‘โตโร’ ไวน์สเปนหมัดหนัก บึกบึน ถ้าผิดจากนี้ไปคือขายยาก
‘ไวน์สเปน’ ที่เข้าเมืองไทยยุคแรก ๆ และคนไทยคุ้นกันมากที่สุดคือ ‘ริโอฆา’ จากเขตผลิตไวน์ ‘โตโร’ ขณะที่คนขายไวน์มักบอกว่า ถ้าผิดไปจากนี้ไปคือขายยาก
อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีไวน์สเปนยี่ห้อดังและแพงเข้ามาในตลาดเมืองไทย ทำให้คนไทยรู้จักเขตที่นอกเหนือจาก ริโอฆา นั่นคือ เบกา ซิซิเลีย มาจากเขตริเบรา เดล ดูเอโร แต่จะว่าไปแล้วชื่อของเขตผลิตก็ยังไม่เป็นที่จดจำอยู่ดี
ประมาณ 5-6 ที่แล้วมีไวน์จากเขตโตโร (Toro) นำเข้ามาในไทยมากขึ้น เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยมากขึ้น และหลายคนชื่นชอบ เพราะเป็นไวน์หมัดหนัก ที่สำคัญราคาไม่แพงมากเหมือนไวน์เขตริเบรา เดล ดูเอโร ทุกวันนี้มีไวน์โตโรอยู่ในตลาดมากมาย
ไร่องุ่นในเขตโตโร
โตโร สำหรับคนไทยอาจรู้จักกันน้อย แต่แถวยุโรปนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดีในฐานะแหล่งท่องเที่ยวโบราณ และแหล่งผลิตไวน์ชั้นเยี่ยม มีฐานะเป็นเมืองหนึ่งของจังหวัดซาโมรา (Zamora) แคว้นกาสติลยา อี เลอง (Castilla y León) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปน
อยู่ห่างจากพรมแดนประเทศโปรตุเกสประมาณ 65 กิโลเมตร เวลาที่ไปโตโรผมมักข้ามไปโปรตุเกสด้วย เพื่อชิมไวน์ที่ทำจากองุ่นสายเลือดเดียวกัน แต่ชื่อต่างกัน รสชาติต่างกัน
เมื่อศตวรรษที่ 15 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวเจนัว ประเทศอิตาลี ภายใต้การสนับสนุนของราชสำนักสเปน และชื่อของเขาตามภาษาอิตาลีคือ กริสตอโฟโร โกลอมโบ (Cristoforo Colombo) ได้นำไวน์จากโตโรกลับไปยังอเมริกา และเขาได้ตั้งชื่อเรือ 1 ใน 3 ลำของเขาในการเดินทางครั้งแรกว่า ปินเตีย (Pintia)
ปินเตีย ไวน์ชื่อดังจากเขตโตโร
ต่อมาชื่อนี้กลายเป็นชื่อไวน์รุ่นหนึ่งที่ เบกา ซิซิเลีย (Vega Sicilia) สุดยอดไวน์จาก เขตริเบรา เดล ดูเอโร (Ribera del Duero) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของโตโรไปลงทุนในโตโร
โตโร แปลว่า วัวกระทิง (Bull) เขตนี้จึงมีสัญลักษณ์เป็นรูปวัวกระทิง ซึ่งที่มาของชื่อ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามาจากไหน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากรสชาติของไวน์ที่หนักแน่น ทรงพลัง เข้มแข็ง คล้ายอุปนิสัยของวัวกระทิงประมาณนั้น
ขณะที่สัญลักษณ์ของแคว้น กาสติลยา อี เลอง ที่โตโรสังกัดอยู่คือ สิงโต จากความหมายของแคว้นว่า ปราสาทและสิงโต (Castilla = ปราสาท, León = สิงโต)
พื้นที่ปลูกองุ่นทำไวน์โตโร
โตโรเป็นดินแดนปลูกองุ่นทำไวน์เก่าแก่มาก เริ่มปลูกองุ่นมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช โดยมีแกนหลักคือชาวโรมัน จนกระทั่งทำกันอย่างจริงจังสมัยพระเจ้าอัลฟองโซ ที่ 9 (Alfonso IX) แห่ง León ที่พระราชทานที่ดินสำหรับปลูกองุ่นจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ 13
โดยส่งไวน์เข้าไปถวายในพระราชวัง ซึ่งพระองค์ได้กล่าว่า "tengo un Toro que me da vino y un León que me lo bebe" แปลว่า I have a bull who gives me wine and a lion who drinks it.
ปินเตีย ไวน์ชื่อดังเขตโตโร
ปลายศตวรรษที่ 19 องุ่นในยุโรปโดยเฉพาะในฝรั่งเศสถูกแมลงฟีลล็อกซีรา (Phylloxera) ทำลายจนเกือบราบเรียบ ไวน์โตโร จึงเข้าไปทดแทนไวน์ฝรั่งเศส คอไวน์ยุโรปประจักษ์ว่าแท้ที่จริงแล้วสเปนยังมีไวน์เยี่ยม ๆ อีกเยอะ...
สถิติในปี 2019 เฉพาะโตโร (Toro) มีพื้นที่ปลูกองุ่น 5,850 เฮกแตร์ (13,942 เอเคอร์) ในจำนวนนี้ประมาณ 1,200 เฮกแตร์ เป็นองุ่นเก่าแก่ อายุอย่างน้อยประมาณ 50 ปี บางไร่มีต้นองุ่นที่หลงเหลือจากฟีลล็อกซีราทำลาย โดยส่วนใหญ่เป็นองุ่นแดง มีองุ่นเขียวประมาณ 350 เฮกแตร์ (865 เอเคอร์)
แม่น้ำดูโอโร ติดพรมแดนโปรตุเกส
โตโร (Toro) ได้รับการประกาศเป็นเขตควบคุมการผลิต (Denominación de Origen = DO) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1987 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2004 มีพื้นที่ปลูกองุ่น 5,625 เฮกตาร์ มีเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น 1,200 ราย ผู้ผลิตไวน์ประมาณ 41 ราย สำหรับเขตควบคุมการผลิต (DO) ปัจจุบันสหภาพยุโรปให้ใช้คำว่า Denominación de Origen Protegida (PDO/DOP)
องุ่นพันธุ์หลักที่ใช้ทำไวน์แดงคือ ตินตา เด โตโร (Tinta de Toro) ซึ่งเป็นโคลนของเทมปรานิลโย (Tempranillo) รองลงมาประมาณ 127 เฮกแตร์ เป็นการ์นาชา (Garnacha) ซึ่งในเขตนี้เรียกว่า นาบาร์โร (Navarro) เพราะนำมาจากเขตนาบาร์รา (Navarra) ทางเหนือของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 15
องุ่นตินตา เดโตโร
ส่วนไวน์ขาวเป็นองุ่นมาลเบเซีย (Malvasía) และแวร์เดโฆ (Verdejo) ที่นิยมเบลนด์กับโซวีญยง บลอง (Sauvignon Blanc)
ไร่องุ่นในโตโรส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 600 - 800 เมตร อุณหภูมิ –11°C - 36°C สภาพอากาศได้อิทธิพลมาจากมหาสมุทรแอตแลนติกทั้งจากทิศเหนือและตะวันตก อีกส่วนหนึ่งมาจากแม่น้ำดูเอโร ขณะที่อุณหภูมิหน้าร้อนโดยเฉพาะกลางวันจะค่อนข้างร้อน มีส่วนทำให้ไวน์แดงโตโร มีแอลกอฮอล์สูงถึง 16-17 %
ไวน์ Numanthia ของ LVMH
ซึ่งตามกฏหมายของท้องถิ่นโตโร (Consejo Regulador de Toro) กำหนดให้ไวน์แดงต้องมีแอลกอฮอล์สูงกว่า 15% อย่างไรก็ตามผู้ผลิตส่วนใหญ่จะพยายามทำให้แอลกอฮอล์อยู่ที่ 13.5 % เพื่อดื่มง่ายขึ้นและบาลานซ์
ไวน์แดงที่ระบุในฉลากว่า ไวน์โตโร ต้องใช้องุ่นตินตา เด โตโร 100 % แต่ก็มีบางรายผสมองุ่นพันธุ์อื่นด้วย เช่น การ์นาชา หรือแม้กระทั่งกาแบร์เนต์ โซวีญยอง
ไวน์แดงต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของรัฐบาลคือ
1 ไวน์ใหม่ หรือยังก์ไวน์ (Young Red) ควรดื่มในปีที่ผลิต
2 โรเบิล (Roble) เป็นไวน์ใหม่ (Young Red) ที่ต้องบ่ม 3-6 เดือน สามารถเติมองุ่นการ์นาชา (Garnacha) ได้
3 กริอันซา (Crianza) ต้องบ่มอย่างน้อย 2 ปีในจำนวนนี้ 6 เดือนต้องบ่มในถังโอ๊ค
4 เรแซร์บา (Reserva) ต้องบ่มอย่างน้อย 3 ปีในจำนวนนี้ 1 ปี ต้องบ่มในถังโอ๊ค
5 กราน เรแซร์บา (Gran Reserva) ต้องบ่มอย่างน้อย 5 ปี ในจำนวนนี้ 2 ปีต้องบ่มในถังโอ๊ค
ส่วนไวน์โรเซ่หรือโรซาโด (Rosado) ต้องทำจากอุ่น Tinta de Toro 50% และ Garnacha 50% ขณะที่ไวน์ขาวต้องทำจากองุ่นแวร์เดโฆ 100% หรือมาลบาเซีย 100% ปัจจุบันมีหลายบริษัทสามารถทำไวน์ขาวแวร์เดโฆเบลนด์ด้วยโซวีญยง บลอง ได้ดีมาก
Bodegas Farina ไวเนอรีที่ควรไปเยือน
ท่านที่มีโอกาสไปโตโร ขอแนะนำ 5 ไวเนอรีที่ควรแวะไปเยี่ยมเยียนและชิมไวน์ของเขา...
1 Bodegas Farina – เจ้านี้ไม่ธรรมดาเพราะเจ้าของคือมานูเอล ปารินา (Manuel Farina) ซึ่งเป็นนักต่อสู้ที่ทำให้ชาวโลกรู้จักไวน์เขตโตโร และทำให้โตโรได้เป็นดีโอ ต่อมาได้เป็นประธานคนแรกของดีโอ โตโร ปัจจุบันผลิตไวน์หลายยี่ห้อ ที่ดัง ๆ คือ Colegiata รุ่น Gran Colegiata Tintos de Reserva
2 Bodegas Numanthia – ก่อตั้งมากว่า 100 ปี ปัจจุบันอยู่ในเครือ LVMH เจ้าของแบรนด์หรูชื่อดังมากมาย
3 Bodegas Mauro - Mariano García อดีตไวน์เมกเกอร์ของเบกา ซิซิเลีย สุดยอดไวน์จากเขตริเบรา เดล ดูเอโร
4 Campo Elíseo – ไร่นี้เกิดจาก Michel Rolland มือปืนรับจ้างชื่อดังจากฝรั่งเศส ผู้ถนัดในการทำไวน์หมัดหนัก จับมือกับ Francois Lurton คนดังแห่งบอร์กโดซ์
5 Vega Sicilia Pintia – เจ้าของคือเบกา ซิซิเลีย สุดยอดไวน์จากเขตริเบรา เดล ดูเอโร
โตโร ไวเนอรี ไวน์หมัดหนักจากสเปน (Cr.fingerlakeswinealliance.com)
นักชิมและนักเขียนเรื่องไวน์ชาวสเปนคนหนึ่งบอกผมในครั้งแรกที่เดินทางไปชิมไวน์ที่เขตโตโรว่า... Most promising wine region, black, stout, ripe and powerful
แข็งแรง บึกบึน หนักแน่น เต็มไปด้วยพละกำลัง... ราวกับวัวกระทิงประมาณนั้น