมก็ตัด(สิน)ใจย้าย “ทองย้อย คาเฟ่” มาเปิดใหม่ที่ “ซอยอารีย์สัมพันธ์ 4” ที่ตั้งปัจจุบัน ด้วยขนาดร้านที่กว้างขวางขึ้น มีที่นั่งถึง 3 ชั้น เพิ่งเปิดบริการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2565
ร้านชั้นแรกยังคงตกแต่งด้วยดอกไม้สวยหวานและใบไม้สีเขียวเพื่อระลึกถึงร้านแรก แต่สำหรับชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เปลี่ยนอารมณ์โดยใช้สีสันชวนให้นึกถึงประเทศเม็กซิโก ที่ทั้งเข้มข้น หลายสี และเป็นสีที่ตัดกัน ให้ความรู้สึกสนุกเหมือนภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Coco (2017)
เค้กบัวลอยไข่เค็ม
คุณบีมกล่าวว่า แรกเริ่มก็รับขนมเจ้าอร่อยเล็กๆ น้อยๆ มาจำหน่าย ระยะหลังลูกค้าเริ่มอยากกินขนมจริงจังมากขึ้น ก็เหมือนธุรกิจเสื้อผ้า เดิมไม่มีความรู้ คุณบีมก็ไปเรียนตัดเสื้อก่อนเปิดร้าน
ขนมก็เช่นกัน เมื่อลูกค้าอยากกินขนมจริงจัง คุณบีมก็หาความรู้ด้วยการเปิดยูทูปดูว่าขนมอร่อยมีสูตรและกรรมวิธีการทำอย่างไร ไม่ใช่ดูแค่สูตรเดียว แต่ขนมชนิดเดียวกัน ดูถึง 20 สูตร เก็บเคล็ดลับความอร่อยของแต่ละสูตรมาลองปรับให้เป็นรสชาติและเท็กซ์เจอร์ที่ตนเองชอบ จนกลายเป็นขนมไทยในแบบฉบับของ “ทองย้อย คาเฟ่” ที่ทุกคนชอบในที่สุด
ขนมซิกเนเจอร์คือ ”เค้กขนมไทยคุณทองย้อย” มีด้วยกัน 10 เมนู ได้แก่ บัวลอยไข่หวาน และ บัวลอยไข่เค็ม (ชิ้นละ 150 บาท) ดัดแปลงจากขนมบัวลอย เม็ดบัวลอยเผือกในมูสกะทิ รองด้วยครัมเบิล เหมือนได้กินขนมบัวลอย
เค้กเงาะโยเกิร์ตกราโนลา
เค้กทุเรียน (ชิ้นละ 220 บาท) เค้กทุเรียนหมอนทอง เหมือนกินข้าวเหนียวทุเรียน มีส่วนของมูสกะทิทุเรียน รองด้วยครัมเบิล, เค้กมะพร้าวลูกตาล (ชิ้นละ 150 บาท) เป็นเค้กมะพร้าวอ่อนลูกตาลสด ขายดีมาก คล้ายๆ กินบวดลูกตาลมะพร้าว, เค้กเงาะโยเกิร์ตกราโนลา (ชิ้นละ 150 บาท) ดูจากวัตถุดิบแล้วไม่ต้องกลัวอ้วน
ชีสเค้กเสาวรสเบอร์รี่
ชีสเค้กน้ำผึ้งเลมอน
เพราะมีลูกค้าเด็กเล็กและชาวต่างชาติที่อาจยังงงกับส่วนผสมของขนมไทย คุณบีมจึงตัดสินใจทำ “ชีสเค้ก” ที่ลูกค้าต่างชาติคุ้นเคย แต่ก็แทรกความเป็นไทยลงไปเป็นใบเบิกทางให้อยากชิมขนมไทยประเภทอื่นๆ เช่น ชีสเค้กน้ำผึ้งเลมอน (ชิ้นละ 150 บาท) ปกติชีสเค้กชิ้นหนา แต่คุณบีมปรับให้บางลง ลดความเลี่ยน ทำให้ออกรสเปรี้ยวหวานด้วยน้ำผึ้งและมะนาว
แล้วยังมี ชีสเค้กลิ้นจี่, ชีสเค้กเสาวรสเบอร์รี่, ชีสเค้กฝอยทอง, และ ชีสเค้กส้มโอ ราคาชิ้นละ 150 บาทเท่ากันทุกรสชาติ
ตะโก้ยักษ์ทับทิมกรอบ
ขนมฟักทอง ขนมมันม่วง ขนมกล้วย
สายของหวานขนมไทยต้องมา
ชิฟฟอนใบเตยฝอยทอง
ส่วนขนมไทยที่เป็น traditional ซึ่งเป็นขนมสดทำวันต่อวันก็มีราว 40 ชนิด หมุนเวียนสลับกันไปวันละประมาณ 25 รายการ เช่น ตะโก้ ขนมชั้น เปียกปูน ขนมต้ม ข้าวเหนียวตัด ขนมฟักทอง วุ้นมะพร้าวกะทิ วุ้นชาไทย หยกมณี ลืมกลืน ใส่ไส้
ช่วงล็อคดาวน์จากโรคโควิด-19 เพื่อความอยู่รอดของร้าน คุณบีมจำเป็นต้องคิดทำขนมที่ลูกค้าสั่งไปกินได้ หรือส่งหากัน ส่งให้กำลังใจกันและกัน จึงทำให้ ทองย้อย คาเฟ่ มีขนมประเภท Choux Cream, เอแคลร์วานิลลา บราวนี่ ทอฟฟี่เค้ก เค้กกล้วยหอม ชิฟฟอนฝอยทอง ชิฟฟอนหม้อแกง
หลังจากได้แม่ครัวมีฝีมือทำเบเกอรี่ ตอนนี้ก็มีเค้กช็อกโกแลต เค้กแครอท เรดเวลเวท เค้กสตรอว์เบอร์รี่
เซตยอดนิยม All-Star
นอกจากนี้ยังมีเมนูเซตพิเศษ Thongyoy Tea Set (refill) 170 บาท เซตชาร้อนจัดเสิร์ฟในกาทองเหลือง คู่กับคุกกี้งาม่อน (งาขี้ม้อน) หรือกลีบลำดวน เหมาะสำหรับ 1-4 ท่าน
เซตยอดนิยม All-Star 490 บาท ขนมไทย 5 รายการ เค้กรสชาติตามต้องการ 1 ชิ้น อิตาเลียนโซดาหรือชาร้อน
สู้กล้องแม้แต่บันไดภายในร้าน
ห้อมด้วยไม้ดอกไม้ใบใน "ทองย้อย คาเฟ่" ซอยอารีย์ฯ 4
เครื่องดื่มคู่ขนมใน กลุ่มกาแฟ ก็มีครบทั้ง เอสเพรสโซ อเมริกาโน คาปูชิโน ลาเต้ มอคคา คาราเมลมัคคิอาโต เป็นอาทิ มีให้เลือกทั้งร้อน เย็น และปั่น
เครื่องดื่มเย็นมี อิตาเลียน โซดา มีให้เลือกทั้งกระเจี๊ยบ เสาวรส ลิ้นจี่กุหลาบ อัญชัน บ๊วย เอลเดอร์ ราคาเมนูละ 85 บาท และประเภท สมูตตี้ (Smoothy) ในแบบฉบับทองย้อยคาเฟ่ก็มี กระเจี๊ยบ ลิ้นจี่ เสาวรส บ๊วย น้ำผึ้งมะนาว ราคาเมนูละ 120 บาท ทุกเมนูสมูตตี้สามารถปั่นกับโยเกิร์ตได้ เพิ่มอีกเมนูละ 10 บาท
เป็นร้านขนมที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนทั้งการแต่งร้านและตัวขนม
Thongyoy Cafe (ทองย้อย คาเฟ่)
- เลขที่ 24/4 ซอย อารีย์ 4 ฝั่งเหนือ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน กรุงเทพฯ ร้านเปิดเวลา 10.00-22.00 น. โทร.09 8748 4661
- สาขาสยามพารากอน ชั้น G หน้าทางเข้ากูร์เมต์ มาร์เก็ต
- สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ กำหนดเปิดเดือนมีนาคม 2566
ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา, เฟซบุ๊ก ทองย้อย คาเฟ่