‘กินเค็มแค่ไหนพอดี’ กินเกลือได้วันละกี่ช้อน
ทุกวันนี้คนทั่วโลกกินเกลือเกินขีดจำกัดที่ 'WHO' กำหนดไว้ คือวันละไม่เกิน 2 กรัม (เท่ากับ 1 ช้อนชา) แล้วควร ‘กินเค็มแค่ไหนพอดี’ กินเกลือวันละกี่ช้อน
เกลือหรือโซเดียม ทำให้อาหารอร่อย มีรสชาติเค็มอย่างที่เราชอบ แต่ถ้ากินมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จนถึงโรคไตวาย เบาหวาน และสารพัดโรค NCDs
เนื่องใน วันไตโลก (9 มีนาคม) หลายหน่วยงานรณรงค์ ลดเค็มในอาหาร ยกให้เป็น สัปดาห์วันไตโลก, สัปดาห์ลดเค็ม ความจริงต้องลดเค็มไปตลอดชีวิต ลดแค่ไม่กี่วันช่วยอะไรไม่ได้
(Cr.pixabay)
ตอนนี้ใกล้เลือกตั้ง บางพรรคการเมืองชูเรื่อง บริการฟอกไต ด้วยประชากรไทยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น หรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคไตและความดัน ผลลัพธ์จากการกินเค็มเกินขีดจำกัด
WHO บอกว่า กินโซเดียมต่อวันได้แค่ 2 กรัม (2,000 มก.) เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4-5 ช้อนชา แต่ผลสำรวจพบว่า คนทุกประเทศกินโซเดียมเกินไปมาก กินเค็มมาก
รัฐบาลของทุกประเทศล้วนออกแคมเปญ ลดเค็ม ซึ่งเริ่มกันมาหลายปีแล้ว WHO ประกาศตั้งเป้าลดโซเดียมให้ได้ 30% ภายในปี 2025 แต่จะแก้อย่างไร
(Cr.Vino Li on Unsplash)
อย่างแรกคือ ลดโซเดียมในกระบวนการผลิตอาหารในเชิงอุตสาหกรรม เกลือช่วยในการถนอมอาหารจึงมีในอาหารแทบทุกอย่าง ได้แก่ เนื้อปลาทั้งแช่แข็ง, แช่เย็น อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็ง อาหารกระป๋อง ผักดอง เนื้อแห้ง เนื้อเบอร์เกอร์ ไส้กรอก แฮม เบคอน ซาลามี่ แหนม ชีส ปาเต้ ไก่อบ กะปิ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสปรุงรส ขนมปัง (ผงฟูคือเกลือ) อาหารขบเคี้ยว บะหมี่สำเร็จรูป สาหร่ายอบแห้ง ฯลฯ
ซาลามี่มีเกลือเยอะ (Cr.Jez Timms on Unsplash)
จากผลสำรวจของ eurekalert.org พบแชมป์คนกินเค็ม สำรวจจากการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในอาหาร ต่อ 100 กรัม ที่วางขายในซูเปอร์ฯ โดยจีนครองแชมป์ กินโซเดียม 1,050 มก. / 100 กรัม ยกตัวอย่าง ไก่อบในจีนมีโซเดียมมากกว่าเมนูไก่อบในอังกฤษ 4.5 เท่า แต่เกลือในเบคอน ไส้กรอก เนื้อแห้ง มีโซเดียมน้อยกว่า
ผสมเครื่องเทศลงในเกลือลดเค็มได้บ้าง (Cr.slenderkitchen.com)
อันดับ 2 อเมริกา ตามด้วยอัฟริกาใต้, ออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ ซึ่งบริโภคโซเดียม 432 มก. / 100 กรัม ที่ระบุบนฉลากอาหาร
เมื่อปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากอาหารมาก คนก็กินมาก แสดงถึงพฤติกรรม กินเค็ม เพราะเราหลีกหนีอาหารผ่านกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ เรากินทุกวันในชีวิตประจำวัน
อาหารโซเดียมสูงในชีวิตประจำวัน (Cr.Amirali Mirhashemian on Unsplash)
ผลสำรวจรายงานว่า คนอังกฤษสามารถลดปริมาณโซเดียมในอุตสาหกรรมอาหารลงได้ ตั้งแต่ปี 2017 โดยทำงานร่วมกับองค์กรลดเค็มกับอีกหลายหน่วยงาน ออกกฎให้แปะฉลากไว้ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ ผู้บริโภคต้องตัดสินใจแล้ว
เช่น ฉลากโซเดียมในระดับที่ซื้อได้ ควรมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า 120 mg. / 100 g. ระดับมีเดียม 120-599 mg. / 100 g. และระดับน่ากลัวคือมากกว่า 600 mg. / 100 g.
การถนอมอาหารล้วนใช้เกลือ (Cr.freepik)
อเมริกา มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ผลสำรวจจาก cdc.gov ระบุว่า ผู้ชายกินเค็มมากกว่าผู้หญิง คนผิวขาวกินเค็มมากกว่าคนผิวดำ คนที่กินโซเดียมมากอยู่ระหว่างอายุ 19-50 ปี
ผลของการกินเค็ม คือคนอเมริกัน 1 ใน 3 หรือ 70 ล้านคน มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และ Stroke ซึ่งคร่าชีวิตคนไปปีละ 8 แสนคน หรือเท่า 320 พันล้านยูเอส ที่ใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพ
บะหมี่สำเร็จรูปมีโซเดียมสูง (Cr.Pixabay)
คนญี่ปุ่น ก็ติดอันดับกินเค็ม ผลสำรวจจาก nibiohn.go.jp บอกว่าคนญี่ปุ่นกินเค็มมากกว่าจีนเสียอีกคือ 9.6 กรัม / คน / วัน, คนจีน 9.2 กรัม, คนอังกฤษ 8 กรัม, คนอเมริกัน 8.7 กรัม
ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ ลดเค็มในอาหาร ผลสำรวจบอกอีกว่า คนญี่ปุ่นสูงวัยกินเค็มกว่าวัยรุ่น เพราะชอบเติมผักดองลงในอาหาร ส่วนคนวัยรุ่นนิยมกินบะหมี่สำเร็จรูป แกงกะหรี่สำเร็จรูป
(Cr.pixabay)
คนญี่ปุ่นชอบดื่มเบียร์ด้วย เมื่อดื่มก็ต้องมีอาหารทอดเป็นกับแกล้ม ซึ่งสาดเกลือแบบไม่คิดชีวิต ยิ่งเค็มก็ยิ่งดื่มเบียร์อร่อย...
ในเมืองไทย 4 จังหวัดครองแชมป์กินเค็ม ได้แก่ พะเยา 4,054.8 มก. ตามด้วยอำนาจเจริญ, อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ล้วนอยู่ภาคเหนือ-อีสาน ที่ชอบกินส้มตำ ลาบ น้ำตก ไก่ย่าง นอกจากเกลือแล้วยังมี ผงชูรส เป็นของแถม
ผักดองใช้เกลือถนอมอาหาร (Cr.Image by Jenő Szabóa from Pixabay)
ร่างกายของเราสามารถขับโซเดียมออกมาได้ 3 ทาง คือ ผ่านทางไต ผ่านทางเหงื่อ และผ่านทางอุจจาระ หากร่างกายมีปริมาณโซเดียมมากเกินไปจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนัก
เมื่อกินเค็มนาน ๆ ชีวิตจะแย่ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ความดัน โรคหลอดเลือด โรคอ้วน ไตวาย
WHO บอกแล้ว กินเกลือได้วันละ 1 ช้อนชา (เท่ากับ 2 กรัม หรือ 2,000 มก.) ถ้าไม่ได้ปรุงอาหารเองอาจอ้างว่าวัดไม่ถูก ดังนั้นก็แค่ใช้ลิ้นตัวเองตัดสิน เมื่อรู้สึกเค็มควรเลี่ยงหรือกินให้น้อย ๆ หน่อย
ลดเค็มลงสักนิดเพื่อสุขภาพไตที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ กินอะไรจืด ๆ ชีวิตก็ไม่ได้จืดชืดนักหรอก...