เมนูไหน? ไปแล้วต้องลองจิบ ไต้หวันจับ 'กาแฟพิเศษ' ลงร้านสะดวกซื้อ!
ทั้งโปรไฟล์กาแฟ, ประเภทนมที่ใช้ และข้อมูลโภชนาการ บอกไว้อย่างละเอียดยิบ ถือว่ากาแฟตามร้านสะดวกซื้อไต้หวันพัฒนา 'คุณภาพ' ไปไกลโขทีเดียว
คอกาแฟหลาย ๆ ท่านที่เดินทางไปประเทศไต้หวัน อาจแวบเข้าไปตามร้านกาแฟที่หมายตาเอาไว้แล้วสั่งเมนูยอดฮิตมาจิบตามการรีวิว อย่างกาแฟน้ำขิง ของร้านคาม่า คาเฟ่ (Cama Cafe) หรือเอสเพรสโซ่ใส่ไอศกรีมที่เรียกกันว่า อัฟโฟกาโต้ จากร้านหลุยซา คอฟฟี่ (Louisa Coffee) อย่างไรก็ดี กาแฟที่เสิร์ฟใน 'ร้านสะดวกซื้อ' ของที่นี่ คุณภาพและรสชาติไม่ได้ด้อยไปกว่าร้านกาแฟดัง ๆ เลย แถมยังมีราคาน่าคบหามากกว่าอีกต่างหาก หากมีโอกาสไปไต้หวัน ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
แม้เดิมทีจะบริโภคชากันมาก่อนก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ปักหมุดเอาไว้เพื่อตามไปลองชิมก็คือ 'กาแฟในร้านสะดวกซื้อ' ที่มีการแข่งขันกันสูงด้านคุณภาพกาแฟ แต่ราคาไม่แพง เช่นเดียวกับคอนวีเนียนสโตร์หรือมินิมาร์ทในญี่ปุ่น
ผิดกับบางประเทศในเอเชียที่คำว่าคุณภาพยังพัฒนาไม่ถึงไหน กระทั่งเมล็ดกาแฟที่นำมาใช้ก็ยังไม่บอกกล่าวให้ชัดเจนว่านำมาจากที่ใด จากสวนของเกษตรกรไทยเองหรือจากเพื่อนบ้าน สวนทางกับวัฒนธรรมการบริโภคของ 'นักดื่มยุคใหม่' ที่สนใจใคร่อยากรู้ในทุกขั้นตอนการผลิตที่เขาและเธอจ่ายเงินซื้อไป
แบรนด์ร้านสะดวกซื้อในไต้หวันมีรายใหญ่ ๆ อยู่ 2 เจ้าด้วยกัน คือ 'เซเว่น-อีเลฟเว่น' (7-Eleven) กับ 'แฟมิลี่ มาร์ท' (Family Mart) รายแรกนั้นถือว่ามีเครือข่ายใหญ่ที่สุดหากนับตามจำนวนสาขา อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในประะเทศ ส่วนรายถัดมา มีบริษัทแม่จากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก ก็คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่านี่คือสงครามธุรกิจร้านสะดวกซื้อระหว่างทุนใหญ่เจ้าบ้านไต้หวันกับทุนยักษ์ญี่ปุ่น เพราะคอนวีเนี่ยนสโตร์ขนาดรองลงมาอีก 2-3 ราย ขุมกำลังยังห่างไกลกันอยู่มาก
สองแบรนด์กาแฟภายในร้านของเซเว่น-อีเลฟเว่น ไต้หวัน (ภาพ : facebook.com/711open)
กาแฟที่ขายกันตามร้านสะดวกซื้อไต้หวันนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นแนวตลาดแมส ใช้กาแฟผงสำเร็จรูปเป็นตัวชูโรง พอกาแฟคั่วบดเริ่มได้รับความนิยมสูงในช่วง 10-15 ปีหลังมานี้ ก็ขยับขึ้นไปเล่นในตลาดพรีเมี่ยม โดยใช้เมล็ดกาแฟคั่วบดหรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันว่ากาแฟสดนั่นแหละ กลายเป็นหนึ่งในสินค้าประจำร้านโชห่วยยุคใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อน 'ยอดขาย' และสร้างผล 'กำไร' ให้รองจากบุหรี่, เครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ, แซนด์วิช และอาหารประเภทฮ็อต มีล
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เอง 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดก็ปรับกลยุทธ์อีกครั้ง หันไปจับเอา 'กาแฟพิเศษ' (specialty coffee) อันเป็นเทรนด์กาแฟบริโภคกาแฟของคนรุ่นใหม่ มาบริการให้ลูกค้าในร้านสะดวกซื้อสาขาต่าง ๆ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีกาแฟตลาดแมสกับกาแฟเกรดพรีเมี่ยมอยู่แล้ว หวังกินรวบครบวงจรในธุรกิจกาแฟทุกเซกเมนต์
ตัวเลขจากในปี 2020 ระบุว่า มูลค่ายอดขายเฉพาะกาแฟสดในร้านสะดวกซื้อไต้หวัน 5 แห่ง เพิ่มขึ้น 20% แตะที่หลัก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,000 กว่าล้านบาทไทยโดยประมาณ คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของยอดขายเครื่องดื่มโดยรวม ซึ่ง 5 แห่งนี้นอกจากเซเว่น-อีเลฟเว่น กับแฟมิลี่ มาร์ท แล้ว ก็ประกอบไปด้วยร้านไฮ-ไลฟ์ (Hi-Life),โอเค มาร์ท (OK Mart) และทีเอสซี มิลเลี่ยน (TSC Million) แต่ละรายก็มีแบรนด์กาแฟเป็นของตัวเองตามธรรมเนียม
เฉพาะยอดขายกาแฟสดก็สูงขนาดนั้นเข้าไปแล้ว นี่ยังไม่นับรวมกาแฟรูปแบบอื่น ๆ อีก ไม่แปลกใจที่จะเห็นเชนร้านสะดวกซื้อในไต้หวันให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ กับเครื่องดื่มยอดนิยมของชนชาวโลกชนิดนี้ ผ่านทางการพัฒนาคุณภาพ,การสร้างแบรนด์ และกลยุทธ์ทางการตลาดอื่น ๆ
'ซิตี้ พริมา' แบรนด์กาแฟพิเศษของเซเว่น-อีเลฟเว่น ไต้หวัน มีจำหน่ายในบางสาขา (ภาพ : President Chain Store Corp)
'เซเว่น-อีเลฟเว่น' เปิดร้านสาขาครั้งแรกที่ไต้หวันเมื่อปีค.ศ.1979 มีสาขาทั่วประเทศราว 6,600 แห่ง มากสุดเหนือคอนวีเนี่ยนสโตร์อื่น ๆ มีเซกชั่นกาแฟหรือมุมกาแฟพร้อมโต๊ะ-เก้าอี้นั่งสำหรับลูกค้าภายในร้าน เรียกว่า 'ซิตี้ คาเฟ่' (City Cafe) มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 ทว่าไม่ประสบความสำเร็จจนต้องปิดลงไป แต่กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งตามความนิยมกาแฟสดในปีค.ศ. 2004 กลายเป็นเครื่องดื่มที่มาแรงสุด ๆ ของร้าน ด้วยยอดขายที่เคลมว่าตกเฉลี่ย 1.5 ล้านแก้วต่อปี มีกาแฟ 'ลาเต้' ที่ใช้นมข้าวโอ๊ต เป็นเมนูยอดฮิต
อาจเพราะผลพวงจากที่ไต้หวันเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในแง่สารกาแฟจากแหล่งปลูกทั่วโลก จึงเปิดโอกาสให้ร้านกาแฟทุกสไตล์สามารถเลือกสรรเมล็ดกาแฟมาใช้กับแบรนด์กาแฟของตนเองได้ไม่ยาก ประมาณปีค.ศ. 2020 เซเว่น-อีเลฟเว่นในไต้หวัน เปิดตัวแบรนด์กาแฟขึ้นอีกตัว ชื่อ 'ซิตี้ พริมา' (CITY PRIMA) โฟกัสไปที่เมล็ดกาแฟพิเศษจากแหล่งปลูกระดับแถวหน้าของโลก เช่น 'เอธิโอเปีย กูจิ' และ 'กัวเตมาลา แอนติกัว' จัดเป็นกาแฟซิงเกิล ออริจิ้นทั้ง 2 ตัว นำมาใช้กับเมนูอเมริกาโน่กับลาเต้ มีให้บริการตามร้านสาขาที่กำหนดไว้เท่านั้น
เมนู 'อเมริกาโน่' ที่ใช้กาแฟจากทั้ง 2 ประเทศนี้ แก้วขนาดกลางขายราคาเดียวกัน 80 ดอลลาร์ไต้หวัน (89 บาท) ส่วนกาแฟผสมนมอย่างลาเต้ ก็บวกเพิ่มขึ้นมาอีก 10 ดอลลาร์ไต้หวัน
ผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถตรวจสอบสาขาที่จำหน่ายได้จากเว็บไซต์เซเว่น-อีเลฟเว่น ไต้หวัน ในเว็บยังให้ข้อมูลกาแฟไว้โดยละเอียด เช่น โซนผลิต, ระดับความสูงของพื้นที่ปลูก, สายพันธุ์กาแฟ, วิธีเก็บเกี่ยว, รูปแบบโพรเซส และโปรไฟล์กลิ่นรส รวมไปถึงข้อมูลโภชนาการต่าง ๆ ด้วย
นมข้าวโอ๊ตจากบริษัทโอ๊ตลี่ นำเสนอเป็นนมทางเลือกของแบรนด์กาแฟพิเศษซิตี้ พริมา (ภาพ : facebook.com/711open)
ในโลกโซเชียล มีเดีย ของไต้หวันมีกระแสข่าวลือทำนองว่า ซิตี้ พริมา นั้นได้รับเมล็ดกาแฟมาจาก 'สตาร์บัคส์' เรื่องนี้ผู้เขียนก็ไมทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด แต่ที่คอนเฟิร์มได้ก็คือ กลุ่มบริษัทใหญ่ที่ได้สิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์กับเซเว่น-อีเลฟเว่นในไต้หวันนั้น เป็นกลุ่มทุนเจ้าเดียวกัน ด้วยเหตุนี้กระมังจึงทำให้เกิดข่าวลือขึ้นมา
ล่าสุดต้นปีมานี้เอง เซเว่น-อีเลฟเว่น เสริมทัพธุรกิจกาแฟในร้านอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวเครื่องชงกาแฟแบบมีโถใส่เมล็ดกาแฟแยกเป็น 3 ส่วนสำหรับใส่เมล็ดกาแฟ 3 ชนิด พร้อมเสนอให้ใช้นมเป็นทางเลือกได้ 2 ชนิด หนึ่งในนั้นคือนมข้าวโอ๊ต สูตรบาริสต้า จากบริษัท 'โอ๊ตลี่' (Oatly) เพื่อรองรับตลาดนักดื่มที่นิยมกาแฟเกรดพรีเมี่ยมและสเปเชียลตี้ ประเดิมนำร่องใช้กับสาขา 720 แห่งภายในปีนี้
เมื่อเทียบราคาดูแล้ว กาแฟพิเศษแบรนด์ซิตี้ พริม่า จะสูงกว่ากาแฟซิตี้ คาเฟ่ ประมาณ 2 เท่าตัว เนื่องจากเป็นคนละเกรดกัน แต่ตามข้อมูลของกลุ่มทุนที่บริหารเซเว่น-อีเลฟเว่น ไต้หวัน บอกว่า ยอดขายกาแฟซิตี้ พริม่า เพิ่มขึ้นกว่า 40% ในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นว่าคอกาแฟเต็มใจจ่ายเพิ่มเพื่อคุณภาพกาแฟที่เพิ่มขึ้น
คอนวีเนี่ยนสโตร์ในไต้หวันอีกรายที่นำกาแฟคุณภาพในราคาไม่แพงมาบริการลูกค้า ก็คือ 'แฟมิลี่ มาร์ท' ที่เข้าไปเปิดสาขาแรกเมื่อปีค.ศ.1998 ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านสาขาประมาณ 4,100 แห่งทั่วประเทศ พอถึงปีค.ศ. 2009 ก็สร้างแบรนด์กาแฟภายในร้านชื่อว่า 'เล็ทส์ คาเฟ่' (Let’s Cafe) มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้เข้ามานั่งดื่มกาแฟและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมล้ำสมัยของร้านสะดวกซื้อไปเสียแล้ว
กาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น ของ "เล็ทส์ คาเฟ่" แบรนด์กาแฟภายในร้านแฟมิลี่ มาร์ท ไต้หวัน (ภาพ : nevent.family.com.tw)
เล็ทส์ คาเฟ่ จำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟหลากเกรดในหลายราคา นอกจากมีเมนูให้เลือกเยอะแล้ว ที่เด็ดคือ 'เมล็ดกาแฟ' ที่นำมาทำอเมริกาโน่และลาเต้ มีแบบที่เป็นซิงเกิ้ล ออริจิ้น จากแหล่งปลูกชั้นแนวหน้า เช่น กัวเตมาล่า,โคลอมเบีย, บราซิล, เม็กซิโก, ยูกันดา, อินเดีย และฮอนดูรัส ถ้าเป็นอเมริกาโน่แก้วไซส์กลางสูตรร้อนและเย็นราคาเท่ากัน 80 ดอลลาร์ไต้หวัน (89 บาท) ถ้าลาเต้ร้อนหรือเย็นก็บวกเพิ่มอีก 10 ดอลลาร์ไต้หวัน เช่นเดียวกับคู่แข่ง
ถ้าเป็นเกรดที่รองลงมา ราคาขายก็ต่ำลงไปกว่านี้อีก อย่างเมนูอเมริกาโน่ตัวตึงของร้านที่เรียกว่า 'คลาสสิค อเมริกาโน่' ขายเฉพาะแก้วไซส์ใหญ่ ราคา 55 ดอลลาร์ไต้หวัน (61 บาท) เป็นกาแฟเบลนด์กัน 3 ตัวคือ บราซิล, กัวเตมาลา และโคลอมเบีย ส่วน 'คลาสสิค เอสเพรสโซ่ ลาเต้' มีขายเฉพาะแก้วไซส์ใหญ่เช่นกัน ราคา 65 ดอลลาร์ไต้หวัน (72 บาท) ขณะที่เอสเพรสโซ่ก็ตก 35 ดอลลาร์ไต้หวัน (39 บาท) ส่วนเมนูราคาต่ำสุดคืออเมริกาโน่ธรรมดา ขายราคา 25 ดอลลาร์ไต้หวัน (27 บาท) สำหรับแก้วไซส์เล็ก
นอกจากนั้น ยังมี 'กาแฟแมนเฮลิ่ง' จากอินโดนีเซีย ที่หาดื่มกันไม่ได้ง่าย ๆ ตัวนี้อยู่ในรูปกาแฟดำ (black coffee) บรรจุขวด ขายในราคา 59 ดอลลาร์ไต้หวัน (65 บาท)
แน่นอนทั้งโปรไฟล์กาแฟ, ประเภทนมที่ใช้ และข้อมูลโภชนาการ ลงไว้อย่างละเอียดในเว็บไซต์ของแฟมิลี่ มาร์ท เช่นเดียวกับ เซเว่น-อีเลฟเว่น บอกได้คำเดียวว่า กาแฟตามร้านสะดวกซื้อไต้หวันพัฒนา 'คุณภาพ' ไปไกลมาก ไม่แพ้ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นเลย
'หยุนหลิน กู่เกิง เกสชา/เกอิชา' กาแฟสายพันธุ์ดังที่ปลูกในไต้หวัน มีเสิร์ฟแล้วในร้านเล็ทส์ คาเฟ่ พลัส (ภาพ : facebook.com/songyuecoffee)
ไม่ยอมตกกระแสเช่นกัน กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แฟมิลี่ มาร์ท ที่แม้เป็นเบอร์ 2 ด้านจำนวนสาขา แต่ก็ไม่เป็นรองเบอร์ 1 ในมุมกาแฟ ก็เปิดร้านกาแฟเต็มรูปแบบนอกร้านสะดวกซื้อเป็นครั้งแรก ณ ย่านธุรกิจจงซานของกรุงไทเป ให้ชื่อว่า 'เล็ทส์ คาเฟ่ พลัส' (Let’s Café Plus) นำเสนอในคอนเซปท์กาแฟเกรดพรีเมี่ยมและเกรดพิเศษ พร้อมเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ, เบเกอรี่, แซนด์วิช, สลัด และของว่างอื่น ๆ โดยเป็นความร่วมมือในลักษณะจอยท์เวนเจอร์กับ 'ยูซีซี อูเอะชิม่า คอฟฟี่' กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟครบวงจรรายใหญ่จากญี่ปุ่น
กาแฟของร้านเล็ทส์ คาเฟ่ พลัส มีเมนูหลัก ๆ 3 ตัว ได้แก่ กาแฟดริปเย็น, กาแฟคอกเทล และกาแฟฟิซซ์หรือโคลด์บรูว์ผสมน้ำโซดา ราคาถูกสุดอยู่ที่ 150 ดอลลาร์ไต้หวัน (167 บาท) ส่วนราคาสูงสุดนั้นตกแก้วละ 500 ดอลลาร์ไต้หวัน (550 บาท)
เมนูแพงสุดนี้ใช้เมล็ดกาแฟที่มีความยูนิคมาก ๆ เป็นสายพันธุ์ดังที่ปลูกในไต้หวัน คือ 'หยุนหลิน กู่เกิง เกสชา/เกอิชา' ผลิตโดยไร่กาแฟซงเย่ คอฟฟี่ ฟาร์ม ในมณฑลหยุนหลิน ทางตะวันตกของประเทศ กาแฟตัวนี้เคยถูกนำเข้าไปในสหรัฐโดยร้านกาแฟพิเศษบลู บอทเทิ่ล มาแล้ว
'เล็ทส์ คาเฟ่ พลัส'คอนเซปท์ร้านกาแฟเกรดพรีเมี่ยมและเกรดพิเศษของแฟมิลี่ มาร์ท ไต้หวัน (ภาพ : FamilyMart)
แฟมิลี่ มาร์ท บอกว่า ร้านเล็ทส์ คาเฟ่ พลัส ยังอยู่ในรูปแบบการทดลองเปิดร้านไปจนถึงปลายปีนี้ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กระแสตอบรับของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
ตลาดกาแฟในไต้หวันนั้น มีร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายทั้งกาแฟสดและเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุง เป็นผู้เล่นรายใหญ่ อัตราการเติบโตของร้านประเภทนี้ค่อนข้างสูงทีเดียวในแต่ละปี นอกเหนือจากสินค้าที่ฮิตติดตลาดหลาย ๆ ตัวแล้ว เครื่องดื่มยอดนิยมอย่างกาแฟก็ถูกนำมาใช้เป็น 'แม่เหล็ก” ดึงดูดลูกค้ามาหลายปีดีดักเช่นกัน ล่าสุดก็เชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่จับเอากาแฟพิเศษ มาจำหน่ายและทดสอบตลาดกันดูบ้างแล้ว
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานเครื่องดื่มภายในร้านสะดวกซื้อเอง และเพิ่มระดับความรอบรู้ในชั้นเชิงกาแฟให้กับนักดื่มไปในตัว
ที่สำคัญคือ ราคากาแฟก็ไม่ได้สูงจนเกินเอื้อมแต่ประการใด